ศาลพิพากษาจำคุก 5 ปี “พิทักษ์พงษ์” คดี ม.112  ไม่รอลงอาญา แม้รับสารภาพ ชี้จำเลยกระทำความผิดต่อกษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่ง

วันที่ 21 พ.ย. 2565 เวลา 13.30 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดี “หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ของพิทักษ์พงษ์ (สงวนนามสกุล) พนักงานบริษัทวัย 27 ปี จากการใช้บัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวที่ตั้งเป็นสาธารณะ โพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ พร้อมแนบถาพถ่ายแสดงภาพบุคคลยืนชูมือ ข้างซ้ายชูสามนิ้ว และข้างขวาชูนิ้วกลางหนึ่งนิ้ว หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563

คดีนี้มีนายสุรภพ จันทร์เปล่ง รับมอบอำนาจจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้กล่าวหา ย้อนไปเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 เวลา 6.00 น. พิทักษ์พงษ์ถูกเจ้าหน้าที่ชุดตรวจค้นจาก บก.ปอท. จำนวนราว 12 นาย ได้เข้าแสดงหมายค้นของศาลอาญา เพื่อเข้าค้นบ้านพัก โดยได้ตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ และซีพียูคอมพิวเตอร์ และให้พิทักษ์พงษ์บอกรหัสผ่านสำหรับเข้าถึงโทรศัพท์และเฟซบุ๊ก โดยเจ้าหน้าที่บอกเพียงแค่ว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 เท่านั้น ไม่ได้ระบุว่าเขาถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ด้วย

จากนั้น จึงควบคุมตัวพิทักษ์พงษ์ขึ้นรถตู้ตำรวจ พร้อมมีเจ้าหน้าที่ 2 นาย นั่งประกบ เพื่อเดินทางไปที่ บก.ปอท. เจ้าหน้าที่ได้ให้ลงลายมือชื่อรับรองในเอกสารต่างๆ เช่น รูปภาพข้อความในเฟซบุ๊ก บันทึกตรวจค้น และรูปถ่ายส่วนตัว โดยยังไม่ได้มีการแจ้งข้อหาใด และไม่ได้ให้ติดต่อทนายความ มีเพียงแค่เพื่อน 1 คน นั่งอยู่ในห้องสอบสวนด้วยเท่านั้น หลังลงลายมือชื่อในเอกสาร เจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัวพิทักษ์พงษ์ไป และแจ้งว่าจะส่งหมายเรียกผู้ต้องหาให้มารับทราบข้อหาต่อไป

ต่อมาเขาได้รับหมายเรียกจาก บก.ปอท. ลงวันที่ 10 มี.ค. 2564 ระบุให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาสองข้อหา ได้แก่ มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) โดยวันที่ออกหมายเรียกนั้นเป็นวันที่ก่อนตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านพักของเขา

ในชั้นสอบสวน พิทักษ์พงษ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และมิได้ถูกคุมขังในชั้นสอบสวนเนื่องจากมาปรากฏตัวตามหมายเรียก และในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยวางเงินสดจำนวน 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์เป็นหลักประกัน พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการใดตามที่ถูกฟ้องอีก

คำฟ้องของพนักงานอัยการระบุว่า ข้อความและภาพดังกล่าวทำให้ประชาชนและบุคคลทั่วไปที่พบเห็นเข้าใจว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ไม่ทรงรักประชาชนและข้าราชบริพาร ทรงหมกหมุ่นในกามารมณ์ ทำให้เกิดการดูหมิ่นไม่เคารพเทิดทูน

อย่างไรก็ตามระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น ในวันนัดสืบพยานครั้งแรก พิทักษ์พงษ์แถลงต่อศาลกลับคำให้การจากปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาเป็นรับสารภาพตามคำฟ้อง ศาลจึงมีคำสั่งให้สืบเสาะและพินิจพฤติการณ์ของจำเลย

.

ย้อนอ่านข่าวการแจ้งข้อกล่าวหา >>> พนง.บริษัทวัย 26 ถูกตร.ปอท.แจ้งข้อหา “ม.112-พ.ร.บ.คอมฯ” เหตุโพสต์เฟซบุ๊กถึงความประพฤติของกษัตริย์

ย้อนอ่านข่าวพนักงานอัยการสั่งฟ้อง >>> พนง.บริษัทถูกสั่งฟ้องคดี ม.112 กล่าวหาโพสต์ข้อความ “ทำให้เข้าใจว่า กษัตริย์ไม่รักปชช.”

.

ศาลพิพากษาจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา แม้จำเลยให้การรับสารภาพ

ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 814 พิทักษ์พงษ์เดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมกับครอบครัวและเพื่อนรวมเกือบ 10 คน ซึ่งมาร่วมให้กำลังใจ 

ก่อนเข้าห้องพิจารณาคดี เขาเปิดเผยว่าเหตุที่เขาตัดสินใจกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ เนื่องจากได้ปรึกษาหาทางออกในเรื่องนี้ร่วมกับทนายความ และหากคดียืดเยื้อต่อไป เขาก็ต้องใช้ชีวิตอย่างไร้จุดหมาย วางแผนอนาคตอะไรไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าตนจะต้องเข้าเรือนจำหรือไม่ จึงได้ข้อสรุปว่าการรับสารภาพอาจจะเป็นทางที่ดีที่สุดในขณะนั้น โดยความคาดหวังสูงสุดของเขาคือการได้รับโอกาสให้รอลงอาญาไว้ก่อน

เวลา 13.41 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดี และอ่านคำฟ้องของพนักงานอัยการให้ฟังโดยสรุป ระบุว่าจำเลยถอนคำให้การเดิม เปลี่ยนเป็นรับสารภาพตามฟ้องในระหว่างพิจารณา ในรายงานสืบเสาะของพนักงานคุมประพฤติมีถ้อยคำบางส่วนที่จำเลยให้กับพนักงานคุมประพฤติเป็นลักษณะปฏิเสธ แต่ศาลเห็นว่าเมื่อให้การรับสารภาพ ก็ถือว่าเป็นการรับสารภาพทั้งหมด 

คำพิพากษาโดยสรุป ศาลเห็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษในตัวบทกฎหมายที่หนักที่สุดคือมาตรา 112 ลงโทษจำคุก 5 ปี จำเลยรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 2 ปี 6 เดือน เมื่อพิจารณาจากรายงานการสืบเสาะ เห็นว่าจำเลยกระทำความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ

หลังจากฟังคำพิพากษา ก่อนที่จะถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวไปคุมขังไว้ที่ห้องขังใต้ถุนศาลอาญา พิทักษ์พงษ์กล่าวด้วยเสียงสั่นเครือว่า “นึกคำพูดอะไรไม่ออก คำพิพากษาไม่เป็นอย่างที่คาดหวังไว้ โทษค่อนข้างสูง แต่ก็นั่นแหละครับประเทศไทย หวังว่าจะประกันตัวได้”

ต่อมาหลังยื่นขอประกันตัวจำเลยระหว่างอุทธรณ์คดี เวลา 17.50 น. ได้รับแจ้งว่าศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวพิทักษ์พงษ์ ด้วยหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 150,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยศาลไม่ได้กำหนดเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติม

.

ทำความรู้จัก “พิทักษ์พงษ์” พนักงานบริษัทวัย 27 ปี

พิทักษ์พงษ์เป็นประชาชนธรรมดา ไม่ใช่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือนักกิจกรรม ประกอบอาชีพเป็นพนักงานบริษัททั่วไป จุดเริ่มต้นของการออกมาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์จนถูกดำเนินคดีในครั้งนี้ ก็มาจากการเห็นข่าวสลายการชุมนุมบริเวณรัฐสภา แยกเกียกกาย เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ซึ่งผู้ชุมนุมถูกกระทำด้วยความรุนแรง จึงโพสต์ถึงตำรวจควบคุมฝูงชน ตำรวจ และบุคคลผู้ไม่หวังดี ที่ปาหินและใช้กระสุนจริงกับผู้ชุมนุม และพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยความโกรธ

เขาเปิดเผยว่า การถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ส่งผลกระทบต่อการวางแผนอนาคต เพราะไม่รู้ว่าตนจะถูกพิพากษาจำคุกหรือไม่ การต้องต่อสู้คดีทำให้เขาเสียทั้งเงิน เวลา และสุขภาพจิต และหากต้องโทษจำคุกเขาก็คิดว่าตนจะต้องหมดอนาคต เสียงานที่ทำในปัจจุบันไป และในอนาคต หากสมัครงานบริษัทเอกชนทั่วไป แล้วบริษัทตรวจพบว่ามีประวัติอาชญากรรมอยู่ ก็คงจะไม่สามารถหางานทำได้

เมื่อถูกถามว่าพิทักษ์พงษ์มีความเห็นอย่างไรต่อมาตรา 112 เขากล่าวว่า “ถ้าว่าด้วยเรื่องกฎหมาย เราอาจผิดจริง แต่ถ้าถามเรื่องสิทธิมนุษยชนทั่วไป เราไม่น่าผิดขนาดนั้น ระวางโทษของมาตรา 112 เทียบเท่าการฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา แต่เราแค่โพสต์เฟซบุ๊ก 1 โพสต์”

“กฎหมายมาตรานี้ควรได้รับการแก้ไขอย่างยิ่ง ไม่ต้องเอาออกไปก็ได้ แต่ควรทำให้เหมาะสมกว่านี้ ผมไม่รู้เหมือนกันว่าแบบไหนคือเหมาะสม แต่ไม่ใช่แบบที่โทษหนักเท่าการฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาแน่นอน”

X