ประมวลการต่อสู้คดีของ “ไวรัส” รปภ. ผู้ตกเป็นจำเลยคดี 112 จากการโพสต์ 5 ข้อความเกี่ยวกับ ร.9 และ ร.10

วันที่ 11 พ.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาคดีของ “ไวรัส” (นามสมมติ) เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย วัย 34 ปี ผู้ถูกกล่าวหาในคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ  มาตรา 14 (3) ถึง 5 กรรม จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 3 ข้อความ และติ๊กต็อก 2 ข้อความ เกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 และ 10 ระหว่างวันที่ 30 เม.ย. ถึง 7 พ.ค. 2564

คดีนี้มีการสืบพยานในระหว่างวันที่ 7-9 ก.พ. 2566 ในวันแรกของการสืบพยาน ไวรัสรับสารภาพตามข้อกล่าวหาใน 2 กรรม แต่ในอีก 3 กรรมนั้น เขาต่อสู้ว่าการกระทำไม่เป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 25 เม.ย. 2566 โดยไวรัสตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อมาฟังคำพิพากษาในวันนี้ อย่างไรก็ตามเนื่องจากอธิบดีศาลอาญาประสงค์ทำความเห็นแย้งคำพิพากษาของศาลเจ้าของสำนวน ศาลจึงขอเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 11 พ.ค. 2566

.

ทบทวนไทม์ไลน์การถูกคุมคาม-ถูกดำเนินคดี

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2564 ได้มีกลุ่มบุคคลอ้างว่าเป็นกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันฯ ทั้งกลุ่มใส่เสื้อสีเหลืองบุกมาที่ธนาคารซึ่งเป็นทำงานของไวรัสประมาณ 6-7 คน โดยเขาไม่รู้จักผู้ใดในกลุ่มเลย กล่าวหาว่าเขาแชร์โพสต์หมิ่นกษัตริย์ ทั้งพยายามข่มขู่ถามว่าทำไมไม่รักในหลวง และพยายามให้เขาขอโทษ ทำให้เกิดการถกเถียงกันขึ้น

ต่อมาได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดูเหตุการณ์ และเชิญทั้งหมดไปพูดคุยที่ สน.โชคชัย เมื่อไปยังสถานีตำรวจแล้ว กลุ่มคนดังกล่าวได้แจ้งความกล่าวหาว่าไวรัสกระทำความผิดตามมาตรา 112 โดยมีการนำภาพโพสต์ต่างๆ ยื่นต่อตำรวจ 

จากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอตรวจยึดโทรศัพท์และเครื่องคอมพิวเตอร์ของเขา โดยแจ้งว่าจะขอนำไปตรวจสอบ ถ้าไม่มีอะไร ก็จะคืนให้ต่อไป โดยเจ้าหน้าที่ได้มีการจัดทำบันทึกการตรวจยึดเอาไว้ และให้เขาลงชื่อในเอกสารต่างๆ ก่อนปล่อยตัวเขากลับไป พร้อมแจ้งว่าจะติดต่อเขามาอีกครั้ง

ต่อมาในวันที่ 8 ก.ค. 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดต่อมาทางโทรศัพท์ แจ้งให้ไวรัสไปพบที่ สน.โชคชัย โดยบอกว่าให้มาพูดคุยให้ข้อมูลกับทางตำรวจ ไม่ได้มีอะไรมาก ซึ่งไวรัสก็ยังไม่เคยได้รับหมายเรียกใดๆ มาก่อน

ไวรัสอยากให้เรื่องจบโดยเร็ว จึงเดินทางไปถึง สน.โชคชัย ในช่วงเช้าวันที่ 9 ก.ค. 2564 ปรากฏว่า พ.ต.ท.ไตรพงษ์ วงศ์อมรอัครพันธ์ รองผู้กำกับสอบสวน สน.โชคชัย ได้แจ้งข้อกล่าวหากับเขาใน 2 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (3)

ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นของการถูกดำเนินคดีของไวรัสมาจากเหตุความขัดแย้งส่วนตัวของเขากับ ขนิษฐา งาเจือ ซึ่งกล่าวหาว่าไวรัสได้นำคลิปวิดีโอในติ๊กต็อกของเธอซึ่งกล่าวถึง “สามกีบ” ไปโพสต์ต่อในบัญชีเฟซบุ๊กของเขา ทำให้เธอได้รับความเสียหาย เมื่อเธอเข้าไปดูในบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว พบว่ามีโพสต์และข้อความที่อาจเข้าข่ายมาตรา 112 เธอจึงได้พูดคุยกับ อิสกันต์ ศรีอุบล สมาชิกกลุ่มอนุชนคนรักสถาบันและเป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ นำไปสู่การบุกไปที่ทำงานและแจ้งความกล่าวหาไวรัส

ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2564 ชัญญาณ์ภัช ล้อมณีนพรัตน์ พนักงานอัยการอาญาพิเศษ ฝ่ายคดีอาญา 9 ได้สั่งฟ้องคดีว่า ไวรัสใช้เฟซบุ๊กโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จำนวน 5 ข้อความ

.

ภาพรวมการสืบพยาน: จำเลยให้การปฏิเสธ 3 กรรม ระบุ ม.112 ไม่คุ้มครองอดีตกษัตริย์ และภาพประกอบข้อความไม่เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย

ก่อนจะเริ่มกระบวนการสืบพยาน ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 807 องค์คณะผู้พิพากษา ได้แก่ นภาวรรณ ขุนอักษร (หัวหน้าองค์คณะ), ปริยนันท์ แก้วเชิด และ เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี ได้อธิบายคำฟ้องให้แก่จำเลยฟัง และสอบถามว่าจำเลยจะให้การรับสารภาพหรือต่อสู้คดีในส่วนใดบ้าง

ทนายความจำเลยแถลงว่า จำเลยให้การยอมรับสารภาพใน 2 กรรม ดังนี้

โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2564 ซึ่งจำเลยได้แชร์โพสต์ภาพและข้อความจากบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “Tito Barthélemy” ปรากฏภาพของรัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ ประกอบข้อความเนื้อเพลงเป็นภาษาคาราโอเกะว่า “ไม่รักระวังติดคุกนะ” “รู้สึกอยากฟังเพลงขึ้นมาทันที” และจำเลยได้พิมพ์ข้อความประกอบการแชร์โพสต์ว่า “มาๆๆร้องเพลงคาราโอเกะกันนะ”

โพสต์ติ๊กต็อกเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2564 ซึ่งจำเลยได้แชร์ภาพและข้อความจากโพสต์ของบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “คณะราษฎรไทย ฝรั่งเศส Free Thai Movement in France” ปรากฏภาพรัชกาลที่ 10 ประกอบข้อความ “[…]พระราชทาน”

อย่างไรก็ตามในอีก 3 กรรม จำเลยให้การปฏิเสธ ดังนี้

โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2564 ซึ่งจำเลยลงวิดีโอปรากฏภาพตัดต่อรัชกาลที่ 10 ทรงถือถุงเฉาก๊วยไว้ในพระหัตถ์ซ้าย กำลังตรัสกับประชาชนที่มารับเสด็จคนหนึ่ง ประกอบข้อความโฆษณาเฉาก๊วย และจำเลยได้พิมพ์ข้อความทำนองว่าตนจะไม่กินเฉาก๊วยยี่ห้อดังกล่าว โดยจำเลยต่อสู้ว่าตนไม่ได้เป็นผู้ตัดต่อภาพดังกล่าวและข้อความในโพสต์ก็ไม่มีส่วนใดเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์

โพสต์ในติ๊กต็อกและเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2564 จำนวน 2 โพสต์ ปรากฏภาพและข้อความในลักษณะเดียวกัน คือเป็นการตั้งคำถามกับประชาชนเกี่ยวกับการนำเงินของหมู่บ้านมาบำรุงรักษาศาลาที่รัชกาลที่ 9 ผูกเชือกฉลองพระบาทเป็นที่แรก โดยจำเลยต่อสู้ว่า บทบัญญัติ มาตรา 112 คุ้มครองเพียงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน คือ รัชกาลที่ 10 เท่านั้น ไม่คุ้มครองรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นอดีตพระมหากษัตริย์ และภาพประกอบข้อความดังกล่าวก็เป็นเพียงการตั้งคำถามและตัดพ้อว่าหากเป็นคนธรรมดาผูกเชือกรองเท้าก็คงไม่มีใครมาสนใจ ไม่เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์

การสืบพยานในคดีนี้ มีพยานโจทก์เข้าเบิกความทั้งหมดรวม 6 ปาก ได้แก่ อิสกันต์ ศรีอุบล ผู้กล่าวหา, ขนิษฐา งาเจือ, ร.ต.อ.ภิญโญ เวียงคำ พนักงานสืบสวน, ตรีดาว อภัยวงศ์, อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ พยานผู้เชี่ยวชาญ และ พ.ต.ท.ไตรพงษ์ วงศ์อมรอัครพันธ์ พนักงานสอบสวน 

ในขณะที่ฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าเบิกความ 2 ปาก ได้แก่ ไวรัส และ พัชร วัฒนสกลพันธ์ พยานผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ทนายความยังได้นำส่งความเห็นของ เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง พยานผู้เชี่ยวชาญ เพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาอีกด้วย

.

สมาชิกกลุ่มอนุชนคนรักสถาบันผู้กล่าวหาระบุการกระทำจำเลยไม่เหมาะสม ใส่ร้าย และสร้างความเสียหายให้กับสถาบันกษัตริย์

อิสกันต์ ศรีอุบล สมาชิกกลุ่มอนุชนคนรักสถาบัน และผู้กล่าวหาในคดีนี้ เบิกความว่า พยานเป็นผู้พบเห็นโพสต์ติ๊กต็อกและเฟซบุ๊กของจำเลย 

โพสต์ภาพของรัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ ประกอบเนื้อเพลงภาษาคาราโอเกะว่า “ไม่รักระวังติดคุกนะ” พยานเห็นว่ามีการใส่รูปพระบรมฉายาลักษณ์และมีการใส่ข้อความให้ร้ายว่าหากไม่รักทั้งสองพระองค์จะต้องติดคุก ทำให้รู้สึกไม่เหมาะสมและไม่สบายใจ

โพสต์ภาพตัดต่อภาพรัชกาลที่ 10 ทรงถือถุงเฉาก๊วย ประกอบข้อความทำนองว่าจะไม่กินเฉาก๊วยยี่ห้อดังกล่าว พยานเห็นว่ารูปตัดต่อดังกล่าวไม่เป็นความจริง และจำเลยก็พิมพ์ข้อความที่ไม่เหมาะสม

โพสต์ภาพรัชกาลที่ 10 ประกอบข้อความ “[…]พระราชทาน” พยานเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่น่าเกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นข้อความทำลายจิตใจคนไทยทั้งประเทศ ให้ร้ายว่าสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นสิ่งที่รัชกาลที่ 10 พระราชทานให้ ซึ่งไม่เป็นความจริง

โพสต์ภาพและข้อความตั้งคำถามกับประชาชนเกี่ยวกับการนำเงินของหมู่บ้านมาบำรุงรักษาศาลาที่รัชกาลที่ 9 ผูกเชือกฉลองพระบาท จำนวน 2 โพสต์ พยานเห็นว่าไม่เหมาะสม เป็นการแซะสถาบันฯ 

พยานทราบว่าผู้ใช้บัญชีติ๊กต็อกและเฟซบุ๊กคือจำเลย โดยช่วยกันค้นหากับเพื่อน เมื่อเข้าไปในโปรไฟล์บัญชีของจำเลยทำให้ทราบชื่อและสถานที่ทำงานว่าเป็น รปภ. ที่ธนาคารแห่งหนึ่ง จึงติดตามไปสถานที่ทำงาน พบตัวจำเลยเห็นว่าตรงกับโปรไฟล์ที่สืบหามา จึงโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ ตำรวจจึงเชิญจำเลยไปให้การที่ สน.โชคชัย 

พยานเบิกความว่า ตอนยังอยู่ที่ธนาคาร จำเลยได้ขอร้องพยานและกล่าวว่าตนจะไม่ทำพฤติกรรมดังกล่าวอีกแล้ว แต่พยานได้แจ้งความดำเนินคดีไปแล้ว

พยานเบิกความต่อไปว่า เพื่อนของพยานที่ไปเจอจำเลยที่ธนาคารด้วยกันมีหลายคน และมีขนิษฐาซึ่งมาเป็นพยานเบิกความต่อศาลในคดีนี้ด้วย

ทนายความถามค้าน

ทนายความถามว่า เหตุที่พยานมาแจ้งความในคดีนี้เพราะทราบเรื่องจากขนิษฐา กลุ่มอนุชนคนรักสถาบัน จึงเริ่มติดตามตัวจำเลยจากโพสต์หมิ่นประมาทส่วนตัวของขนิษฐา ซึ่งจำเลยนำคลิปมาเผยแพร่ต่อในเฟซบุ๊ก โดยก่อนหน้าที่จะแจ้งความ ขนิษฐาได้แจ้งให้จำเลยลบคลิปดังกล่าวแต่จำเลยไม่ลบ จึงเป็นที่มาของการเดินทางไปที่ทำงานของจำเลยใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่

ทนายความถามว่า กลุ่มอนุชนคนรักสถาบันของพยานเป็นฝ่ายตรงข้ามของสามกีบใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่

พยานเบิกความว่า ขนิษฐาได้แจ้งความในคดีส่วนตัวแยกต่างหากที่ สน.โชคชัย แต่พยานไม่ทราบว่าคดีความดำเนินไปถึงขั้นใดแล้ว ในวันที่ไปติดตามจำเลยที่ธนาคาร พยานไปในวันนั้นด้วย และเท่าที่ทราบมีสมาชิกกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันไปด้วย

ทนายความถามว่า ในบางครั้งถ้ากลุ่มของพยานมีความขัดแย้งหรือโกรธเคืองส่วนตัวกับบุคคลใดก็อาจจะไม่ดำเนินคดีส่วนตัว แต่ใช้มาตรา 112 ใช่หรือไม่ แต่ศาลแจ้งว่าเมื่อจำเลยรับแล้วว่าเป็นผู้โพสต์จริง การสืบว่าพยานมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยไม่ได้ส่งผลต่อคดี

พยานเบิกความว่า ตนเดินทางไปชี้ตัวจำเลยเพราะเห็นว่าจำเลยสร้างความเสียหายให้กับสถาบันกษัตริย์ โดยคดีนี้เป็นคดี 112 คดีแรกที่พยานแจ้งความ 

พยานเบิกความตอบว่า บุคคลทั้งหมดที่รักสถาบันก็จะสนับสนุนพรรคไทยภักดี พยานเคยไปพบกับ พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ในฐานะประธานกลุ่มอนุชนคนรักสถาบัน

ศาลแจ้งทนายความว่า ต้องการให้ต่อสู้แค่เรื่องเจตนาของจำเลย มูลเหตุจูงใจอื่นไม่ส่งผลต่อคดี เมื่อไม่ได้อยู่ในประเด็นแห่งคดี ศาลก็จะไม่บันทึกให้ ทนายความจึงแถลงต่อศาลว่ามาตรา 112 ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ เนื่องจากสามารถกล่าวหากันได้ง่าย จึงจำเป็นต้องสืบในประเด็นดังกล่าว แต่ศาลยืนยันว่าสิ่งที่ทนายความพยายามสืบไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นข้อพิพาท

โพสต์ภาพตัดต่อภาพรัชกาลที่ 10 ทรงถือถุงเฉาก๊วยนั้น พยานเข้าใจว่าหากรัชกาลที่ 10 ถืออะไร จำเลยก็จะไม่กินยี่ห้อดังกล่าว ทนายความนำพยานเอกสารให้พยานดู ซึ่งข้อเท็จจริงในเอกสาร จำเลยไม่ได้ระบุอ้างเหตุผลของการไม่กิน

พยานเบิกความว่า ตนทราบว่ารัชกาลที่ 10 ไม่ได้เป็นผู้จำหน่ายเฉาก๊วย ภาพดังกล่าวเป็นภาพตัดต่อ ไม่เป็นความจริง ส่วนบุคคลอื่นจะเห็นแล้วเชื่อตามโพสต์หรือไม่ พยานไม่ทราบ

ทนายความถามว่า พยานเห็นโพสต์ของจำเลยแล้วรู้สึกเกลียดชัง เสื่อมศรัทธา หรือเทิดทูนสถาบันกษัตริย์น้อยลงหรือไม่ พยานตอบว่า ตนเห็นว่าโพสต์ของจำเลยไม่ถูกต้องและยังคงเทิดทูนสถาบันกษัตริย์เหมือนเดิม

พยานเบิกความว่า ตนจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทราบว่าดูหมิ่น และหมิ่นประมาทในทางกฎหมายเป็นอย่างไร พยานเห็นว่าการดูหมิ่นคือการเหยียดหยาม และบุคคลที่มาตรา 112 ให้การคุ้มครองคือสถาบันกษัตริย์

โพสต์ภาพและข้อความตั้งคำถามกับประชาชนเกี่ยวกับการนำเงินของหมู่บ้านมาบำรุงรักษาศาลาที่รัชกาลที่ 9 ผูกเชือกฉลองพระบาท พยานเบิกความตอบว่า ไม่มีข้อความใดระบุว่ารัชกาลที่ 9 นำเงินประชาชนไปประชาสัมพันธ์พระองค์เอง และไม่มีข้อความว่ารัชกาลที่ 9 ทรงสร้างภาพว่าดำเนินกิจวัตรอย่างคนธรรมดา ทั้งรับว่าไม่มีข้อความในลักษณะตัดพ้อ และไม่มีข้อความหยาบคาย

พนักงานอัยการไม่ถามติง

.

บุคคลที่มีความขัดแย้งกับจำเลยระบุข้อความไม่ได้ตีความตรงตามตัวหนังสือ จำเลยแดกดันและส่อเสียดพระมหากษัตริย์

ขนิษฐา งาเจือ บุคคลที่มีความขัดแย้งส่วนตัวกับจำเลย เบิกความว่า จำเลยได้นำคลิปตนมาตัดต่อและเขียนข้อความว่า สามกีบไม่มีเงินซื้อทุเรียนกิน เต้นระบำหน้าท้องโชว์ คนที่มาแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์เป็นไปในทางด่าทอและมีคำหยาบคาย พยานจึงตามดูในโปรไฟล์ทราบว่าจำเลยชื่ออะไรและทำงานที่ใด 

พยานค้นพบโพสต์ที่จำเลยแสดงออกต่อสถาบันกษัตริย์ในลักษณะไม่เหมาะสม ในเบื้องต้นจึงได้คุยกับอิสกันต์ ซึ่งเคยทำกิจกรรมร่วมกัน หลังจากนั้นได้โทรแจ้งที่ทำงานของจำเลยถึงเรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งต่อมาจำเลยได้โพสต์ว่าผู้จัดการธนาคารแจ้งให้ลบข้อความดังกล่าว

พยานเบิกความว่า ในฐานะที่ตนเป็นคนไทยที่รักสถาบันฯ หากใครไม่ชอบหรือไม่พอใจสถาบันฯ ก็แค่อยู่เฉยๆ เห็นว่าโพสต์ของจำเลยมีข้อความในลักษณะแซะหรือแดกดัน

พยานเห็นว่าหลังจากนั้นจำเลยยังคงโพสต์เฟซบุ๊กเยาะเย้ยว่าผู้จัดการธนาคารปกป้องตน พยานจึงนัดกับอิสกันต์ไปดักรออยู่ใกล้ธนาคาร ในวันที่ 7 พ.ค. 2564 เมื่อพบว่าเป็นจำเลยจริง จึงโทรเรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจ เดินทางไป สน.โชคชัย ในส่วนของพยานได้แจ้งความคดีหมิ่นประมาท และอิสกันต์ได้แจ้งความในคดี 112 พยานจำชื่อตำรวจสายตรวจคนดังกล่าวไม่ได้ 

พยานเบิกความต่อว่า ตนไม่ได้ดำเนินการเรื่องคดีหมิ่นประมาทต่อ แจ้งความเพียงว่าจะดำเนินคดีจนถึงที่สุดเท่านั้น เนื่องจากเห็นว่าแค่ส่วนคดี 112 ก็หนักมากแล้ว

ทนายความถามค้าน

พยานเบิกความตอบว่า ตนไม่นับว่าเป็นสมาชิกกลุ่มอนุชนคนรักสถาบัน รู้จักอิสกันต์เป็นการส่วนตัวจากการเล่นโซเชียลมีเดียเนื่องจากเป็นคนที่มีความเห็นตรงกัน ก่อนเกิดเหตุพยานไม่ทราบว่าจำเลยเป็น “กลุ่มสามกีบ” มาทราบภายหลังตอนติดตามดูโพสต์ของจำเลย

พยานเบิกความว่า อิสกันต์เป็นผู้แจ้งความคดี 112 เนื่องจากมีกลุ่มเพื่อนและชมรมดูแลเรื่องนี้อยู่ ส่วนพยานเป็นแค่คนธรรมดา ไม่มีอำนาจ คนที่โทรเรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจและเตรียมหลักฐานมา คือ อิสกันต์ 

พยานเบิกความตอบว่า คลิปของพยานที่จำเลยนำไปโพสต์ต่อนั้น พยานตั้งค่าเป็นสาธารณะ ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

ทนายความได้เปิดคลิปวิดีโอหลายอันซึ่งเป็นคลิปที่พยานพูดถึงสามกีบให้ดู พยานเบิกความว่าพยานพูดถึงฝ่ายตรงข้ามในลักษณะตักเตือน เนื่องจากไม่อยากให้ใครมาโดนคดีอีก โดยไม่ได้เจาะจงตัวจำเลย

โพสต์ตัดต่อภาพรัชกาลที่ 10 ทรงถือถุงเฉาก๊วย พยานให้ความเห็นว่า รูปภาพมีความชัดเจนว่าจำเลยจะสื่อไปในทางแดกดันบุคคลผู้ถือถุงเฉาก๊วยในภาพ เห็นว่าจำเลยไม่กินเฉาก๊วยเพราะอยู่ในพระหัตถ์รัชกาลที่ 10

ทนายความได้กล่าวว่าคดีนี้เป็นคดีทางการเมือง ศาลจึงกล่าวว่าคดีนี้ไม่ใช่คดีทางการเมือง ศาลขอให้ศึกษาว่าเหตุใดคนไทยหลาย 10 ล้านคนจึงเคารพสถาบันกษัตริย์มายาวนาน และศึกษาประวัติศาสตร์ว่าเหตุใดทุกวันนี้เราจึงได้อยู่ในแผ่นดินที่ร่มเย็น ศาลไม่ตำหนิและเคารพความคิดที่เห็นต่าง แต่อยากให้ปรับทัศนคติ เห็นว่าตอนนี้กระบวนพิจารณาคดีค่อนข้างเลอะเทอะ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการเมือง เป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐ เป็นความผิดอาญา

ทนายถามต่อถึงโพสต์ภาพและข้อความตั้งคำถามกับประชาชนเกี่ยวกับการนำเงินของหมู่บ้านมาบำรุงรักษาศาลาที่รัชกาลที่ 9 ผูกเชือกฉลองพระบาท พยานเห็นว่า ไม่มีข้อความที่บอกว่ารัชกาลที่ 9 ทรงใช้เงินประชาชนในการสร้างศาลาเทิดพระเกียรติ ข้อความในโพสต์หากไม่ใช่กลุ่มล้มล้างสถาบันฯ ผู้พูดอาจตั้งคำถามในลักษณะทั่วไป ในความเห็นพยาน ข้อความไม่ได้เป็นการตัดพ้อ แต่เป็นการส่อเสียด อ่านแล้วรู้สึกไม่จริงใจ ไม่ได้ตีความตรงตามตัวหนังสือ

การส่อเสียดเป็นองค์ประกอบของมาตรา 112 หรือไม่ พยานไม่ทราบ

พยานเบิกความตอบว่า ตนอ่านข้อความแล้วรู้สึกแย่กับเนื้อหา แต่ไม่รู้สึกเกลียดชังรัชกาลที่ 9 กับรัชกาลที่ 10 ยังคงเทิดทูนสถาบันกษัตริย์เหมือนเดิม แต่เห็นว่าสิ่งที่จำเลยทำเป็นการด้อยค่าพระองค์

พนักงานอัยการถามติง

พยานเบิกความตอบว่า เคยมีบุคคลอื่นโพสต์คลิปทำให้เสียหายเช่นเดียวกับจำเลย แต่ดำเนินคดีหมิ่นประมาทกับจำเลยเพียงคนเดียวเนื่องจากได้รับผลกระทบเยอะที่สุด

.

จำเลยรับข้อเท็จจริงตามบันทึกข้อความของพนักงานสืบสวน จึงไม่มีการสืบพยานในปากนี้

ร.ต.อ.ภิญโญ เวียงคำ พนักงานสืบสวน สน.โชคชัย เป็นผู้ไปเชิญตัวจำเลยมา สน.โชคชัย และตรวจยึดโทรศัพท์กับคอมพิวเตอร์ของจำเลย และเป็นผู้ทำรายงานการสืบสวน ปรากฎตามพยานเอกสาร

.

อาจารย์อักษรศาสตร์ จุฬาฯ ระบุข้อความทำให้ผู้ที่พบเห็นเข้าใจว่า ร.9 – ร.10 หลอกลวง ไม่น่าเคารพ ทำให้รู้สึกเกลียดชัง ไม่ชอบใจ และไม่พอใจพระองค์

ตรีดาว อภัยวงศ์ อาจารย์พิเศษของภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เบิกความว่า เกี่ยวข้องกับคดีนี้ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจมาสอบถามตนในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ

โพสต์ภาพของรัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ ประกอบเนื้อเพลงภาษาคาราโอเกะว่า “ไม่รักระวังติดคุกนะ” พยานเห็นว่าเป็นความหมายเชิงเสียดสี หมิ่นพระเกียรติ เป็นการทราบโดยทั่วไปของกลุ่มที่ใช้โซเชียลมีเดียว่าหากทรงไม่พึงพระราชหฤทัยก็จะลงโทษจำคุก จึงถูกนำมาล้อเลียน เสียดสี ซึ่งไม่มีข้อเท็จจริงในเชิงประจักษ์

โพสต์ภาพตัดต่อภาพรัชกาลที่ 10 ทรงถือถุงเฉาก๊วย ประกอบข้อความทำนองว่าจะไม่กินเฉาก๊วยยี่ห้อดังกล่าว พยานเห็นว่าข้อความแสดงออกถึงความรู้สึกไม่พอใจ ไม่ชอบ เกลียดชัง จากการติดตามโซเชียลมีเดียทราบว่าประชาชนในภาพ เคยได้รับการกล่าวจากรัชกาลที่ 10 ว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” ทำให้เข้าใจได้ว่าผู้โพสต์แสดงความโกรธ ไม่พอใจ เกลียดชังรัชกาลที่ 10 อย่างรุนแรงจากข้อความที่บอกว่าจะไม่กินเฉาก๊วยยี่ห้อดังกล่าว 

โพสต์ภาพรัชกาลที่ 10 ประกอบข้อความ “[…]พระราชทาน” พยานเห็นว่าข้อความตีความได้ว่าสิ่งของเหล่านั้นถูกมอบให้โดยรัชกาลที่ 10 ซึ่งไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ ไม่เป็นความจริง ใส่ความพระองค์ แสดงให้เห็นเจตนาของผู้โพสต์ว่ามีความไม่ชอบ เกลียดชังรัชกาลที่ 10

โพสต์ภาพและข้อความตั้งคำถามกับประชาชนเกี่ยวกับการนำเงินของหมู่บ้านมาบำรุงรักษาศาลาที่รัชกาลที่ 9 ผูกเชือกฉลองพระบาท จำนวน 2 โพสต์ พยานเห็นว่าผู้โพสต์แสดงความเห็นในเชิงเสียดสี เย้ยหยัน แสดงว่ารัชกาลที่ 9 ไม่มีพระมหากรุณาธิคุณอย่างแท้จริง เป็นเพียงแค่การสร้างภาพ หลอกลวง ขัดต่อการรับรู้ของประชาชนโดยทั่วไป 

พยานเบิกความต่อไปว่า เจตนาของผู้โพสต์มีความรู้สึกเชิงลบ เกลียดชังรัชกาลที่ 10 อยู่แล้ว จึงสื่อว่าการที่ประชาชนลงขันสร้างศาลา เป็นการบังคับให้ประชาชนทำ โดยไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ เนื่องจากโดยปกติแล้วถ้าประชาชนเลื่อมใสศรัทธา ก็ย่อมยกย่องเชิดชูอยู่แล้ว

พยานเบิกความว่า ภาพรวมของโพสต์จำเลย ทำให้ผู้ที่พบเห็นหากไม่เคยศึกษาหรือติดตามพระจริยวัตรมาเห็นโพสต์ดังกล่าวย่อมทำให้เข้าใจว่ารัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 หลอกลวง ไม่น่าเคารพ เกลียดชัง ไม่ชอบใจ ไม่พอใจพระองค์ท่าน

ทนายความถามค้าน

พยานเบิกความตอบว่า ในทางอักษรศาสตร์ ข้อความสามารถตีความได้หลากหลาย ตามประสบการณ์ ความรู้ และความเชื่อของแต่ละบุคคล ความหมายของผู้อ่านอาจตีความแตกต่างกันได้ และอาจแตกต่างจากผู้เขียน แต่นอกจากการตีความโดยตรง ยังมีการตีความตามนัยและบริบท

หลักการตีความนัยให้อยู่ในขอบเขตพอสมควรมีอะไรบ้างนั้น พยานไม่ทราบ

ในชั้นสอบสวน พยานเบิกความว่า ตนไม่เคยให้ความเห็นเรื่องโพสต์ของจำเลยหลอกลวงให้ประชาชนเชื่อ น้ำเสียงหรือโทนเสียงในการตั้งคำถามของจำเลยไม่มีถ้อยคำหยาบคาย และโพสต์ภาพตัดต่อรัชกาลที่ 10 ทรงถือถุงเฉาก๊วย ก็ไม่ได้ระบุว่าที่จำเลยไม่กินเพราะอะไร ทำให้ต้องอาศัยการตีความ

พนักงานอัยการถามติง

พยานเบิกความตอบว่าแม้ตัวอักษรจะไม่มีเสียง แต่เมื่ออ่านข้อความน้ำเสียงก็ออกมาจากตัวอักษรได้ เมื่อดูภาพยิ่งทำให้เข้าใจว่าความรู้สึกของผู้โพสต์ คือ ไม่เคารพ ไม่ชอบ ไม่เห็นคุณค่า ไม่พึงพอใจต่อสถาบันกษัตริย์ชัดเจน

ในความเห็นของพยานโพสต์ภาพและข้อความตั้งคำถามกับประชาชนเกี่ยวกับการนำเงินของหมู่บ้านมาบำรุงรักษาศาลาที่รัชกาลที่ 9 ผูกเชือกฉลองพระบาท จำเลยโพสต์ไปในเชิงเจ็บแค้นใจ คับแค้นใจ ไม่ได้รับความยุติธรรม และน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะมีความรู้สึกไม่เท่าเทียมกันระหว่างกษัตริย์กับประชาชน 

ทนายความถามเพิ่มเติม

พยานเบิกความรับว่า อาจตีความว่าจำเลยประหลาดใจกับการกระทำของประชาชนที่ให้คุณค่ากับการผูกเชือกฉลองพระบาทของรัชกาลที่ 9 ก็ได้

.

อาจารย์คณะสถิติประยุกต์ นิด้า ระบุการใช้ ม.112 ต้องสอดคล้องกับ รธน. ม.6 และมีแนวคำพิพากษาฎีกาตัดสินว่าการดูหมิ่นอดีตพระมหากษัตริย์เข้า ม.112

อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์คณะสถิติประยุกต์ มหาวิทยาลัยนิด้า เบิกความว่า เกี่ยวข้องกับคดีนี้เนื่องจากพนักงานสอบสวนเชิญมาให้ความเห็น ตนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติประยุกต์ วิทยาการประกันภัย วิทยาการข้อมูล และสถาบันกษัตริย์ โดยเป็นอนุกรรมการทฤษฎีศาสตร์พระราชา

โพสต์ภาพของรัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ ประกอบเนื้อเพลงภาษาคาราโอเกะว่า “ไม่รักระวังติดคุกนะ” พยานเห็นว่าการตีความการใช้มาตรา 112 ต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ซึ่งข้อความจำเลยทำให้ประชาชนที่พบเห็นรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังสถาบันกษัตริย์ 

โพสต์ภาพตัดต่อรัชกาลที่ 10 ทรงถือถุงเฉาก๊วย ประกอบข้อความทำนองว่าจะไม่กินเฉาก๊วยยี่ห้อดังกล่าว พยานเห็นว่าการนำพระมหากษัตริย์มาโฆษณาสินค้า เป็นการหมิ่นพระเกียรติ และจำเลยยังใช้ถ้อยคำหยาบคาย เป็นความผิดตามมาตรา 112

โพสต์ภาพรัชกาลที่ 10 ประกอบข้อความ “[…]พระราชทาน” พยานเห็นว่าข้อความทำให้ประชาชนเข้าใจผิด คิดว่ารัชกาลที่ 10 อำมหิตโหดเหี้ยม สร้างความเกลียดชังให้กับผู้พบเห็น มีคำหยาบคายที่แสดงถึงความไม่เคารพพระมหากษัตริย์ ดูหมิ่นพระเกียรติสถาบันกษัตริย์อย่างรุนแรง

โพสต์ภาพและข้อความตั้งคำถามกับประชาชนเกี่ยวกับการนำเงินของหมู่บ้านมาบำรุงรักษาศาลาที่รัชกาลที่ 9 ผูกเชือกฉลองพระบาท จำนวน 2 โพสต์ พยานเห็นว่าข้อความดังกล่าวเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ซึ่งเคยมีแนวคำพิพากษาฎีกาตัดสินว่าการดูหมิ่นอดีตพระมหากษัตริย์เข้าองค์ประกอบมาตรา 112

พยานยังเบิกความเพิ่มเติมว่า โพสต์ดังกล่าวของจำเลยทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่า รัชกาลที่ 9 ทรงไม่มีวุฒิภาวะ ไม่สามารถผูกเชือกรองเท้าด้วยตนเองได้ เป็นการดูหมิ่น

ทนายความถามค้าน

พยานเบิกความว่า สาขาวิชาที่พยานจบการศึกษาไม่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย หรือประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่พยานทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองและสถาบันกษัตริย์หลายชิ้น ไม่มีงานวิจัยฉบับใดได้ตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ

พยานเบิกความตอบว่า นิด้าไม่เคยตั้งคณะกรรมการสอบวินัยตน โดยข้อความที่ทำให้เกือบจะถูกตั้งคณะกรรมการสอบวินัยคือโพสต์ที่พยานกล่าวว่าการรัฐประหารมีความจำเป็นในการเมืองไทย

ส่วนมาตรา 112 จะคุ้มครองอดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เช่น ปรีดี พนมยงค์ ด้วยหรือไม่ พยานไม่ขอตอบ ให้เป็นการวินิจฉัยของศาล

พนักงานอัยการถามติง

พยานเบิกความตอบว่า พยานเข้าไปเป็นอนุกรรมการทฤษฎีศาสตร์พระราชาของสภาปฏิรูปประเทศไทย ได้รับการเล่าเรื่องพระมหากษัตริย์มาจากผู้ใกล้ชิดและผู้รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท จึงนำมาเขียนบทความและตีพิมพ์ในหนังสือของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยพยานศึกษาเอกสารตัวบทกฎหมายด้วยตนเอง

.

พนักงานสอบสวนเชื่อว่าผู้ต้องหากระทำความผิดจริง การหาพยานมาให้ความเห็นไม่ได้ลงลึกว่าต้องเชิญพยานจากฝ่ายไหน

พ.ต.ท.ไตรพงษ์ วงศ์อมรอัครพันธ์ รองผู้กำกับการสอบสวน สน.โชคชัย เบิกความถึงลำดับการดำเนินคดีกับจำเลยในคดีนี้ พยานได้สอบคำให้การอิสกันต์ซึ่งเป็นผู้กล่าวหา และได้ตรวจยึดโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ของจำเลย ส่งไปตรวจพิสูจน์ในกองพิสูจน์หลักฐาน กองสืบสวนกลาง 

พยานได้ตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์พบว่าจำเลยเป็นผู้ใช้หมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าว และได้สอบปากคำพยานผู้เชี่ยวชาญและบุคคลทั่วไปเพื่อให้ความเห็น

พยานเชื่อว่าผู้ต้องหากระทำความผิด เนื่องจากมีหลักฐานว่ากระทำความผิดจริง จึงได้เรียกจำเลยมาพบในวันที่ 9 ก.ค. 2564 และได้แจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ

ทนายความถามค้าน

ทนายความให้ดูพยานเอกสารซึ่งระบุวันที่แจ้งความร้องทุกข์ภายหลังวันทำบันทึกตรวจยึดโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ พยานเบิกความว่าอาจมีการพิมพ์วันที่ผิด 

พยานได้เรียกบุคคลที่สามมาสอบถามเพื่อให้ความเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่ โดยปกติในคดี 112 จะมีการวางหลักเกณฑ์ว่าต้องเชิญพยานผู้เชี่ยวชาญและพยานความเห็นที่เป็นประชาชนทั่วไปมาให้การ ซึ่งพยานที่มาเบิกความในชั้นสอบสวนในคดีนี้ พยานเป็นผู้ร่วมสอบสวนด้วยทุกคน

ทนายความถามว่า ในการทำหน้าที่ของพนักงานสอบสวนเพื่อพิสูจน์ทั้งความผิดและความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา ต้องเชิญพยานฝ่ายตรงข้ามกันมาให้ความเห็นใช่หรือไม่ พยานเบิกความตอบว่า ระเบียบวิธีการเลือกพยานมาให้การในชั้นสอบสวนไม่ได้ลงลึกว่าจะต้องเชิญพยานมาจากบุคคลฝ่ายไหนบ้าง พยานนำรายชื่อพยานความเห็นมาจากการสอบถามสถานีตำรวจอื่น และสอบถามบุคคลที่ยินยอมมาให้ข้อมูลและเบิกความต่อศาล

พนักงานอัยการไม่ถามติง

.

จำเลยอ้างตนเองเป็นพยานระบุเผยแพร่โพสต์เพราะเห็นว่าข้อความไม่มีคำหยาบคาย-เจตนาเป็นการตั้งคำถามกับประชาชนเท่านั้น

ไวรัส จำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน เบิกความว่า ตนประกอบอาชีพเป็น รปภ. จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 เนื่องจากครอบครัวแตกแยก ในช่วงปี 2564 ซึ่งเศรษฐกิจไม่ดี ตนได้ตั้งคำถามหลายอย่าง เมื่อได้ติดตามไลฟ์สดของวงไฟเย็นในยูทูป ซึ่งเป็นวงดนตรีที่ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ พบว่าสามารถตอบคำถามที่สงสัยได้หลายอย่างเรื่องสถาบันกษัตริย์และการเมือง

พยานเบิกความว่า บัญชีที่แชร์มาเป็นบัญชีของนักร้องวงไฟเย็น, “ไม่รักระวังติดคุกนะ” เป็นเพลงของวงไฟเย็นซึ่งดังอยู่ในขณะนั้น จึงได้แชร์ภาพประกอบข้อความโดยเห็นว่าข้อความไม่มีคำไม่สุภาพ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ทราบว่าการกระทำเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่

โพสต์ภาพตัดต่อภาพรัชกาลที่ 10 ทรงถือถุงเฉาก๊วย ประกอบข้อความทำนองว่าจะไม่กินเฉาก๊วยยี่ห้อดังกล่าว เนื่องจากพยานไม่พอใจชายเสื้อเหลืองในภาพ พยานเห็นว่าข้อความไม่มีคำหยาบคาย แต่อาจไม่เหมาะสม

โพสต์ภาพรัชกาลที่ 10 ประกอบข้อความ “[…]พระราชทาน” พยานเห็นว่าเป็นการกล่าวหาพระองค์อย่างรุนแรง พยานลบข้อความหลังโพสต์ได้ครึ่งวันเนื่องจากมีเพื่อนทักท้วงว่าไม่เหมาะสม 

โพสต์ภาพและข้อความตั้งคำถามกับประชาชนเกี่ยวกับการนำเงินของหมู่บ้านมาบำรุงรักษาศาลาที่รัชกาลที่ 9 ผูกเชือกฉลองพระบาท เป็นภาพข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์ พยานรู้สึกสะท้อนใจที่ชาวบ้านนำเงินมาบำรุงรักษาศาลาแทนที่จะนำไปทำอย่างอื่น เช่น ช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก เนื่องจากในหลวงก็สอนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง จึงพิมพ์ข้อความเป็นการตั้งคำถามและเตือนสติว่าหากรัชกาลที่ 9 ยังอยู่ก็คงไม่เห็นด้วยในการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งภายหลังถูกติดตามมาที่ทำงาน พยานก็ลบข้อความดังกล่าวไปแล้ว

พยานเบิกความว่า หลังจากถูกดำเนินคดี พยานก็ไม่ได้มีการโพสต์ข้อความในลักษณะนี้อีก ทำแต่งานหาเลี้ยงชีพตนและครอบครัว ซึ่งหลังถูกดำเนินคดีพยานก็ตกงานอยู่ 3 เดือน ชีวิตหลังจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาล และพยานมีภาระต้องเลี้ยงดูภรรยาพร้อมลูกที่ติดมา 3 คน

พนักงานอัยการถามค้าน

พยานเบิกความตอบว่า วงไฟเย็นมีแนวคิดตามโพสต์ของพยาน เนื่องจากช่วงเวลานั้นมีเหตุการณ์สลายการชุมนุม พยานจึงแชร์โพสต์ประกอบข้อความ “[…]พระราชทาน”

พยานไม่ใช่สมาชิกกลุ่มทางการเมืองใด ไม่เคยทำกิจกรรมทางการเมืองนอกจากการโพสต์ในโซเชียลมีเดีย ที่พยานนำคลิปวิดีโอของขนิษฐามาโพสต์ต่อ เนื่องจากเห็นว่าเป็นคนเห็นต่างทางการเมือง

ศาลได้กล่าวกับพยานว่า ศาลพิจารณาคดีว่าไปตามกฎหมาย แต่อยากให้จำเลยในฐานะที่เป็นคนไทย ศึกษาประวัติศาสตร์และข้อมูลเบื้องต้นอีกครั้ง แล้วใช้วิจารณญาณพิจารณา

.

พยานผู้เชี่ยวชาญจาก iLaw ระบุรัฐธรรมนูญ ม.6 ไม่ใช่แม่บท ม.112 ไม่คุ้มครองอดีตกษัตริย์ และโพสต์ที่จำเลยให้การต่อสู้ไม่เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย

พัชร วัฒนสกลพันธ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เบิกความว่า เรียนจบปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจบปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายความเท่าเทียม และปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พยานเบิกความว่า หลักการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 พูดถึงสถานะของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ ในฐานะเป็นประมุขของประเทศ มีนัยยะ 2 ประการ ดังนี้

ประการแรก พระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ จะไม่สามารถทำอะไรด้วยตัวเองได้ในทางกฎหมาย จะต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ตามหลักการ “The King Can Do No Wrong” 

ประการที่สอง คำว่า “ล่วงละเมิดมิได้” คือบุคคลไม่สามารถฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ใดๆ ได้เลยทั้งในทางแพ่ง อาญา และปกครอง

พยานเบิกความว่า หลักการตามมาตรา 6 ไม่คุ้มครองอดีตพระมหากษัตริย์เพราะจะคุ้มครองผู้ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ในขณะนั้นเท่านั้น พระมหากษัตริย์เป็นหนึ่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ต้องมีอำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ ไม่มีสถานะพิเศษ

พยานเบิกความต่อไปว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ไม่ใช่แม่บทของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยมาตรา 6 พูดถึงสิทธิหน้าที่ ในขณะที่มาตรา 112 มุ่งลงโทษผู้กระทำความผิด ไม่มีบทบัญญัติใดในประมวลกฎหมายอาญาที่กล่าวว่ามาตรา 112 ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 6 

อีกจุดหนึ่งที่เห็นได้ชัดว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ไม่ใช่กฎหมายแม่บทของมาตรา 112 คือ กฎหมายลูกบทไม่สามารถออกเกินอำนาจตามกฎหมายแม่บทได้ ซึ่งมาตรา 6 กล่าวถึงพระมหากษัตริย์เท่านั้น ไม่มีการบัญญัติถึงพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทน อย่างมาตรา 112

พยานเบิกความว่า ตนเห็นว่ามาตรา 112 ไม่คุ้มครองอดีตพระมหากษัตริย์ กฎหมายอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด เนื่องจากเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล นอกจากนี้หากพิจารณาประมวลกฎหมายอาญาทั้งฉบับ การบัญญัติกฎหมายต้องมีความสอดคล้องกัน ดังนั้นในการพิจารณาองค์ประกอบความผิด บุคคลนั้นต้องดำรงตำแหน่งอยู่ เช่น ความผิดฐานเจ้าพนักงานรับสินบน องค์ประกอบความผิด คือ ต้องเป็นเจ้าพนักงานในขณะนั้น และหากพิจารณาว่าบุคคลตามมาตรา 112 ครอบคลุมถึงอดีตพระมหากษัตริย์ ก็จะต้องครอบคลุมถึงอดีตพระราชินี อดีตรัชทายาท อดีตผู้สำเร็จราชการแทน เช่น ปรีดี พนมยงค์ ก็ต้องได้รับการคุ้มครองตามมาตรานี้ ซึ่งไม่น่าเป็นเช่นนั้น

โพสต์ภาพตัดต่อรัชกาลที่ 10 ทรงถือถุงเฉาก๊วย ประกอบข้อความทำนองว่าจะไม่กินเฉาก๊วยยี่ห้อดังกล่าว พยานเห็นว่าหากดูข้อความโดยไม่พิจารณาภาพ ก็ไม่ได้ใจความอะไรมากนอกจากจำเลยกล่าวว่าจะไม่กิน แม้พิจารณาดูภาพก็ไม่เป็นการหมิ่นประมาท เนื่องจากการหมิ่นประมาทจะต้องมีลักษณะใส่ความต่อบุคคลที่ 3 ซึ่งข้อความของจำเลยก็ไม่ได้เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงใด

พยานเห็นว่าไม่เป็นการดูหมิ่น เนื่องจากไม่ได้มีลักษณะลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลอื่น ไม่เป็นการเหยียดหยาม เช่น หากบุคคลที่ถือสินค้าเป็นนักแสดงหรือดารา การที่บอกว่าจะไม่กินสินค้านั้นก็ไม่ถือว่าดูหมิ่นนักแสดง

พยานเห็นว่าไม่เป็นการอาฆาตมาดร้าย เนื่องจากอาฆาตมาดร้ายต้องมีการพูดหรือแสดงกิริยาที่บอกว่าในอนาคตจะประทุษร้ายต่อร่างกายหรือทรัพย์สิน

นอกจากนี้โพสต์ดังกล่าวยังไม่ได้บอกว่าจำเลยจะไม่รับประทานเฉาก๊วยด้วยเหตุผลใด จึงสามารถตีความได้หลากหลาย

โพสต์ภาพและข้อความตั้งคำถามกับประชาชนเกี่ยวกับการนำเงินของหมู่บ้านมาบำรุงรักษาศาลาที่รัชกาลที่ 9 ผูกเชือกฉลองพระบาท จำนวน 2 โพสต์ พยานเห็นว่าไม่เข้าองค์ประกอบความผิดมาตรา 112 ใน 2 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรก เรื่องการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นอดีตพระมหากษัตริย์ โพสต์ของจำเลยเกิดขึ้นเมื่อปี 2564 ซึ่งรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคตไปแล้ว พระองค์ไม่มีสภาพบุคคล ไม่มีสถานะเป็นพระมหากษัตริย์ตามนัยของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ประเด็นที่สอง หากพิจารณาเนื้อความ เห็นว่าไม่เป็นการหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 9 เนื่องจากข้อความไม่ได้มีการยืนยันข้อเท็จจริงที่จะทำให้รัชกาลที่ 9 ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง เป็นเพียงการตั้งคำถามว่าไม่รู้ว่าก่อนหน้านี้รัชกาลที่ 9 ผูกเชือกรองเท้าอย่างไรเท่านั้น และเห็นได้ชัดว่าถ้อยคำดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการอาฆาตมาดร้าย

นอกจากนี้เมื่ออ่านข้อความโดยรวม สามารถตีความได้ว่าจำเลยวิพากษ์วิจารณ์ชาวบ้าน ว่านำเงินมาทำนุบำรุงศาลาที่รัชกาลที่ 9 เสด็จมา ไม่ได้มีเจตนาว่าร้ายรัชกาลที่ 9

พนักงานอัยการถามค้าน

พยานเบิกความตอบว่า หลักการเรื่องรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตามที่เบิกความไปข้างต้นเป็นความเห็นของพยาน แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากนักวิชาการจำนวนมาก แม้อาจมีบุคคลที่เห็นต่างได้

พยานยืนยันว่าเพียงการตัดต่อให้รัชกาลที่ 10 ถือถุงเฉาก๊วยซึ่งเป็นอาหารที่บุคคลทั่วไปรับประทาน ไม่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้าย มีลักษณะเป็นการล้อเลียน ซึ่งไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด

ทนายความถามติง

พยานเบิกความตอบว่า แนวคิดของพยานอ้างอิงมาจากตำรากฎหมายและบทความทางวิชาการ

หลังจบการสืบพยาน ศาลได้กล่าวกับพยานว่า ขอให้พยานเจริญก้าวหน้าในทางวิชาการ อย่างไรก็ตามวิชาการกับทางปฏิบัติอาจมีความแตกต่างกัน วิชาการบางอย่างอาจไม่ได้ใช้กับบริบทกฎหมายไทย ต่างประเทศก็ยอมรับและชื่นชมบริบทของกฎหมายไทยเช่นกัน

.

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ พยานผู้เชี่ยวชาญระบุ ม.112 คุ้มครองแค่กษัตริย์องค์ปัจจุบัน-ภาพตัดต่อเป็นการล้อเลียน-ข้อความไม่ถึงขั้นเสื่อมเสียพระเกียรติยศชื่อเสียง

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง พยานผู้เชี่ยวชาญด้านเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพด้านศาสนา และพัฒนาการของรัฐธรรมนูญไทย จบการศึกษาปริญญาโท นิติศาสตร์มหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเยล ปริญญาเอกในสาขานิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยบริสตอล ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พยานได้เสนอความเห็นในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ สามารถสรุปได้ 4 ประการ ดังนี้

ประการแรก ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มุ่งคุ้มครองตัวบุคคล 4 คน ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งหมายถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันเท่านั้น ถ้อยคำในประมวลกฎหมายอาญาเมื่อแรกร่างเป็นภาษาอังกฤษ ใช้คำชัดเจนว่า The King ซึ่งหมายความเจาะจงถึงพระองค์เดียว เป็นเอกพจน์

ประการที่สอง การตีความกฎหมายอาญา เนื่องจากมีโทษต่อเนื้อตัวร่างกาย จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด ไม่อาจตีความขยายความรับผิดออกไปเกินกว่าที่ลายลักษณ์อักษรกำหนด หากมีข้อสงสัย ต้องตีความไปในทางจำกัดความรับผิดมากกว่าขยายออกไป

ประการที่สาม ตามหลักกฎหมายอาญา ความรับผิดต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบภายนอกและองค์ประกอบภายใน ในกรณีนี้ เมื่อข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นองค์ประกอบภายนอกไม่ครบถ้วน เนื่องจากผู้ถูกกระทำในโพสต์ภาพและข้อความรัชกาลที่ 9 ผู้เชือกฉลองพระบาท ไม่ใช่พระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 112

ประการที่สี่ สำหรับโพสต์ภาพตัดต่อภาพรัชกาลที่ 10 ทรงถือถุงเฉาก๊วย ประกอบข้อความทำนองว่าจะไม่กินเฉาก๊วยยี่ห้อดังกล่าว เมื่อกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 จึงเข้าองค์ประกอบความผิดด้านบุคคลแล้ว ต้องพิจารณาต่อไปว่าเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายหรือไม่

ข้อความเป็นภาษาพูดที่ไม่สุภาพ ไม่ใช่ภาษาทางการ และใจความอนุมานได้ว่าผู้พูดไม่พอใจบุคคลในคลิป คือ พระเจ้าอยู่หัว แต่ความไม่พอใจจะถึงขั้นเกลียดชังหรือไม่ ไม่อาจอนุมานได้ 

เห็นว่า ความไม่พอใจดังกล่าวเป็นสิทธิของประชาชนเนื่องจากกฎหมายนั้นเป็นเครื่องมือกำหนดการกระทำมนุษย์ แต่ไม่อาจบังคับจิตใจมนุษย์ได้ ข้อความของจำเลยไม่ถึงขั้นทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติยศชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง และประชาชนเสื่อมความเคารพศรัทธา 

โพสต์ภาพตัดต่อภาพรัชกาลที่ 10 ทรงถือถุงเฉาก๊วย ไม่เป็นการหมิ่นประมาท ซึ่งจะต้องใส่ความ และการใส่ความนั้นต้องชวนให้ผู้เห็นข้อความเชื่อว่าเป็นไปเช่นนั้นจริง แต่วิญญูชนย่อมทราบดีว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้ขายเฉาก๊วย อีกทั้งยังไม่ใช่การแสดงความอาฆาตมาดร้าย เนื่องจากไม่มีข้อความที่แสดงเจตนาชัดแจ้งออกมา เป็นการล้อเลียน ซึ่งกฎหมายไทยไม่เคยมีบรรทัดฐานว่าในการล้อเลียนบุคคลสาธารณะนั้นจะกระทำได้แค่ไหน ต่างจากในต่างประเทศที่บุคคลสาธารณะย่อมถูกล้อเลียนได้ในระดับหนึ่ง

X