อัยการสั่งฟ้อง คดี ม.112 “อดีต รปภ.” เหตุโพสต์ 5 ข้อความเกี่ยวกับ ร.9 และ ร.10

ตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 64 พนักงานอัยการอาญาพิเศษ ฝ่ายคดีอาญา 9 ได้มีความเห็นสั่งฟ้องคดีของ “ไวรัส” (นามสมมติ) อายุ 33 ปี อดีตเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของธนาคารแห่งหนึ่ง ในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต่อศาลอาญารัชดา จากกรณีที่ถูก อิสกันต์ ศรีอุบล จากกลุ่มกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันฯ เป็นผู้กล่าวหา จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 5 ข้อความเกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 และ 10

คดีนี้ ไวรัสถูกกลุ่มบุคคลอ้างว่าเป็นกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันฯ ประมาณ 6-7 คน บุกมาที่ทำงานของเขา กล่าวหาว่าเขาแชร์โพสต์หมิ่นกษัตริย์ ทั้งพยายามข่มขู่ให้ขอโทษ ก่อนมีการไปแจ้งความกล่าวหาเขา ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดต่อเรียกไวรัสไปพูดคุยที่ สน.โชคชัย พร้อมแจ้งข้อหา  เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 64 โดยไม่ได้มีหมายเรียกมาก่อน และเขายังถูกนำตัวไปขอฝากขัง ก่อนศาลจะให้ประกันตัว 

>> อดีต รปภ. ถูกตร.เรียกไปแจ้งข้อหา ม.112 ที่ สน.โชคชัย หลังกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันฯ กล่าวหาโพสต์เฟซบุ๊ก 5 โพสต์

.

พนักงานอัยการได้ฟ้องว่าไวรัสใช้เฟซบุ๊กโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จำนวน 5 ข้อความ ระหว่างวันที่ 30 เมษายน ถึง 7 พฤษภาคม 2564 โดยมีกรณีที่แชร์และโพสต์เกี่ยวกับกษัตริย์รัชกาลที่ 9 จำนวน 2 ข้อความ แชร์และโพสต์ข้อความเกี่ยวกับกษัตริย์รัชกาลที่ 10 จำนวน 3 ข้อความ

ข้อความหนึ่งระบุว่าเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 64 จำเลยได้ใช้เฟซบุ๊กแชร์ภาพและข้อความของอีกบัญชีหนึ่ง ซึ่งเป็นภาพของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พร้อมข้อความเนื้อเพลงคาราโอเกะว่า “ไม่รักระวังติดคุกนะ” “รู้สึกอยากฟังเพลงขึ้นมาทันที” และ “มาๆๆร้องเพลงคาราโอเกะกันนะ”

อัยการบรรยายฟ้องว่าข้อความดังกล่าวเป็นการล่วงละเมิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 และพระบรมราชินี ซึ่งประชาชนทั่วไปที่พบเห็นภาพและข้อความดังกล่าวเข้าใจความหมายได้ว่า ทั้งสองพระองค์บังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม หากบุคคลใดไม่เคารพรักทั้งสองพระองค์ อาจมีความผิดและถูกลงโทษจำคุก โดยประการที่น่าจะทำให้พระมหากษัตริย์และพระราชินี ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง และประชาชนเสื่อมความเคารพศรัทธา 

ไวรัสถูกฟ้องใน 2 ข้อกล่าวหา ได้แก่ มาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา และ มาตรา 14 (3) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อัยการยังขอให้ศาลสั่งริบโทรศัพท์ 1 เครื่องไว้เป็นของกลางด้วย หลังจากที่ถูกยึดโดยพนักงานสอบสวนมาตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค. 64 เพื่อทำการสอบสวนแล้ว และอัยการยังระบุขอคัดค้านการประกันตัว โดยให้เหตุผลว่า “เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูงมาก”

หลังศาลรับฟ้อง ทนายจำเลยได้ยื่นขอประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี โดยใช้หลักทรัพย์เดิมในชั้นสอบสวนจากกองทุนราษฎรประสงค์ จำนวน 200,000 บาท ก่อนศาลอาญาอนุญาตให้ประกันตัวจำเลย พร้อมกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 1 พ.ย. 64 เวลา 9.00 น. 

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าหลังการเริ่มกลับมาบังคับใช้ตั้งแต่ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563  จนถึงปัจจุบัน (12 ต.ค. 64) มีผู้ถูกดำเนินคดีแล้วอย่างน้อย 150 ราย ใน 152 คดี โดยเป็นคดีที่มีประชาชนเป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 73 คดี 

>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

X