นานาชาติเสนอทบทวน แก้ไข ม.112 – รัฐไทยแถลงวาจายันคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ สวนทางความเป็นจริง

ในการประชุมทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย (Universal Periodic Review หรือ UPR) ครั้งที่ 3 ที่นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 64 เวลา 15.00 น. (ตามเวลาไทย) คณะผู้แทนของประเทศไทย นำโดยนายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้ชี้แจงต่อคำถามที่หลายประเทศได้แสดงความกังวล รวมถึงข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยในหลายประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในประเด็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และการใช้ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (หมิ่นพระมหากษัตริย์) ดำเนินคดีประชาชนและเยาวชน

ก่อนหน้าวันทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนรอบที่สามนี้ ชาติสมาชิกบางประเทศได้ส่งคำถามล่วงหน้าต่อรัฐบาลไทย เพื่อให้ตัวแทนของรัฐบาลชี้แจงต่อคำถามต่างๆ โดยมีคำถามที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการแสดงออกทางการเมืองและการชุมนุม จากชาติสมาชิก ได้แก่

คำถามจากรัฐบาลสหราชอาณาจักร: ไทยจะทบทวนข้อบังคับที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก และใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชน จากการถูกข่มขู่และคุกคามทุกรูปแบบหรือไม่ นอกจากนี้ยังถามว่าไทยมีแผนการอะไรบ้างที่จะสอบสวนข้อกล่าวหาเรื่องการใช้กำลังอย่างไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงประเทศไทยจะทบทวนกฎหมายและข้อบังคับที่จำกัดเกี่ยวกับสิทธิในเสรีภาพในการแสดงออก และมีมาตรการทางกฎหมายเพื่อปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และสื่อจากการคุกคาม การข่มขู่ และการล่วงละเมิดหรือไม่

คำถามจากรัฐบาลเบลเยี่ยม: ไทยจะแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 19 ของกติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ตามที่เบลเยี่ยมได้เคยแนะนำในกระบวนการ UPR ครั้งที่แล้วหรือไม่ และไทยจะมีมาตรการใดเพื่อรับประกันว่าเยาวชนจะสามารถใช้เสรีภาพในการแสดงออก และการประท้วงอย่างสันติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก

นานาชาติกังวล ม.112 กระทบเสรีภาพ พร้อมเสนอให้ทบทวน-แก้ไข-ยุติการดำเนินคดีต่อเด็ก

ในวันที่จัดประชุมทบทวนดังกล่าว ชาติสมาชิกหลายประเทศ ยังได้แสดงความกังวลในเรื่องการจับกุมนักกิจกรรมประชาธิปไตย รวมถึงเยาวชน การใช้ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ดำเนินคดีต่อประชาชนที่มากขึ้น ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพการแสดงออกความคิดเห็น ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์  การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม

ชาติสมาชิกได้เสนอข้อแนะนำที่มีต่อรัฐบาลไทยในประเด็นมาตรา 112 ขอให้มีการทบทวนและแก้ไขข้อกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และยุติการดำเนินคดีประชาชน โดยมีทั้งหมด 12 ประเทศ ได้แก่ ประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ เดนมาร์ก แคนาดา เบลเยี่ยม ออสเตรีย สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ ลักเซมเบิร์ก ทั้งนี้ทางสหรัฐอเมริกาและสวีเดนเสนอข้อแนะนำให้ยกเลิกอัตราจำคุกขั้นต่ำของข้อกฎหมายดังกล่าวด้วย

รวมถึงข้อเสนอให้ยุติการจับกุมและการดำเนินคดีอาญาในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ต่อเด็กและเยาวชน และหลีกเลี่ยงการคุมขังเด็กและเยาวชนที่ออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดและการชุมนุมโดยสงบ โดยเป็นข้อเสนอจาก 4 ประเทศ ได้แก่ เม็กซิโก ออสเตรีย เดนมาร์ก และฟินแลนด์

ประเทศเหล่านี้ยังมีข้อเสนอให้ไทยรับรองว่าจะเคารพพันธกรณีในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ข้อที่ 13, 15 และ 37 ว่าเด็กมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและสิทธิในการได้รับการรับฟัง เด็กมีสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ และเด็กไม่ควรถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงข้อบทที่ 40 ว่าเด็กและเยาวชนจะต้องไม่ได้รับโทษทางอาญาที่หนักที่สุด ในบริบทของข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามมาตรา 112

ในรอบนี้มีชาติสมาชิกที่เสนอข้อแนะในประเด็นมาตรา 112 มากกว่ารอบที่สอง อยู่ทั้งหมด 8 ประเทศ

อีกทั้ง เสนอข้อแนะนำให้ยกเลิกการจำกัดและการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น รวมถึงป้องกัน รับรองและเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น มี 17 ประเทศได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น อิตาลี ลัตเวีย มอนเตเนโกร ติมอร์-เลสเต ออสเตรเลีย ออสเตรีย บอตสวานา บราซิล สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก เอสโตเนีย มาลาวี เม็กซิโก นิวซีแลนด์ โปรตุเกส และ เกาหลีใต้

และเสนอให้ทบทวนและแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ  โดย 5 ประเทศ ได้แก่ ลักเซมเบิร์ก นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเยอรมนี รวมทั้งเสนอให้ทบทวนและแก้ข้อกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ตามมาตรา 326 และ 328 แห่งประมวลกฎหมายอาญา  โดย 4 ประเทศ ได้แก่ ลักเซมเบิร์ก สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยี่ยม และ เยอรมนี

ปลัดกระทรวงต่างประเทศชี้แจงเช่นเดิมว่า ม.112 สะท้อนสังคม-ประวัติศาสตร์ไทย

นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้ชี้แจงด้วยวาจาในประเด็นมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญาไทย ต่อที่ประชุม ว่าข้อกฎหมายนี้เป็นเกราะป้องกันการหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง เป็นภาพสะท้อนสังคมและประวัติศาสตร์ของประเทศไทย โดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหนึ่งในเสาหลักของประเทศ และมีความเชื่อมโยงกับความมั่นคงแห่งชาติ การใช้ข้อกฎหมายนี้มีความละเอียดอ่อนเป็นอย่างมาก จึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเจ้าหน้าที่ที่จะต้องตรวจสอบให้แน่ชัดเพื่อให้ความเห็นว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง โดยเฉพาะทางพนักงานอัยการ ทั้งนี้การร้องเรียนในบางคดีก็ไม่ได้ถูกสั่งฟ้องต่อศาล 

ปลัดกระทรวงต่างประเทศระบุว่า สำหรับคนที่ถูกกล่าวหา ถ้าไม่ได้แสดงให้เห็นว่าจะกระทำการละเมิดกฎหมายซ้ำ ก็จะได้รับการประกันตัว รวมถึงได้ระบุในส่วนการแก้ไขทบทวนกฎหมายฉบับนี้ว่า การจะแก้ไขทบทวนกฎหมายเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะต้องพิจารณา อีกทั้งยืนยันการเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็นและการชุมนุม โดยการแสดงความคิดเห็นนั้นจะต้องกระทำด้วยความสร้างสรรค์และอย่างเหมาะสม

ส่วนผู้แทนของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ชี้แจงว่าไทยได้มีการแก้ไขมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตามที่เคยได้รับข้อเสนอแนะจากนานาชาติในรอบที่สอง สำหรับการสั่งระงับการเข้าถึงเว็บไซต์นั้น จะมีการสอบสวนโดยคณะกรรมการก่อนเสมอ และในปีที่ผ่านมาทางกระทรวงดิจิทัลฯ ได้ตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เพื่อป้องกันการเผยแพร่ข่าวปลอมและให้ข้อมูลที่ถูกต้องของสังคม  พร้อมทั้งยังยืนยันว่ารัฐบาลมุ่งมั่นในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพการแสดงออกความคิดเห็นของประชาชนและสื่อ

ทั้งนี้คณะผู้แทนของประเทศไทยไม่ได้แถลงด้วยวาจาเพื่อตอบคำถามและกล่าวถึงข้อเสนอแนะในประเด็นเด็กและเยาวชน ในบริบทของการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และการดำเนินคดีร้ายแรงต่อเด็กเยาวชนแต่อย่างใด

ข้อชี้แจงทางการไทย ไม่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง     

ทั้งนี้ จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตลอด 4 ปี ที่ผ่านมา พบว่าข้อชี้แจงดังกล่าวต่อนานาชาติไม่ได้ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง โดยมีประเด็นสรุปได้ว่า 

1. เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกดำเนินคดีด้วยข้อหามาตรา 112 เจ้าหน้าที่ไม่สามารถใช้ดุลพินิจให้เป็นประโยชน์แก่จำเลยได้ และมีการตีความที่กว้างขวางอย่างไม่มีขอบเขต เนื่องจากประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกมองว่าเป็นเรื่อง “อ่อนไหว” แม้ตามหลักการแล้วการตีความและบังคับใช้กฎหมายต้องเป็นไปอย่างเคร่งครัดเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา แต่ในคดีลักษณะนี้ เจ้าหน้าที่เองก็ได้รับแรงกดดัน ทำให้มีการสั่งฟ้องคดีที่เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง อาทิ คดีของสมบัติโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจนะ” 

2. ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of innocence) ไม่มีความผิด ฉะนั้นแล้วการปฏิบัติต่อผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยจะต้องปฏิบัติเสมือนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ให้มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยจะต้องได้รับสิทธิในการประกันตัวในการร้องขอปล่อยช่วยคราวในคดีอาญาเป็นหลัก และการไม่อนุญาตให้ปล่อยจะต้องเป็นข้อยกเว้น แต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนมิถุนายน 64 ที่ผ่านมา มีผู้ต้องหาและจำเลยในคดีมาตรา 112 รวมแล้ว 19 คน ที่ไม่ได้รับการประกัน และปัจจุบันมีผู้ต้องหาและจำเลย 5 คน ที่ไม่ได้รับการประกัน ซึ่งศาลให้เห็นผลหลักๆ ในการออกคำสั่งคือ เกรงว่าจำเลยจะไปก่อภยันตรายประการอื่น โดยศาลมิได้นำหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมาพิจารณาประกอบ

3. การเรียกร้องของประชาชนให้แก้ไขตัวบทกฎหมาย แต่กลับโดนดำเนินคดีแทน นับตั้งแต่การกลับมาบังคับใช้กฎหมายข้อหา หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีมีจำนวนทั้งหมด 157 คน ใน 161 คดี รวมเยาวชนอีก 12 คน ซึ่งอัยการได้สั่งฟ้องแล้วกว่า 58 คดี  ไม่เพียงแต่ดำเนินคดีประชาชนที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างด้วยข้อหามาตรา 112 อย่างเดียว แต่ยังสร้างผลกระทบที่ทำให้ประชาชนไม่กล้าที่จะพูดหรือแสดงออก (chilling effect) ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและความคิดเห็นของประชาชนในวงกว้าง อีกทั้งเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 64 ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการยกเลิกมาตรา 112 เป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ ด้วย

4. พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ใช้ปราบปรามความคิดเห็นทางออนไลน์ทั้งที่กฎหมายมีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันและปราบปรามการหลอกลวงผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ ผู้ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กว่า 115 คดี ในจำนวนนี้มี 91 คดี ที่ถูกดำเนินคดีร่วมกับข้อหามาตรา 112 โดยจำนวนกว่า 10 คดี มีทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้กล่าวหา ข้อกล่าวหาหลักๆ คือ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลที่บิดเบือน หรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ หรืออันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร  ซึ่งตัวบทมีขอบเขตการตีความที่กว้างขวาง และคดีส่วนมากแล้วเป็นความผิดในเชิงเนื้อหามากกว่าความผิดเชิงระบบ ซึ่งไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของตัวกฎหมาย

5. กระทรวงดิจิทัลฯ ขอศาลปิดกว่า 4,024 URLs ที่แสดงออกทางเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ รวมถึงสื่อในช่วงปี 63 พร้อมขอให้ศาลลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) และมาตรา 20 ทั้งนี้หลังจากศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งปิดกั้นกรณีของธนาธร เผยแพร่คลิปเรื่องการจัดหาวัคซีนโควิด-19 แล้วจึงเริ่มมีการส่งหมายไต่สวนระงับ URLs อย่างในคดีของเกียรติชัยที่เผยแพร่ข้อความในทวิตเตอร์วิพากษ์วิจารณ์การแต่งกายของกษัตริย์รัชกาลที่ 10 ศาลมีคำสั่งให้ลบหรือระงับข้อความและภาพที่เผยแพร่ 

6. รัฐคุกคาม ข่มขู่ และสอดแนมแกนนํานักเรียนนักศึกษาและเด็ก จากการประท้วงตลอดปี 2563 นักเรียนและนักศึกษาหลายคนรายงานว่า ตํารวจได้ไปยังโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเพื่อเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของพวกเขา มีการสอบถามข้อมูลส่วนตัวของพวกเขากับครูอาจารย์ หรือกดดันให้ผู้ที่อยู่ในฝ่ายบริหารและฝ่ายปกครองของโรงเรียนดำเนินการไม่ให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยโรงเรียนออกข้อจํากัดอย่างร้ายแรงต่อสิทธิของนักเรียนในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ โดยสั่งห้ามนักเรียนไม่ให้แสดงสัญลักษณ์ชูสามนิ้ว ผูกโบว์สีขาว หรือเข้าร่วมกิจกรรมการเมือง

7. เจ้าหน้าที่รัฐยกระดับการดําเนินการทางกฎหมายต่อแกนนํานักเรียน นักศึกษา และเด็กเยาวชน ไม่ให้เข้าร่วมการประท้วง ระหว่างวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 24 มีนาคม 2564 (วันที่ส่งรายงาน) มีเยาวชน 17 คนที่ถูกตํารวจควบคุมตัวโดยไม่มีหมายจับ หรือไม่มีการแจ้งเหตุผลในการจับกุม มีเยาวชน 1 รายถูกตั้งข้อหา “ยุยงปลุกปั่น”ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และมี 6 ราย ที่ถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

8. เจ้าหน้าที่ใช้กระบวนการอันไม่ชอบธรรมจับกุม กักขัง และดำเนินคดีกับเด็กและเยาวชน มีผู้เยาว์หลายคนที่เผชิญหน้ากับการจับกุมโดยไม่มีหมายจับ ในระหว่างการสลายการชุมนุม บางคนได้รับบาดเจ็บทางร่างกายและบอบช้ำทางจิตใจ จากการใช้กระสุนยาง แก๊สน้ำตา ปืนฉีดน้ำ และกระบองของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยิ่งไปกว่านั้น ในระหว่างการจับกุม เจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งเด็กและเยาวชนที่ถูกจับเกี่ยวกับสถานกักขัง มีผู้เยาว์อย่างน้อย 95 ราย ถูกควบคุมตัวและได้รับแจ้งข้อกล่าวหาในสถานที่ที่ไม่เป็นทางการ เช่น กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน 1 หรือสำนักงานกองปราบปราบยาเสพติด

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

ทบทวนไทยไม่รับข้อเสนอที่ประชุม UN แก้ไขกฎหมายไม่สอดคล้องมาตรฐานระหว่างประเทศ รวมทั้งข้อหา ม.112 ทั้งยังดำเนินคดีปชช.เกินร้อยคน
สิทธิเด็กถูกรัฐไทยใช้กฎหมายควบคุม-สลายการชุมนุมเกินกว่าเหตุ แม้รับข้อเสนอประกันสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมละเมิดหนัก แม้รัฐไทยรับ 10 ข้อเสนอ ปกป้องคุ้มครองเด็กเยาวชนจากความรุนแรง
สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64
บทบัญญัติที่ไม่ควรมีที่ทางในประเทศประชาธิปไตย: ย้อนดู ม.112 ในสายตากลไกสิทธิมนุษยชน UN
X