ในคดีอาญาอันเกิดจากการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือเสรีภาพในการชุมนุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีความผิดที่เกี่ยวกับการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ศาลมักจะมีแนวโน้มที่จะไม่ให้สิทธิในการประกันตัวแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในระหว่างการต่อสู้คดี ทำให้ศาลถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าใช้อำนาจหรือใช้ดุลพินิจที่ขัดกับหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of innocence) สืบเนื่องจากเหตุการณ์เหล่านี้ บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความหมายเบื้องต้นของหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ โดยมุ่งหมายที่ขอบเขตและวัตถุประสงค์ของหลักการ รวมไปถึงการตั้งข้อสังเกตทางกฎหมายบางประการเกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวดังกล่าว
1. บทสำรวจนิยามของความหมายเบื้องต้นของหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
หลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์เป็นหลักสิทธิมนุษยชนสากลที่ปรากฎอยู่ในกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 14 ที่บัญญัติว่า “บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดทางอาญา ต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด” หรือปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ข้อ 11 ที่กล่าวว่า “ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญามีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมายในการพิจารณาคดีที่เปิดเผย ซึ่งตนได้รับหลักประกันที่จำเป็นทั้งปวงสำหรับการต่อสู้คดี” ในส่วนของอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน มาตรา 6 (2) ได้บัญญัติรับรองไว้ว่าทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญา จะต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนตามกฎหมายว่าเป็นผู้บริสุทธิ์[1]
แม้ในเบื้องต้นหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จะเป็นหลักการที่ยึดโยงกับเรื่องภาระการพิสูจน์เป็นสำคัญ แต่อย่างไรก็ตามข้อความคิดนี้ได้พัฒนาและมีขอบเขตที่กว้างขวางขึ้น องค์กรที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในระดับระหว่างประเทศหลายๆ องค์กร ได้ให้ความหมายและตีความหลักการนี้ไว้ โดยมีขอบเขตที่กว้างขวางกว่าเรื่องภาระการพิสูจน์ในกระบวนการพิจารณาคดี ยกตัวอย่างเช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee) ได้ตีความว่า การสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์เป็นเครื่องมือสำคัญในการปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยภาระการพิสูจน์ว่าเป็นผู้กระทำผิดย่อมตกอยู่กับฝ่ายผู้กล่าวหา และจะไม่มีใครถูกตัดสินว่ามีความผิดจนกว่าจะมีการพิสูจน์โดยปราศจากข้อสงสัยอันสมเหตุสมผล รวมไปถึงผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญา จะต้องได้รับการปฏิบัติตามหลักดังกล่าว[2]
เราอาจจะกล่าวได้ว่า หลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์นั้นมีสาระสำคัญหรือขอบเขตของเนื้อหาอยู่สองระดับนั่นคือ (1) ภาระการพิสูจน์ในวิธีพิจารณาความของศาล และ (2) การปฏิบัติต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการทางอาญาต่างๆ[3] ซึ่งแต่ละระดับได้มีผู้อธิบายเชิงข้อความคิดไว้ดังนี้
ภาระการพิสูจน์ในวิธีพิจารณาความของศาล
ในระดับนี้ หลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นหลักการที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคล โดยผู้ที่กล่าวหาว่าปัจเจกชนได้กระทำความผิดทางอาญานั้นจะต้องรับภาระในการพิสูจน์ว่าผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยได้กระทำความผิดจริงอย่างสิ้นสงสัย ด้วยการนำเสนอพยานหลักฐานต่างๆ ต่อศาลที่เป็นกลาง และผู้ถูกกล่าวหาจะไม่ถูกรับภาระในการพิสูจน์ว่าตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์[4]
ขอบเขตเนื้อหาเรื่องภาระการพิสูจน์นี้ เป็นความหมายที่ดั้งเดิมของหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ โดยสมัยโรมันก็ได้มีการกล่าวถึงกฎเกณฑ์ดั้งเดิมของการพิจารณาพยานหลักฐานไว้ว่า การพิสูจน์ย่อมตกเป็นภาระของผู้ที่กล่าวหา มิใช่ผู้ที่ถูกปฏิเสธ (incumbit probatio qui dicit, non qui negat)[5] ซึ่งหลักการดังกล่าวได้พัฒนามาเป็นความหมายของหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ในปัจจุบัน
การปฏิบัติต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการทางอาญาต่างๆ
ขอบเขตของหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์มิได้ครอบคลุมถึงแค่เรื่องภาระการพิสูจน์เท่านั้น หากแต่รวมไปถึงการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยตั้งแต่เริ่มดำเนินกระบวนการทางอาญาต่างๆ รวมไปถึงตลอดการพิจารณาด้วย[6] หลักการนี้ได้เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่หรือองคาพยพของรัฐมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยดั่งเช่นปฏิบัติต่อผู้บริสุทธิ์ให้มากที่สุดเท่าที่กระทำได้ โดยขอบเขตในเรื่องการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยนี้ หมายความรวมถึงการที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไม่ถูกพาดพิงถึงจากเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าได้กระทำผิดแล้ว โดยปราศจากการพิสูจน์หรือดำเนินกระบวนการตามกฎหมายอีกด้วย[7]
หากพิจารณาจากมาตรฐานของสหภาพยุโรป หลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ย่อมถูกล่วงละเมิด หากเจ้าหน้าที่ของรัฐได้กล่าวถึงผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยว่าได้กระทำความผิดลงแล้ว ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้มีการตัดสินตามกระบวนการทางกฎหมาย[8] ในแง่นี้หลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จึงมีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับสิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องหาหรือจำเลย และสิทธิในกระบวนการทางอาญาต่างๆ ตั้งแต่ชั้นสอบสวนไปจนถึงขั้นการพิจารณาคดีโดยศาล
2. วัตถุประสงค์และเหตุผลเบื้องหลังของหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
หลักการนี้มีเหตุผลเบื้องหลังที่ยึดโยงกับข้อความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนและระบอบวิธีพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ตราบใดที่ยังไม่รู้แน่ชัดว่าผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยได้กระทำความผิดทางอาญาอย่างแน่ชัด ก็เป็นการสมควรที่รัฐหรือองคาพยพต่างๆของรัฐจะต้องคุ้มครองผู้ที่ถูกกล่าวหา และการเรียกร้องให้ปฏิบัติต่อผู้ถูกกล่าวหาอย่างเป็นผู้บริสุทธิ์ให้มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้
เราอาจกล่าวได้ว่าวัตถุประสงค์ประการหนึ่งของหลักการนี้คือ การป้องกันมิให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องเผชิญหน้าต่อการกล่าวหาทางอาญาที่ผิดพลาด[9] ซึ่งเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งในทางกฎหมายและทางสังคม การตกเป็นผู้ที่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดทางอาญานั้น กระทบกับมิติทั้งในด้านเศรษฐกิจและในด้านส่วนตัว ยกตัวอย่างเช่น เสรีภาพในการเดินทางย่อมถูกลดทอนเนื่องจากการเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศย่อมกระทำได้ยากลำบาก เพราะมีประวัติเป็นผู้ต้องหาในการกระทำความผิดทางอาญา หรือการเข้าทำงานบางประเภท เช่น การรับราชการย่อมไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากโดยทั่วไปย่อมตกอยู่ภายใต้ระเบียบที่กำหนดคุณสมบัติให้ผู้ที่จะทำงานราชการ จะต้องไม่เป็นผู้ที่ถูกคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดในทางอาญามาก่อน เป็นต้น
นอกจากนี้วัตถุประสงค์ของหลักการนี้อีกประการหนึ่ง คือการจำกัดอำนาจรัฐและคุ้มครองเสรีภาพของประชาชน เป็นที่แน่นอนว่าในหลายๆ เรื่องการใช้เสรีภาพของประชาชน อันถูกบัญญัติรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ อาจจะกลายเป็นความผิดทางอาญาได้ อย่างไรก็ตามในรัฐที่ยอมรับหลักการพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยย่อมต้องคำนึงถึงหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินคดีอาญาที่เกี่ยวกับการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
ทั้งนี้ในหลายๆ ประเทศที่หลักการนิติรัฐประชาธิปไตยหยั่งรากลึกอย่างเข้มแข็ง การพิจารณาคดีและการใช้ดุลพินิจของศาลทำคำพิพากษาลงโทษในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ศาลย่อมต้องคำนึงถึงการใช้เสรีภาพอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ และการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อย่างยิ่ง หลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จึงย่อมเป็นกลไกหนึ่งในการจำกัดอำนาจรัฐมิให้ลงโทษทางอาญาแก่ปัจเจกบุคคลที่ใช้เสรีภาพได้ตามอำเภอใจและปราศจากข้อจำกัด
3. ข้อสังเกตทางกฎหมาย: ความเป็นจริงในประเทศไทยกับการปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวในคดีอาญาที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
แม้หลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ในไทย ได้บัญญัติรับรองไว้ในมาตรา 29 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน ว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” หากพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เราอาจกล่าวได้ว่าเนื้อหาของหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ในระบบกฎหมายไทยนั้นครอบคลุมทั้งสองระดับ นั่นคือภาระการพิสูจน์ว่าเป็นผู้กระทำความผิดในคดีอาญาจะตกอยู่กับผู้กล่าวหา และการปฏิบัติต่อผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยจะต้องปฏิบัติเสมือนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ให้มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยจะต้องได้รับสิทธิในการประกันตัวในการร้องขอปล่อยช่วยคราวในคดีอาญาเป็นหลัก และการไม่อนุญาตให้ปล่อยจะต้องเป็นข้อยกเว้น รวมไปถึงศาลจะต้องมีเหตุผลตามมาตรา 108/1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คดีอาญาที่เกิดจากการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ประมุขของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่เกิดขึ้นจากการปราศรัยในการชุมนุมวันที่ 19 กันยายน 2563 ที่มีอานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์, ภาณุพงษ์ จาดนอก และ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ศาลได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวซ้ำๆ โดยเหตุผลหลักๆ ที่ศาลได้ใช้ในการออกคำสั่งคือ มาตรา 108/1 (3) นั่นคือเกรงว่าจำเลยจะไปก่อภยันตรายประการอื่น[10]
ทั้งนี้ข้อสังเกตทางกฎหมายในประเด็นนี้ แม้จะมีผู้กล่าวถึงไปเสียเกือบหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแถลงการณ์ของกลุ่ม 126 คณาจารย์-นักกฎหมาย หรือความเห็นส่วนตัวของ สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่องหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่บทความนี้ยังชวนตั้งข้อสังเกตทางกฎหมายในกรณีนี้ ดังต่อไปนี้
1) ข้อสังเกตในเรื่องการตีความคำว่าไปก่อภยันตรายประการอื่นในมาตรา 108/1 (3)
การไปก่อภยันตรายประการอื่นนั้นเป็นเหตุที่อยู่ในบทยกเว้น เนื่องจากโดยหลักผู้ต้องหาหรือจำเลยย่อมได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว ดังนั้นการตีความเหตุที่จะไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวดังกล่าวต้องตีความโดยแคบ ย่อมก่อให้เกิดคำถามว่าการก่อภยันตรายอื่น จะมีความหมายครอบคลุมไปถึงการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในการวิพากษ์วิจารณ์ประมุขของรัฐด้วยหรือไม่ ในการให้เหตุผลในการสั่งคำร้องแต่ละครั้งของศาล ศาลมิได้นำหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมาวิเคราะห์ และให้เหตุผลประกอบด้วยว่าการวิพากษ์วิจารณ์ประมุขของรัฐ เหตุใดจึงเป็นการก่อภยันตรายประการอื่น
2) แม้ศาลจะมีการอ้างถึงการไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในการแถลงข่าวจากสื่อศาล ด้วยการยกตัวอย่างในประเทศอังกฤษเรื่อง Criminal Justice and Public order act มา แต่บทบัญญัติที่ไม่อนุญาตให้ประกันตัวดังกล่าว ไม่รวมถึงกรณีที่เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นด้วย
ชำนาญ จันทร์เรือง ได้กล่าวว่า บทบัญญัติดังกล่าว Criminal Justice and Public order act 1994 กำหนดว่าการห้ามมิให้ศาลมีคำสั่งประกันตัวนั้นให้ใช้กับความผิดฐานที่เกี่ยวกับชีวิตร่างกายหรือเรื่องเพศเท่านั้น[11] กล่าวได้ว่า การไม่ให้ประกันตัวดังกล่าวไม่ได้รวมถึงกรณีที่เป็นความผิดเกี่ยวกับที่มีคุณธรรมทางกฎหมายเป็นการคุ้มครองชื่อเสียงประมุขของรัฐแต่อย่างใด ดังนั้น Criminal Justice and Public order act 1994 ไม่อาจนำมาเทียบเคียงได้กับกรณีการไม่ให้ประกันตัวในคดีอาญามาตรา 112 ของไทย
3) ในการสั่งคำร้องของศาลแต่ละครั้งในภายหลัง ศาลมักจะอ้างว่าไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ดังนั้นจึงพิจารณายกคำร้อง ในกรณีดังกล่าวหากข้อเท็จจริงปรากฎว่าสุขภาพของผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยได้เสื่อมถอยลงอย่างยิ่งยวด ย่อมเป็นเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมได้แล้ว ในกรณีที่เกิดเหตุเช่นนี้ขึ้น ศาลควรใช้ดุลพินิจสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวให้น้ำหนักมาทางสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยตามหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ มากกว่าการรักษาประโยชน์สาธารณะหรือคุณธรรมทางกฎหมายนั่นคือการดำรงไว้ซึ่งชื่อเสียงของประมุขของรัฐ
ในสถานการณ์ปัจจุบันที่สุขภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยบางคน เช่น พริษฐ์ ชิวารักษ์ ได้เสื่อมโทรมลงอย่างยิ่งยวดในขณะที่ถูกควบคุมตัวไว้ในเรือนจำ ศาลไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะต้องทบทวนคำสั่งเดิมอีกครั้ง ทั้งนี้แม้การธำรงรักษาไว้ซึ่งกฎหมายบ้านเมืองจะเป็นหน้าที่ที่สำคัญของศาล แต่ในรัฐที่ยอมรับหลักการนิติรัฐประชาธิปไตยเป็นหลักการสูงสุดในการปกครอง ศาลไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะต้องพิจารณาถึงมูลเหตุของการกระทำดังกล่าวว่าเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือไม่ หากเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ศาลควรที่จะใช้ดุลพินิจในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวโดยคำนึงถึงสิทธิผู้ต้องหา และดำเนินการตามหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์เป็นสำคัญ มิเช่นนั้น สิทธิเสรีภาพและความยุติธรรมก็คงจะไม่มีที่ทางในระบบกฎหมายและสังคมนั้นอีกต่อไป
————————————–
อ้างอิงท้ายเรื่อง
[1] European Convention on Human Rights, Article 6
[2] Human Rights Committee, General Comment No. 32 Article 14: Right to Equality before Courts and Tribunals and to a Fair Trial (2007) para. 30.
[3] P47-48, Ms.Pitchanika Pohbunchern, Constitutionality of Statutory Presumption with respect the criminal offence of insider trading (2019), Thesis, Master of law in business law (English Program), Thammasat University
[4] P241-243 Andrew Ashworth, ‘Four Threats to the Presumption of Innocence’ (2006) , The International Journal of Evidence & Proof
[5] Digest of Justinian (22.3.3)
[6] P918, Ndiva Kofele-Kale, ‘Presumed Guilty: Balancing Competing Rights and Interests in Competing Economic Crimes’ (2006) 40 The International Lawyer
[7] P243 Andrew Ashworth, Supra note 4
[8] Article 4 (1) of EU Directive 2016/343
[9] P599, Anthony Davidson Gray, ‘The Presumption of Innocence under Attack’ (2017), New Criminal Law Review: An International and Interdisciplinary Journal
[10] การพิจารณาและมีคำสั่งของศาลยุติธรรม ในการร้องขอปล่อยชั่วคราวในคดีอาญา,ข่าวแจกสื่อมวลชน วันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2564, ศาลยุติธรรม
[11] ชำนาญ จันทร์เรือง: ข้อโต้แย้งต่อคำชี้แจงกรณีไม่ปล่อยชั่วคราว สืบค้นจาก https://prachatai.com/journal/2021/04/92818