เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 64 เวลา 13.00 น. คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาออนไลน์ ผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์เพจ “คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ในหัวข้อ “การประกันตัวในคดีอาญา: การปฏิบัติการที่ต่างจากกฎหมาย?” โดยมีวิทยากรสามท่าน ได้แก่
- ศ.ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ศ.กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ ศาสตราภิชานประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์/อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
และมี ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมและการพัฒนา/อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
.
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล: “การที่ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว โดยเชื่อตามพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวน เป็นเรื่องอันตรายมาก”
ปริญญาเสนอมุมมองการประกันตัวในคดีอาญาผ่านสายตาของกฎหมายมหาชน โดยเสนอว่าหลักการ “ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยไม่มีความผิดจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด” หรือ Presumption of Innocence เป็นส่วนหนึ่งของหลักการปกครองโดยกฎหมาย (Rule of Law) ซึ่งมีการแบ่งแยกอำนาจเป็นสามฝ่าย ได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติผ่านทางรัฐสภา, อำนาจบริหารผ่านทางคณะรัฐมนตรี และอำนาจตุลาการผ่านทางศาล
กฎหมายถูกตราขึ้นโดยรัฐสภาและถูกบังคับใช้โดยตำรวจซึ่งอยู่ในการกำกับของรัฐบาล ดังนั้นศาลผู้ใช้อำนาจตุลาการจึงต้องมี “หลักความเป็นอิสระของศาล” หรือ Judicial Independence เพื่อคัดง้างถ่วงดุลกับอำนาจอีกสองฝ่าย หลักการ “ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าไม่มีความผิด” จึงเป็นหลักประกันเพื่อรับรองว่าสิทธิและเสรีภาพของประชาชนว่าจะไม่ถูกละเมิดโดยตำรวจซึ่งอยู่ในกำกับของฝ่ายบริหาร
“หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าไม่มีความผิด” ปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 29 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าบุคคลใดกระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” แต่ในทางปฏิบัติกระบวนการยุติธรรมไทยกลับปฏิบัติในทางตรงกันข้ามคือ “สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีความผิด และปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิด”
กระบวนการในชั้นตำรวจนั้นเป็นกระบวนการ “ทำให้ผู้ต้องสงสัยเป็นอาชญากร” เนื่องจาก “ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ” กำหนดให้นำรายชื่อและประวัติของผู้ต้องหาทุกคน บันทึกลงในทะเบียนประวัติอาชญากร ส่งผลให้ผู้ต้องหาแม้ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ปรากฏชื่อในทะเบียนประวัติอาชญากร
นอกจากนั้นผู้ที่มีรายชื่อในทะเบียนประวัติอาชญากร แม้ภายหลังอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีต่อศาล หรือศาลพิพากษายกฟ้อง ก็จะยังคงมีรายชื่อปรากฏอยู่ในทะเบียนประวัติฯ ต่อไป จนกว่าจะมีการคัดชื่อออก ซึ่งเป็นภาระของประชาชนที่จะต้องนำเอกสารยืนยันความบริสุทธิ์มาแจ้งต่อพนักงานสอบสวน ขอคัดแยกรายชื่อออกจากทะเบียนประวัติอาชญากรที่ประชาชนสามารถสืบค้นได้ แต่ยังคงปรากฏชื่ออยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากรที่สืบค้นได้เฉพาะเจ้าหน้าที่ นอกจากนั้นในผู้ถูกพิพากษาลงโทษสถานเบาเช่นโทษปรับก็ไม่สามารถขอคัดแยกชื่อออกได้
ปริญญาให้ข้อมูลว่าปัจจุบันมีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำกว่า 370,000 คน โดยกว่าหนึ่งในสี่ของผู้ต้องขังหรือประมาณ 90,000 คน เป็นผู้ต้องขังระหว่างการสอบสวน, ระหว่างการพิจารณาสั่งฟ้องของอัยการ, ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล หรือระหว่างการพิพากษา ซึ่งบุคคลเหล่านี้ต้องสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดทั้งสิ้น แต่พวกเขากลับถูกปฏิบัติเช่นเดียวกับนักโทษ การปฏิบัติเช่นนี้ของกรมราชทัณฑ์ขัดต่อรัฐธรรมนูณแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 29 วรรคสอง นอกจากนั้นยังเป็นสาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งของปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ
“ขังเป็นหลัก ปล่อยตัวเป็นข้อยกเว้น” ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ
ปริญญาตั้งข้อสังเกตต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่า ตามตัวบทกฎหมายการประกันตัวผู้ต้องหาก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดใช้คำว่า “ปล่อยตัวชั่วคราว” เช่นนี้แล้ว หมายความว่าการควบคุมตัวผู้ต้องหาเป็นเรื่องหลัก การปล่อยตัวเป็นเพียง “เรื่องชั่วคราว” หรือไม่ เหตุใดประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจึงไม่สอดคล้องกับหลักการ “สันนิษฐานไว้ก่อนว่าไม่มีความผิด” ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
ประเด็นนี้ปริญญาชี้ว่าเป็นผลสืบเนื่องจากความไม่ต่อเนื่องของประชาธิปไตยในประเทศไทย โดยเสนอว่าหากสืบค้นไปในประวัติศาสตร์จะพบว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยประกาศใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2477 ในเวลานั้นยังคงใช้หลัก “สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีความผิด” หรือ Presumption of Guilt
ต่อมาอีก 15 ปีให้หลัง จึงปรากฎหลัก “สันนิษฐานไว้ก่อนว่าไม่มีความผิด” ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 แต่หลักการใหญ่ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ได้ถูกแก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญเนื่องจากการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2494 หรือตัวอย่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2511 ถูกยกเลิกโดยการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2514 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 ก็สิ้นสุดลงจากเหตุการ์สังหารหมู่ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 อีกเช่นกัน
อย่างไรก็ตามแม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจะไม่ถูกแก้ไขในหลักการใหญ่ แต่ก็มีการปรับปรุงแก้ไขรายมาตราให้ใกล้เคียงกับหลักการ “สันนิษฐานไว้ก่อนว่าไม่มีความผิด” หลายครั้ง ได้แก่ การแก้ไขเพิ่มเติมในปี พ.ศ. 2547 วางหลักการไว้ว่าผู้ต้องหาที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด มีสิทธิได้รับการ “ปล่อยตัวชั่วคราว” หากจะไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวต้องมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1 ซึ่งบัญญัติว่า
“การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว จะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้
- ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี
- ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
- ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
- ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ
- การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล
คำสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวต้องแสดงเหตุผล และต้องแจ้งเหตุดังกล่าวให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยและผู้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว”
บทบัญญัติดังกล่าวสร้างบรรทัดฐานที่สำคัญในการประกันตัวในคดีอาญา
จากนั้นในปี พ.ศ. 2558 มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 วรรคสาม ในกรณีที่เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีหากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ศาลสามารถกำหนดมาตรการพิเศษที่สอดคล้องกับกฎหมายได้
ปริญญากล่าวว่า “ในทางปฏิบัติ มีการตีความกฎหมายโดยฝ่ายตุลาการที่คลาดเคลื่อนไปจากหลัก Presumption of Innocence” โดยยกตัวอย่างคำสั่งไม่ให้ประกันตัวแกนนำ “ราษฎร” 4 ราย ได้แก่ พริษฐ์ ชีวารักษ์, อานนท์ นำภา, ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม และสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งถูกขังระหว่างพิจารณาคดี โดยเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งคำร้องที่ ปอ 61/2564 มีการให้เหตุผลที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวส่วนหนึ่งว่า “การกระทำตามฟ้องมีลักษณะเป็นการร่วมกันกระทำความผิดของกลุ่มบุคคลอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือความวุ่นวายขึ้นและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง … มีลักษณะชักนำประชาชนให้ล่วงละเมิดต่อกฎหมายของแผ่นดิน” ถ้อยคำลักษณะเดียวกันนั้นปรากฏในคำสั่งคำร้องที่ได้อ่านในวันเดียวกัน
ปริญญาตั้งข้อสังเกตว่าการให้เหตุผลลักษณะดังกล่าวทำให้เข้าใจได้ว่าศาลเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดจริงตามที่ฟ้อง ทั้งที่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์จนสิ้นสงสัย คำสั่งดังกล่าวจึงขัดต่อหลักสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ขัดแย้งกับพันธกรณีระหว่างประเทศ ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ และขัดแย้งกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1
ปริญญากล่าวต่อว่าพนักงานสอบสวนเป็นเจ้าพนักงานสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ มาตรา 6 กำหนดให้ผู้กำกับดูแลคือนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายให้คุณให้โทษ การที่ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวโดยเชื่อตามพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวน เป็นเรื่องอันตรายมาก โดยยกตัวอย่างกรณีศึกษา “เชอรี่แอน ดันแคน”
นอกจากนั้นหากฝ่ายตุลาการปราศจากหลัก “ความเป็นอิสระ” ในการตรวจสอบถ่วงดุล และพิจารณาโดยปราศจากหลักการ “สันนิษฐานไว้ก่อนว่าไม่มีความผิด” จะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่เกิดการใช้กฎหมายเล่นงานฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง
สำหรับข้อเสนอของปริญญา คือศาลต้องระลึกว่าหากไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว คือการ “ติดคุกก่อนศาลพิพากษา” ผู้ต้องหาจะถูกควบคุมตัวในเรือนจำและได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับอาชญากร นอกจากนั้นต้องแก้ไข พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ฯ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และในระหว่างที่ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ฯ ยังไม่ได้รับการแก้ไขศาลควรพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยอาจกำหนดเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108 วรรคสาม
วิทิต มันตาภรณ์: แม้ไม่ผิด แต่การควบคุมตัวบุคคลไว้ระหว่างพิจารณา ส่งผลกระทบทางจิตวิทยา ทำให้รับสารภาพง่ายขึ้น
วิทิตเสนอว่าการประกันตัวในคดีอาญานอกจากมิติทางกฎหมายแล้ว มีมิติทางสังคมยังเป็นปัจจัยที่สำคัญ พร้อมยกตัวอย่างกรณีผู้ถูกควบคุมตัวที่มีฐานะยากจน ไม่สามารถหาหลักทรัพย์ค้ำประกันได้, กรณีผู้ลี้ภัยซึ่งถูกควบคุมตัวเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองกำหนดหลักทรัพย์ค้ำประกันไว้สูง และกรณีการควบคุมตัวผู้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง กรณีตัวอย่างเหล่านี้ทำให้สังคมกังขาถึงการเข้าถึงความยุติธรรม
วิทิตยังยกตัวอย่างการควบคุมตัวในวันศุกร์หรือก่อนวันหยุดราชการ ที่ทำให้ผู้ถูกควบคุมตัวไม่สามารถได้รับการประกันตัวไปจนถึงวันทำการของศาล และกรณีการควบคุมตัวโดยอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, กฎอัยการศึก และกฎหมายอื่นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเป็นเวลารวมกันมากกว่า 30 วัน การสูญเสียสิทธิเสรีภาพในระยะเวลาดังกล่าว ย่อมส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้ถูกควบคุมตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความเห็นต่อประเด็นการประกันตัวตามกฎหมายภายในของไทย วิทิตเน้นย้ำว่าการประกันตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การไม่อนุญาตประกันตัวต้องสอดคล้องตามมาตรา 108/1 และสามารถใช้กลไกตามมาตรา 119 ทวิ วรรคสาม ในกรณีไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี นอกจากนั้นในคดีที่มีโทษไม่สูง ควรได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องมีหลักประกัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 110
วิทิตชี้ว่าการประกันตัวในคดีอาญาในทางสากลไม่ได้มีเพียงหลัก “สันนิษฐานไว้ก่อนว่าไม่มีความผิด” แต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิ 3 ประการได้แก่
- สิทธิเสรีภาพที่จะได้รับความปลอดภัยในเนื้อตัวร่างกาย สิทธิดังกล่าวรัฐอาจจำกัดได้แต่ต้องพิสูจน์ว่ามีเหตุอันสมควร และการจำกัดสิทธิและต้องได้สัดส่วน
- บุคคลมีสิทธิที่จะไม่ถูกจำกัดสิทธิตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่ โดยต้องพิสูจน์ว่ามีกฎหมายบัญญัติไว้อย่างชัดเจนและเป็นที่ยอมรับในสังคมโลก
- สิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ จนกว่าจะมีการพิสูจน์เป็นอย่างอื่น
วิทิตเสนอแนวทางปฏิบัติในการควบคุมตัวที่ดีขึ้น โดยเสนอว่าควรดำเนินการให้สอดคล้องกับ “กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง” (ICCPR) พร้อมยกข้อความที่เกี่ยวข้องดังนี้
ข้อ 9 วรรคหนึ่ง “คนทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพในความปลอดภัยของร่างกาย บุคคลจะถูกจับกุมโดยอำเภอใจมิได้ บุคคลจะถูกลิดรอนเสรีภาพของตนมิได้ ยกเว้นโดยเหตุและโดยเป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย” โดยรัฐต้องพิสูจน์ได้ว่ามีกฎหมายที่บัญญัติไว้อย่างชัดเจนและยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมายไม่ใช่การใช้ดุลพินิจและอำเภอใจของเจ้าหน้าที่ (Legality)
ข้อ 9 วรรคสาม “มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดี” ในกรณีที่เป็นเพียงผู้ต้องสงสัย ไม่ควรถูกควบคุมตัว
ข้อ 14 วรรคสอง “บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดอาญาต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่าเป็นผู้มีความผิด”
สรุปว่าในทางสากลการได้รับประกันตัว “ไม่ใช่สิทธิเด็ดขาด” การควบคุมตัวเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่รัฐต้องพิสูจน์หลัก 3 ประการ ดังนี้
- รัฐต้องพิสูจน์ได้ว่ามีกฎหมายที่ให้อำนาจบัญญัติไว้อย่างชัดเจนและยุติธรรม และไม่ใช่เพียงดุลพินิจและอำเภอใจของเจ้าหน้าที่ (Legality)
- การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน รัฐต้องพิสูจน์ว่ามีเหตุจำเป็นและเป็นที่ยอมรับในประชาคมโลก(Necessary)
- ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้น รัฐต้องพิสูจน์ว่าสิทธิที่ถูกจำกัดได้สัดส่วนแก่เหตุที่เกิดขึ้นหรือเหตุที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง (Proportionate)
หากการควบคุมตัวไม่สอดคล้องกับหลักการดังกล่าวย่อมถูกท้วงติงจากประชาคมโลก นอกจากนั้นสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่บุคคลผู้ไร้อำนาจใช้คัดง้างกับอำนาจรัฐ เพื่อให้รัฐรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
วิทิตยังชี้ให้เห็นอีกว่าการควบคุมตัวบุคคลที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิด ได้สร้างผลกระทบในมิติอื่นนอกจากมิติทางกฎหมายและการเมืองอีกด้วย ได้แก่
1. การควบคุมตัวโดยเฉพาะคนยากจน ทำให้เขายากจนยิ่งขึ้น เนื่องจากทำให้สูญเสียโอกาสในการประกอบอาชีพ
2. การกักตัวผู้ต้องสงสัย ทำให้เขาไม่สามารถเข้าถึงพยานหลักฐานและได้รับคำปรึกษาจากทนายความ เป็นการกีดกันโอกาสที่จะพิสูจน์ว่าพวกเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ และเน้นย้ำกรณีศึกษาการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ให้ดุลพินิจแก่เจ้าหน้าที่มากเกินไป
3. การควบคุมตัวบุคคลไว้ในพื้นที่จำกัดเป็นปฏิบัติการทางจิตวิทยา ส่งผลให้ผู้ถูกควบคุมตัวตัดสินใจรับสารภาพได้ง่ายขึ้น แม้ว่าตามข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานจะไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเขามีความผิดก็ตาม
ดังนั้นการประกันตัว ควรสอดคล้องกับกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกติการะหว่างประเทศ นอกจากนั้นควรบังคับใช้กลไกตาม พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม เพื่อให้ผู้ถูกควบคุมตัวเข้าถึงการประกันตัวทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดด้วย
ข้อเสนอของวิทิตสำหรับกระบวนการยุติธรรมที่ดีขึ้น ได้แก่
1. ควรลดจำนวนหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อให้เพื่อให้ผู้มีฐานะยากจนและผู้อพยพลี้ภัย สามารถเข้าถึงการปล่อยตัวชั่วคราวได้
2. ควรยุติการควบคุมตัววันศุกร์หรือก่อนวันหยุดราชการ เนื่องจากทำให้ผู้ถูกควบคุมตัวไม่สามารถเข้าถึงการประกันตัวจนกว่าศาลจะเปิดทำการ ควรตระหนักว่าบุคคลเหล่านั้นต้องได้รับการ “สันนิษฐานไว้ก่อนว่าไม่มีความผิด”
3. ควรยุติการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากให้อำนาจและดุลพินิจแก่เจ้าหน้าที่มากเกินไป การควบคุมตัวบุคคลนอกสถานที่ราชการ การไม่ได้รับการประกันตัว ก่อให้เกิดความห่างเหินทางจิตใจอย่างยิ่งระหว่างประชาชนและเจ้าหน้าที่ การเข้าไม่ถึงความยุติธรรมยังขัดขวางกระบวนการสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
4. กรณีการควบคุมตัวผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ต้องพิสูจน์ตามหลัก 3 ประการตามกติการะหว่างประเทศ ไม่ควรบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในขณะที่มี พ.ร.บ. เฉพาะกรณีนั้นๆ อยู่แล้ว และเรียกร้องให้ยุติการฟ้องคดีในต่อผู้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก หากเป็นกรณีการเสรีภาพเกินขอบเขตควรเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
5. กรณีการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก หากมีกฎหมายกำหนดโทษควรเป็นความผิดทางแพ่ง นอกจากนั้นความผิดฐานหมิ่นประมาทควรเป็นความผิดทางแพ่งไม่ใช่ความผิดทางอาญา
สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล: คดีเชอรี่แอน ขังระหว่างพิจารณาคดีเกือบ 10 ปี สุดท้ายไม่มีความผิด
สุรศักดิ์เสนอว่ากฎหมายนิยามว่า “ผู้ต้องขังระหว่าง” หมายถึงบุคคลที่ถูกดำเนินคดี แต่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ว่าผู้นั้นได้กระทำความผิดอาญา ซึ่งหมายความรวมถึงบุคคลที่ถูกดำเนินคดีตั้งแต่การแจ้งข้อกล่าวหาในชั้นตำรวจ การสู้คดีในชั้นศาลชั้นต้น หรืออยู่ในระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษาในศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา และตั้งข้อสังเกตว่าโดยนัยยะนี้ทำให้บุคคลสามารถเป็นผู้ต้องขังได้ ตั้งแต่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาในชั้นตำรวจ หากพนักงานสอบสวนขออำนาจศาลฝากขัง
จากนั้นตั้งคำถามว่าการขังบุคคลไว้ตั้งแต่ยังไม่มีคำวินิจฉัยชี้ขาดว่าบุคคลนั้นกระทำความผิดเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ พร้อมยกตัวอย่างกรณีศึกษาคดีเชอรี่แอน ดันแคน
คดีนี้เกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2529 ต่อมาพนักงานสอบสวนควบคุมตัวและขออำนาจศาลฝากขังผู้ต้องหา (ซึ่งต่อมาเป็นจำเลย) โดยใช้พยานหลักฐานปลอม ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2529 ต่อมาศาลฎีกายกฟ้องปี 2538 ทำให้จำเลยในคดีนี้ถูกควบคุมตัวโดยไม่มีความผิดใดๆ เป็นเวลาประมาณ 10 ปี เหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย
จากนั้นสุรศักดิ์เสนอสถิติจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมดเทียบสัดส่วนกับจำนวน “ผู้ต้องขังระหว่าง” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 – 2564 ซึ่งในปีปัจจุบันคิดเป็น 17% ของผู้ต้องขังทั้งหมด และหากเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาพบว่ามีแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับ และชี้ว่ามีความพยายามแก้ไขปัญหา โดยยกตัวอย่าง การแก้ไขกฎหมายเพื่ออนุญาตให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทดแทนการขัง, การตั้ง “กองทุนยุติธรรม” เพื่อสนับสนุนหลักทรัพย์ค้ำประกัน, กระบวนการประเมิน “ความเสี่ยง” ของผู้พิพากษาเพื่ออนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว และ “คำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับมาตรฐานกลางสำหรับการปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลย” ลงวันที่ 4 ธ.ค. 2563 ซึ่งเป็นกลไกสนับสนุนให้ผู้พิพากษามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว
สำหรับสาเหตุของการไม่ได้รับประกันตัว อาจจำแนกได้หากแยกคดีเป็น 2 ประเภทคดีดังนี้
- ในกรณีคดีทั่วไป สาเหตุของการไม่ได้ประกันตัว ได้แก่
- ไม่ทราบสิทธิที่จะได้รับการประกันตัว เนื่องจากการแจ้งสิทธิผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวนทำไปเพื่อเป็น “พิธีกรรม” เท่านั้น
- ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีหลักประกัน
- ในกรณีคดีเฉพาะที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง เหตุผลที่ศาลระบุในคำสั่งไม่ให้ประกันตัวกล่าวถึงกระแสสังคมและอารมณ์ความรู้สึกซึ่งไม่ใช่เหตุผลทางกฎหมาย ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์และส่งผลต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม
สำหรับข้อเสนอของสุรศักดิ์ต่อการประกันตัวในคดีเฉพาะที่มีความอ่อนไหว ได้แก่
1. ศาลต้องกลับสู่หลักกฎหมายเนื่องจากส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือขององค์กรในกระบวนการยุติธรรม
2. การให้เหตุผลในคำสั่ง ต้องคำนึงถึงหลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งต้องให้เหตุผลในคำสั่งอย่างชัดเจนตาม มาตรา 108/1
3. ควรทำเป็นรูป “องค์คณะ” เพื่อความรอบคอบในการสั่งโดยต้องมีความเป็นอิสระของตุลาการที่เป็นหลักประกันความเป็นกลางในการทำงานด้วย
4. ตุลาการต้องตั้งอยู่บนหลัก “ความเป็นอิสระของตุลาการ” ต้องไม่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร แต่สามารถตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ โดยต้องมีการให้เหตุผลในคำพิพากษาหรือคำสั่ง และผู้ได้รับผลกระทบจากคำพิพากษาหรือคำสั่งต้องได้รับสิทธิอุทธรณ์ รวมถึงการขอยื่นประกันตัวใหม่ด้วย
5. ต้องมีการตรวจสอบข้อกล่าวหาที่พนักงานสอบสวนแจ้งต่อผู้ต้องหา ว่าพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาสอดคล้องกับฐานความผิดที่พนักงานสอบสวนแจ้งหรือไม่