เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 64 เพจ Nitihub ร่วมกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จัดการเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “คำสั่งไม่ให้ประกันตัว หลักกฎหมาย หรือการเมือง?”
โดยมีวิทยากร ได้แก่ สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา กรรมการ ป.ป.ช. และอาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ฐิตินันท์ เต็งอำนวย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และพูนสุข พูนสุขเจริญ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยมีพริม มณีโชติ เป็นผู้ดำเนินรายการ
.
คดีมีอัตราโทษสูง ไม่ใช่ข้ออ้างในการไม่ให้ประกันตัว ไม่มีในกฎหมาย
ผู้ดำเนินรายการเริ่มต้นการสนทนาด้วยการเกริ่นเรื่องสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ในบริบทกฎหมายและสถานการณ์ทางการเมืองไทยในปัจจุบัน ว่าเป็นไปอย่างไรกันแน่ และอะไรคือบรรทัดฐาน หลักกฎหมายหรือกระแสทางการเมือง นี่คือสิ่งที่จะร่วมกันหาคำตอบในการพูดคุย
สำหรับคำถามแรกที่ถูกถามขึ้นมา คือหลักกฎหมายเกี่ยวกับการพิจารณาว่าจะให้ฝากขัง หรือจะไม่ให้ฝากขัง หลักการคืออะไรกันแน่ หรือสามารถแปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ทางการเมืองกันได้
อ.ปริญญา: การจะจับกุมใครมาถือเป็นการกล่าวหาของผู้บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งอยู่ฝ่ายบริหาร ตามหลักการ Separation of Power ผู้มีอำนาจตามกฎหมายจะไม่ใช้อำนาจมารังแกประชาชน ผู้ใช้อำนาจบังคับกฎหมายมีแค่อำนาจใช้บังคับกฎหมาย จะมีอำนาจตีความไม่ได้
กฎหมายก็ต้องมาจากฝ่ายนิติบัญญัติ ศาลจะต้องตีความ อำนาจในการตีความกฎหมายว่าประชาชนทำผิดมาตรานั้นจริงหรือไม่ เป็นอำนาจของศาล ดังนั้นหลักการแบ่งแยกอำนาจก่อให้เกิดหลัก Presumption of Innocence คือการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ คือบุคคลจะเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าศาลจะพิพากษา เพราะว่าศาลต้องเข้าใจว่าการจับคนมา เป็นอำนาจใช้บังคับกฎหมาย อำนาจบริหาร ส่วนศาลจะต้องฟังความทั้งโจทก์และจำเลย ทั้งผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหาให้ครบถ้วน จะไปยึดถือเอาแต่การกล่าวหาและข้อหาว่ามีโทษร้ายแรงต่างๆ อย่างเดียวไม่ได้
ดังนั้น เมื่อเป็นแค่การกล่าวหา ประชาชนจึงไม่ควรจะติดคุกก่อนศาลพิพากษา รัฐธรรมนูญก็รับรองเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ปี 2492 รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2560) อยู่ที่มาตรา 29 วรรค 2 ในคดีอาญา “ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดก่อนถึงคำพิพากษาอันถึงที่สุด” แสดงว่าบุคคลใดจะกระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำผิดก่อนไม่ได้
ดังนั้นการที่ไม่ให้เขาประกันตัว แล้วไปขังในคุก แล้วให้เขาแต่งตัวเหมือนนักโทษต่างกันแค่สีเสื้อ มันเป็นเรื่องที่ผิด
อ.ปริญญา
รัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรค 3 ก็ยังบัญญัติไว้ต่อออกไป “การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี” รัฐธรรมนูญให้เหตุผลเดียวในการจะควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหา/จำเลย คือการจะหลบหนี
ในการสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวจะทำได้มีอยู่ 5 เหตุ ระบุในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1 ซึ่งมีประเด็นให้ตีความอยู่แล้วว่าเกินเลยจากรัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรค 3 หรือไม่ หลักมันเข้าใจง่าย ศาลจะต้องทำใจให้นิ่ง คือต้องรอฟังทั้งโจทก์และจำเลย ตำรวจกล่าวหาจะไปเชื่อถือ ยึดถือ เอาตามข้อกล่าวหาของตำรวจ แล้วใช้เป็นเหตุในการไม่ประกันตัว ว่าคดีมีอัตราโทษสูง นี่ฟังไม่ได้เลย
หลักคือจะต้องได้ประกันตัว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 มี 5 เหตุที่จะไม่ได้ประกัน 1. เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี 2. ผู้ต้องหาจะมายุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน 3. ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น 4. ผู้ร้องขอหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ 5. การปล่อยชั่วคราวจะก่อให้เกิดอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าหน้าที่
ข้อสำคัญคือ ถ้าหากจะไม่ปล่อยชั่วคราว ศาลต้องแจ้งเหตุผลให้ผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้ขอประกันให้ทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว ทีนี้ในทางปฏิบัติ ทนายความสิทธิมนุษยชนที่ทำงานคดีการเมืองทั้ง 2 ท่าน ที่มาร่วมเสวนาก็คงทราบดีว่า มันมีปัญหาที่ไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความคดีอาญาอยู่พอสมควร ความจริงสมัยก่อนสถานการณ์แย่กว่านี้ แต่ทีนี้พอเริ่มมีการทักท้วง ศาลเลยจะใช้เหตุข้อ 3 นี้เยอะ 108/1 (3) คือผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น แต่ก่อนจะอ้างข้อนี้ คือ 1. คดีต้องมีอัตราโทษร้ายแรง อันนี้อ้างไม่ได้เพราะว่าตำรวจกล่าวหามา ถ้าเขาไม่อยากให้ประกันตัว เขาตั้งอัตราโทษไว้แรงอยู่แล้ว
แม้กระทั่งคดีฆ่าผู้อื่น คดีฆาตกรรมโทษถึงประหารชีวิตก็ยังให้ประกันตัวกันได้ นี่โทษสูงสุดเลย อย่างมาตราที่เป็นประเด็นอยู่ตอนนี้ คือมาตรา 112 โทษสูงสุดก็ 15 ปี ซึ่งต่ำกว่าในคดีอุกฉกรรจ์ร้ายแรงอย่างการฆ่าคนตั้งเยอะ ดังนั้นการอ้างเหตุว่าคดีมีอัตราโทษสูงนี่ฟังไม่ขึ้น แล้วจริงๆ ก็ไม่อยู่ในมาตรา 108/1 ด้วย ที่เป็นเหตุในการที่จะไม่ปล่อยตัวชั่วคราว
ตอนหลังมา ผมอ่านคำสั่งไม่ให้ประกันของผู้พิพากษา ก็หันมาใช้ (3) มากขึ้น คือจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น แต่ว่าก็ต้องมีประเด็นต้องมีรายละเอียดในข้อเท็จจริงด้วยว่าเป็นอย่างไร
ศาลท่านให้เหตุผลที่สอดคล้องกับวิธีพิจารณาความอาญามากขึ้นหรือไม่อย่างไร ก็ต้องรอฟังข้อเท็จจริง แต่ว่าโดยหลักแล้ว การไม่ปล่อยเป็นข้อยกเว้น การประกันตัวเป็นเรื่องหลัก เพราะว่าในคดีอาญาต้องถือว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดจนกว่าศาลจะพิพากษา ดังนั้นทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องหาคดีใด มาตราใดก็แล้วแต่ ต้องมีสิทธิสู้คดีนอกคุก คือจะเอาเขามาขังคุกก่อนศาลพิพากษาไม่ได้ รัฐธรรมนูญยกเว้นไว้เรื่องเดียว คือป้องกันไม่ให้หลบหนีแค่นั้น
.
แนวโน้มการรับฝากขังในคดีทางการเมืองของศาล เปลี่ยนไปตามสถานการณ์การเมือง
ผู้ดำเนินรายการ: เคยเจอเหตุผลหนึ่งเหมือนกันที่ศาลไม่ให้ประกัน นั่นก็คือกลัวว่าจะไปก่อเหตุความผิดซ้ำอีก อันนี้เข้าเกณฑ์ใน 5 ข้อตามมาตรา 108/1 ไหม และทางศูนย์ทนายฯ เคยเจอเหตุผลอื่นๆ ที่ไม่เข้ากับมาตรา ตัวบทกฎหมายดังกล่าวหรือไม่
ทนายนรเศรษฐ์: ก่อนที่จะมีการให้ประกันตัวหรือไม่ เรื่องสำคัญเลยก็คือว่า 1. มีเหตุที่จะต้องฝากขังหรือไม่ เพราะถ้าเกิดไม่มีเหตุให้ต้องฝากขัง เราก็ไม่จำเป็นต้องมาพูดกันเลยเรื่องประกันตัว ผมจะพูดในส่วนของคดีการเมืองหรือว่าคดีที่เกี่ยวกับการใช้เสรีภาพในการแสดงออก ผมจะยกตัวอย่างหลักกฎหมายว่าถูกเขียนไว้อย่างไร แล้วก็ประสบการณ์ที่ผ่านมา เราพบเจออะไร ปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างไร เกี่ยวกับเหตุในการฝากขัง
เหตุที่จะมีการฝากขังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ถ้าเราไปเปิดดูในมาตรา 71 เขาบอกว่า “กรณีได้ตัวจำเลยมาแล้ว ศาลจะออกหมายขังไว้ก็ได้ แต่ให้นำมาตรา 66 มาบังคับใช้โดยอนุโลม” หมายความว่าเหตุที่จะออกหมายขัง มันต้องเป็นเหตุที่ 1. น่าเชื่อว่ามีการกระทำความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกเกินกว่า 3 ปี ขึ้นไป, เชื่อว่าคนเหล่านี้จะหลบหนี, เชื่อว่าบุคคลเหล่านี้จะไปยุ่งเหยิงเกี่ยวกับพยานหลักฐาน, เชื่อว่าคนเหล่านี้จะไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่น ถึงจะเป็นเหตุในการออกหมายขังได้
อันนี้ในส่วนของที่กฎหมายเขียนไว้ แล้วในทางตำรากฎหมาย คำอธิบายไม่ว่าจะเป็นคำอธิบายของทาง อ.เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์ ก็ดี หรือว่าคำอธิบายทางกฎหมายของ อ.ธานิศ เกศวพิทักษ์ ก็ดี ได้อธิบายในทางนี้ว่า เวลาที่ตำรวจไปขอฝากขังก็ต้องเป็นเหตุอย่างที่เล่ามา อันนี้คือหลักกฎหมาย
ในช่วงของยุคคนอยากเลือกตั้ง ประมาณปี 2561 ที่มีการชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ตำรวจก็ออกหมายเรียกให้คนไปรับทราบข้อกล่าวหา แล้วก็พาไปขอฝากขัง เราก็คัดค้านการฝากขัง เพราะเห็นว่าไม่มีเหตุที่จะฝากขังตามกฎหมาย ปรากฏว่าในยุคนั้น เกือบทุกคดี ศาลยกคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนแทบทั้งสิ้น
ศาลให้เหตุผลว่าไม่ได้มีเหตุว่าเขาจะหลบหนี จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุภยันตรายประการอื่น ในบางคดี ศาลเขียนดีถึงขนาดที่ว่า ไอ้การคาดว่าปล่อยไปแล้ว เขาจะไปชุมนุมอีก เป็นการคาดคะเนในอนาคตของพนักงานสอบสวนเท่านั้น อันนี้ศาลเขียนเอาไว้ ซึ่งถือว่าดีมากนะครับ ผมคิดว่าเป็นคำสั่งที่สอดคล้องกับหลักกฎหมาย แล้วก็ในทางตำราที่ได้เขียนไว้
พอถัดมาจากยุคคนอยากเลือกตั้ง มายุคการชุมนุมของเยาวชนคนรุ่นใหม่หรือกลุ่มราษฎรในช่วงกรกฎาคม 63 มาจนถึงตุลา 63 ในช่วงแรก มีการนำตัวคนไปฝากขังที่ศาลแขวงปทุมวัน ศาลแขวงปทุมวันยกคำร้องขอฝากขัง โดยอ้างเหตุว่าเขาไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือจะไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่น
ในส่วนของคดีแกนนำในช่วงเดือนตุลา 63 ในช่วงที่กระแสการเมืองสูงๆ คนออกมาชุมนุมเยอะๆ ศาลยกคำร้องขอฝากขังในช่วงผัดที่ 2 หรือผัดที่ 3 บอกว่าการจะฝากขังได้ มันต้องคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหา การที่พนักงานสอบสวนบอกว่าเหลือพยานเท่านั้นเท่านี้ ที่ต้องไปตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือ ไม่มีเหตุเพียงพอที่จะฝากขัง อีกที่คือศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในช่วงเดียวกัน ก็บอกว่า เมื่อสอบสวนเสร็จแล้ว เหลือเพียงแค่เสนอคำสั่งกับผู้บังคับบัญชา ก็ไม่มีเหตุที่ผู้ต้องหาจะหลบหนี ก็ยกคำร้องฝากขัง ศาลแขวงระยองก็เคยยกคำร้องขอฝากขัง อันนี้ก็ถือว่าสอดคล้องกับหลักกฎหมายในความเห็น
แต่พอมาในช่วงยุคสถานการณ์ปัจจุบัน นับตั้งแต่หลังที่คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกมาพูดว่า จะใช้กฎหมายทุกมาตรากับผู้ชุมนุมการเมือง การตีความหรือการรับฝากขังกลับเปลี่ยนไป ศาลให้เหตุผลทำนอง ว่ากรณีที่ผู้คัดค้าน (ฝากขัง) ก็คือผู้ต้องหา อ้างว่าเขาไม่ได้มีพฤติการณ์จะหลบหนี จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือจะไปก่อเหตุร้ายประการอื่นเนี่ย ศาลมักจะบอกว่าเป็นเหตุที่คุณจะไปว่ากล่าวกันในชั้นประกันตัวเพียงเท่านั้น ก็คือขอปล่อยตัวชั่วคราว ไม่ใช่เหตุที่ว่าจะขังหรือไม่ขัง และในยุคสมัยปัจจุบันนี้ แม้กระทั่งในคดีที่พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนเสร็จแล้ว เหลือเพียงแค่เสนอสำนวนให้กับผู้บังคับบัญชา ศาลก็มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง คือเหตุที่ว่าเขาจะหลบหนีอะไรไม่มี
ดังนั้นแล้ว ในฐานะทนายความหรือนักกฎหมาย ก็เลยเกิดคำถามว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน สรุปแล้ว หลักกฎหมายเกี่ยวกับการฝากขังว่าจะอนุญาตให้ฝากขังหรือไม่ มีเหตุให้ฝากขังหรือไม่ หลักคือเรื่องอะไร เป็นไปตามมาตรา 71 ประกอบมาตรา 66 ไหม หรือเรื่องเหล่านี้มันแปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ทางการเมือง หรือแนวทางนโยบาย
ทนายนรเศรษฐ์
ทนายพูนสุข: ถ้าเราไปดูการฝากขัง เราเคยเห็นแม้กระทั่งผู้พิพากษาถามคนที่อยู่ในเรือนจำว่า ที่เขาถูกขังอยู่ในเรือนจำ ไม่มีใครคัดค้านใช่ไหม แล้วก็ไม่มีใครคัดค้าน ทุกคนก็มายืนแสดงตัวแค่นั้น จบแล้วคือผ่านกระบวนการ คนเป็นสิบ-ยี่สิบคนก็ผ่านไปภายในไม่กี่วินาทีแบบนั้น มองภาพใหญ่ขึ้น ก็คือว่าการฝากขังมันกลายเป็นกิจวัตรประจำวันมากกว่าการที่ศาลจะต้องมานั่งตรวจสอบทั้งๆ ที่มันมันเป็นเรื่องสำคัญ มันเป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพของคน แต่ว่ากระบวนการนี้มันถูกทำให้ผ่านไป ไม่มีความหมาย
ถ้าเราจะสังเกต ก็คือน้อยเคสมากที่จะมีการคัดค้านฝากขัง ส่วนใหญ่ศาลก็จะรับฝากขังไปด้วยเหตุผลประมาณว่า เหลือพยานอีก 5 ปาก หรือพยานอีก 10 ปาก ที่ต้องสอบ อยู่ระหว่างตรวจสอบประวัติอาชญากรรม หรือว่าอยู่ระหว่างการส่งสำนวนให้ผู้บังคับบัญชา ซึ่งคดีเกิดขึ้นแต่ละวันเป็นพันๆ เคส ศาลก็รับฟังเหตุผลตามนั้น
บางเคสที่คัดค้าน ศาลก็อาจจะให้หยุดช่วงหนึ่ง อย่างในยุคคนอยากเลือกตั้ง แต่ว่าในปัจจุบัน ศาลใช้เหตุผลเดิมๆ สั่งขัง ตกลงแล้วมันคืออะไร อันนี้มันไม่ใช่แค่คดีทางการเมืองด้วย มันยังรวมถึงคดีอาญา แล้วก็เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของเราทุกคนด้วย
.
หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ใน รธน. มาทีหลัง ป.วิอาญา ทำให้ไม่เคยมีการแก้ไข กม. จริงจัง
อ.ปริญญา: คือผมมี 2 ประเด็นนะครับ หัวข้อของการพูดคุยวันนี้ คำสั่งไม่ให้ประกันตัวกับหลักกฎหมาย การเมือง ผมเรียนว่าผมไม่ได้พูดถึงตำรวจเท่าไร จะพูดถึงศาล เพราะว่าตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ มาตรา 6 สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยบัญชาการอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี มันชัดเจนอยู่แล้วว่า การที่ตำรวจตั้งข้อหากับคนที่ไปประท้วงรัฐบาล มันเป็นเรื่องการเมือง และยิ่งนายกฯ เขาพูดเองว่าจะใช้ทุกมาตรา มันก็เป็นเรื่องที่นายกเขาทำทีใช้อำนาจในเรื่องที่มีประโยชน์ทับซ้อนกับตัวเอง คือใช้ไปสั่งตำรวจให้มาจัดการคนที่มาประท้วงตัวเอง
ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ มาตรา 6 สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยบัญชาการอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี มันชัดเจนอยู่แล้วว่า การที่ตำรวจตั้งข้อหากับคนที่ไปประท้วงรัฐบาล มันเป็นเรื่องการเมือง และยิ่งนายกฯ เขาพูดเองว่าจะใช้ทุกมาตรา มันก็เป็นเรื่องที่นายกเขาทำทีใช้อำนาจในเรื่องที่มีประโยชน์ทับซ้อนกับตัวเอง คือใช้ไปสั่งตำรวจให้มาจัดการคนที่มาประท้วงตัวเอง
อ.ปริญญา
อันนี้ผมคิดว่า ศาลนี่แหละครับ ศาลเท่านั้นแหละครับ จะเป็นที่พึ่งได้ ผมจึงย้ำว่าเรื่องนี้ ศาลท่านต้องตระหนักนะครับ ว่าหลัก Presumption of Innocence มันคือหลักที่ว่าผู้พิพากษาเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร เขากล่าวหามาท่านก็ต้องรับฟังทั้งสองฝ่ายก่อน ไม่ว่าข้อหาใดก็แล้วแต่ ก็เป็นสิทธิในการสู้คดีนอกคุก อันนี้เป็นประเด็นที่ 2
ผมขอพูดในภาพใหญ่นิดหนึ่ง เพื่อที่เราจะเข้าใจปัญหาของกระบวนการยุติธรรมของไทยมากขึ้น คือสังเกตไหมครับว่า ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทำไมเขาใช้คำว่า “ปล่อยชั่วคราว” ตั้งแต่มาตรา 106 เป็นต้นมา หมวด 3 ปล่อยชั่วคราว ผมเคยสงสัยเรื่องนี้ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา เอ ทำไมเรียกปล่อยชั่วคราว ไม่เรียกประกันตัว มาเข้าใจตอนค้นคว้าในภายหลังว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประกาศใช้ปี 2477 ขณะที่หลัก Presumption of Innocence เพิ่งมาในปี 2492 รัฐธรรมนูญฉบับแรกคือ 2492 นะครับ ที่มีหลัก Presumption of Innocence ว่าง่ายๆ คือหลักการนี้มันมาภายหลังการประกาศใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 15 ปี
ผมพูดอย่างนี้เพื่อจะอธิบายโดยรวบรัดว่า หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์มันเป็นหลักที่มาทีหลัง ว่าง่ายๆ คือ วิอาญาฯ เรานี่นะครับ ใช้หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิดมาตั้งแต่ต้น ถึงเรียกว่าปล่อยชั่วคราวไง ถึงต้องไปฝากขัง คือกระบวนการทุกอย่างเนี่ยถือว่าผิด ดังนั้นจึงเอามาขังได้เลย ผมเรียนว่าในตอนที่ร่างใส่รัฐธรรมนูญ 2492 หลัก Presumption of Innocence เจตนาคือต้องการเอาหลักนี้มาแทน Presumption of Guilt คือหลักเดิม – ตั้งใจสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด
แต่รัฐธรรมนูญ 2492 ก็มีอายุแค่ 2 ปี ก็ถูกยกเลิก กลับมาอีกทีหนึ่งก็รัฐธรรมนูญ 2511 พอปี 2514 จอมพลถนอมก็ปฏิวัติเลิกหลักนี้ไปอีก กลับมาอีกทีรัฐธรรมนูญปี 2517 ก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งไปอีก
Presumption of Innocence จึงไม่เคยถูกแก้ไขอย่างจริงจังในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาสักที ทำให้กระบวนการมันยังเป็นลักษณะของสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิดอยู่ ผมพูดประเด็นนี้ไว้ เพื่อชวนท่านทั้งหลายด้วยว่ามันถึงเวลาแล้วครับ ที่เราจะต้องทำให้หลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ซึ่งรัฐธรรมนูญรับรองมาแล้วทุกฉบับ ให้มันกลายเป็นจริงสักที ที่ผ่านมา มันยังเป็นสันนิษฐานไว้ก่อนผิด นี่คือเป็นปัญหาใหญ่ของเรา
อีกประเด็นหนึ่ง ขออนุญาตเปิดประเด็นไว้ ก็คือว่ายิ่งมีการใช้มาตราที่มีความละเอียดอ่อน ดังเช่นมาตรา 112 ทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องการเมืองโดยตัวมันเอง มันเกี่ยวพัน กระทบไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เนืองๆ การใช้มาตรานี้โดยไม่เหมาะควรและใช้พร่ำเพรื่อ แทนที่จะเป็นการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ กลายเป็นในทางตรงข้าม นี่ผมก็เรียนด้วยความเคารพนะครับ ที่ช่วยตรงนี้ได้คือศาล ทำให้เกิดความสมดุล อย่างเหมาะสม ข้อนี้สังคมยังคาดหวังกับศาล
.
“อันตรายประการอื่น” ที่อ้างไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว ตามหลักในต่างประเทศ ต้องเป็นอันตรายต่อเนื้อตัวร่างกาย
อ.ฐิตินันท์: อย่างที่คุณทนายพูนสุขเกริ่นไว้ ยิ่งเห็นชัดเลยนะคะว่า ในลักษณะทางปฏิบัติในปัจจุบันเนี่ย ศาลจะอนุญาตฝากขังตลอด คอนเซปเรื่องฝากขังเป็นคอนเซบต์ที่ว่าจะควบคุมตัวบุคคลผู้ถูกจับกุมเอาไว้ในกรณีพนักงานสอบสวนยังไม่สามารถที่จะทำการสอบสวนได้เสร็จภายในระยะเวลา ก็จะขออนุญาตฝากขัง พูดง่ายๆ ว่าตำรวจยังทำคดีไม่เสร็จก็ขอฝากขัง ซึ่งโดยหลักทั่วไปแล้ว ศาลท่านจะไม่แทรกแซงการทำงานของตำรวจ ถือว่าตัวเองอยู่ขั้นพิจารณาคดี ก็เลยมักจะอนุญาต แล้วจุดสำคัญที่ศาลจะมีบทบาท จะไปอยู่ในขั้นปล่อยตัวชั่วคราว
ทีนี้มันอาจจะทำให้เรารู้สึกว่า อ้าว! ก็ไม่ควรจะขังตั้งแต่แรกแล้วไหม แต่อันนี้ก็คือจะอธิบายให้ฟังว่า คอนเซปศาลเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจุดสำคัญที่ศาลต้องใช้อำนาจให้ถูกต้อง ใช้ดุลพินิจให้เป็นไปตามกฎหมายเลย คือเรื่องในขั้นตอนการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งอย่างที่ท่านอาจารย์ปริญญาได้เรียนไว้แล้วนะคะ โดยหลักคือต้องปล่อย มันอ้างอิงมาจากหลักพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญเลย คือ Presumption of Innocence
หลักการ Presumption of Innocence ถึงแม้ว่ามันจะเกิดขึ้นมาภายหลังประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เมื่อคอนเซปนี้มาถึง ตัวผู้พิพากษาซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายจำเป็นต้องตระหนักในใจว่าหลักนี้แหละคือสิ่งที่ถูกต้อง ก็ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
อ.ฐิตินันท์
หลักการ Presumption of Innocence ถึงแม้ว่ามันจะเกิดขึ้นมาภายหลังประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เมื่อคอนเซปนี้มาถึง ตัวผู้พิพากษาซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายจำเป็นต้องตระหนักในใจว่าหลักนี้แหละคือสิ่งที่ถูกต้อง ก็ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ กฎหมายมันร่างมาก่อน อันนั้นเรื่องหนึ่ง แต่ว่าหลักนี้เมื่อถูกยอมรับแล้ว ก็ต้องบังคับใช้กฎหมายตามหลักนี้
ที่สำคัญ มาตรา 108 เกี่ยวกับเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราว ก็ได้มีการแก้ไขในปี 2547 แล้วก็ชัดว่า “ผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว” นั่นแปลว่าการปล่อยตัวชั่วคราวต้องเป็นหลัก ดังนั้นศาลก็อาจจะยังไม่อยากแทรกแซงตำรวจ แต่ขั้นที่คุณจะสามารถใช้ดุลยพินิจก็คือเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราว และหลักคือปล่อย เมื่อหลักคือปล่อย ก็ต้องปล่อยเป็นหลัก จะไม่ปล่อยได้เมื่อเข้าเหตุ 5 ประการ ตามมาตรา 108/1 ซึ่ง อ.ปริญญาได้เรียนไว้แล้ว 5 ข้อ
ทีนี้ตาม 5 ข้อที่มาตรา 108/1 บัญญัติเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกลัวจะหลบหนี, จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน, จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น, หลักประกันไม่น่าเชื่อถือ หรือจะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน ในคดีทางการเมืองหรือในคดีทั่วไปที่ผ่านมา ก็จะพบว่าศาลท่านยึดหลักทั่วไปเลยว่าควรจะต้องปล่อย อย่างก่อนหน้านี้ เลขาธิการศาลเคยออกมาแถลงว่าเคยปล่อยมาตั้งกี่คนๆ แล้ว ใช่ค่ะ เพราะว่าที่ผ่านมาประเทศไทยถือหลักว่าปล่อยเป็นหลัก ไม่ปล่อยเป็นข้อยกเว้น
อย่างที่ อ.ปริญญา ได้เรียนไปนะคะ การตั้งข้อหามันแล้วแต่ตำรวจ ถ้าจะตั้งมาตราโหดๆ มาก็ได้ ซึ่งไม่ใช่แล้ว เพราะมันจะทำให้เกิดการกลั่นแกล้งกันได้ง่าย หรืออาจจะไม่ได้กลั่นแกล้งก็ได้ แต่ว่าการเอาหลักคิดเหล่านี้มาใช้ในการพิจารณาว่าจะปล่อย-ไม่ปล่อย มันทำให้มีการเปิดช่อง มีการเอามาแกล้งกันได้ง่ายมากขึ้น การที่จะพิจารณาเรื่องความหนักเบาแห่งข้อหาเนี่ย มาตรา 108 พูดถึงแต่เรื่องความหนักเบาแห่งข้อหาเป็นปัจจัยในการเอามาพิจารณาประกอบคำร้องขอปล่อยชั่วคราว เป็นปัจจัยมาพิจารณาประกอบ แต่ไม่ใช่เหตุในการที่จะไม่ปล่อย
เช่นว่าถ้าความผิดที่มีโทษร้ายแรงมากๆ ประกอบกับพฤติการณ์ว่าจำเลยจะหลบหนีแน่ๆ ก็อาจจะไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว แต่แค่โดยลำพังว่าคดีที่เป็นข้อกล่าวหามันมีความผิดแรง ยังไม่พอนะคะ มันไม่ใช่เหตุที่จะไม่ปล่อย
ที่ท่าน อ.ปริญญา บอก มันก็มีคดีฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โทษถึงประหารชีวิตก็เคยปล่อย ทีนี้ ทำไมทีเป็นคดีการเมืองกลับไม่ดำเนินการตามหลักกฎหมาย ไม่ได้ใช้เหตุตามกฎหมาย ที่สำคัญ ถ้าจะบอกว่าคดีนี้มีโทษร้ายแรงมาก ไม่ควรที่จะให้ประกันตัว มันจะมี “บัญชียี่ต๊อก” เขาเรียกภาษาทางการว่า “บัญชีเกณฑ์มาตรฐานการปล่อยตัวชั่วคราว” ของศาลยุติธรรม คือจะเป็นการกำหนดเกณฑ์ไว้ว่า มีโทษแบบนี้ควรให้วงเงินประกันกี่บาท ไม่ใช่เป็นบัญชีมาตราฐานในการที่จะบอกให้ปล่อยหรือไม่ปล่อย แต่เป็นบัญชีมาตรฐานที่บอกว่าโทษเท่านี้ควรจะตั้งวงเงินประกันเท่าไหร่
ในยี่ต๊อก การปล่อยตัวชั่วคราวมีได้ถึงขั้นคดีประหารชีวิต วงเงินประกัน 500,000 ถึง 1 ล้านบาท นั่นแสดงว่าคดีโทษร้ายแรงขนาดไหน ก็ยังสามารถพิจารณาให้ประกันได้ ตราบใดที่มันไม่เข้าเหตุ 5 ประการ ตามมาตรา 108/1
ข้อที่อ้างว่ากลัวว่าจำเลยจะหลบหนี เป็นคดีร้ายแรง ในบัญชียี่ต๊อกก็เขียนไว้อีกเป็นไกด์ไลน์ให้ศาล เป็นแนวปฏิบัติได้ในระดับหนึ่ง เพราะว่าศาลก็ต้องมีมาตรฐานในการที่จะมีคำสั่ง เพราะไม่งั้นคำสั่งก็จะผันแปรไปตามแต่ละท่าน ในบัญชียี่ต๊อกก็ยังพูดไว้เหมือนกันว่า กรณีที่กลัวว่าตัวจำเลยหรือผู้ต้องหาจะหลบหนีออกนอกราชอาณาจักร ศาลอาจกำหนดเงื่อนไขเช่นว่า เอาพาสปอร์ตมาวาง
อันนี้คือเขียนไว้สะท้อนแนวคิดเห็นเลยว่าต้องปล่อยเป็นหลัก ถ้ามีเหตุอะไรก็แล้วแต่ ที่กลัวว่าเขาจะหลบหนี เขาจะไปก่ออันตรายประการอื่น จะไปทำอะไรก็แล้วแต่ คุณกำหนดเป็นเงื่อนไขอะไรไว้ก็ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เขาหลบหนี จะวางพาสปอร์ต ไปจนถึงกำไล EM ถ้ากลัวขนาดนั้น ศาลคุณทำได้หมด การไม่ปล่อยจะต้องเป็นขั้นสุดท้าย
แต่ตอนนี้มันกลายเป็นว่าเรามองแค่ 2 ด้าน คือปล่อย กับ ไม่ปล่อย แต่ไม่มีตรงกลาง ทั้งที่จริงๆ แล้ว ตลอดเวลามันต้องค่อยๆ เขยิบก่อนว่าปล่อย, ปล่อยแล้วกำหนดเงื่อนไข, สุดๆ แล้วจริงๆ เงื่อนไขมันใช้ไม่ได้ แล้วค่อยไม่ปล่อย แต่ตอนนี้กลายเป็นอยู่ดีๆ ก็ไม่ปล่อย แต่หลังๆ นี่ท่านเริ่มปล่อยแล้วนะคะ หลังมีกระแสสังคม ก็ปล่อยแบบมีเงื่อนไข แต่อย่างที่บอกเงื่อนไขมันก็ไม่สอดคล้องกับเหตุในการปล่อยตัวชั่วคราว เงื่อนไขมาพร้อมกับห้ามกระทำการแบบเดิมซ้ำอีกคืออะไร? ในเมื่อการกระทำนั้นยังไม่รู้เลยว่าผิดหรือไม่ผิด ก็ห้ามไว้แล้ว
ที่สำคัญอีกข้อหนึ่ง อีกประการที่ อ.ปริญญา ก็พูดไปแล้วเหมือนกันว่า ศาลท่านเริ่มหันมาใช้เหตุในการที่จะไม่ให้ประกันตัว เดี๋ยวปล่อยไปแล้วจะก่อเหตุอันตรายประการอื่น อันนี้เป็นคำที่มีปัญหา จริง ๆ ควรจะเป็นจุดที่ต้องแก้ไขต่อไป เพราะเรายังไม่ยอมนิยามให้ชัดว่า “อันตรายประการอื่น” คืออะไร
ถ้ามองในระดับของมาตรฐานนานาชาติไม่ว่าจะอังกฤษ หรือออสเตรเลีย ประเทศที่พัฒนาแล้ว และเป็นแม่แบบในการใช้กฎหมายกันมา “อันตรายประการอื่น” ตามหลักมันต้องเป็นอันตรายต่อเนื้อตัวร่างกาย เช่น คดีความรุนแรงในครอบครัว หรือ Domestic Violence ปล่อยไปแล้วต่อให้เป็นแค่ข้อกล่าวหา แต่ก็ยังมีความน่ากลัวว่าจะไปทำร้าย ทำลายอะไรหรือเปล่า ซึ่งกรณีแบบนั้นถ้าหลักฐานมันยังไม่ชัด บางทีศาลก็อาจจะแค่สั่งเป็นเงื่อนไขว่าห้ามเข้าเขตบ้านนะ ห้ามเข้าใกล้บุคคลนี้นะ แต่ก็ไม่ถึงขั้นว่าจะไม่ให้ปล่อยด้วยซ้ำ
พูดง่ายๆ ว่า “อันตรายประการอื่น” ในต่างประเทศ ต้องเป็นอันตรายต่อเนื้อตัวร่างกาย ต่อเรื่องเพศ ที่สำคัญถ้ามีมาตรการอื่นที่จะป้องกันได้โดยที่ไม่ใช่การขัง เขาก็จะใช้มาตรการนั้นไว้ก่อน การขังจะเป็นมาตรการสุดท้ายที่จะทำ เมื่อไม่มีทางอื่นแล้วจริงๆ เพราะเขาถือหลัก Presumption of Innocence นี่แหละ การสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยบริสุทธิ์จนกว่าจะถูกพิพากษาให้ถึงที่สุดว่าเป็นความผิด ขนาดในเมืองไทย คดีข่มขืน คดีทำร้ายร่างกายกันในครอบครัวหลายครั้ง ก็กลับยังปล่อยตัว
คำว่า “อันตรายประการอื่น” มันก็ควรจะนิยามกันให้ชัด ว่าคืออะไร การตะโกนด่า การเข้าร่วมชุมนุมเหล่านี้ มันไม่ถึงขั้นจะเป็นอันตรายประการอื่น หรือการออกไปแล้วกล่าววาจาที่อาจจะทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งรู้สึกไม่พอใจ รู้สึกไม่ชอบที่ได้เห็นการแสดงออกอย่างนั้น แต่มันก็ยังไม่เข้าลักษณะอันตรายประการอื่น ถ้าตามนิยามทั่วไป อันนั้นมันอันตรายต่อจิตใจ
อ.ฐิตินันท์
อีกอย่างหนึ่ง ในคำว่า “อันตรายประการอื่น” มันก็ควรจะนิยามกันให้ชัด ว่าคืออะไร การตะโกนด่า การเข้าร่วมชุมนุมเหล่านี้ มันไม่ถึงขั้นจะเป็นอันตรายประการอื่น หรือการออกไปแล้วกล่าววาจาที่อาจจะทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งรู้สึกไม่พอใจ รู้สึกไม่ชอบที่ได้เห็นการแสดงออกอย่างนั้น แต่มันก็ยังไม่เข้าลักษณะอันตรายประการอื่น ถ้าตามนิยามทั่วไป อันนั้นมันอันตรายต่อจิตใจ
อย่างกรณีคุณไผ่ที่ได้รับการปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไขว่า จะไม่ไปก่ออันตรายประการอื่น จะไม่ไปเข้าร่วมชุมนุมในลักษณะแบบเดิมๆ นั้นอีก ปรากฏว่าไปประท้วงหน้าศาล อันนี้กลายเป็นว่าก่ออันตรายประการอื่นแล้ว คือถ้าเรายังไม่มีความชัดเจนของอันตรายประการอื่น แล้วตีความมันได้กว้างขนาดนี้ ต่อไปมันก็จะไปขัดกับสิทธิพื้นฐานของประชาชนที่จะแสดงออก และเรียกร้องชุมนุม
ตอนนี้ มันกลายเป็นเราเอากฎหมายมาแกล้ง มาใช้จนมันไปบีบสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แล้วมันก็ขัดกันไปขัดกันมาหมด เอาเงื่อนไขที่ศาลสั่งมาประกอบจนมันลิดรอนลงไปเยอะอยู่เหมือนกัน
.
ม.112 ถูกใช้พร่ำเพรื่อ และกำลังทำลายสถาบันฯ เสียเอง
อ.สมลักษณ์: ที่วิทยากรท่านอื่นพูดมาทั้งหมดในเรื่องการขออนุญาตฝากขังหรือการปล่อยชั่วคราวที่เกี่ยวกับศาล อาจารย์มีความรู้สึกเหมือนกับว่า ในฐานะที่เป็นผู้พิพากษามานาน 36 ปี เหมือนกับสังคมกล่าวหาผู้พิพากษามากทีเดียว อันนี้เราก็ไปว่าสังคมไม่ได้ อาจารย์เคยพูดเตือนเสมอว่า เมื่อสังคมเขาสงสัยในความบริสุทธิ์ยุติธรรมของศาล ศาลคือหมายถึงตัวสถาบันหรือตัวผู้พิพากษา คืออย่าเพิ่งไปโกรธสังคม ท่านหันกลับมาดูตัวของท่านก่อน ว่าท่านทำอะไร ท่านอาจจะไม่ได้ทุจริต ไม่ได้รับสินบน แต่ว่ามันมีพฤติกรรมบางอย่างที่ท่านได้ทำไป ทำให้เกิดความระแวงสงสัยในความบริสุทธิ์ยุติธรรมของท่าน หันกลับมาดูพวกเราก่อน แล้วถ้ามันพบอะไรที่ท่าจะไม่ดี อันนี้ก็ให้ท่านผู้พิพากษารีบแก้ไขซะ ก็จะมาเตือนท่านนะคะ
เมื่อสังคมเขาสงสัยในความบริสุทธิ์ยุติธรรมของศาล ศาลคือหมายถึงตัวสถาบันหรือตัวผู้พิพากษา คืออย่าเพิ่งไปโกรธสังคม ท่านหันกลับมาดูตัวของท่านก่อน ว่าท่านทำอะไร ท่านอาจจะไม่ได้ทุจริต ไม่ได้รับสินบน แต่ว่ามันมีพฤติกรรมบางอย่างที่ท่านได้ทำไป ทำให้เกิดความระแวงสงสัยในความบริสุทธิ์ยุติธรรมของท่าน
อ.สมลักษณ์
ในชีวิตการเป็นผู้พิพากษามาทั้งหมด 36 ปี อาจารย์เห็นกรณีมาตรา 112 ตอนนี้ใช้พร่ำเพรื่อมาก กล่าวหากันพร่ำเพรื่อมากทีเดียว อาจารย์เคยถามท่านผู้พิพากษาผู้ใหญ่ เป็นอดีตรองประธานฯ ว่า เคยเป็นเจ้าของสำนวนคดี 112 หรือเป็นองค์คณะบ้างไหม ท่านบอกว่าท่านเคยเหมือนกัน คดีนั้นตัดสินพิพากษาลงโทษ แต่ว่าจำเลยให้การรับสารภาพ ถึงได้พิพากษาลงโทษ แล้วเท่าที่ฟังเสียงของท่านผู้พิพากษาผู้ใหญ่เหล่านั้น พวกท่านเป็นผู้พิพากษาตำแหน่งที่สูงพอสมควรบนศาลฎีกา ท่านก็บอกว่า เราพิจารณาคดีนี้ด้วยความระมัดระวังจริงๆ
อาจารย์ขอเรียนว่า มาตรา 112 เป็นคดีเกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์ เกี่ยวกับสถาบันฯ เราต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง อย่าไปดึงมาใช้พร่ำเพรื่อ โดยเฉพาะนักการเมือง ถ้านักการเมืองมากล่าวโทษ หรือมากล่าวหากัน ศาลต้องใช้ความระมัดระวังมากทีเดียว ถ้ามาตรานี้ถูกใช้พร่ำเพรื่อ มันไม่ใช่เป็นการเทิดทูนสถาบัน หรือรักษาสถาบัน แต่เป็นการดึงสถาบันมาเป็นฝ่ายของตน สถาบันจะอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ สถาบันอยู่ในสถานะเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ เป็นของทุกคนที่จะต้องให้ความเคารพ เพราะงั้นถ้าใครไปกล่าวโทษคนจากอีกฝ่าย บอกว่าพวกฉันนี่รักสถาบัน จงรักภักดีมาก แต่พวกที่เป็นศัตรูกับฉันเนี่ย ไอ้พวกนี้เลวนะ ทำลายสถาบัน ล้มล้างสถาบัน ท่านต้องสังวรไว้ให้ดีว่า ตัวท่านเนี่ยที่กล่าวหาว่ารักสถาบัน แท้จริงคือเป็นผู้ทำลายสถาบัน เพราะว่าท่านไม่ควรจะดึงสถาบันมาเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ใครเขาจะวิจารณ์คณะรัฐมนตรี วิจารณ์นายกฯ เป็นเรื่องของการเมือง ไม่เกี่ยวกับสถาบัน ถึงแม้เขาจะกล่าวถึงสถาบันบ้าง ท่านต้องฟังให้ดีว่าเขาพูดในแง่ไหน ถ้ามาตรา 112 นี่ จะมีดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย และต้องตีความโดยเคร่งครัดว่า บุคคลที่อยู่ในข่ายได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 112 นี้ ต้องเป็นบุคคล 4 จำพวกเท่านั้น คือ 1. พระมหากษัตริย์ 2. พระราชินี 3. องค์รัชทายาท 4. ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ บุคคลใดที่แม้จะใกล้ชิดพระราชวงศ์เพียงไหน พระบรมวงศานุวงศ์เพียงไหน ไม่สามารถอ้างมาตรา 112 มาใช้ลงโทษได้
ทีนี้ การกล่าวโทษคดีก็ดี การร้องทุกข์ก็ดี มีบัญญัติอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจราณาคดีความอาญา มาตรา 3, 4, 5, และ 6 ไม่ใช่บุคคลทั่วไปจะไปกล่าวหา ไม่ใช่ว่าฉันเป็นนักการเมืองฝ่ายหนึ่ง คุณเป็นนักการเมืองฝ่ายหนึ่ง พอไปฟังอะไรหน่อยก็ไปกล่าวหากัน อย่างนี้ไม่ได้
อาจารย์จะเสนอต่อไปว่า สำหรับความผิดมาตรา 112 ให้ระบุเลยว่า คนที่จะกล่าวโทษหรือร้องทุกข์นั้น ต้องเป็นไปตามที่อยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีความอาญา มาตรา 3, 4, 5, 6 ก็ได้แก่ สามี ภรรยา บุพการี ผู้สืบสันดาน แล้วเขาก็ต้องมีเงื่อนไขรองรับ ไม่ฉะนั้นจะทำให้สถาบันเสียหาย
ทีนี้มีการพูดนิดนึงว่า มันมีการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวด้วยหรือเปล่า ศาลได้สั่งอะไรที่มันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมไหม เพราะว่าเดิม ในเรื่องของการปล่อยชั่วคราวเป็นเรื่องที่ผู้พิพากษาทุกคนจะรู้ หลักคือปล่อยชั่วคราว ส่วนการไม่อนุญาตเป็นเรื่องยกเว้นจริงๆ ในกรณีนี้ การเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องได้ไหม
อาจารย์ยืนยันว่า การเมืองจะไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องกับผู้พิพากษาตุลาการได้ มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 188 – การพิจารณาพิพากษา พิจารณาคดีเป็นอำนาจของศาล ซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ผู้พิพากษาตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้เป็นไปโดยเป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง
อย่าว่าแต่นักการเมืองเลย แม้แต่ผู้บังคับบัญชาของผู้พิพากษา เช่น อธิบดี หรือแม้แต่ท่านประธานศาลฎีกาซึ่งเป็นประมุขตุลาการก็ไม่มีอำนาจ ไม่มีอำนาจเข้าไปเกี่ยวข้อง เข้าไปสั่งการ ท่านประธานศาลฎีกานี่ท่านมีอำนาจในเรื่องความประพฤติ เรื่องระเบียบต่างๆ แต่จะไปชี้ว่าให้ประกันสิ อันนี้อย่าให้ประกันซิ เพราะว่าเดี๋ยวมันเป็นการเมือง เดี๋ยวไปว่านายกฯ อะไรอย่างนี้ ไม่ได้ ผิดเลย ท่านผิดมาตรา 157 ถ้าท่านทำอย่างนั้น
เรื่องเงื่อนไขของการที่จะอนุญาตให้ฝากขังหรือไม่ มันมีกฎหมายบัญญัติ ศาลก็ต้องทำตามกฎหมาย ไม่ใช่อยู่ๆ คิดจะทำอะไรก็ทำ จะอนุญาตให้ขังหรือไม่ กฎหมายมีระบุบอกว่า ในกรณีความผิดลหุโทษ จะควบคุมผู้ถูกจับไว้ได้เท่าเวลาที่จะถามคำให้การและเท่าที่จะรู้ว่าเป็นใคร ที่อยู่ของเขาอยู่ที่ไหนเท่านั้น ลหุโทษคือความผิดจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มีอำนาจสั่งขังครั้งเดียว มีกำหนดไม่เกิน 7 วัน และในกรณีที่โทษจำคุกสูงสุด 6 เดือน แต่ไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเกินกว่า 500 บาท ศาลมีอำนาจที่จะสั่งขังได้หลายครั้งติดๆ กัน แต่ครั้งหนึ่งไม่เกิน 12 วัน และรวมทั้งหมดก็ไม่เกิน 48 วัน และถ้าโทษสูงไปอีก โทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติดกันได้ แต่ละครั้งไม่เกิน 12 วัน และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน 84 วัน
อาจารย์ยืนยันว่าในการสั่งขังของศาล ต้องมีกฎหมายวิ.อาญา ตามมาตรา 16 ทีนี้การจะปล่อยชั่วคราว นี่มันมีทั้งรัฐธรรมนูญและทางวิ.อาญา ตามที่ท่านอาจารย์ทั้ง 2 ท่านได้พูดแล้ว
ในมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญ ชัดเจนว่า กฎหมายบัญญัติว่าให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด แสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิดหรือไม่ จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความก่อนผิดมิได้ เหตุผลที่ศาลยึดถือมานานก็คือว่า การปล่อยชั่วคราวต้องทำเป็นหลักใหญ่ ไม่ใช่แค่เพราะตำรวจมาขอฝากขังหรืออัยการมาขอฝากขังเท่านั้น การที่ศาลไม่ให้ประกันตัว อ้างว่าจะไปกระทำความผิดอีก อย่างนี้ไม่ได้ เพราะว่าท่านยังไม่มีคำพิพากษาว่าเขากระทำความผิด
แล้วก็วรรคสุดท้ายของมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญ คำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณา และเรียกหลักทรัพย์ประกันจนเกินควรแก่กรณีไม่ได้ การไม่ให้ประกันต้องเป็นไปตามกฎหมายบัญญัติ ย้ำนะว่าต้องให้ประกัน ไม่ว่าคดีอะไรก็ต้องให้ประกัน แต่ถ้าไม่ให้ประกันก็ต้องเป็นไปตาม วิ.อาญาฯ มาตรา 108/1 ซึ่งมีอยู่ 5 ประการ ศาลจะให้เหตุผลว่า เกรงว่าจะไปกระทำอีกนั้นไม่ได้ เพราะมันขัดกับรัฐธรรมนูญ ศาลยังไม่พิพากษา จะไปอ้างว่าเกรงจะไปทำความผิดอีกไม่ได้ ไม่เข้าข้อกฎหมายเลย
ศาลท่านก็เปลี่ยนใหม่ ก็อ้างไปว่า เกรงจะไปกระทำซ้ำในการกระทำที่ทำมาแล้ว อันนี้ก็ไม่ได้อีก การกระทำที่ทำมาแล้ว เมื่อมันไม่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เขามีสิทธิที่จะทำได้ การที่ไปชุมนุมเรียกร้องเรื่องที่เขาไม่พอใจรัฐบาลในช่องทางอะไรก็ตาม นี่มันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่เขาเดือดร้อน แม้เขาจะไปวิจารณ์คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี เขาก็มีสิทธิที่จะทำนะ เขาเดือดร้อน เขาทำได้ ท่านจะให้ตำรวจเอาแก๊สน้ำตาไปยิงใส่เขา หรือเอากระสุนยางไปยิง ไปกระทืบเขา อันนี้ไม่ได้
ไม่ว่าจะในสายกระบวนการยุติธรรม หมายถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือศาลก็ตาม ต้องกระทำการโดยระมัดระวัง เพราะกฎหมายนั้นบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่คนที่มีหน้าที่ใช้กฎหมายก็ต้องแปลความให้มันถูกต้องด้วย ไม่ใช่แปรความให้เป็นประโยชน์กับฝ่ายการเมือง หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง มิฉะนั้นผลก็จะออกมาในสิ่งที่ไม่น่าประสงค์ มันจะเกิดความยุ่งเหยิงและเดือดร้อนกับประชาชนทั่วไป
นายตำรวจทั้งหลาย คฝ. ทั้งหลาย ท่านเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ท่านต้องกระทำการที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ไม่ใช่เป็นประโยชน์แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งที่มาสั่งให้ท่านทำผิดกฎหมาย มันมีคำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องหนึ่ง คือนายตำรวจผู้บังคับบัญชาได้สั่งผู้ใต้บังคับบัญชา ว่าให้ไปจับผู้ร้าย ถ้าจับเป็นไม่ได้ ให้ไปจับตาย ก็เกิดไปจับตายขึ้นมา ไปยิงเขา อันนี้มีความผิดทั้งคนสั่งและคนทำ เพราะว่าคำสั่งนี้ผิดกฎหมาย นายตำรวจไม่มีอำนาจที่จะไปประหารชีวิตใคร ถ้าเขาไม่ต่อสู้ แต่ที่จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการจะต่อสู้ เช่น ยกปืนขึ้นจะยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยิงได้ เข้าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 68 เป็นการป้องกันตัวเอง ชอบด้วยกฎหมาย
แต่ถ้าคุณจับเขา แล้วเขาไม่ได้ต่อสู้ อยู่เฉยๆ ถ้าไปทำเขา ไปยิง ไปจับตายเนี่ย ท่านมีความผิด และจะบอกว่าท่านไมรู้ นายเขาสั่งมาไม่ได้ เหมือนอย่างตอนนี้ มีผู้มีอำนาจสั่งท่านให้ไปตั้งข้อหา 112 กับคน เวลาถูกจับ มันจะได้ขึ้นศาล แล้วศาลไม่ให้ประกัน ถ้าท่านทำตาม มันจะเป็นการใช้กฎหมาย 112 อย่างตะบี้ตะบันไปเรื่อยๆ ท่านจะถูกฟ้องกลับ และผลเสียหายทั้งหลายก็อาจตกถึงท่าน
ในกรณีศาล หากท่านไปอ้างอะไรบางอย่าง เช่น อ้างว่าปล่อยไปแล้วจะไปทำความผิดอีก ตั้งเงื่อนไขไม่ให้ไปชุมนุม พูดอะไรไม่ได้ ทั้งๆ ที่เขาเดือดร้อน เขาไม่พอใจ อย่าลืมว่าประชาชนเขาเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย จะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ บริหารตุลาการก็ดี ไม่ใช่เจ้าของอำนาจ ไม่ใช่เจ้าของโดยตรง เมื่อเจ้าของอำนาจเขาไม่พอใจหรือเขาเดือดร้อนเนื่องจากการกระทำของท่าน เขาย่อมมีสิทธิ เป็นสิทธิเบื้องต้นเลยตามรัฐธรรมนูญที่เขาจะออกมาว่ากล่าว แล้ววิจารณ์ท่าน ท่านต้องรับฟัง ต้องมาชี้แจง หาวิธีการแก้ไข นั่นคือหน้าที่ของท่าน และตำรวจก็จะต้องไม่ทำการอะไรที่เป็นผลร้าย ไปทำให้คนบาดเจ็บล้มตาย ทำไม่ได้เลย
เมื่อไรท่านรับฟังผู้มีอำนาจ ไม่มองประชาชน ท่านไม่เห็นหัวประชาชน ท่านจะได้รับผลร้ายเมื่อผู้มีอำนาจเขาหมดอำนาจแล้ว ไม่มีใครในโลกนี้ที่เขามีอำนาจตลอดกาล วันหนึ่งอำนาจมันก็จะต้องหมดไป เพราะฉะนั้นจะต้องยึดถือความยุติธรรม แล้วก็หน้าที่ของท่านเป็นหลักใหญ่
อ.สมลักษณ์
อาจารย์จะเตือนว่า เมื่อไรท่านรับฟังผู้มีอำนาจ ไม่มองประชาชน ท่านไม่เห็นหัวประชาชน ท่านจะได้รับผลร้ายเมื่อผู้มีอำนาจเขาหมดอำนาจแล้ว ไม่มีใครในโลกนี้ที่เขามีอำนาจตลอดกาล วันหนึ่งอำนาจมันก็จะต้องหมดไป เพราะฉะนั้นจะต้องยึดถือความยุติธรรม แล้วก็หน้าที่ของท่านเป็นหลักใหญ่
.
ผู้กล่าวหา/โจทก์ มีหน้าที่ในการพิสูจน์ ถึงพฤติการณ์ที่อ้างว่าไม่ควรให้ปล่อยตัวชั่วคราว
ผู้ดำเนินรายการ: ขอไปคุยต่อในเรื่องของสิทธิประกันตัว ถ้าเราต้องการจะใช้สิทธิประกันตัวลูกความเราออกมา ศาลมีการใช้ดุลพินิจมากขึ้นเรื่อยๆ เลยอยากรู้จริงๆ ว่าถ้าใช้ดุลพินิจ ภาระการพิสูจน์ว่าคนๆ นี้ ควรได้รับการประกันตัว มันควรตกเป็นของใครกันแน่ กระบวนการนี้ควรตกเป็นของฝ่ายผู้ต้องหาที่ต้องไปขวนขวายหาพยานหลักฐาน ทนายความต้องเอามาสู้ หรือจริงๆ แล้วตามหลักกฎหมายมันไม่ใช่ภาระหน้าที่ของทางฝั่งจำเลยหรือผู้ต้องหา
ทนายพูนสุข: คือกรณีที่ศาลจะกำหนดเงื่อนไขว่าให้ประกัน ศาลจะกำหนดเงื่อนไขอย่างไร? จริงๆ เราพูดถึงข้อกฎหมายเรื่องเหตุที่จะไม่อนุญาตให้ประกันใช่ไหม แต่ว่าประเด็นก็คือ การที่จะบอกว่าเข้าเหตุดังกล่าวได้ มันจะต้องมีข้อเท็จจริงมาประกอบก่อน ซึ่งตรงนี้จริงๆ เป็นหน้าที่ของทางฝั่งโจทก์ ก็คือฝั่งพนักงานสอบสวน ฝั่งศาลจะต้องเอาข้อเท็จจริงมาประกอบกับข้อกฎหมาย แล้วก็ใช้ดุลพินิจว่ามันเข้าองค์ประกอบกับกฎหมายใดกันแน่
แต่เราก็พบว่าในหลายๆ เคสเนี่ย ข้อเท็จจริงบางกรณีก็ผิดพลาดคลาดเคลื่อน หรือว่าข้อเท็จจริงไม่มีด้วยซ้ำ แต่ว่าศาลก็ใช้คำสั่งสั้นๆ ตีเข้าข้อกฎหมายไปเลยว่า กลัวว่าจะไปก่อเหตุอันตราย หรือว่ามีคำสั่งเพิกถอนประกัน เพราะว่าเคยผิดเงื่อนไขที่ศาลตั้งมาแล้ว ทั้งๆ ที่ไม่ได้ปรากฏข้อเท็จจริงก่อนเลยว่ามีการผิดเงื่อนไข อันนี้ก็เป็นปัญหาที่เราเจอ ณ ตอนนี้ในการใช้ดุลพินิจของศาล
ทนายนรเศรษฐ์: ขออนุญาตเพิ่มเติมว่าจริงๆ แล้ว เรื่องประเด็นว่าใครมีภาระในการพิสูจน์ว่า เราจะต้องได้รับการประกันตัวหรือไม่? ผมคิดว่าเป็นประเด็นถกเถียงที่สำคัญ เพราะในหลายคดี กรณีที่มีการฝากขัง พนักงานสอบสวนจะเขียนบรรยายพฤติการณ์ความผิดมาเลย แล้วก็เขียนเหตุขอคัดค้านมาไม่เกิน 2 – 3 บรรทัด บอกว่ามีพฤติการณ์ร้ายแรงอย่างไร บางคดีที่มีการฟ้อง โจทก์ไม่ได้คัดค้านการประกันตัวด้วยซ้ำไป แต่ศาลก็ไม่อนุญาตให้ประกันตัว ดังนั้นแล้วจึงเกิดเป็นคำถามว่า การประกันตัวหรือไม่ให้ประกันตัว มันเป็นภาระการพิสูจน์ของโจทก์ หรือเป็นเรื่องที่ศาลพิจารณาเอง หรือคาดการณ์เอง
ถ้าผมอิงตามหลักกฎหมาย วิ.อาญาฯ มาตรา 108 เขียนไว้ในวงเล็บ 2 บอกว่า ในการพิจารณาว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่ ต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานที่ปรากฏว่ามีเพียงใด พฤติการณ์แห่งคดีเป็นอย่างไร ถ้าผมพิจารณามาตรา 108 (2) และ (3) ในความเข้าใจของผม พนักงานสอบสวนหรือโจทก์ ผมคิดว่าเขามีภาระในการพิสูจน์ว่า ถ้าปล่อยตัวคนเหล่านี้ไปแล้ว เขาจะไปก่อภยันตรายอย่างไร เขาจะหลบหนีอย่างไร จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานอย่างไร หรือรบกวนการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีอย่างไร ซึ่งมันสอดคล้องกับงานวิชาการของของอดีตผู้พิพากษาและทนายความท่านหนึ่งที่เขียนไว้ว่า ในอเมริกา โจทก์มีภาระในการพิสูจน์ แต่ที่เราได้เจอในคดีการเมืองในปัจจุบัน โจทก์ไม่ได้ทำอะไรเลย โจทก์ไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวด้วยซ้ำ หรือพนักงานสอบสวนเขียนเหตุผลมาเพียงแค่ลอยๆ เท่านั้น แต่ศาลก็ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยอ้างว่าคดีมีอัตราโทษสูง ปล่อยไปแล้วเกรงว่าจะหลบหนี หรือก่อเหตุภยันตรายประการอื่น อันนี้เป็นสิ่งที่เจอ
ศาลเองก็มีหน้าที่หาข้อเท็จจริงหรือตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยนะครับ ว่ามีเหตุที่จะไม่ให้ประกันตัวอย่างไร ผมว่าถ้าศาลถือหลักนี้ คำสั่งศาลที่ไม่อนุญาตให้ประกันตัว ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่สั่งว่า เกรงว่าจะไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่น ถ้าศาลถือหลักว่าตัวเองมีหน้าที่ค้นหาข้อเท็จจริงด้วย ศาลต้องอธิบายด้วยว่า เกรงว่าจะไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่น เหตุนี้คืออะไร เพราะตัวจำเลยหรือผู้ต้องหาเขาก็ไม่อาจทราบได้ว่าเหตุที่ศาลหมายถึงคืออะไร ถ้าศาลอธิบายชัดเจน เขาก็จะได้ไปสืบหาพยาน หลักฐานเพื่อมาโต้แย้งดุลยพินิจสำหรับการขอประกันตัว
ในเมื่อศาลเป็นผู้อำนวยความยุติธรรม ไม่ใช่คู่ขัดแย้งระหว่างโจทก์-จำเลย ก็ต้องอธิบายได้ว่า กรณีแบบไหน จำเลยจะได้รับอนุญาตให้ประกันตัว อะไรคือเหตุที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงคำสั่ง เป็นการให้คำชี้แนะต่อฝ่ายของจำเลย เผื่อกรณีจำเลยเขาไม่ได้มีทนายความ ไม่ใช่เพียงแค่คดีการเมืองอย่างเดียวเท่านั้น
ทนายนรเศรษฐ์
ประเด็นต่อมา เวลาที่มีการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว บ่อยครั้งเหลือเกินที่ศาลบอกว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ถ้าศาลบอกว่า ศาลมีอำนาจพิจารณา พิเคราะห์หลายๆ ส่วน หลายๆ อย่างประกอบกัน ผมคิดว่าศาลก็มีความจำเป็นที่จะต้องอธิบายด้วยว่า เหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมคืออะไร เพราะในเมื่อศาลเป็นผู้อำนวยความยุติธรรม ไม่ใช่คู่ขัดแย้งระหว่างโจทก์-จำเลย ก็ต้องอธิบายได้ว่า กรณีแบบไหน จำเลยจะได้รับอนุญาตให้ประกันตัว อะไรคือเหตุที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงคำสั่ง เป็นการให้คำชี้แนะต่อฝ่ายของจำเลย เผื่อกรณีจำเลยเขาไม่ได้มีทนายความ ไม่ใช่เพียงแค่คดีการเมืองอย่างเดียวเท่านั้น แบบนี้ถึงจะเป็นการอำนวยความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างแท้จริง
ผู้ดำเนินรายการ: เมื่อสักครู่ที่ทางฝั่งของทีมศูนย์ทนายฯ เล่าให้เราฟังว่าจริงๆ แล้วบางครั้งโจทก์ไม่คัดค้านการประกันตัว แต่ศาลยังไม่อนุญาต เท่ากับศาลทำตัวเป็นโจทก์เองหรือเปล่า ถ้าศาลอยากเล่นบทบาทโจทก์ด้วย เป็นหน้าที่ของศาลที่ต้องให้เหตุผลว่า มันไม่เข้าเงื่อนไขการให้ประกันตัวอย่างไรบ้าง ปรากฎการณ์นี้ในทางนิติศาสตร์ ในทางหลักกฎหมายที่พวกเราเรียนกันมา มันพอจะมีคำอธิบายให้เราเข้าใจได้ไหมคะ
อ.สมลักษณ์: ดังที่อาจารย์เคยได้บอกไปว่า การที่ศาลจะให้ฝากขังหรือไม่ มันก็อยู่ใน วิ.อาญา มาตรา 81 แล้วก็มีกำหนดเวลาไว้เลยว่าภายใน 48 วัน 84 วัน แล้วก็ครั้งหนึ่งไม่เกิน 12 วัน 48 วันก็ 4 ครั้ง พอฝากขังครั้งที่ 3 ศาลต้องไต่สวนทันทีเลย ผู้ที่มีหน้าที่ มีภาระในเรื่องการนำพยานมาให้ศาลไต่สวนก็คือพนักงานสอบสวน คือฝ่ายที่กล่าวหา ศาลจะไม่เห็นเอง เพราะว่าศาลไม่รู้กระบวนการทั้งสิ้น
อันนี้เป็นหลักทั่วๆ ไปอยู่แล้วว่า โจทก์ที่มาสู่ศาล ก็มาเพื่อฟ้องจำเลย โจทก์มีหน้าที่ต้องสืบพยานให้ศาล เป็นผู้มีภาระในการพิสูจน์หาพยานมาสืบ ให้ศาลเห็นว่า จำเลยนี้เป็นผู้กระทำความผิดจริง การกล่าวหาเนี่ย ถ้าพยานโจทก์เป็นที่สงสัย วิ.อาญาฯ มาตรา 226 ก็ให้ยกประโยชน์แก่ความสงสัยให้จำเลย ก็คือให้พิพากษายกฟ้อง
เพราะอย่างนั้น อาจารย์ก็ขอตอบว่าเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการที่เป็นโจทก์นะคะ คดีที่จำคุกตั้งแต่ 5 ปี เป็นต้นไป แม้จำเลยให้การรับสารภาพแล้วก็ตาม ว่ากระทำความผิดจริง ศาลก็ยังลงโทษไม่ได้ โจทก์ต้องนำพยานมาสืบให้เห็นว่าจำเลยนี้กระทำความผิดจริง แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ถ้าพยานโจทก์เป็นที่สงสัย ก็ให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
ถ้าเป็นชั้นสอบสวน อาจารย์ยืนยันว่า พนักงานสอบสวนมีภาระต้องพิสูจน์ ถ้าเป็นชั้นการพิจารณาของศาล ก็เป็นหน้าที่ของโจทก์หรือพนักงานอัยการที่จะต้องนำพยานมาสืบให้ศาลเห็น
.
ศาลอาญาจำกัดให้ผู้พิพากษาทำคำสั่งประกันตัวไว้แค่ 5 คน
ผู้ดำเนินรายการ: เมื่อสักครูเราพูดคุยกันไปถึงหลักตรงนี้ด้วย เรื่องดุลยพินิจของผู้พิพากษา ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาในการใช้ดุลพินิจ มันพอจะมีขอบเขตไหมคะ มีอะไรที่เป็นกรอบที่พอจะจับต้องยึดเหนี่ยวตรงนี้ไว้บ้าง
อ.ฐิตินันท์: คือในส่วนเรื่องการใช้ดุลพินิจของผู้พิพากษา ยังไงก็แล้วแต่ ในความเป็นจริง เราคงจะไม่สามารถที่จะให้ผู้พิพากษาไม่มีดุลพินิจเลยได้ เพียงแต่การใช้ดุลพินิจมันจำเป็นจะต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย อย่างตอนนี้ สมมติเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราว มันไม่ได้แปลว่าจะต้องปล่อยทุกกรณี เพียงแต่ว่าต้องยึดตามหลัก การใช้ดุลพินิจมันต้องใช้ภายในกรอบว่าหลักมันคือปล่อย ถ้าไม่ปล่อยจำเป็นต้องเข้าเหตุ 5 ข้อเท่านั้น
พวกคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวมักจะถูกจำกัดให้ผู้มีอำนาจสั่ง มีผู้ที่รับหน้าที่ในการสั่งอยู่ที่ 5 ท่านเท่านั้น คือรองอธิบดีศาล กับผู้พิพากษาหัวหน้าแผนก ที่ถือเสมือนรองอธิบดีศาล ตามที่เราเห็นในข่าวที่ผ่านมา คนสั่งก็จะเป็นท่านเดิมๆ ที่เราจะได้ยินชื่อกันตลอด
อ.ฐิตินันท์
ปัญหาอีกข้อหนึ่งที่เกิดขึ้นในศาลอาญา พวกคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวมักจะถูกจำกัดให้ผู้มีอำนาจสั่ง มีผู้ที่รับหน้าที่ในการสั่งอยู่ที่ 5 ท่านเท่านั้น คือรองอธิบดีศาล กับผู้พิพากษาหัวหน้าแผนก ที่ถือเสมือนรองอธิบดีศาล ตามที่เราเห็นในข่าวที่ผ่านมา คนสั่งก็จะเป็นท่านเดิมๆ ที่เราจะได้ยินชื่อกันตลอด
จริงๆ อย่างกรณีถ้าเป็นศาลอื่นอย่างศาลจังหวัด ตามภูมิภาคอื่นๆ ที่ไม่ใช่ศาลอาญากรุงเทพ ปกติผู้มีอำนาจสั่งได้ คือ 20 กว่าคนเลยนะคะ ตามศาลที่มีอำนาจ ตามที่มีอำนาจตามกฎหมายเลย แต่ศาลอาญาของเรา ในทางปฏิบัติ จำกัดการสั่งอยู่แค่ 5 ท่าน เหตุผลก็คือ ต้องการให้คำสั่งนี่มันมีมาตรฐาน เนื่องจากว่าผู้พิพากษามีเป็นร้อยท่านในศาลอาญา พอมีเป็นร้อย ก็กลัวคำสั่งจะไม่เป็นบรรทัดฐาน จะไม่สอดคล้องในทิศทางเดียวกัน ก็เลยกลายเป็นให้ผู้พิพากษาสั่งได้แค่ 5 คน
แนวคิดแบบนี้มันทำให้ประชาชนสามารถตั้งข้อสงสัยขึ้นมาได้ เพราะดุลพินิจของคนก็หลากหลายใช่ไหม การตีความการใช้กฎหมายมันก็หลากหลาย ทัศนคติคนมันมีอยู่แล้ว เพราะทุกคนเป็นมนุษย์ สิ่งที่เกิดขึ้น พอมีคนสั่งได้แค่ 5 คน สังคมก็ตั้งข้อสงสัยได้ว่า เฮ้ย! เขาอคติหรือเปล่า
การที่มันถูกจำกัดให้ผู้มีอำนาจสั่งได้แค่ 5 คน มันจะทำให้สังคมเกิดข้อสงสัย แต่ถ้าสมมติ การจ่ายสำนวน การจ่ายเรื่องว่าใครจะมีอำนาจสั่ง กระจายไปที่ผู้พิพากษาที่หลากหลาย ไม่ได้ถูกจำกัดแค่รองอธิบดีศาล ผู้พิพากษาท่านอื่นๆ ก็มีอำนาจ มันจะกระจายการตีความได้หลากหลายกว่า ถ้าเรากลัวว่าคำสั่งจะไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน แต่เราไม่กลัวเหรอคะว่า คำสั่งมันจะถูกผูกขาดเป็นแนวคิดใดแนวคิดหนึ่ง ถ้ากฎหมายมันดี ถ้ากฎหมายเซ็ททุกอย่างมาชัด การบังคับใช้ดุลยพินิจอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย มันจะสามารถสร้างความรู้สึกเชื่อมั่นให้กับประชาชนในสังคมได้มากกว่า
อีกวิธีหนึ่งที่เห็นในต่างประเทศ อย่างของสหรัฐอเมริกา เขาจะมีการเอาระบบอัลกอริทึ่มเข้ามาใช้ ซึ่งอาจจะใหม่สำหรับประเทศไทย ตอนนี้อาจจะยังไม่พร้อมทันที แต่เราอาจจะเตรียมพร้อมหรือว่ามองสิ่งนี้เป็นแนวทางประกอบได้ เพราะว่าอย่างในสหรัฐ เขาจะมีการเก็บสถิติ ทำเป็นแบบ list assessment ว่าคนนี้ปล่อยไปแล้วจะไม่ก่ออันตราย หรือว่าจะหลบหนี เขาจะมีเหมือนเป็น check list อันนึง ให้ผู้ต้องหาทำแบบฟอร์มนี้ เอาเข้าระบบประมวลผล ซึ่งส่วนใหญ่ มันก็จะเป็นประมวลจากว่าเขาเคยทำความผิดมาก่อนหรือเปล่า ไม่ใช่แค่เคยถูกกล่าวหานะ เขามีพฤติกรรมยังไง เคยมีความผิดลักษณะใกล้เคียงกันมาก่อนไหม มันจะมีเกณฑ์อย่างนี้ แล้วพอเอาลงเกณฑ์ปุ๊บ เข้าระบบอัลกอริทึ่ม ระบบจะประมวลจากการรับเก็บสถิติ
เมืองไทยจะต้องมีปัญหาเรื่องนี้อีกเยอะ และอาจจะอยู่ในขั้นที่ต้องพัฒนาไปอีกไกล เพียงแต่ว่า ทุกอย่างที่เขาทำ เขาพยายามเซ็ตขึ้นมาเป็นมาตรฐานให้มากที่สุด เพื่อให้การใช้ดุลพินิจมันมีหลักอะไรอ้างอิง
.
ศาลต้องตระหนัก โทษในข้อหามาตรา 112 ถูกเพิ่มโดยประกาศคณะรัฐประหาร หลัง 6 ตุลา 19
อ.ปริญญา: ขอต่ออาจารย์ฐิตินันท์นะครับ คือดุลยพินิจ มันเป็นเรื่องที่มีได้อยู่แล้ว แต่ว่าข้อสำคัญคือต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย คนเป็นศาลต้องใช้กฎหมาย เพราะอำนาจศาลคือการตีความกฎหมาย หลักการ Separation of Powers มันก็เป็นอย่างนี้เอง คือให้ฝ่ายเขียนกฎหมายเป็นฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายมีอำนาจจากกฎหมายเป็นอีกฝ่ายหนึ่ง และฝ่ายที่ตีความกฎหมายเป็นอีกฝ่ายหนึ่ง แล้วทั้ง 3 อำนาจก็ถ่วงดุลกัน ดังนั้น ศาลเองก็ต้องตีความตามกฎหมายเป็นหลัก แล้วกฎหมายสูงสุดก็คือรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญของเราตั้งแต่ปี 2492 เป็นต้นมา ถือหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แล้วจะปฏิบัติต่อเขาอย่างเสมือนเป็นผู้กระทำผิดไม่ได้ โดยเหตุในการจะไม่ปล่อยชั่วคราว ผมพูดซ้ำนะครับคือวรรค 3 ของมาตรา 29 มีเหตุเดียว คือเพื่อไม่ให้มีการหลบหนี
อ.ปริญญา
ประเทศไทยมีมาตรา 5 บัญญัติไว้ว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด บทบัญญัติใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ ก็ต้องถือหลักตามรัฐธรรมนูญ ผมย้ำอีกครั้งว่า รัฐธรรมนูญของเราตั้งแต่ปี 2492 เป็นต้นมา ถือหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แล้วจะปฏิบัติต่อเขาอย่างเสมือนเป็นผู้กระทำผิดไม่ได้ โดยเหตุในการจะไม่ปล่อยชั่วคราว ผมพูดซ้ำนะครับคือวรรค 3 ของมาตรา 29 มีเหตุเดียว คือเพื่อไม่ให้มีการหลบหนี ว่าง่ายๆ คือในวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 มันก็เกินไปกว่ารัฐธรรมนูญอยู่พอสมควร เพราะมีตั้ง 5 เหตุ ที่จะไม่ปล่อยชั่วคราว แล้วผมได้เรียนไปแล้วนะครับว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต้องถึงเวลาสักทีที่ต้องอนุมัติให้เป็นไปตามหลัก Presumption of Innocence เพราะว่าโครงของมันตอนนี้เป็น Presumption of Guilt นะครับ เคยแก้นิดแก้หน่อยบางมาตรา แต่ไม่เคยแก้โครงร่างของมัน
มาตรา 107 มีการแก้ไปเมื่อปี 2547 ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว อันนี้สอดคล้องกับมาตรา 29 ถึงแม้ 108/1 ผมคิดว่าไอ้ข้อที่มีปัญหามากที่สุดคือวงเล็บ 3 อย่างที่ อ. ฐิตินันท์ ว่านะครับ ศาลท่านตอนหลังชอบใช้วงเล็บ 3 เยอะ เขียนเหตุผลมาในใบคำร้อง และอีกเหตุผลยอดฮิตก็คือ คดีมีอัตราโทษร้ายแรง หรือถ้าปล่อยแล้วจะไปทำความผิดซ้ำ ซึ่งทั้ง 2 ข้อนี้มันไม่อยู่ในเหตุที่จะใช้ดุลยพินิจ มันก็ต้องใช้ดุลยพินิจภายใต้กฎหมาย เพราะศาลมีอำนาจตีความกฎหมาย แต่อันนี้เป็นเหตุผลของท่านเองที่ไม่ใช่เหตุผลตามกฎหมาย แล้วมันเป็นหลักยกเว้น การไม่ปล่อยเป็นหลักยกเว้น ก็ต้องเคร่งครัดตามกฎหมาย
ข้อสำคัญว่าใครจะถ่วงดุลฝ่ายตุลาการ นี่เป็นปัญหาของประเทศไทย เพราะว่ามีหลายคดีที่เห็นได้ชัดว่าศาลเองไม่ทำตามกฏหมาย มาตรา 108/1 วรรค 2 บอกว่า ต้องแจ้งคำสั่งเหตุผลที่ไม่ปล่อยชั่วคราวเป็นหนังสือ ท่านเขียนเป็นลายมืออย่างนี้ แล้วเหตุก็ไม่เข้าเลย ที่ว่าทำผิดซ้ำเนี่ยนะครับ ท่านก็เปลี่ยนเป็นจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น แต่อีกข้อเรื่องมีอัตราโทษร้ายแรง ท่านยังใช้อยู่นะ ซึ่งผมก็ขอพูดอันนี้ก่อน ที่ต้องพูดก็เพราะว่ามันไม่อยู่ในเหตุจะไม่ปล่อยชั่วคราว แล้วว่าร้ายแรงเนี่ย ผมเรียนว่าสูงสุดนี่ก็แค่ 15 ปีนะครับ
ไม่ทราบท่านใดทราบความเป็นมาของอัตราโทษของมาตรา 112 หรือไม่ ว่าเดิมนั้นนะครับ ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาตรานี้มีโทษสูงสุดไม่เกิน 7 ปี โดยไม่มีขั้นต่ำ ไม่มีขั้นต่ำคือท่านจะลง 1 เดือนก็ได้ 2 เดือนก็ได้ การแก้ไขโทษทำให้มีขั้นต่ำเป็น 3 ปี แล้วอย่างสูงเพิ่มเป็น 15 ปี มันเกิดขึ้นจากคำสั่งคณะปฏิวัตินะครับ ที่ปฏิวัติในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็ต้องพูดตรงนี้หน่อย คือผมเรียนว่า เราก็รู้นะครับว่าเหตุในการปราบปรามนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม มาจาก Fake News นักศึกษาเล่นละคร ขอความเป็นธรรมให้กับช่างไฟที่ถูกแขวนคอ แล้วก็มีหนังสือพิมพ์ดาวสยามไปปั้นข่าวว่าเป็นการทำหุ่นคล้ายพระบรมโอรสาธิราชมาแขวนคอ ซึ่งมันเป็นเท็จทั้งหมด แล้วเหตุนี้เป็นเหตุในการปราบนักศึกษา แล้วก็เป็นเหตุในการปฏิวัติ แล้วเป็นเหตุในการแก้มาตรา 112 โดยคำสั่งคณะปฏิวัติ อ้างว่านักศึกษาไปหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจึงต้องเพิ่มโทษให้หนักขึ้น ทั้งๆ ที่ละครนั้นเป็นละครที่ทวงความเป็นธรรมให้ช่างไฟ
ทั้งนี้ ศาลท่านต้องทราบที่มา แล้วก็ถ้าจะบอกว่า คดีมีอัตราโทษร้ายแรง ผมเรียนว่าความผิดมาตรา 113 นี่โทษหนักกว่า 112 – 113 นี่คือล้มล้างรัฐธรรมนูญ โทษคือประหารชีวิต อันนี้ผมว่าข้อนี้สำคัญมาก แล้วการปฏิวัติทุกครั้ง แต่ทำไมผู้กระทำถึงไม่เคยมีความผิด เพราะว่าทหาร พอปฏิวัติเสร็จก็จะนิรโทษกรรมตัวเอง พวกนักศึกษา พวกที่เขาเรียกร้องประชาธิปไตยต่างๆ จะอยู่ในขอบเขตบ้าง เลยขอบเขตบ้าง แต่ว่าเขาไม่มีอำนาจในการที่จะมานิรโทษกรรมตัวเองอย่างทหาร
ดังนั้น ผมคิดว่าท่านต้องเข้าใจว่า การกล่าวหาโดยพนักสอบสวน คือตำรวจที่อยู่ใต้อำนาจของนายกรัฐมนตรี ท่านต้องระวังอย่างยิ่งที่จะต้องไม่ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือทางการเมือง ท่านก็เห็นว่าเขาใช้มาตรา 112 ในการในการจัดการฝ่ายตรงข้าม แล้วทำให้ผลกระทบไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์
.
การต่อสู้คดีโดยถูกคุมขัง ไม่ต่างจากการมัดมือชก ไม่ใช่การพิจารณาคดีที่เป็นธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: เข้าสู่คำถามสุดท้าย เรื่องโอกาสในการต่อสู้คดีของผู้ถูกคุมขัง เราได้เห็นแล้วว่ามีหลายประเด็นเหลือเกิน มีหลายเฉดเหลือเกิน ขออนุญาตไปทางฝั่งของศูนย์ทนายฯ ค่ะ ทำยังไงให้คนที่อยู่ในห้องขังมีสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรมมากขึ้นได้บ้างค่ะ
ทนายนรเศรษฐ์: ผมต้องเรียกว่า ตอนนี้สิทธิในการต่อสู้คดีของเขานี่ถูกลดทอนลงไปมาก ถ้าเราดูตามนะครับ ไม่ว่าจะเป็นกติการะหว่างประเทศก็ดี รัฐธรรมนูญก็ดี หรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็ดี ผมคิดว่าเขียนไว้ชัดว่า จำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่และเป็นธรรม แต่สำหรับคนที่ถูกขังในปัจจุบัน เอกสารที่เราจะส่งไป บางส่วนไม่สามารถส่งไปได้ หนังสือที่เราจะส่งไปให้เขาได้ค้นคว้าเพื่อเอามาต่อสู้คดี ก็ไม่สามารถส่งไปได้บางส่วน คลิปวิดีโอหรือรูปภาพต่างๆ ทนายความไม่สามารถที่จะเอาคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์ไปเปิดให้เขารู้ได้ว่าวันนั้นได้ปราศรัยแบบนี้จริงไหม มีมูลเหตุมาจากอะไร ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์คืออะไร ดังนั้นแล้วกระบวนการที่เกิดขึ้นอยู่ในตอนนี้ โดยเฉพาะในคดีความผิดทางการเมือง ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก สำหรับคนที่ถูกจับขังเนี่ย มันไม่ต่างจากกระบวนการมัดมือชก
ผมมองว่าจำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดีอย่างมาก เพราะว่าเวลาทนายความไปเยี่ยม บางครั้งบางเรือนจำจำกัดเวลาในการเยี่ยมได้ 10 นาทีครับ ไปรอทั้งวัน คุณพูดได้แค่ 10 นาที 20 นาทีเท่านั้น ยังพูดถึงกระบวนการทางคดียังไม่แล้วเสร็จเลย หมดเวลาแล้ว วันหลังต้องไปใหม่ หมายความว่าเขาไม่มีเวลาเตรียมตัวในการต่อสู้คดีเลย
ทนายนรเศรษฐ์
แต่ในขณะเดียวกัน ฝ่ายรัฐมีเจ้าหน้าที่จำนวนมากมาย มีข้อมูล เข้าถึงข้อมูล เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ เข้าถึงหนังสือต่างๆ ได้ ดังนั้นแล้วกระบวนการที่เป็นอยู่ตอนนี้ สำหรับผมมองว่าจำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดีอย่างมาก เพราะว่าเวลาทนายความไปเยี่ยม บางครั้งบางเรือนจำจำกัดเวลาในการเยี่ยมได้ 10 นาทีครับ ไปรอทั้งวัน คุณพูดได้แค่ 10 นาที 20 นาทีเท่านั้น ยังพูดถึงกระบวนการทางคดียังไม่แล้วเสร็จเลย หมดเวลาแล้ว วันหลังต้องไปใหม่ หมายความว่าเขาไม่มีเวลาเตรียมตัวในการต่อสู้คดีเลย
เดือนพฤศจิกายน เดือนธันวาคมนี้ จำเลยหลายคนจะขึ้นสู่การพิจารณาคดีมาตรา 112 ซึ่งเป็นข้อถกเถียงในทางประวัติศาสตร์ว่า คำที่เขาปราศรัยมีข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์อย่างไร แต่คนเหล่านั้นเขาไม่มีโอกาสได้ออกมาแสวงหาพยานหลักฐานเลย ดังนั้นแล้ว สิ่งแรกที่ควรคืนคือความเป็นธรรม คืนสิทธิในการประกันตัว เมื่อมีสิทธิในการประกันตัว และเขาออกมาภายนอก เขาได้แสวงหาพยานหลักฐานอย่างเต็มที่แล้วไปสู้กัน โอเค เป็นธรรม/ไม่เป็นธรรมก็ค่อยว่ากันอีกที แต่ให้เขามีโอกาสอย่างเต็มที่ก่อน
ทนายพูนสุข: ขออนุญาตเพิ่มเติมประเด็นเรื่องโอกาสในการต่อสู้คดี ทนายรอนพูดถึงอินเทอร์เน็ต หนังสือ ที่จะใช้ค้นคว้าใช่ไหมคะ ระยะเวลาที่ทนายจะช่วยเตรียมเนี่ยก็สั้น คือพบได้ในแต่ละวันนี่เวลาจำกัดนะคะ
แล้วที่สำคัญก็คือว่า ในทางปฏิบัติ ผู้ต้องขังจะต้องขึ้นห้องขัง ไม่ให้ออกมาเดินในแดนแล้วตอนประมาณ 3 โมงเย็นเป็นต้นไป จนกระทั่งเช้าอีกวันหนึ่ง คุณจะต้องอยู่ในห้องขังอย่างเดียว และในห้องนั้นคุณไม่สามารถเอาสมุดเข้าไปได้ คุณไม่สามารถพกปากกาดินสอเข้าไปได้ เพราะว่าเขากลัวว่ามันจะเป็นการพกอาวุธที่ใช้ในการทำร้ายกัน เพราะฉะนั้นระยะเวลาว่างๆ ตรงนั้น แทนที่เขาอาจจะได้ใช้เวลาคิดหรือจดบันทึกอะไรเพื่อต่อสู้คดี หรือว่านึกขึ้นมาได้ว่าสถานการณ์ในวันนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง และต้องจดบันทึกถึงมัน ไม่สามารถทำได้ จะต้องรอเช้าอีกวันหนึ่ง พื้นที่ในการจัดเก็บสิ่งของต่างๆ เอง ก็มีเพียงคนละ 1 ล็อกเกอร์เล็กๆ นอกจากสมุดแล้ว เขาต้องบรรจุอุปกรณ์ทุกอย่างในชีวิตของเขา ขัน เครื่องใช้ต่างๆ
คุณสมยศเคยแถลงในศาลว่า อยู่ในเรือนจำ เขาไม่สามารถแม้กระทั่งจะหาพื้นที่ในการจัดเก็บเอกสารคำฟ้องของเขา ที่สำหรับจะอ่านคำฟ้องของเขา หลาย 10 หน้าเนี่ยก็ไม่มี จะจัดเก็บมันอย่างดีก็ไม่ได้ จะหาเวลาอ่านเอกสารหรือทำความเข้าใจมันเงียบๆ ก็ไม่มี
ทนายพูนสุข
คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข เคยถูกควบคุมตัว ไม่ได้ประกันนะคะ คุณสมยศเคยแถลงในศาลว่า อยู่ในเรือนจำ เขาไม่สามารถแม้กระทั่งจะหาพื้นที่ในการจัดเก็บเอกสารคำฟ้องของเขา ที่สำหรับจะอ่านคำฟ้องของเขา หลาย 10 หน้าเนี่ยก็ไม่มี จะจัดเก็บมันอย่างดีก็ไม่ได้ จะหาเวลาอ่านเอกสารหรือทำความเข้าใจมันเงียบๆ ก็ไม่มี อย่างที่ทนายรอนพูดเลยค่ะว่า การไม่ให้ประกันตัวก็คือการตัดโอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ของเขาออกไป ซึ่งไม่ใช่ไม่เต็มที่ด้วย มันตัดมากกว่าครึ่งด้วยซ้ำ แทบจะไม่เหลือ
มีประเด็นที่นึกถึงอีกอันหนึ่ง คิดว่าสำคัญเหมือนกัน เราพูดถึงมาตรา 108/1 มี 5 เหตุ ณ ตอนนี้เนี่ย เรามีคนที่ถูกคุมขังจากคดีทางการเมือง จากการไปชุมนุมปราศรัยทั้งหมด 27 คน มีหนึ่งในนั้นเป็นเยาวชน ตอนนี้อยู่ที่สถานพินิจฯ สาเหตุที่เขาไม่ได้ประกันตัวมีเพียงสาเหตุเดียวเลย ก็คือเขาไม่สามารถหาผู้ปกครองมารับรองเพื่อให้เขาออกจากเรือนจำ
พอเป็นเยาวชนแล้วไม่มีผู้ปกครองมาช่วยประกัน ศาลไม่อนุญาตให้ประกัน อันนี้คือปัญหา แล้วก็ไม่ใช่เหตุตามมาตรา 108/1 ด้วย แต่ว่าเป็นพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความเยาวชนฯ ซึ่งก็เป็นคำถามเหมือนกันว่า ชีวิตของเด็กคนหนึ่งที่เกิดมาไม่ได้อยู่กับครอบครัวที่แท้จริง ต้องอยู่กับครอบครัวบุญธรรม อยู่มาระยะหนึ่งก็ต้องออกมาดูแลตัวเอง เลี้ยงดูตัวเอง เช่าหออยู่ แต่ว่าเขายังอายุไม่ถึง 18 แล้วก็ถูกดำเนินคดี ติดข้อกฎหมายตรงนี้ ทำให้ยังต้องอยู่ในสถานพินิจฯ ต่อไป อันนี้เป็นอีกปัญหาหนึ่งของคดีเยาวชนที่ไม่ได้ประกันตัวออกมาค่ะ
.
ปัญหาราชทัณฑ์ขังรวมผู้ต้องขังที่ถึงที่สุด กับผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างต่อสู้คดี
การที่เราเอาคนซึ่งเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย เอาเข้าไปไว้ในคุกราชทัณฑ์ เอาไปอยู่ในเรือนจำ อันนี้มันผิดที่สุด คือเรื่องของการจะควบคุม คุมขังเอาไว้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1 เราก็พูดกันเยอะแล้วว่ามันไม่ค่อยถูก แต่ว่าเรื่องไม่ได้ปล่อยชั่วคราว แล้วเอาไปขังรวมนักโทษนี่เป็นอีกประเด็นหนึ่ง อันนี้ก็เป็นเรื่องร้ายแรงมากสำหรับประเทศไทย
อ.ปริญญา
อ.ปริญญา: ผมมีประเด็นอย่างนี้นะครับ ขอเพิ่มเรื่อง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ฯ คืออันนี้มันผิดอยู่แล้ว การที่เราเอาคนซึ่งเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย เอาเข้าไปไว้ในคุกราชทัณฑ์ เอาไปอยู่ในเรือนจำ อันนี้มันผิดที่สุด คือเรื่องของการจะควบคุม คุมขังเอาไว้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1 เราก็พูดกันเยอะแล้วว่ามันไม่ค่อยถูก แต่ว่าเรื่องไม่ได้ปล่อยชั่วคราว แล้วเอาไปขังรวมนักโทษนี่เป็นอีกประเด็นหนึ่ง อันนี้ก็เป็นเรื่องร้ายแรงมากสำหรับประเทศไทย
ไม่ทราบว่าศาลท่านจะคิดพิเคราะห์ถึงข้อนี้มากน้อยเพียงใด ว่าผู้ต้องขังตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ฯ มาตรา 4 หมายถึงผู้ต้องขังซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาด กับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ศาลไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวด้วย ราชทัณฑ์ก็ไปปฏิบัติต่อเขาเหมือนกัน แม้ว่าจะมีข้อทักท้วงว่ามีการปฏิบัติแตกต่างกันบ้าง ทรงผมก็แตกต่างกัน ชุดคนละสีกัน แต่ว่าในทางปฏิบัตินี้คือปฏิบัติเหมือนกัน
ถึงแม้ศาลจะไม่ให้ปล่อยชั่วคราว ก็ต้องมีสถานที่คุมขังที่ไม่ใช่ในคุก เรื่องนี้ชัดเจนมาก เพราะว่าเขายังไม่ใช่นักโทษ ศาลยังไม่พิพากษา แล้วเอาเขาไปขังไว้ในคุกกับนักโทษได้ยังไง มาตรา 29 วรรคสอง ประโยคสุดท้ายก็ชัดเจนว่า จะปฏิบัติต่อเขาแบบนั้นก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดไม่ได้ ข้อนี้ก็เป็นอีกข้อที่ต้องแก้ไข
อยากให้ศาลท่านทราบด้วยว่า ทุกครั้งที่ท่านไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวคือการทำให้บุคคลต้องเข้าไปถูกขังรวมกับนักโทษในคุก ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรคสอง ติดคุกก็ไม่สามารถสู้คดีได้ จะไปรวบรวมพยานหลักฐาน ปรึกษานักกฎหมายต่างๆ ก็ไม่ได้
คนที่ไปจับตัวประชาชนมาฝากขังต่อศาล คือตำรวจ ตราบใดที่ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ ยังให้อำนาจนายกฯ เป็นผู้บังคับบัญชา ปัญหายิ่งหนักเลยนะครับ ปกติอำนาจนายกฯ ต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มันทำได้แค่กำกับดูแลตามกฎหมาย ก็คือกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานี่แหละ แต่ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ นี่นะครับ ไปใช้คำว่าเป็นผู้บังคับบัญชาไง นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนั้นศาลท่านจึงยิ่งต้องระมัดระวัง ในเรื่องของการพิจารณาจะปล่อยหรือไม่ปล่อยชั่วคราว
.
ปัญหาศาลมีบทบาทรับรองการรัฐประหาร
อ.สมลักษณ์: อาจารย์ติดใจอยู่นิดหนึ่ง ทำไมถ้าเป็นศาลในกรุงเทพฯ ท่านอธิบดี รองอธิบดี ทำไมถึงไม่กระจายอำนาจในการพิจารณาคำร้องออกไป คือมันอย่างนี้ค่ะ มีข้อกำหนดหรือระเบียบของศาล ซึ่งระเบียบนี้ออกโดยท่านประธานศาลฎีกา การมีคำสั่งในเรื่องนี้มันมีปัญหาขึ้นมาว่า คดีมีข้อกล่าวหา หรือมีข้อเท็จจริงเหมือนๆ กัน ถ้ากระจายไปให้ผู้พิพากษาทั่วๆ ไป บางทีมันไม่มีมาตราฐาน คนนี้สั่งให้ประกัน แล้วอีกคนหนึ่งอาจไม่ให้ประกัน เขาจึงให้อำนาจผู้พิพากษาที่ดำรงตำแหน่งเชิงการบริหารมาพิจารณา เพราะท่านเหล่านี้ทำงานมานาน ประสบการณ์ท่านมาก จึงรู้แนวบรรทัดฐาน เพราะเคยสั่งมาแล้ว เขายื่นคำร้องมาอย่างนี้ มันควรจะให้ประกันหรือไม่ให้ประกัน
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ตาม ที่เราจะไปคิดถึงเหตุผลว่าคนนั้นประสบการณ์มาก คนนี้ประสบการณ์น้อย นั่นก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล เพราะกฎหมายเป็นเพียงลายลักษณ์อักษร แต่ผู้ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือผู้มีอำนาจตามกฎหมาย ก็จะต้องยึดหลักความยุติธรรมและมีมาตรฐานด้วย ว่าลักษณะอย่างนี้ มาตรฐานเป็นอย่างไร ศาลกับทนายรู้ดีว่า ถ้าหากมีการโต้เถียงกัน ก็จะยึดแนวบรรทัดฐานของศาลฎีกามาอ้าง ข้อถกเถียงจะยุติทันที เพราะว่าถือว่าแนวบรรทัดฐานนี้ เราจะต้องปฏิบัติตาม
ตามกฎหมายอาญา ถ้ากระทำตามมาตรา 113 ต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ก็จะมีแนวบรรทัดฐานมาตลอดของศาลฎีกา แต่ถ้ากระทำการสำเร็จ คำสั่งอันใดของผู้ทำการกบฏถือเป็นกฎหมายใช้บังคับได้ ศาลฎีกาก็พูดแค่นั้น ท่านไม่อ้างกฎหมาย เพราะมันไม่มีกฏหมายจะอ้าง
อ.สมลักษณ์
อาจารย์ขอยกตัวอย่างแนวบรรทัดฐานในเรื่องผู้กระทำความผิดตามมาตรา 113 เราจะเรียกกันว่าผู้ปฏิวัติ ผู้รัฐประหาร หรืออะไรก็ตาม ตามกฎหมายอาญา ถ้ากระทำตามมาตรา 113 ต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ก็จะมีแนวบรรทัดฐานมาตลอดของศาลฎีกา แต่ถ้ากระทำการสำเร็จ คำสั่งอันใดของผู้ทำการกบฏถือเป็นกฎหมายใช้บังคับได้ ศาลฎีกาก็พูดแค่นั้น ท่านไม่อ้างกฎหมาย เพราะมันไม่มีกฏหมายจะอ้าง เนื่องจากการปฏิวัติรัฐประหารนี่เป็นความผิดอุกฉกรรจ์ กฎหมายโบราณ เขามีการประหารชีวิตเจ็ดชั่วโคตร ลูกเมียตายหมด ญาติตายหมด
ทีนี้ในเมื่อไปวางแนวบรรทัดฐานอย่างนั้น ก็มีคนถามตอนที่อาจารย์สอนอยู่ที่ธรรมศาสตร์ว่า อาจารย์ครับ แนวบรรทัดฐานเนี่ยทำไมมันเป็นอย่างนี้ ไม่อ้างกฎหมายเลย อาจารย์บอกใช่ เพราะอาจารย์ก็เคยเขียนบทความว่า ควรปรับแนวบรรทัดฐานได้แล้ว เราเคยมีคณบดีนิติศาสตร์ของจุฬาฯ ท่านหนึ่ง เขียนในบทความเลยว่า ศาลฎีกานี่แหละคือตัวการใหญ่ที่ส่งเสริมให้มีการปฏิวัติรัฐประหาร ถ้าฎีกาพิพากษาวางแนวบรรทัดฐานว่า การกระทำอย่างนี้เป็นการกบฏแล้วก็ลงโทษประหารชีวิตแล้ว มันจะไม่มีการรัฐประหารอีกต่อไปแล้ว เพราะมีการลงโทษ และเป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย
.
ข้อเสนอแก้ไขมาตรา 112 ของอดีตตุลาการ
อ.ฐิตินันท์: เดี๋ยวขออนุญาตสรุปสั้นๆ คืออย่างที่เรียนไปแล้ว เห็นด้วยเลยกับคุณทนายพูดเอาไว้ เรื่องสิทธิของผู้ต้องหา พอมาอยู่ในคุกแล้วสิทธิมันก็ไม่เต็มร้อย ทุกอย่างมันย้อนกลับไปจุดเดิมเลย ย้อนไปในเรื่องสิทธิตามธรรมนูญ ตามมาตรา 29 นี่แหละ ว่าจะปฏิบัติต่อเขาเสมือนถูกพิพากษาว่ากระทำความผิดแล้วไม่ได้ ต้องให้สิทธิเขาต่อสู้คดีเต็มที่ หลักการก็คือต้องปล่อยตัวเป็นหลัก ไม่ปล่อยเป็นข้อยกเว้น ในขั้นที่มันไม่สามารถใช้มาตรการอื่นได้แล้วจริงๆ
เท่าที่เห็นมา ในทางปฏิบัติเลยเนี่ย ก็ปล่อยทั้งนั้น มันมีแนวที่จะไม่ปล่อย แต่เห็นมากๆ ก็คือพวกคดียาเสพติด พวกที่ค้ายาขนาดใหญ่ ล็อตใหญ่ๆ ถึงจะไม่ปล่อย ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะว่าคดียาเสพติดมีโอกาสหลบหนีค่อนข้างจะสูง แล้วก็เป็นมูลทรัพย์สูงกว่า มีโอกาสหลบหนีได้ แล้วก็เรื่องผู้มีอิทธิพลอะไรอย่างนี้ที่ตามมา มันมีเหตุอะไรต่างๆ เยอะในการที่จะไม่ปล่อย แต่คดีทั่วไปไม่ว่าจะโทษร้ายแรงขนาดไหน โดยหลักๆ ก็คือปล่อยหมด เพราะว่าเขาต้องมีโอกาสในการสู้คดีเต็มที่
คือถ้าเราจะตีความทุกอย่างโดยกว้างขวาง แทนที่จะยึดกับหลักที่ว่าต้องปล่อยเป็นหลัก ไม่ปล่อยเป็นข้อยกเว้น แล้วก็ตีความคำว่าภยันตรายประการอื่นกว้างขวาง มันก็คงจะไม่สามารถที่ทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามหลักกฎหมาย
ในประเด็นมาตรา 112 เอง ทุกวันนี้พอเป็น 112 ปุ๊บ เราเหมือนไม่ได้ใช่หลักกฎหมายเดียวกันกับกรณีอื่น แค่นี้ก็เป็นปัญหาแล้ว ด้วยความเคารพ ศาลท่านไม่ได้ใช้ในกรอบที่มันเป็นหลักปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกับคดีอื่นๆ ปัญหามันก็ตามมา เพราะฉะนั้นเพื่อป้องกันปัญหา เพื่อให้ผู้ต้องหาได้รับสิทธิโดยเสมอภาคกัน ผู้ต้องหาคดี 112 ก็ควรจะได้รับสิทธิแบบเดียวกันกับกลุ่มแกนนำ กปปส. ที่ได้รับการประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์ แล้วก็ควรจะมีสิทธิในการต่อสู้คดี แสวงหาพยานหลักฐานทุกอย่างเท่ากันหมด
อาจารย์เห็นว่าไม่ควรยกเลิก (มาตรา 112) แต่ควรแก้ไขโดยกำหนดการกล่าวโทษให้อยู่ใน วิ.อาญาฯ ในเรื่องของผู้ร้องทุกข์ กำหนดตัวคนเลย ไม่ใช่สะเปะสะปะไปหมด ให้ใครก็ได้ไปร้องทุกข์ เพราะงั้นต้องกำหนดตัวผู้กล่าวโทษให้ชัดเจน
อ.สมลักษณ์
อ.สมลักษณ์: อาจารย์จะพูดถึงเรื่องที่แกนนำขอให้ยกเลิก 112 นะคะ อาจารย์เห็นว่าไม่ควรยกเลิก แต่ควรแก้ไขโดยกำหนดการกล่าวโทษให้อยู่ใน วิ.อาญาฯ ในเรื่องของผู้ร้องทุกข์ กำหนดตัวคนเลย ไม่ใช่สะเปะสะปะไปหมด ให้ใครก็ได้ไปร้องทุกข์ เพราะงั้นต้องกำหนดตัวผู้กล่าวโทษให้ชัดเจน
อีกข้อหนึ่งก็คือ เพิ่มบทบัญญัติให้จำเลยต่อสู้คดีโดยใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 และ 330 สู้คดีได้ (เรื่องการแสดงความเห็นติชมโดยสุจริต ไม่ถือว่าเป็นความผิดหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา) คือมาตรา 112 จำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีได้เลย ต้องใช้มาตรา 329 และ 330 แล้วก็ไม่กำหนดโทษขั้นต่ำของมาตรา 112 เหลือโทษสูงสุดไม่เกิน 5 ปี
อย่างนี้ ศาลจะได้ใช้ดุลยพินิจให้ความเป็นธรรมแก่จำเลยได้ เป็นต้นว่าจะให้ขังอยู่เดือนหนึ่งก็ได้ เพราะมันไม่เกิน 5 ปี หรือมีบทบัญญัติให้ลงโทษผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ลงโทษคนที่สะเปะสะปะแล้วไปกล่าวหา โดยเฉพาะนักการเมือง แล้วผู้ฟ้องคดีที่เป็นลักษณะการกลั่นแกล้งใส่ร้ายจำเลยหรือผู้ถูกกล่าวหา ในที่สุดศาลพิพากษายกฟ้อง ให้มีบทบัญญัติกำหนดโทษที่กระทำการอย่างนี้ ให้ต้องรับโทษถึงจำคุก
แล้วก็ข้อต่อไปคือ คดีมาตรา 112 ถ้าโจทก์เป็นอัยการ ศาลไม่ต้องไต่สวนการส่งฟ้อง อันนี้อยากให้แก้ ถึงแม้อัยการจะเป็นโจทก์ฟ้องคดี 112 ก็ให้ศาลไต่สวนฟ้อง ถ้าเห็นเป็นเรื่องการกลั่นแกล้งกัน ศาลจะได้ไม่ประทับฟ้อง แล้วให้จำเลยฟ้องผู้กล่าวหาหรือโจทก์ได้ในทันที ภายในระยะเวลาที่กำหนด เพราะงั้นมันจะตัดปัญหาในเรื่องที่ใครก็ไม่รู้ไปกล่าวโทษเขา แล้วเขาต้องต่อสู้ตรงนี้ลำบาก แล้วก็ข้อหานี้โทษสูง เพราะงั้นอย่ามีโทษขั้นต่ำเลย ศาลจะได้ใช้ดุลยพินิจนั้นตามที่เขากระทำ เช่นถ้าเขาทำความผิดจริง ท่านไปบอก 3 ปีนี้ แล้วศาลลงโทษต่ำกว่า 3 ปี ไม่ได้เลย เปลี่ยนใหม่เป็นว่าลงโทษไม่เกิน 5 ปี ศาลก็ลงโทษแค่ 1 เดือน ก็ได้ อาจารย์อยากเสนอให้แก้ไขแต่ไม่จำเป็นต้องไปเป็นยกเลิกมาตรา 112 ค่ะ
.