ทนายความ ‘ไผ่’ จตุภัทร์ ยื่นอุทธรณ์ถึงศาลอุทธรณ์ภาค 4 ค้านคำสั่งไม่ให้ประกันของศาลจังหวัดขอนแก่น และขอให้ปล่อยตัวชั่วคราว หลังศาลขอนแก่นปฏิเสธมาแล้ว 6 ครั้ง แม้มีเหตุให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ทนายชี้ การสอบสวนสิ้นสุดแล้ว จำเลยมีนายประกันและหลักประกันน่าเชื่อถือ จำเลยในข้อหานี้และข้อหาร้ายแรงอื่นๆ ก็ได้ประกันมาแล้ว ขณะแคมเปญรณรงค์ที่ change.org เรียกร้องให้ ศาล: คืนสิทธิประกันตัวให้กับ “ไผ่ ดาวดิน” มีผู้ร่วมลงชื่อแล้วกว่า 5,000 คน
27 ก.พ.60 ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น ทนายความเข้ายื่นอุทธรณ์ถึงศาลอุทธรณ์ภาค 4 คัดค้านคำสั่งศาลจังหวัดขอนแก่นลงวันที่ 22 ก.พ.60 ที่ไม่อนุญาตให้ประกันตัว ‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน และขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จำเลยในคดีหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีแชร์ข่าว “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” จากเว็บข่าว BBC Thai โดยอุทธรณ์ดังกล่าวขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลจังหวัดขอนแก่น และอนุญาตให้จำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี
ต่อมา ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ดังกล่าวเพื่อส่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ ทนายความของจตุภัทร์ตัดสินใจยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวในครั้งนี้ เนื่องจากเคยยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่นขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวจตุภัทร์ในระหว่างสอบสวนมาแล้ว 5 ครั้ง หลังจากถูกถอนประกัน และขอให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณา หลังอัยการฟ้องคดีแล้วอีก 1 ครั้ง รวมเป็น 6 ครั้ง ซึ่งศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งไม่อนุญาตทุกครั้ง ดังมีรายละเอียดโดยสรุปดังนี้
ครั้งที่ 1 วันที่ 22 ธ.ค.59 หลังทราบว่าศาลถอนประกัน ทนายความได้ยื่นประกันตัวใหม่ทันทีในวันเดียวกัน โดยวางเงินสด 4 แสนบาท และให้เหตุผลว่า จตุภัทร์ต้องเตรียมตัวเพื่อสอบวิชาสุดท้ายเพื่อจบปริญญาตรีในวันที่ 17-18 ม.ค. 60 แต่ศาลไม่อนุญาต เนื่องจาก ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
ครั้งที่ 2 วันที่ 29 ธ.ค. 59 หลังศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งยืนตามศาลจังหวัดขอนแก่นให้ถอนประกัน และศาลจังหวัดขอนแก่นอนุญาตให้ฝากขังจตุภัทร์ครั้งที่ 3 ทนายความได้ยื่นประกันอีกครั้ง โดยยืนยันเหตุจำเป็นที่จตุภัทร์ต้องเตรียมตัวเพื่อสอบ และจตุภัทร์ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี หรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน การควบคุมตัวไว้จะกระทบสิทธิและส่งผลต่ออนาคตทางการศึกษาของผู้ต้องหาอย่างร้ายแรง ศาลยังคงไม่ให้ประกัน ระบุว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เคยมีคำสั่งไม่อนุญาต ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
ครั้งที่ 3 วันที่ 6 ม.ค.60 ทนายความยื่นประกันโดยเพิ่มเงินเป็น 5 แสนบาท พร้อมระบุให้ศาลกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยชั่วคราว โดยผู้ต้องหาจะปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อจะไม่ก่อความเสียหาย หรือกระทบต่อการสอบสวน หลังฟังคำสั่งศาลฎีกาที่ไม่รับฎีกาค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 อีกทั้งศาลจังหวัดขอนแก่นให้ฝากขังครั้งที่ 4 อย่างไรก็ตาม ศาลยังคงไม่ปล่อยชั่วคราว เนื่องจากไม่ปรากฏเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมของศาลอุทธรณ์ภาค 4
ครั้งที่ 4 วันที่ 13 ม.ค. 60 ทนายความยื่นประกัน พร้อมทั้งตั้งค่าเฟซบุ๊กของจตุภัทร์ที่แชร์ข่าวและโพสต์ข้อความที่เป็นคดีให้เป็นส่วนตัวไม่ให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ชั่วคราว อีกทั้งยืนยันความจำเป็นที่ต้องไปสอบในไม่กี่วันถัดไป แต่ศาลยังคงไม่อนุญาตเช่นที่ผ่านมา
ครั้งที่ 5 วันที่ 1 ก.พ.60 หลังจากศาลอนุญาตให้ฝากขังครั้งที่ 6 อีก 10 วัน และจากเหตุการณ์ในที่แม่ของจตุภัทร์เรียกร้องความเป็นธรรมให้ลูกโดยกระแทกศีรษะกับผนังคอนกรีตของห้องพิจารณาคดี ทนายความจึงตัดสินใจยื่นคำร้องขอประกันตัวอีกครั้ง ชี้แจงว่า การสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว ผู้ต้องหาจึงไม่สามารถไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน อีกทั้งผู้ต้องหาต้องไปรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อต่อสู้คดีจากการแสดงความเห็นอีก 2 คดี ศาลยังยืนยันว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
ล่าสุด วันที่ 22 ก.พ.60 ทนายได้ยื่นประกันโดยเพิ่มเงินสดเป็น 700,000 บาท และเพิ่มนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักเขียนและนักวิชาการอิสระที่ได้รับความเชื่อถือเป็นนายประกันร่วมกับบิดาจตุภัทร์ พร้อมทั้งมีนักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนและอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน รวม 3 คน ทำหนังสือรับรอง โดยก่อนหน้านี้ อัยการจังหวัดขอนแก่นได้ส่งฟ้องคดีนี้แล้ว จึงเป็นการขอประกันตัวในระหว่างพิจารณา เช่นเดิม ศาลขอนแก่นยืนยันว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง
การปฏิเสธที่จะให้ประกันตัวของศาลจังหวัดขอนแก่นตลอดมา ทำให้จตุภัทร์ถูกขังมาเป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้ว โดยประชาชนกลุ่มต่างๆ เห็นว่า จตุภัทร์ไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ไม่ว่าจะพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 107 ซึ่งกำหนดว่า “ผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว” หรือตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งในข้อ 9 (3) บัญญัติให้ “ผู้ถูกจับกุมหรือควบคุมในข้อหาทางอาญาได้รับการปล่อยตัวไป มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดีฯ” หรือแม้แต่ “สิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด” ตามกติการะหว่างประเทศฯ ข้อ 14 (2) ซึ่งเท่ากับต้องปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดไว้ก่อน
ทำให้มีผู้เปิดแคมเปญรณรงค์ที่ change.org เรียกร้องให้ ศาล: คืนสิทธิประกันตัวให้กับ “ไผ่ ดาวดิน” โดยให้คนทั่วไปมาร่วมลงชื่อ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ลงชื่อแล้วกว่า 5,000 คน รวมทั้งมีประชาชนกลุ่มอื่นๆ นักกฎหมาย ตลอดจนองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งภายในประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ ฮิวแมนไรท์วอทช์ ฯลฯ เผยแพร่ความเห็นหรือแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องให้คืนสิทธิประกันตัวแก่จตุภัทร์ ตลอดจนประชาชนคนอื่นๆ ในสังคมไทย ที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมเช่นกัน (อ่านรายละเอียดที่นี่)
ทั้งนี้ ในอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งไม่ให้ประกันจตุภัทร์ของศาลจังหวัดขอนแก่น ที่ทนายยื่นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ระบุเหตุผลโดยสรุป ดังนี้
- ที่ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งว่าไม่มีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปนั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากขณะนี้กระบวนการสอบสวนสิ้นสุดแล้ว อีกทั้งคำสั่งถอนประกันของศาลจังหวัดขอนแก่นที่ว่าการกระทำของจำเลยได้ก่อให้เกิดความเสียหายหรืออุปสรรคในการสอบสวนนั้น ก็ไม่ปรากฏว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นแต่อย่างใด นอกจากนี้ เหตุในการที่โจทก์คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยนั้น ไม่ได้ระบุว่า เกรงว่าจำเลยจะไปก่อความเสียหายหรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น ดังนั้น คำสั่งถอนประกัน และคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวนของศาลชั้นต้น จึงไม่อาจนำมาใช้เป็นเหตุสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพิจารณานี้ได้อีก หากศาลอุทธรณ์ภาค 4 ปล่อยให้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวด้วยเหตุผลของศาลชั้นต้นเช่นนี้ เท่ากับเป็นการตัดสินลงโทษจำเลยล่วงหน้าสำหรับการกระทำที่ถือว่าเป็นการเย้ยหยันอำนาจรัฐ ทั้งที่ไม่มีกฎหมายกำหนดว่าเป็นความผิด
- ในการขอปล่อยตัวชั่วคราวครั้งนี้ เป็นครั้งแรกนับแต่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลย กรณีจึงมีเหตุเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากจำเลยต้องรวบรวมพยานหลักฐาน หารือทนายความ เพื่อต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ อีกทั้งพยานหลักฐานทั้งหมดอยู่กับโจทก์ครบถ้วนแล้ว ประกอบกับคดีนี้ทั้งพยานบุคคลเป็นเจ้าหน้าที่รัฐและหลักฐานก็เป็นหลักฐานทางเทคโนโลยี ซึ่งจำเลยไม่สามารถไปยุ่งเหยิงหรือมีอิทธิพลเหนือพยานหลักฐานของโจทก์ได้อย่างแน่นอน นอกจากนี้ จำเลยยังถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับความมั่นคง อันเนื่องจากแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตอีก 2 คดี ที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 และที่ศาลจังหวัดภูเขียว ซึ่งศาลทั้งสองได้มีหนังสือแจ้งวันนัดสืบพยานมายังศาลนี้เพื่อขอเบิกตัวจำเลยไปตามวันนัดแล้ว แต่ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งว่าให้ดำเนินคดีนี้เสร็จสิ้นก่อน ซึ่งหากจำเลยถูกควบคุมตัวอยู่ในคดีนี้ก็จะไม่มีโอกาสไปดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อต่อสู้คดีทั้งสองดังกล่าวรวมทั้งคดีนี้ได้ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสิทธิของจำเลยในการต่อสู้คดีทั้งหมดแล้ว ยังทำให้การพิจารณาคดีอีกสองคดีดังกล่าวต้องล่าช้าออกไป ส่งผลร้ายต่อจำเลยอื่นในคดีดังกล่าวด้วย
- ศาลจังหวัดขอนแก่นได้อนุญาตปล่อยชั่วคราวครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.59 โดยพิจารณาแล้วว่าจำเลยจะไม่หลบหนี ภายหลังได้รับการปล่อยชั่วคราวจำเลยก็ไม่ได้หลบหนี และในการขอปล่อยตัวชั่วคราวครั้งนี้ จำเลยมีนายประกันและหลักทรัพย์ประกันเพิ่มขึ้น ซึ่งน่าเชื่อถือว่าจำเลยจะไม่หลบหนี
- คำสั่งของศาลชั้นต้นกระทบกระเทือนถึงหลักการของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งมุ่งจะให้โอกาสจำเลยในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ และหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิด คดีนี้แม้จะเป็นคดีที่เป็นข้อกล่าวหาร้ายแรง แต่พฤติการณ์ของจำเลยไม่ได้ร้ายแรง จำเลยเพียงแชร์ข่าวจากเว็บไซต์ข่าวบีบีซีไทย ซึ่งเป็นสำนักข่าวที่มีชื่อเสียงและน่าเชื่อถือ อีกทั้งมีบุคคลอื่นๆ ได้แชร์ข่าวดังกล่าวไปประมาณ 2,800 ครั้ง จำเลยไม่ได้คิดและเขียนข้อความขึ้นด้วยตนเอง และไม่ได้แสดงความคิดเห็นอันเป็นการแสดงออกว่า ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ฯ แต่อย่างใด ซึ่งหากอาศัยเพียงข้อหาความมั่นคงอันเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์มาเป็นเหตุไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย คงไม่เป็นธรรม เนื่องจากจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ จำเลยในคดีอื่นซึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหาเดียวกันนี้หรือในข้อหาร้ายแรงอื่นๆ ก็ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้ ทั้งคดีนี้ศาลก็ได้เคยปล่อยชั่วคราวจำเลยในชั้นฝากขังมาก่อนแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สำรวจกระแส ปล่อย ‘ไผ่’ สะท้อนการดำเนินคดี ถอนประกัน และไม่ให้ประกันที่ไม่เป็นธรรม
45 วัน คดีไผ่ ดาวดิน แชร์ข่าวบีบีซีไทย