สำรวจกระแส ปล่อย ‘ไผ่’ สะท้อนการดำเนินคดี ถอนประกัน และไม่ให้ประกันที่ไม่เป็นธรรม

สำรวจกระแส ปล่อย ‘ไผ่’ สะท้อนการดำเนินคดี ถอนประกัน และไม่ให้ประกันที่ไม่เป็นธรรม

ไผ่2

ตลอดการดำเนิคดีของ ‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งทำกิจกรรมชาวบ้านและเรียกร้องประชาธิปไตยในนามกลุ่มนักศึกษาดาวดิน และขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) อีสาน ในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จากการแชร์ข่าวพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากสำนักข่าวบีบีซีไทย และคัดลอกข้อความบางตอนมาโพสต์ในเฟซบุ๊กของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการจับกุมดำเนินคดี การถอนประกัน การอนุญาตให้ขังไว้ในระหว่างสอบสวนตามที่พนักงานสอบสวนร้องขอ การไม่อนุญาตให้ประกันครั้งแล้วครั้งเล่า แม้มีเหตุจำเป็นเรื่องการสอบ และการสั่งพิจารณาลับตั้งแต่ในชั้นฝากขัง (อ่านลำดับขั้นตอนในคดีและคำสั่งของศาลที่นี่) นำมาซึ่งกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อรัฐบาลและกระบวนยุติธรรมอย่างกว้างขวาง

สิ่งที่มาพร้อมกับกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ คือความกังวลของนักกฎหมาย ประชาชน ตลอดจนองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งภายในประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ ต่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ และบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักกฎหมาย และไม่ยึดโยงกับหลักสิทธิมนุษยชน

กลุ่มและองค์กรเหล่านั้นต่างเผยแพร่ความเห็นหรือแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่หายไป ด้วยเหตุที่หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ไม่เพียงแต่ไผ่เท่านั้น ที่ไม่ได้รับการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม แต่ประชาชนทั่วไปคนอื่น ๆ โดยเฉพาะคนที่แสดงออกไปในทางที่เห็นต่างจากรัฐ ก็มีแนวโน้มที่จะต้องเผชิญกับกระบวนการที่ไม่เป็นธรรมเช่นเดียวกัน  รายงานชิ้นนี้จึงรวบรวมความเห็นและแถลงการณ์เหล่านั้นมาพอสังเขป เพื่อให้เห็นข้อกังวลและข้อเรียกร้องของสังคมที่มีต่อรัฐบาล คสช. และกระบวนการยุติธรรมในเวลานี้

นักกฎหมาย-นักวิชาการชี้ ถอนประกัน ไม่เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย กระทบเสรีภาพประชาชน

หลังศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งถอนประกันจตุภัทร์ และศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งยืนตามคำสั่งถอนประกันของศาลจังหวัดขอนแก่น วันที่ 27 ธ.ค. 59 เว็บไซต์ประชาไท ได้เผยแพร่ความเห็นของ สาวตรี สุขศรี อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อกรณีการถอนประกันดังกล่าว

สาวตรีกล่าวว่า  “การเย้ยหยันอำนาจรัฐ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ไม่ได้เข้าข่ายหรือถูกกำหนดว่าเป็นความผิดตามกฎหมายใดๆ ย่อมไม่อยู่ในเหตุผลที่ศาลจะเพิกถอนการประกันตัวได้ แม้แต่จะใช้เหตุผลนี้เพื่อกำหนดเป็น “เงื่อนไขการให้ประกันตัว” ศาลยังทำไม่ได้ (หรือไม่ควรทำได้) เนื่องจากมันไม่ได้เกี่ยวกับการป้องกันการหลบหนี การยุ่งเหยิงกับพยาน หรือการก่อเหตุอันตรายประการอื่นๆ ซึ่งเป็นเหตุผลในการไม่ให้ประกันตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 การลบโพสต์ก็ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขเช่นกัน ดังนั้น การขอถอนประกันของตำรวจ รวมทั้งการอนุญาตตามคำขอโดยศาลด้วยเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม และทั้งไม่เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย

การกระทำเช่นนี้ย่อมกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินกว่าเหตุ ทั้งเสรีภาพในชีวิตร่างกายและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ในฐานะนักกฎหมาย สาวตรีเห็นว่า เหตุการณ์นี้ไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการยุติธรรมไทย ทำให้ประชาชนยิ่งหมดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมลงไปอีก เพราะผู้บังคับใช้กฎหมายไม่ได้นำพาหรือใส่ใจต่อหลักการของกฎหมายเลย ทั้งเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว ไม่กล้าแสดงความเห็น ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ

วันต่อมา (28 ธ.ค.59) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้เผยแพร่บทความ ‘การเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวไผ่ ดาวดิน : บทสะท้อนปัญหาการปล่อยตัวชั่วคราว และการปิดกั้นการตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรม’ ระบุว่า กรณีของไผ่ซึ่งถูกถอนประกันจากการไม่ลบโพสต์ที่แชร์ข่าวบีบีซีไทย และจากการโพสต์ข้อความที่เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ ภายใต้กรอบของหลักการสิทธิมนุษยชนที่พึงกระทำได้ แม้ศาลจะอ้างว่า พฤติการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหาย ก็น่าจะเป็นการเชื่อมโยงที่ไกลเกินความจริงมากนั้น สะท้อนให้เห็นปัญหาของกระบวนการยุติธรรมไทยในเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราว ที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักการที่ถูกต้อง กล่าวคือ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพิจารณาถึงเหตุที่จะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปจะก่อเหตุร้ายประการอื่น แต่มักอ้างเรื่องฃองคดีร้ายแรงบ้าง โทษหนักบ้าง มาเป็นเหตุเชื่อมโยง และตีขุมเอาว่าจะทำให้เกิดการหลบหนี ฯลฯ โดยไม่ได้พิจารณาข้อเท็จจริงอื่น ๆ ประกอบ

ด้วยเหตุนี้ กระบวนการยุติธรรมไทยจึงเน้นควบคุมตัวบุคคลไว้ระหว่างดำเนินคดีมากกว่าที่จะปล่อยตัวชั่วคราว หรือปล่อยตัวชั่วคราวด้วยหลักประกันในจำนวนที่สูง ซึ่งละเมิดหลักการสิทธิมนุษยชนที่ถูกรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และจะเป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชน โดยเฉพาะสามัญชนคนยากจน

วันเดียวกัน เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ทบทวนการพิจารณาเพิกถอนการปล่อยชั่วคราว ‘ไผ่ ดาวดิน’ เนื่องจาก ‘ไผ่’ ไม่ได้ฝ่าฝืนเงื่อนไขที่ศาลกำหนดในการปล่อยตัวชั่วคราว อีกทั้งการโพสต์รูปภาพหรือข้อความบนเฟซบุ๊คภายหลังการปล่อยชั่วคราวก็เป็นการแสดงออกที่สามารถทำได้ตามกฎหมาย

นอกจากนี้ ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าการกระทำของจตุภัทร์ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ คนส. มีความเห็นว่า ในภาวะที่การบังคับใช้กฎหมายมีทิศทางที่จะเป็นเครื่องมือในการปิดกั้นความคิดเห็นที่แตกต่าง จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม องค์กรตุลาการพึงปฏิบัติหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในฐานะคุณค่าที่ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญและได้รับการรับรองโดยกติการะหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศไทย

ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะควบคุมตัว เรียกร้องคืนสิทธิประกันตัวแก่ ‘ไผ่’ และสังคมไทย

กระแสวิพากษ์วิจารณ์การถอนประกันจตุภัทร์ในหมู่นักกฎหมายยังคงเป็นไปอย่างกว้างขวาง เนื่องจากหลังถูกถอนประกัน ทนายความและครอบครัวของจตุภัทร์ได้ยื่นประกันอีกหลายครั้ง แต่ศาลยังคงไม่อนุญาตให้ประกัน ทำให้จตุภัทร์ถูกขังเรื่อยมา 13 ม.ค. 2560 คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้เผยแพร่แถลงการณ์ เรื่อง คืนสิทธิประกันตัวตามกฎหมายแก่ไผ่ ดาวดินและสังคมไทย แสดงความเห็นว่า คำสั่งถอนประกันจตุภัทร์ ของศาลจังหวัดขอนแก่นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงเหตุผลทางกฎหมายและพยานหลักฐานที่หนักแน่นเพียงพอ ในการควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ภายใต้อำนาจรัฐ เนื่องจากการไม่ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาออกจากเฟซบุ๊ก ไม่อาจอ้างเป็นเหตุในการถอนประกันได้ เพราะศาลไม่ได้กำหนดในเงื่อนไขในการให้ประกัน,  การแสดงออกในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงเย้ยหยันอำนาจรัฐก็ไม่อาจอ้างเป็นเหตุผลในการถอนประกันได้ เพราะรัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และไม่มีกฎหมายฉบับใดบัญญัติห้ามไว้

อีกทั้งการกล่าวอ้างว่า การกระทำดังกล่าวของจตุภัทร์ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติก็ไม่มีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนัก เช่นนี้แล้ว ตามหลักการพื้นฐานในรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศที่สันนิษฐานว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ตราบเท่าที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเขากระทำความผิด เขาย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

อาจารย์นิติฯ มช. จึงเห็นว่า การพิจารณาคืนสิทธิประกันตัวให้เป็นไปตามหลักการและบทบัญญัติของกฎหมายให้กับนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา จะเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าสถาบันและระบบกฎหมายของไทยยังคงยืนหยัดอยู่บนหลักการที่ให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมของระบบกฎหมาย

แม้ความจำเป็นที่จตุภัทร์จะต้องสอบวิชาสุดท้ายเพื่อจบปริญญาตรีในวันที่ 17-18 ม.ค. 2560 จะเป็นเหตุที่ครอบครัวและทนายความใช้ในการคัดค้านการขังในระหว่างสอบสวน และยื่นประกันให้ศาลปล่อยชั่วคราว แต่ศาลจังหวัดขอนแก่นยังคงยืนยันให้ขังจตุภัทร์ต่อไป  วันที่ 15 ม.ค. 2560 ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จึงได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง คืนสิทธิในการได้รับประกันตัวแก่นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ชี้ว่า คำสั่งถอนประกันของศาลขัดต่อกฎหมายว่าด้วยสิทธิในการได้รับประกันตัว ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอย่างชัดแจ้ง คำสั่งดังกล่าวและคำสั่งไม่ให้ประกันตัวนายจตุภัทร์หลังจากนั้นเป็นต้นมาส่งผลกระทบต่อทั้งชีวิตของจตุภัทร์ ซึ่งจะไม่สามารถเข้าสอบวิชาสุดท้าย และกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย เนื่องจากความเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยตกต่ำลงจากการที่ตุลาการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ขบวนการประชาธิปไตยใหม่จึงขอเรียกร้องให้ศาลจังหวัดขอนแก่นคืนสิทธิในการได้รับอิสรภาพแก่นายจตุภัทร์ เพื่อให้นายจตุภัทร์ได้มีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม ได้ดำเนินชีวิตอย่างที่เขาสมควรจะกระทำได้ต่อไป และเพื่อไม่ให้กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยต้องตกต่ำไปมากกว่านี้

ก่อนหน้าวันสอบตามกำหนดของจตุภัทร์ 1 วัน กลุ่มนักกฎหมาย ทนายความ และนักสิทธิมนุษยชน ก็ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ คืนสิทธิปล่อยตัวระหว่างดำเนินคดีแก่นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา โดยทันที เนื่องจากการควบคุมตัวไว้ไม่ชอบด้วยเหตุผลตามหลักการทางกฎหมายและสิทธิมนุษยชน  พร้อมทั้งชี้ว่า บทบาทตุลาการจำเป็นต้องดำรงหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในภาวะที่บ้านเมืองไม่ได้ปกครองในระบอบประชาธิปไตย

การควบคุมตัวจตุภัทร์ไว้ในระหว่างการดำเนินคดีกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ และก่อผลกระทบด้านการศึกษาและการประกอบวิชาชีพแก่ผู้ถูกควบคุมตัวอย่างร้ายแรง และส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อกระบวนยุติธรรมของสังคมโดยรวม โดยการเยียวยาภายหลังจากการพิจารณาคดีของศาลไม่อาจจะคุ้มครองสิทธิของประชาชนได้อย่างแท้จริง หากพิสูจน์ได้ว่าจตุภัทร์ไม่ใช่ผู้กระทำผิดตามกฎหมาย

นักวิชาการ-ประชาชน เรียกร้องผู้พิพากษา-ประธานศาลฎีกา ทบทวนการถอนประกัน คุ้มครองเสรีภาพประชาชน

กระแสการติติง และแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นไปตามหลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชน โดยภาคประชาสังคม ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่กลับไม่ส่งผลใดๆ  จตุภัทร์ไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวให้ออกไปสอบตามกำหนด ศาลปฏิเสธแม้แต่จะสั่งให้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวจตุภัทร์จากทัณฑสถานฯ ไปสอบที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นตามที่ทนายความยื่นคำร้อง และการขอฝากขังโดยพนักงานสอบสวนครั้งต่อมาในวันที่ 20 ม.ค. 2560 ศาลยังคงอนุญาตให้ขังจตุภัทร์ต่อไป  

30 ม.ค. 2560 เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) จึงส่งจดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกาและผู้พิพากษาทั่วประเทศ ชี้ถึงวิกฤติศรัทธาที่ประชาชนจำนวนมากมีต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย เนื่องจากมีการบังคับใช้และตีความกฎหมายต่อบุคคลและกลุ่มบุคคลอย่างไม่เสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่เคารพต่อหลักนิติรัฐ และสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะหลังการรัฐประหารเป็นต้นมา กฎหมายถูกใช้เพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่แสดงความเห็นแตกต่างจากผู้มีอำนาจ รวมถึงกรณีการถอนประกันนายจตุภัทร์ในครั้งนี้ ซึ่งสร้างความเคลือบแคลงสงสัยแก่สังคมว่า การพิจารณาดังกล่าวอาจไม่มีฐานทางกฎหมายรองรับ

นอกจากนี้ การที่ศาลไม่อนุญาตให้นายจตุภัทร์ได้ประกันตัวเพื่อออกไปสอบ ซึ่งอาจส่งผลต่อการสำเร็จการศึกษาและอนาคตของเยาวชนคนหนึ่ง แสดงให้เห็นว่า การพิจารณาของศาลขาดซึ่งเหตุผลด้านมนุษยธรรมพื้นฐาน คนส. และผู้มีรายชื่อแนบท้าย 352 รายชื่อ จึงเรียกร้องให้ศาลทบทวนการถอนประกันนายจตุภัทร์ เพื่อคืนสิทธิอันพึงมีให้กับนายจตุภัทร์ และฟื้นฟูความปกติให้กระบวนการยุติธรรมและหลักการพื้นฐานของนิติรัฐ และในระยะยาว บุคลากรในองค์กรตุลาการต้องพิจารณาหาแนวทางปฏิรูประบบยุติธรรมของไทย ให้ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในฐานะคุณค่าที่ได้รับการรับรองโดยกติการะหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศไทย และตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามหลักนิติรัฐและความยุติธรรม  

องค์กรสิทธิฯ ระหว่างประเทศกังวลรัฐบาลใช้กระบวนการยุติธรรมคุกคามการใช้เสรีภาพการแสดงออกอย่างสันติของ ‘ไผ่’ และฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร จี้รัฐปฏิบัติตามหลักการสิทธิมนุษยชน

  • แอมเนสตี้ชวนทั่วโลกเรียกร้องปล่อยตัว “ไผ่” ชี้ถูกคดีเพียงเพราะใช้เสรีภาพการแสดงออก

9 ม.ค. 2560 สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วนเชิญชวนผู้สนับสนุนที่มีอยู่มากกว่าเจ็ดล้านคนทั่วโลก ร่วมกันเขียนจดหมาย อีเมล แฟกซ์ และโทรศัพท์ ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติของไทย เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวและยกเลิกข้อกล่าวหาต่อจตุภัทร์ เนื่องจากจตุภัทร์ตกเป็นเป้าหมายโจมตีเพียงเพราะใช้เสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบ การรณรงค์ดังกล่าวมีไปถึงวันที่ 3 ก.พ. 2560

ต่อมา วันที่ 30 ม.ค. 2560 แอมเนสตี้ฯ ออกปฏิบัติการด่วนอีกครั้งเชิญชวนผู้สนับสนุนทั่วโลกส่งจดหมายถึงทางการไทย ย้ำให้ปล่อยตัว “ไผ่ ดาวดิน” หลังไม่ได้ประกันตัว 5 ครั้ง  โดยนอกจากจะเรียกร้องให้ปล่อยตัวจตุภัทร์ทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข และยุติการดำเนินคดีอาญาใด ๆ ต่อเขาแล้ว ยังเรียกร้องทางการให้ประกันว่า ระหว่างที่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว จตุภัทร์จะต้องไม่ถูกปฏิบัติในลักษณะที่เป็นการทรมาน โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี

  • สหประชาชาติกังวลการไต่สวนลับ เรียกร้องให้ทบทวนการคุมขังบุคคลในคดี 112 และให้ยุติการใช้ 112 ปิดกั้นการวิจารณ์

17 ม.ค. 2560 นายลอคอง ไมยอง รักษาการผู้แทนประจำภูมิภาค สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มีจดหมายตอบกลับกรณีศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการดำเนินคดีนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ในข้อหามาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ว่า

“สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ได้ติดตามกรณีของนายจตุภัทรอย่างใกล้ชิดตั้งแต่การจับกุมเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2559 ทั้งนี้ทางสำนักงานฯ ได้ส่งจดหมายไปยังปลัดกระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ และศาลจังหวัดขอนแก่น เพื่อแสดงความกังวลเกี่ยวกับการดำเนินคดีนายจตุภัทร์ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อันเนื่องมาจากการใช้สิทธิเสรีภาพของเขาในการคิดและการแสดงออกซึ่งแสดงความเห็น

นอกจากนี้ ยังได้แสดงความกังวลต่อบทบาทของเจ้าหน้าที่ทหารในระหว่างการสืบสวนสอบสวน รวมทั้งหยิบยกประเด็นเรื่องการออกคำสั่งเพิกถอนการประกันตัวอันอ้างอิงการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลซึ่งมิได้เป็นเงื่อนไขของคำสั่งให้ประกันตัวด้วย”

“สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนคดีของบุคคลทุกคน (รวมทั้งกรณีนายจตุภัทร์) ซึ่งถูกดำเนินคดีตามความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้รัฐบาลพิจารณาการควบคุมตัวบุคคล ให้เป็นไปตามหลักการเรื่องความเหมาะสม และความสมเหตุสมผล และสอดคล้องกับหลักการเรื่องการสันนิษฐานเบื้องต้นว่าผู้ต้องสงสัยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด รวมทั้งเรียกร้องให้นายจตุภัทร์เข้าสอบในวันที่ 17-18 มกราคม 2560”

ล่าสุด วันที่ 7 ก.พ. 2560 นาย เดวิด เคย์ ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ ด้านเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออก เรียกร้องให้ทางการไทยยุติการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องมือปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์

“บุคคลสาธารณะ รวมถึงผู้มีอำนาจทางการเมืองสูงสุดอาจจะตกเป็นเป้าในการวิพากษ์วิจารณ์ และแม้ว่าการแสดงออกบางรูปแบบอาจถูกพิจารณาว่าเป็นการหมิ่นประมาทบุคคลสาธารณะ แต่ไม่เพียงพอที่จะเป็นเหตุในการจำกัดการแสดงออกหรือลงโทษได้” ผู้รายงานพิเศษฯ เน้นย้ำ พร้อมกับแสดงความกังวลต่อการพิจารณาลับในคดี 112 ของจตุภัทร์ว่า “ข้าพเจ้าวิตกกังวลเมื่อมีรายงานที่พูดถึงการไต่สวนการประกันตัวของเขาแบบปิดลับ ซึ่งขัดต่อสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมและเปิดเผยต่อสาธารณะ

  • เครือข่ายนักวิชาการต่างประเทศห่วงการจับกุมคุมขัง ‘ไผ่’ จากการใช้เสรีภาพที่ได้รับการรับรอง

16 ม.ค. 2560 เครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยง (Scholars at Risk – SAR) สหรัฐอเมริกา ออกจดหมายเปิดผนึก แสดงความห่วงใยต่อการจับกุมและการจองจำจตุภัทร์โดยไม่ให้ประกันตัว จากการที่เขาใช้สิทธิเสรีภาพทางความคิดและการรวมกลุ่มกันอย่างสันติ ซึ่งเป็นการกระทำที่ได้รับการปกป้องภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ  พร้อมทั้งชักชวนสมาชิกในเครือข่ายส่งจดหมายถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องในรัฐบาลและกระบวนการยุติธรรมไทย เรียกร้องให้อนุญาตให้ประกันตัวจตุภัทร์ในการฝากขังผัดต่อไปในวันที่ 20 ม.ค.60 และยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมด ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออก การรวมกลุ่ม และเสรีภาพทางวิชาการ แต่หากมีการดำเนินคดี ขอให้รับรองว่า การดำเนินการทั้งหลายจะสอดคล้องกับพันธกรณีที่ประเทศไทยมีต่อกฎหมายระหว่างประเทศ

ต่อมา วันที่ 25 ม.ค. และ 1 ก.พ. 2560 SAR ออกจดหมายเปิดผนึกอีก แสดงความกังวลที่จตุภัทร์ยังคงถูกคุมขัง โดยการที่ศาลอนุญาตให้ฝากขังต่อไป และปฏิเสธที่จะให้ประกันตัว SAR ยังคงรณรงค์ให้สมาชิกส่งจดหมายเรียกร้องให้จตุภัทร์ได้รับการประกันตัว

  • กลุ่มคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯ ประณามการใช้กระบวนการยุติธรรมคุมคาม ‘ไผ่

17 ม.ค. 2560 กลุ่มสังเกตการณ์เพื่อการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (OPHRD) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และองค์กรต่อต้านการทรมานโลก (OMCT) ออกปฏิบัติการด่วน เชิญชวนสมาชิกส่งจดหมายถึงทางการไทย เรียกร้องให้รับประกันสวัสดิภาพของจตุภัทร์ และนักปกป้องสิทธิคนอื่น ๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งให้ปล่อยตัวจตุภัทร์ในทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข โดย OPHRD ได้ประนามการควบคุมตัวโดยมิชอบ และการใช้กระบวนการยุติธรรมในการคุกคามจตุภัทร์ ซึ่งดูเหมือนมีเป้าหมายเพียงเพื่อจำกัดการทำกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนของจตุภัทร์

ปฏิบัติการดังกล่าวมีขึ้นหลังศาลจังหวัดขอนแก่นไม่อนุญาตให้ประกันตัวจตุภัทร์เป็นครั้งที่ 4  และไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควบคุมตัวจตุภัทร์ไปสอบวิชาสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นตามที่ทนายความร้องขอ

  • ฮิวแมนไรท์วอทช์ชี้ การดำเนินคดีและไม่ให้ประกัน ‘ไผ่’ ละเมิดกติการะหว่างประเทศ

22 ม.ค. 2560 ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลทหารไทยให้ปล่อยตัวจตุภัทร์โดยทันที โดย แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการประจำภาคพื้นเอเชีย กล่าวว่า การตั้งข้อหานายจตุภัทร์ ซึ่งเป็นนักกิจกรรมที่เรียกร้องประชาธิปไตยแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลจากการรัฐประหารของไทยใช้กฎหมายหมิ่นฯ เพื่อเล่นงานผู้ที่ต่อต้าน

แถลงการณ์ของฮิวแมนไรท์วอทช์ยังระบุว่า ภายใต้รัฐบาลจากการรัฐประหาร มีประชาชนอย่างน้อย 68 คน ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายหมิ่นฯ คนเหล่านั้นส่วนใหญ่เพียงแค่เขียนหรือแชร์ความเห็นลงบนสื่อสังคมออนไลน์ บางคนถูกตัดสินจำคุกนับ 10 ปี

การดำเนินคดีดังกล่าวเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งได้รับการคุ้มครองภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคี และการไม่ให้ประกันตัวในคดี 112 ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำ ยังเป็นการละเมิดกติการะหว่างประเทศดังกล่าวที่บัญญัติไว้ว่า  มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องคุมขังบุคคลที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดี

“ความอยุติธรรมที่ชัดเจนในคดีหมิ่นฯ ของจตุภัทร์ ยิ่งไม่เป็นธรรมมากขึ้นเพราะการขังอย่างยืดเยื้อก่อนการพิจารณาคดี” อดัมส์กล่าว “ควรยกเลิกข้อกล่าวหาต่อเขาโดยทันที ไม่ใช่ลงโทษเขา ทั้งที่การพิจารณาคดีในศาลยังไม่เริ่มขึ้น”

อย่างไรก็ตาม แม้มีกระแสการเรียกร้องให้ทบทวนการถอนประกัน และปล่อย ‘ไผ่’ อย่างกว้างขวางทั้งในประเทศ และจากต่างประเทศ แต่ล่าสุด วันที่ 1 ก.พ.60 ศาลจังหวัดขอนแก่นก็ยังคงอนุญาตให้ขังจตุภัทร์ต่ออีก 10 วัน แม้ไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ระหว่างการสอบสวน เนื่องจากขั้นตอนการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว และยังคงปฏิเสธที่จะให้ประกันตัวเช่นเดิม ทำให้จตุภัทร์ ซึ่งจนถึงวันที่ 1 ก.พ.นี้ ถูกขังมาแล้ว 42 วัน จะถูกขังในระหว่างสอบสวนต่อไปจนถึงวันที่ 11 ก.พ.60 หลังจากนั้น พนักงานสอบสวน หรืออัยการจะขอฝากครั้งได้อีก 14 วัน หากอัยการส่งฟ้องต่อศาล ศาลจะออกหมายขังไว้ในระหว่างพิจารณาคดี จนกว่าจะพิจารณาคดีเสร็จ แต่หากอัยการยังไม่สามารถส่งฟ้องต่อศาลได้ ต้องปล่อยตัวไป โดยไม่ต้องประกัน

X