กระบวนการยุติธรรมกับการจำกัดเสรีภาพ ‘ไผ่ ดาวดิน’: ประมวลคดี 112 ‘ไผ่’ ก่อนถึงวันสิ้นปี 59

ก่อนสิ้นปี 59 กระบวนการยุติธรรมในคดีที่นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ‘ไผ่ ดาวดิน’ ตกเป็นผู้ต้องหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีแชร์ข่าวพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์ข่าว BBC ไทย มีขั้นตอนต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย นับตั้งแต่ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งถอนประกัน แต่ผู้ต้องหาไม่เห็นพ้อง จึงยื่นอุทธรณ์ และฎีกาคำสั่งถอนประกัน จนกระทั่งต้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาของศาลจังหวัดขอนแก่นต่อศาลฎีกาในวันทำการสุดท้ายของศาล

ตลอดจนกระบวนการฝากขัง  ซึ่งทนายผู้ต้องหาต้องยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ และการยื่นขอประกันตัวใหม่อีก 2 ครั้ง หลังการถอนประกัน ซึ่งศาลยกคำร้องทั้งหมด เป็นผลให้จตุภัทร์ถูกคุมขังอยู่ในทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นในช่วงวันหยุดยาวปีใหม่

pai2

ภาพจากเฟซบุ๊ก “Pai Jatupat

หากพิจารณากระบวนการที่เกิดขึ้นทั้งหมด อาจเห็นได้ว่า ขณะที่ฝ่ายผู้ต้องหาต้องการต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม และอิสรภาพตามสิทธิขั้นพื้นฐาน เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมกลับต้องการจำกัดเสรีภาพ ตลอดจนอิสรภาพไว้ในความควบคุมของรัฐ โดยไม่คำนึงถึงกระบวนการที่ถูกต้องชอบธรรม ตามหลักกฎหมายเท่าที่ควรจะเป็น ซึ่งขัดกับหน้าที่ของรัฐและกระบวนการยุติธรรมที่ต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยให้สัตยาบันไว้

รายงานนี้จึงขอประมวลคดีดังกล่าว รวมทั้งความเห็นทางกฎหมายในแต่ละขั้นตอนในช่วงเวลาก่อนสิ้นปี 2559 ก่อนที่กระบวนการแสวงหาความยุติธรรมของจตุภัทร์และทีมทนายความจะดำเนินต่อไปในปีใหม่ 2560 จนกว่าจะบรรลุซึ่งเป้าหมายคือ อิสรภาพและความเป็นธรรม

(กดที่หมายเลขข้อเพื่ออ่านรายละเอียดในแต่ละขั้นตอน)

[1] เหตุแห่งคดี: แชร์ลิงค์ข่าวและคัดลอกบางส่วนมาโพสต์
[2] สอบสวนนอกสถานีตำรวจและสิทธิของผู้ต้องหาที่อยู่แค่ในหน้ากระดาษ

[3] ให้ประกัน และถอนประกันในไม่กี่วัน ด้วยเหตุผลที่คลุมเครือ จำกัดเสรีภาพผู้ต้องหา

[4] ‘ไผ่’ อุทธรณ์คำสั่งถอนประกัน ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยืนตามคำสั่งศาลขอนแก่น

[5] ฎีกาต่อ ขอศาลฎีกายกเลิกคำสั่งถอนประกัน ศาลขอนแก่นไม่รับฎีกา

[6] อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาในทันควัน ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 224

[7] ยื่นประกันใหม่ ศาลขอนแก่นไม่อนุญาต ชี้ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง

[8] ฝากขังครั้งที่ 3 ทนายร้องกระบวนการขอฝากขังไม่ชอบด้วยกฎหมาย

[9] ยื่นประกันครั้งที่ 3 ศาลขอนแก่นไม่อนุญาตเช่นเคย ชี้คำสั่งศาลอุทธรณ์ชัดเจนแล้ว

 

[1] เหตุแห่งคดี: แชร์ลิงค์ข่าวและคัดลอกบางส่วนมาโพสต์

2 ธ.ค. 59 พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี รองหัวหน้ากองยุทธการ มณฑลทหารบกที่ 23 จังหวัดขอนแก่น เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น ให้ดำเนินคดีนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่มดาวดิน และนักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ในข้อหา หมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยการโฆษณา โดยอ้างว่า เมื่อเวลาประมาณ 08.00 น. ได้ตรวจพบข้อความทางเฟซบุ๊กของบุคคลที่ใช้ชื่อว่า “Pai Jatupat” ซึ่งมีเนื้อหาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ รัชกาลที่ 10

วันเดียวกัน พ.ต.ต.วิษณุ แสนคำ สารวัตรสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ผู้รับแจ้งความ เข้ายื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่นขอออกหมายจับนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ในข้อหาดังกล่าว และนายวิเนตร มาดี ผู้พิพากษา อนุมัติหมายจับศาลจังหวัดขอนแก่นที่ 433/ 2559

จตุภัทร์ถูกกล่าวหาว่า โพสต์ข้อความดังกล่าวเอง ทั้งที่จริงแล้วเขาเพียงแค่แชร์ลิงก์รายงานข่าวของบีบีซีไทย เรื่อง “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” พร้อมคัดลอกข้อความบางส่วนมาโพสต์ในเวลาประมาณ 05.00 น. ของวันที่ 2 ธ.ค.59 ขณะที่รายงานข่าวดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง และมีผู้แชร์กว่า 2,800 ครั้ง

 

[2] สอบสวนนอกสถานีตำรวจและสิทธิของผู้ต้องหาที่อยู่แค่ในหน้ากระดาษ

3 ธ.ค. 59 ตำรวจนอกเครื่องแบบจาก สภ.เมืองขอนแก่น นำหมายจับศาลจังหวัดขอนแก่น เข้าจับกุมนายจตุภัทร์  ขณะเขาร่วมกิจกรรมธรรมยาตราที่วัดโปร่งช้าง อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ  และนำตัวไปทำบันทึกการจับกุมที่ สภ.แก้งคร้อ จากนั้นในระหว่างที่ตำรวจนำโดย พ.ต.อ.สันต์ชัย มัยญะกิต ผู้กำกับกองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 นำตัวจตุภัทร์มาที่ สภ.เมืองขอนแก่น เขาถูกยึดโทรศัพท์ อีกทั้งถูกนำตัวไปสอบสวนที่ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 4 แทน สภ.เมืองขอนแก่น โดยไม่ได้รับการแจ้งล่วงหน้า และไม่สามารถแจ้งคนใกล้ชิดได้ว่า เขาอยู่ที่ใด นอกจากนี้ ตำรวจได้จัดเตรียมทนายไว้ให้แล้ว แต่จตุภัทร์ปฏิเสธกระบวนการสอบสวนดังกล่าว และยืนยันให้ทนายความที่ตนเองไว้ใจเท่านั้นเข้าร่วม ตำรวจจึงต้องมารับตัวทนายความซึ่งรออยู่ที่ สภ.เมืองขอนแก่น โดยทนายความไม่ได้รับการแจ้งว่า จะพาไปยังสถานที่ใด และถูกยึดโทรศัพท์ด้วยเช่นกัน

ถูกจับ

จตุภัทร์ขณะถูกจับตามหมายจับ

หลังการสอบสวนโดย พ.ต.อ.วิเศษ ภักดีวุฒิ และคณะพนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ซึ่งแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 และจตุภัทร์ให้การปฏิเสธ เขาถูกนำตัวไปขังไว้ที่ สภ.น้ำพอง ตามคำสั่งตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่นที่ 901/2559 แทนการขังที่ สภ.เมืองขอนแก่น (อ่านรายละเอียดที่นี่)

การไม่แจ้งให้จตุภัทร์ทราบว่าจะถูกนำตัวไปที่ใด และเขาไม่สามารถบอกคนใกล้ชิดได้ว่าอยู่ที่ใด รวมถึงการที่ตำรวจพยายามแต่งตั้งทนายให้แทนทนายที่จตุภัทร์ไว้วางใจ ถือเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7/1 ซึ่งระบุอยู่ในบันทึกจับกุมด้วยว่า ผู้ต้องหามีสิทธิแจ้งให้ญาติ หรือผู้ซึ่งผู้ต้องหาไว้วางใจทราบถึงการถูกจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุมในโอกาสแรก และมีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้ในชั้นสอบสวน แสดงให้เห็นว่า ตำรวจไม่ได้สนใจปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายตามที่ระบุอยู่ในบันทึกจับกุมนั้นเลย

 

[3] ให้ประกัน และถอนประกันในไม่กี่วัน ด้วยเหตุผลที่คลุมเครือ จำกัดเสรีภาพผู้ต้องหา

รุ่งขึ้น (4 ธ.ค.59) พ.ต.ต.วิษณุ แสนคำ สารวัตรสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น เข้ายื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่น เพื่อขอฝากขังจตุภัทร์ครั้งแรกเป็นเวลา 12 วัน โดยระบุเหตุผลว่า เนื่องจากต้องสอบพยานอีก 6 ปาก และรอผลการตรวจสอบลายนิ้วมือ พร้อมทั้งคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูงและเกี่ยวกับความมั่นคง ละเอียดอ่อน ประกอบกับมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มบุคคลอื่น หากให้ประกันตัว ผู้ต้องหาน่าจะหลบหนี และอาจกระทบต่อความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย และความรุนแรงต่างๆ ได้ หลังศาลออกนั่งพิจารณา ทนายผู้ต้องหาแถลงคัดค้านการฝากขัง ศาลแจ้งว่า จะอนุญาตให้ประกันตัว เนื่องจากเห็นว่าผู้ต้องหาจำเป็นต้องไปสอบและเรียนให้จบในปีการศึกษา 2559 นี้ โดยฝ่ายผู้ต้องหาไม่ต้องคัดค้านการฝากขัง ทนายจึงยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว และนำเงินสดวางเป็นหลักประกันจำนวน  400,000 บาท ศาลมีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่กำหนดเงื่อนไขใดๆ เพิ่มเติมจากที่ระบุในแบบฟอร์มคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของศาล ซึ่งระบุว่า ผู้ต้องหาจะไม่หลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน รวมทั้งก่อเหตุอันตรายประการอื่น และนัดหมายให้มารายงานตัวต่อศาลอีกครั้งในวันที่ 23 ม.ค.60 (อ่านรายละเอียดที่นี่)

หลังจตุภัทร์ได้ปล่อยตัวชั่วคราวเพียง 12 วัน วันที่ 16 ธ.ค. 59 พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่นได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนสัญญาประกันตัวผู้ต้องหา  โดยให้เหตุผลว่า หลังได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ผู้ต้องหายังมีการแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ ในเชิงเยาะเย้ยเจ้าพนักงาน กรณีที่ตนได้รับประกันตัวเป็นจำนวนเงิน 400,000 บาท ว่า “เศรษฐกิจมันแย่แม่งเอาแต่เงินประกัน”  นอกจากนี้ ผู้ต้องหาเคยมีประวัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคดีความมั่นคงมาหลายคดี และคดีนี้เป็นคดีร้ายแรง รวมทั้งผู้ต้องหายังมีการแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์เรื่อยมา อาจจะเป็นการยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน (อ่านรายละเอียดที่นี่)

ต่อมา วันที่ 22 ธ.ค. 59  ศาลจังหวัดขอนแก่นทำการไต่สวนคำร้องถอนประกันดังกล่าวเป็นการลับ ไม่อนุญาตให้ประชาชนและบุคคลภายนอกที่สนใจเข้าฟัง  องค์คณะผู้พิพากษาประกอบด้วย นางชนกพรรณ บุญสม, นายจักรพงศ์ นรแมนสรวง และนายชกาจ วรรณไพบูลย์  ผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องคัดค้านการขอถอนประกันดังกล่าวทั้งในเหตุผลข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงว่า

  1. ผู้ร้องขอถอนประกันผู้ต้องหาไม่ใช่พนักงานสอบสวนในคดี และไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในคดี ที่อาจยื่นคำร้องให้ศาลถอนประกันผู้ต้องหา อีกทั้งไม่มีเหตุอื่นตามกฎหมายที่สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งในคดีนี้ได้
  2. การแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊กของผู้ต้องหาด้วยข้อความเต็มว่า “ตอนแรกก็อยากจะขอโทษเพื่อนประชามติทั้ง 3 คน เพราะคดีล่าสุดก็โดนไป 400,000 บาท  แต่ผมไม่ได้ผิดไง ผมไม่สามารถกระทำการขอโทษได้จริงๆ #เศรษฐกิจมันแย่แม่งเอาแต่เงินประกัน” เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ ต่อกรณีที่ศาลจังหวัดพระโขนงได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้นักวิชาการใช้ตำแหน่งเป็นหลักทรัพย์ประกันตัวจำเลย 3 คน ซึ่งถูกฟ้องในคดีฉีกบัตรลงคะแนนเสียงประชามติ เนื่องจากนักวิชการคนดังกล่าวไม่ได้เป็นญาติหรือนายจ้างของจำเลยทั้งสาม ซึ่งผู้ต้องหาเห็นว่าเป็นกระบวนการที่มิชอบด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมาย  อันบุคคลทั่วไปสามารถวิพากษ์วิจารณ์ติชมได้ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเยาะเย้ยเจ้าพนักงาน
  3. ที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าผู้ต้องหามีประวัติเกี่ยวกับการกระทำความผิดในคดีความมั่นคงหลายคดีนั้น คดีความดังกล่าวยังมิได้มีคำพิพากษาของศาลแต่อย่างใด ทั้งผู้ต้องหาได้ให้การปฏิเสธและต่อสู้คดีตามกฎหมาย  นอกจากนี้ ในคดีทั้งหมดผู้ต้องหากระทำตามสิทธิของพลเมืองในการต่อต้านคณะเผด็จการทหาร แต่ถูกดำเนินคดีจากการที่เจ้าหน้าที่พยายามใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการจำกัดการใช้เสรีภาพของประชาชนทั้งสิ้น
  4. ผู้ต้องหาได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขศาลอย่างเคร่งครัด และใช้สิทธิเสรีภาพอยู่ในกรอบของกฎหมายอันประชาชนพึงกระทำได้ตามวิถีแห่งรัฐธรรมนูญ

ศาลได้ไต่สวนพยานของผู้ร้องจำนวน 1 ปาก คือ พ.ต.ต.ปุณณวิศร์  ธรานันทเศรษฐ์ พนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น และอ้างส่งเอกสารรวมทั้งหมด 7 ฉบับ พ.ต.ต.ปุณณวิศร์ เบิกความว่า  ภายหลังปล่อยชั่วคราว  ผู้ต้องหาไม่ได้ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีนี้ออกจากเฟซบุ๊กของผู้ต้องหา และยังโพสต์ข้อความ รวมทั้งภาพถ่ายที่แสดงท่าทางในเชิงสัญลักษณ์อีกหลายครั้ง ซึ่งประชาชนทั่วไปที่เข้าไปดูอาจเกิดความเข้าใจผิด ประกอบกับจากทางสืบสวนของชุดสืบสวนของ พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี พบว่า มีผู้ติดตามเฟซบุ๊กของผู้ต้องหากว่า 4,000 ราย ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อไปได้ นอกจากนี้ คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งผู้ต้องหาเคยต้องหาว่ากระทำความผิดมาก่อนคดีนี้ 4 คดี หากยังคงให้ผู้ต้องหาปล่อยตัวชั่วคราวไป อาจมีการโพสต์ข้อความในลักษณะทำนองเดียวกัน และอาจก่อให้เกิดความเสียหายเช่นว่ามาอีก

pai3

จตุภัทร์เซลฟี่โพสต์เฟซบุ๊กขณะไปติดตามโทรศัพท์ที่ตำรวจยึดไป และ พงส.นำมาเป็นเหตุถอนประกัน 

จากนั้น ผู้ต้องหาได้แถลงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า เหตุที่ไม่ได้ลบข้อความบนเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหาเป็นคดี เนื่องจากผู้ต้องหาประสงค์จะเก็บไว้เป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ว่า ผู้ต้องหาไม่ได้กระทำผิด นอกจากนี้ การโพสต์ข้อความและภาพถ่ายตามที่ผู้ร้องกล่าวหา เป็นการแสดงความเห็นใจเพื่อน และเป็นการแสดงออกตามประสาวัยรุ่น ผู้ต้องหาไม่ได้มีเจตนาเป็นอย่างอื่น ในส่วนที่เกี่ยวกับเอกสารที่ พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี ส่งให้เพิ่มเติมให้กับพนักงานสอบสวน ผู้ต้องหาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

ภายหลังการไต่สวนคำร้อง  ศาลจังหวัดขอนแก่นได้มีคำสั่งถอนประกันนายจตุภัทร์ รายละเอียดว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลได้มีคำสั่งกำชับให้นายประกัน ผู้ต้องหาให้มาศาลตามนัด ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ พยานหลักฐานในคดี หรือก่อความเสียหายใด ๆ หลังปล่อยชั่วคราว หากผิดนัด ผิดเงื่อนไข ศาลอาจถอนประกันและอาจไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวอีก และภายหลังปล่อยชั่วคราวได้ความจากทางไต่สวนว่า ผู้ต้องหาไม่ได้ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีนี้ในสื่อสังคมออนไลน์บนเฟซบุ๊กของผู้ต้องหา กับทั้งผู้ต้องหาได้แสดงออกถึงพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ ทั้งผู้ต้องหายังมีแนวโน้มที่จะกระทำการในลักษณะเช่นนี้ต่อไปอีก ผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มีอายุ 25 ปี ย่อมรู้ดีว่า การกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวข้างต้นเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาล  จึงฟังได้ความตามคำร้องว่า  ผู้ต้องหาได้กระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายภายหลังการปล่อยตัวชั่วคราว  ประกอบกับนายประกันผู้ต้องหาไม่ได้กำชับหรือดูแลให้ผู้ต้องหาปฏิบัติตามเงื่อนไขศาลที่มีคำสั่งจนก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าว  จึงให้เพิกถอนสัญญาประกันตัวผู้ต้องหา  

กรณีการถอนประกันนายจตุภัทร์นี้มีข้อสังเกตว่า ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 11 กำหนดหลักการพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาไว้ว่า “บุคคลซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีความผิดอาญามีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ จนกว่าจะมีการพิสูจน์ว่ามีความผิดตามกฎหมาย” เมื่อนายจตุภัทร์ ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ สิทธิต่าง ๆ และพยานหลักฐานย่อมจะต้องได้รับความคุ้มครองในฐานะผู้บริสุทธิ์ รวมถึงข้อความที่ถูกกล่าวหาด้วย อีกทั้งการลบหรือไม่ลบข้อความดังกล่าวก็ไม่น่าจะเป็นสาระสำคัญของการพิจารณาเพิกถอนการประกันตัว เพราะศาลจังหวัดขอนแก่นอนุญาตให้ประกันตัวนายจตุภัทร์ โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขเช่นที่ว่า การลบข้อความดังกล่าวยังเท่ากับเป็นการทำลายพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของนายจตุภัทร์เอง ซึ่งอาจกระทบต่อสิทธิในการต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่เป็นธรรมตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 14 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 8

นอกจากนี้ การวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงออกซึ่งความคิดเห็นใดโดยสุจริตย่อมเป็นสิทธิเสรีภาพของพลเมืองที่ถูกรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง การที่ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งเพิกถอนการประกันตัวของนายจตุภัทร์ ว่า “ผู้ต้องหาได้แสดงออกถึงพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐ โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ ทั้งผู้ต้องหายังมีแนวโน้มจะกระทำการในลักษณะเช่นนี้” จึงอาจถือเป็นการใช้ดุลพินิจจำกัดกรอบการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ถูกรับรองไว้ตามกฎหมาย อันเป็นการสร้างภาระหน้าที่หรือเงื่อนไขให้แก่นายจตุภัทร์เกินจำเป็น ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 112 วรรคท้าย อีกทั้งคำสั่งศาลก็คลุมเครือ ไม่ระบุชัดเจนว่า เป็นการเย้ยหยันอำนาจรัฐอย่างไร มีองค์ประกอบอย่างไร ความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างประจักษ์ชัดเจนคืออะไร

 

[4] ‘ไผ่’ อุทธรณ์คำสั่งถอนประกัน ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยืนตามคำสั่งศาลขอนแก่น

วันต่อมา (23 ธ.ค.59) หลังศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งถอนประกัน ทนายความนายจตุภัทร์เข้ายื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนสัญญาประกันของศาลจังหวัดขอนแก่นถึงศาลอุทธรณ์ภาค 4 คำร้องอุทธรณ์ดังกล่าว ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาและมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลจังหวัดขอนแก่น  โดยให้ยกเลิกคำสั่งถอนประกันฉบับลงวันที่ 22 ธ.ค. 59, ยกเลิกหมายขังผู้ต้องหา และมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาไปในระหว่างสอบสวนตามคำสั่งและสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาในวันที่ 4 ธ.ค. 59 ทั้งนี้ คำร้องอุทธรณ์ระบุเหตุผลในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง สรุปความได้ว่า

  1. ข้อวินิจฉัยของศาลจังหวัดขอนแก่นที่ว่า  ผู้ต้องหามีการกระทำเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาลและไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลมีคำสั่งนั้น  ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนพยานผู้ร้อง ผู้ต้องหาได้ปฏิบัติตามคำสั่งและเงื่อนไขข้อกำหนดในการปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2559 ทุกประการ
  2. กรณีที่ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำวินิจฉัยว่า  ผู้ต้องหาไม่ได้ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีนี้บนเฟสบุ๊คของผู้ต้องหานั้น เป็นการยกเหตุนอกไปจากคำร้องขอถอนประกัน และข้อวินิจฉัยที่ว่า การกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาลและไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลนั้น เป็นข้อวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อนเพราะศาลไม่เคยกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวแต่อย่างใด  ส่วนเหตุอื่นๆ ที่ผู้ร้องอ้างเพื่อขอถอนประกันว่า คดีนี้เป็นคดีร้ายแรง และผู้ต้องหามีประวัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคดีความมั่นคงหลายคดีนั้น ก็เป็นข้ออ้างที่ไม่อาจนำมาเป็นเหตุที่ขอให้ศาลถอนประกันผู้ต้องหาได้ เนื่องจากศาลจังหวัดขอนแก่นก็ได้พิจารณาแล้วและอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาไปแล้ว รวมทั้งในคดีอื่นๆ ศาลก็ได้ให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาแล้วเช่นกัน
  3. ข้อวินิจฉัยของศาลจังหวัดขอนแก่นว่า  ผู้ต้องหาได้แสดงออกถึงพฤติกรรรมในเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง เป็นข้อวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อน เพราะพยานหลักฐานในชั้นไต่สวนพยานของผู้ร้องนั้น ไม่มีประเด็นใดที่จะวินิจฉัยไปในทางนั้นได้เลย
  4. นับแต่ที่ผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปผู้ต้องหามิได้กระทำการใด ๆ ผิดจากข้อกำหนดและเงื่อนไขของศาลแต่อย่างใด ข้ออ้างของผู้ร้องขอถอนประกันนั้นเลื่อนลอยไม่มีเหตุไม่มีผลและไม่น่าเชื่อถือแต่อย่างใดทั้งสิ้น พยานหลักฐานที่ยื่นต่อศาลก็เป็นเพียงเป็นการแสดงออกของวัยรุ่นในชีวิตประจำวัน ซึ่งพยานของผู้ร้องเองก็เบิกความชัดเจนว่า ไม่มีข้อความหรือลักษณะใด ๆ ที่เป็นการเยาะเย้ยถากถางเจ้าหน้าที่หรือเย้ยหยันอำนาจรัฐแต่อย่างใด
  5. การที่ศาลจังหวัดขอนแก่นวินิจฉัยว่า  ผู้ต้องหาได้กระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายภายหลังจากการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นการวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาที่ผ่านมาไม่เคยก่อให้เกิดความเสียหายแต่อย่างใด  และไม่มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความเสียหายเลย เห็นได้จากในชั้นไต่สวน ซึ่งพยานผู้ร้องไม่ได้เบิกความและยืนยันให้ศาลเห็นว่ามีความเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้น และมีแนวโน้มจะเกิดขึ้น

วันที่ 26 ธ.ค.59 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนสัญญาประกัน นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา จากศาลจังหวัดขอนแก่น และภายในวันเดียวกันนี้เอง ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้มีคำสั่งยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งถอนประกันดังกล่าว ต่อมา วันที่ 27 ธ.ค. ศาลจังหวัดขอนแก่นได้อ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ให้จตุภัทร์ซึ่งถูกเบิกตัวจากทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นมาที่ห้องขังใต้ศาล ฟังด้วยวิธีประชุมทางจอภาพ (video conference) คำสั่งศาลอุทธรณ์ระบุเหตุผลในการยกคำร้องว่า

พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับตามทางไต่สวนของศาลชั้นต้นแล้ว เห็นว่า ผู้ต้องหาไม่ได้ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีนี้ในสื่อสังคมออนไลน์บนเฟซบุ๊กของผู้ต้องหา กับทั้งผู้ต้องหาได้แสดงออกถึงพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐ โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ ทั้งผู้ต้องหายังมีแนวโน้มจะกระทำการในลักษณะเช่นนี้ต่อไปอีก หากให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ต้องหาอาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราวในระหว่างสอบสวน คำสั่งศาลชั้นต้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

ศาลขอนแก่น

 

[5] ฎีกาต่อ ขอศาลฎีกายกเลิกคำสั่งถอนประกัน ศาลขอนแก่นไม่รับฎีกา

ดูเหมือนว่าเหตุผลของจตุภัทร์ในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงไม่ได้ถูกหยิบยกมาประกอบการวินิจฉัยแต่อย่างใด และทำให้จตุภัทร์ยังคงไม่เห็นพ้องกับข้อวินิจฉัยและคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 4 วันที่ 29 ธ.ค.59 ทนายความของจตุภัทร์จึงยื่นฎีกาที่ศาลจังหวัดขอนแก่น เพื่อคัดค้านคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ดังกล่าวต่อศาลฎีกา  และขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ดังกล่าว  โดยให้ยกเลิกคำสั่งเพิกถอนสัญญาประกันตัวผู้ต้องหา  เพิกถอนหมายขังผู้ต้องหา  และมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปในระหว่างสอบสวน  ตามคำสั่งและสัญญาประกันฉบับลงวันที่ 4 ธ.ค. 59  เหตุผลในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่จตุภัทร์และทนายความชี้แจงต่อศาลฎีกา นอกจากยืนยันเหตุผลในคำร้องอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนสัญญาประกันของศาลจังหวัดขอนแก่นที่ยื่นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 แล้ว ยังมีเหตุผลเพิ่มเติมดังนี้             

  1. ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ข้อ 11(1) กล่าวว่า “ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญามีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมายในการพิจารณาคดีที่เปิดเผยซึ่งตนได้รับหลักประกันที่จำเป็นทั้งปวงสำหรับการต่อสู้คดี” เช่นเดียวกับที่ปรากฏในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14(1) ซึ่งประเทศไทยได้เป็นภาคีและมีผลผูกพันให้ต้องปฏิบัติตามกติกาดังกล่าว ดังนั้น การขังผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวน โดยที่ผู้ต้องหายังเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในฐานความผิดที่มีโทษทางอาญาเท่านั้น  ยังมิได้ผ่านการพิจารณาพิพากษาของศาลว่าเป็นความผิด และด้วยเหตุเพียงผู้ต้องหาแสดงออกทางความคิดเห็น จึงขัดกับกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
  2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ ได้รับรองและให้ความคุ้มครองแก่สิทธิเสรีภาพของประชาชนมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย ทั้งโดยบัญญัติไว้โดยตรงในรัฐธรรมนูญ แม้รัฐธรรมนูญฯ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน และโดยปริยายตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยลงนามผูกพันแล้ว สิทธิเสรีภาพดังกล่าว รวมถึงเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนด้วย ซึ่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ได้รับรองไว้ในข้อ 19 ว่า “ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก ทั้งนี้ สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และที่จะแสวงหา รับ และส่งข้อมูลข่าวสารและข้อคิดผ่านสื่อใด และโดยไม่คำนึงถึงพรมแดน” และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองก็ได้รับรองไว้ในข้อบทที่ 19 เช่นเดียวกัน ซึ่งประเทศไทยไม่อาจหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามได้ และย่อมมีผลบังคับผูกพันสถาบันของรัฐโดยตรงทุกองค์กรตั้งแต่รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานต่างๆของรัฐ ในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวงให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศ คดีนี้แม้เป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง  แต่ก็เป็นคดีที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุที่ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอถอนประกันผู้ต้องหาและศาลมีคำสั่งถอนประกันผู้ต้องหา  ก็เนื่องจากผู้ต้องหาได้แสดงออกทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งเป็นการแสดงออกตามเสรีภาพที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศดังกล่าวแล้ว

อย่างไรก็ตาม ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจตุภัทร์ ระบุเหตุผลว่า คำสั่งของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวยืนตามคำร้องของศาลชั้นต้นเป็นที่สุด ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวใหม่ จึงมีคำสั่งไม่รับฎีกาของผู้ต้องหา

pai4

[6] อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาในทันควัน ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 224

เป็นเหตุให้ในวันที่ 30 ธ.ค.59 ทนายความของนายจตุภัทร์เข้ายื่นคำร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา เพื่อคัดค้านคำสั่งไม่รับฎีกาของศาลจังหวัดขอนแก่น โดยเห็นว่าข้อวินิจฉัยและคำสั่งของศาลจังหวัดขอนแก่นที่มีคำสั่งไม่รับฎีกาคำสั่งของผู้ต้องหาเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.59 นั้น  ยังคงคลาดเคลื่อนในปัญหาข้อกฎหมาย

คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้รับฎีกาคัดค้านคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ของผู้ต้องหา  และขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยให้ยกเลิกคำสั่งถอนประกัน,  เพิกถอนหมายขังผู้ต้องหา  และมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไป ตามคำสั่งและสัญญาประกันฉบับลงวันที่ 4 ธ.ค.59  คำร้องอุทธรณ์ฯ ชี้แจงเหตุผลในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงต่อศาลฎีกาว่า

  1. ตามที่ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของผู้ต้องหาฉบับลงวันที่ 29 ธ.ค.59 ผู้ต้องหาเห็นว่าคลาดเคลื่อนไปจากข้อกฎหมายที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  เพราะฎีกาของผู้ต้องหาดังกล่าวนั้น เป็นกรณีที่ผู้ต้องหาฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่ยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว  คำสั่งดังกล่าวจึงไม่ถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา 119 ทวิ วรรคสาม  และไม่ถือว่าเป็นคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวตามมาตรา 119 ทวิ วรรคสาม แต่อย่างใด ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ผ่านมาทุกฉบับ เมื่ออุทธรณ์คำสั่งของผู้ต้องหาไม่เป็นที่สุดแล้ว ศาลจังหวัดขอนแก่นจึงต้องมีคำสั่งรับฎีกาของผู้ต้องหาและส่งฎีกาของผู้ต้องหาไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 224
  2. กรณีที่ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาและออกหมายขังผู้ต้องหาไว้ เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 59 นั้น เป็นกรณีที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาอย่างยิ่ง และเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน  ซึ่งยังดำเนินการสอบสวนไม่เสร็จสิ้น  คดียังไม่ได้ถูกฟ้องร้องเป็นคดีความต่อศาล  จึงไม่เป็นการดำเนินการระหว่างการพิจารณาคดี  คำสั่งเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวและการออกหมายขังผู้ต้องหาเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.59 จึงไม่ใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา  ผู้ต้องหาคงมีสิทธิฎีกาคำสั่งดังกล่าวต่อศาลฎีกาได้จนถึงที่สุด  ตามนัยแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  และตามนัยแห่งคำพิพากษาของศาลฎีกาทุกฉบับที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งส่งศาลฎีกาพิจารณาโดยเร็ว

 

[7] ยื่นประกันใหม่ ศาลขอนแก่นไม่อนุญาต ชี้ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง

หลังศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งถอนประกันนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ผู้ต้องหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีแชร์ข่าวพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์ข่าว BBC ไทย ซึ่งมีผลให้จตุภัทร์ถูกขังอยู่ในทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น นอกจากกระบวนการอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลของผู้ต้องหาและทนายความดังกล่าวมาแล้ว การขออำนาจศาลฝากขังผู้ต้องหาในระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวนครั้งละ 12 วัน  และการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา ก็เป็นกระบวนการที่ดำเนินไปพร้อมๆ กัน

22 ธ.ค.59 หลังศาลมีคำสั่งถอนประกัน จตุภัทร์ถูกควบคุมตัวไปขังในทันที ทนายผู้ต้องหาจึงยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวใหม่ในวันเดียวกันนี้ โดยใช้หลักประกันเดิม ระบุเหตุผลว่า ตามคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.59 ศาลไม่ได้มีคำสั่งให้ผู้ต้องหาลบข้อความบนเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหาเป็นคดี การโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กของผู้ต้องหาหลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวก็ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ ดังนั้น ผู้ต้องหาเห็นว่า หลังจากได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาไม่ได้ฝ่าฝืน ไม่ปฎิบัติตามเงื่อนไขของศาลแต่อย่างใด นอกจากนี้ ผู้ต้องหาต้องเตรียมตัวสอบวิชาคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นวิชาบังคับวิชาสุดท้ายก่อนจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ซึ่งมีกำหนดสอบในวันที่ 17-18 ม.ค.60

เวลาต่อมา ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งยกคำร้อง โดยระบุว่า ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ทั้งนี้ จตุภัทร์ถูกควบคุมตัวไปขังที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นก่อนหน้านี้แล้ว โดยไม่รอนำตัวไปพร้อมผู้ต้องหาคนอื่น ๆ ที่มาศาลจังหวัดขอนแก่นดังเช่นวิธีปฏิบัติปกติของเจ้าหน้าที่

pai5

จตุภัทร์มาศาลในวันที่ศาลนัดไต่สวนคำร้องถอนประกัน

[8] ฝากขังครั้งที่ 3 ทนายร้องกระบวนการขอฝากขังไม่ชอบด้วยกฎหมาย

26 ธ.ค.59 พ.ต.ท.จิรัฐเกียรติ ศรวิเศษ พนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่นขอฝากขังนายจตุภัทร์ ครั้งที่ 3 ตั้งแต่วันที่  28 ธ.ค.59 – 8 ม.ค.60 เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบพยานบุคคลอีก 4 ปาก และรอผลการตรวจสอบลายนิ้วมือ พร้อมทั้งคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง และผู้ต้องหาอาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือกลุ่มบุคคลที่มีการแสดงความคิดเห็นในทางสื่อสังคมออนไลน์

ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.59 โดยระบุว่า ศาลพิจารณาคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาในลักษณะการประชุมทางจอภาพโดยมีผู้ร้อง ผู้ต้องหา และสักขีพยานอยู่พร้อมกัน สอบถามสักขีพยานแล้ว ไม่มีเหตุอาจกระทบสิทธิผู้ต้องหา สอบถามผู้ต้องหา แถลงว่า ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว และไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้ฝากขังมีกำหนด 12 วัน

28 ธ.ค.59 ขณะทนายความเข้าตรวจสำนวนคดีที่ศาลจังหวัดขอนแก่น  เพื่อเตรียมคำร้องคัดค้านการฝากขังครั้งที่ 3 และคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวนายจตุภัทร์ กลับพบว่าพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาแล้ว เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.ที่ผ่านมา และศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.59 ขณะที่ในการเข้าเยี่ยมจตุภัทร์ที่เรือนจำ จตุภัทร์ยืนยันว่า ไม่ทราบถึงกระบวนการดังกล่าว ในการเบิกตัวเขาไปศาลเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. ศาลเพียงแต่อ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่ไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวทางจอภาพ แต่ไม่ได้อ่านคำร้องขอฝากขังให้ฟัง  และเขาไม่ได้แถลงว่า ไม่คัดค้านการฝากขังตามที่ศาลบันทึก ทนายความจึงยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ  เนื่องจากจตุภัทร์ไม่ได้รับทราบคำร้องฝากขัง และไม่ได้แถลงไม่คัดค้านตามที่ศาลบันทึก

ทั้งนี้ คำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ระบุว่า ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้องนี้ และมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งฝากขังลงวันที่ 27 ธ.ค. 59 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหามีสิทธิตามกฎหมายในการยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังครั้งที่ 3 และหากมีการฝากขังในครั้งถัดไป ขอศาลมีคำสั่งให้อ่านคำร้องฝากขังให้กับผู้ต้องหา ทนายความผู้ต้องหา และสักขีพยานฟังในห้องพิจารณา แทนการประชุมทางจอภาพด้วย

ต่อมา น.ส.ปิยะธิดา อุปพงษ์ ผู้พิพากษาผู้ลงชื่อในคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังนายจตุภัทร์ครั้งที่ 3 ได้ทำการประชุมทางจอภาพกับนายจตุภัทร์ ที่อยู่ในเรือนจำ โดยไม่ได้ให้ทนายความที่รออยู่ที่ศาลจังหวัดขอนแก่นเข้าร่วม จากนั้น เจ้าหน้าที่ศาลจึงนำเอกสารคำสั่งศาลต่อคำร้องเพิกถอนกระบวนพิจารณาฯ ให้ทนายความ โดยศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้อง รายละเอียดว่า

พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 3 ของพนักงานสอบสวน เป็นการยื่นคำร้องภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เป็นการยื่นคำร้องขอฝากขังที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพียงแต่ศาลไม่ได้สอบถามผู้ต้องหาเสียก่อนว่าจะคัดค้านคำร้องฝากขังนั้นหรือไม่เท่านั้น  หาทำให้การสั่งอนุญาตให้ฝากขังดังกล่าวเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดกฎหมายไม่ ให้ยกคำร้อง ดังนั้น จึงให้เบิกตัวผู้ต้องหามาสอบถามในลักษณะการประชุมผ่านจอภาพในวันนี้ เวลา 16.30 น.

ในการเบิกตัวจตุภัทร์มาสอบถามดังกล่าว ผู้พิพากษาได้รายงานกระบวนพิจารณาว่า สอบผู้ต้องหาแถลงคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจขอฝากขังระหว่างสอบสวน เพราะไม่มีเหตุจำเป็นที่ต้องคุมขังผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวน เพราะพยานบุคคลที่ผู้ร้องอ้างว่าต้องสอบเพิ่มเติมนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา และที่ผู้ร้องอ้างว่าต้องรอผลการตรวจสอบประวัติการต้องโทษจากกองทะเบียนประวัติอาชญากรนั้น ผู้ร้องสามารถตรวจสอบได้โดยไม่มีความจำเป็นต้องคุมขังผู้ต้องหาไว้ ประกอบกับผู้ต้องหาต้องการที่จะไปสอบวิชาคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในวันที่ 17 และ 18 มกราคม 2559 ผู้ต้องหาต้องการออกไปอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบวิชาดังกล่าว ขอให้ศาลยกคำร้องขอฝากขังของผู้ร้อง

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำคัดค้านของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น เมื่อผู้ร้องมีเหตุจำเป็นที่ต้องสอบปากคำพยานเพิ่มเติมอีก 4 ปาก และรอผลการตรวจสอบประวัติการต้องโทษจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร ประกอบกับคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงและมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มบุคคลที่มีการแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ กรณีจึงมีเหตุจำเป็นที่จะควบคุมผู้ต้องหาต่อไป ในชั้นนี้จึงอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาเป็นเวลา 12 วัน นับตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค.59 – 8 ม.ค.60

ต่อกรณีดังกล่าวนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตว่า ตามมาตรา 87 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญากำหนดให้ศาลพิจารณาฝากขังทุก 12 วันเพื่อให้ศาลได้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของพนักงานสอบสวนเพื่อไม่ให้ควบคุมบุคคลไว้เกินกว่าจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี และเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถูกควบคุมตัวคัดค้านเหตุของพนักงานสอบสวนได้ การดำเนินกระบวนการฝากขังโดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาคัดค้านจึงเป็นกระบวนการที่มิชอบด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่มีการสอบถามผู้ต้องหาแต่คำสั่งอนุญาตคำร้องฝากขังลงวันที่ 27 ธ.ค.59 กลับระบุว่ามีการสอบถามผู้ต้องหาแล้วและผู้ต้องหาไม่คัดค้าน คำสั่งอนุญาตดังกล่าวจึงพิจารณาบนฐานข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงและก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ต้องหา แม้จะมีการไต่สวนเพื่อสอบถามผู้ต้องหาอีกครั้งในวันที่ 28 ธ.ค.59 ก็ไม่ทำให้สิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วชอบกฎหมายขึ้นมาในภายหลังได้

 

[9] ยื่นประกันครั้งที่ 3 ศาลขอนแก่นไม่อนุญาตเช่นเคย ชี้คำสั่งศาลอุทธรณ์ชัดเจนแล้ว

ต่อมา วันที่ 29 ธ.ค.59 ทนายความนายจตุภัทร์ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งนับเป็นการยื่นครั้งที่ 3 ระบุเหตุผลที่ต้องเตรียมตัวสอบในวันที่ 17 – 18 ม.ค. 60 อีกทั้งผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี และมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ผู้ต้องหาไม่ได้ยุ่งเหยิงต่อพยานหลักฐาน ดังเห็นได้ว่าผู้ต้องหาไม่ได้ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีนี้ นอกจากนี้ ผู้ต้องหาเคารพกระบวนการยุติธรรมและดำเนินการตามกฎหมายที่ถูกต้องชอบธรรมมาโดยตลอด การโพสต์ข้อความของผู้ต้องหาภายหลังจากการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวครั้งแรกนั้นก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดกับพฤติการณ์ที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในคดีนี้ ที่สำคัญหัวใจของกฎหมายอาญานั้นต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์หลบหนี ไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐานหรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น อีกทั้งการควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้จะกระทบสิทธิและส่งผลต่ออนาคตทางการศึกษาของผู้ต้องหาอย่างร้ายแรง จึงขอให้ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจาก พิเคราะห์แล้วเห็นว่าศาลอุทธรณ์ภาค 4 เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยผู้ต้องหาโดยให้เหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้วว่า หากให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ต้องหาอาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล ตามคำสั่งคำร้องที่ 901/2559 ลงวันที่ 26 ธ.ค.59 กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

 

ข้อมูลประกอบ

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 ทวิ ในกรณีที่ศาลสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ร้องขอมีสิทธิยื่นคําร้องอุทธรณ์คําสั่งนั้นได้ดังต่อไปนี้
(1) คําสั่งของศาลชั้นต้น ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์
(2) คําสั่งของศาลอุทธรณ์ ให้อุทธรณ์ไปยังศาลฎีกา
ให้ศาลชั้นต้นที่รับคําร้องอุทธรณ์คําสั่งรีบส่งคําร้องดังกล่าวพร้อมด้วยสํานวนความ หรือสําเนาสํานวนความเท่าที่จําเป็นไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณีเพื่อพิจารณาและมีคําสั่งโดยเร็ว
คําสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวยืนตามศาลชั้นต้นให้เป็นที่สุด แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิที่จะยื่นคําร้องให้ปล่อยชั่วคราวใหม่

มาตรา 224 เมื่อศาลชั้นต้นไม่ยอมรับฎีกา ผู้ฎีกาอาจฎีกาเป็นคําร้องอุทธรณ์คําสั่งของศาลนั้นต่อศาลฎีกาได้ คําร้องเช่นนี้ให้ยื่นที่ศาลชั้นต้นภายในกําหนดสิบห้าวันนับแต่วันฟังคําสั่ง แล้วให้ศาลนั้นรีบส่งคําร้องเช่นว่านั้นไปยังศาลฎีกาพร้อมด้วยฎีกาและคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์
เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรตรวจสํานวนเพื่อสั่งคําร้องเรื่องนั้น ก็ให้สั่งศาลชั้นต้นส่งมาให้

 

 

X