ศาลอุทธรณ์ปฏิเสธให้ประกัน ‘ไผ่’ หลังยื่นอุทธรณ์ครั้งที่ 2 ย้ำยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง

ศาลอุทธรณ์ปฏิเสธให้ประกัน ‘ไผ่’ หลังยื่นอุทธรณ์ครั้งที่ 2 ย้ำยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง

5 เม.ย.60 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว ‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา  หลังจากเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา ทนายความเข้ายื่นอุทธรณ์ เพื่อคัดค้านคำสั่งศาลจังหวัดขอนแก่นลงวันที่ 21 มี.ค. 60 ที่ไม่อนุญาตให้ประกันตัวจตุภัทร์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, นักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน และขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จำเลยในคดีหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีแชร์บทความ “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” จากเว็บไซต์ข่าว BBC Thai โดยอุทธรณ์ดังกล่าวขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลจังหวัดขอนแก่น  และอนุญาตให้จำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี (อ่านรายละเอียดคำร้องอุทธรณ์ที่นี่)

คำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ระบุว่า พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับศาลอุทธรณ์ภาค 4 เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยมาแล้ว กรณีตามคำร้องของจำเลยไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างพิจารณา คำสั่งศาลชั้นต้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

ทั้งนี้ ทีมทนายความของจตุภัทร์ตัดสินใจยื่นอุทธรณ์ในครั้งนี้ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 2 เนื่องจากเห็นว่า มีเหตุให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งที่เคยไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว เพราะจำเลยได้ให้คำมั่นว่า จะไม่แสดงความคิดเห็นหรือทำกิจกรรมอันทำให้เกิดความเสียหายต่อการพิจารณาคดี อีกทั้งโจทก์ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ทำให้จำเลยไม่สามารถไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ แต่ศาลจังหวัดขอนแก่นยังคงไม่อนุญาตให้ประกัน โดยระบุว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแล้ว นอกจากนี้ ศาลจะเริ่มพิจารณาคดีโดยนัดสืบพยานในช่วงเดือนสิงหาคมและเดือนกันยายนที่จะถึงนี้แล้ว ซึ่งจตุภัทร์จำเป็นต้องปรึกษาหารือกับทนายเพื่อเตรียมพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน

การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยืนยันคำสั่งศาลชั้นต้นไม่ให้ประกัน นอกจากจะเป็นการปฏิเสธสิทธิที่จตุภัทร์จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว ยังเป็นการปฏิเสธสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ตามที่กฎหมายคุ้มครองไว้ด้วย  

คดีนี้ อัยการจังหวัดขอนแก่นเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจตุภัทร์ต่อศาลจังหวัดขอนแก่น เป็นคดีหมายเลขดำที่ 301/2560 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3 และ 14 (3) โดยจตุภัทร์ให้การปฏิเสธ และศาลนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 3-4, 15-17 ส.ค. 60 สืบพยานจำเลยในวันที่ 30-31 ส.ค. และ 5-7 ก.ย. 60 ในชั้นสอบสวน จตุภัทร์เคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นเวลา 18 วัน แต่ถูกถอนประกันจากการที่ยังโพสต์แสดงความเห็นในโซเชียลมีเดีย หลังถูกถอนประกัน ทนายความได้ยื่นประกันจตุภัทร์ รวม 8 ครั้ง และอุทธรณ์รวม 2 ครั้ง แต่ไม่เคยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวอีกเลย ปัจจุบันจตุภัทร์ถูกขังในคดีนี้มาแล้ว 105 วัน ขณะที่ยังไม่มีคำพิพากษาว่าได้กระทำผิด

การปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยควบคุมตัวไว้ระหว่างรอการพิจารณาคดีเป็นเวลานาน  ถูกตั้งคำถามจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมีการประชุมทบทวนการบังคับใช้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในช่วงวันที่ 13-14 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลได้ชี้แจงต่อคณะกรรมการฯ ว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น มีสิทธิต่างๆ เช่นเดียวกับคดีอาญาอื่นๆ รวมถึงการเข้าถึง สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (fair trial) การมีทนาย รวมถึงการขอพระราชทานอภัยโทษ (อ่านเพิ่มเติม“คำถาม” คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน UN  และ คำตอบของรัฐบาลไทย)

ขณะที่สถานการณ์ในประเทศไทยขัดแย้งกับคำชี้แจงของรัฐบาลไทย iLaw ได้รวบรวม สถิติประกันตัวผู้ต้องหาคดี 112 หลังรัฐประหาร พบว่า ภายใต้ยุครัฐบาล คสช. ส่วนใหญ่ไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว โดยในจำนวนคนที่ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 จากการใช้เสรีภาพในการแสดงออก อย่างน้อย 73 คน มีอย่างน้อย 47 คนที่เคยยื่นขอประกันตัว ในชั้นต่างๆ แต่มีเพียง 18 คน ที่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว อีก 28 คน ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว และมีอย่างน้อย 11 คน ที่คดียังไม่สิ้นสุดและยังรอสิทธิประกันตัวอยู่ ซึ่งรวมถึงจตุภัทร์ด้วย

การไม่ได้ประกันตัวในคดี 112 นั้น สาวตรี สุขศรี  คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นไว้ว่า ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการต่อสู้คดี เพราะไม่สามารถออกไปหาพยานหลักฐานภายนอกได้ รวมทั้งไม่ได้ปรึกษาทนายอย่างเป็นการส่วนตัว ทำให้ผู้ที่ถูกดำเนินคดี 112 ส่วนใหญ่ ถูกบังคับโดยอ้อมให้รับสารภาพ (อ่านเพิ่มเติม คำพิพากศาล#1 สาวตรี สุขศรี 112 กับกระบวนการยุติธรรมเชิงบังคับและสร้างความกลัว)

ล่าสุด คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้จัดทำบทสรุปข้อสังเกตทั่วไปหลังการทบทวนสถานการณ์สิทธิฯ ในประเทศไทยภายใต้ ICCPR (ดาวน์โหลดได้ที่นี่) ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้แสดงความกังวลและข้อแนะนำในหลายประเด็น รวมถึงในประเด็นที่มีรายงานว่า มีบุคคลที่ถูกควบคุมตัวและถูกดำเนินคดี 112 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นับแต่เกิดรัฐประหาร พร้อมทั้งย้ำว่า การลงโทษจำคุกบุคคลที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกเป็นการละเมิดต่อ ICCPR ข้อ 19 (บุคคลมีสิทธิในการแสดงความเห็นและเสรีภาพในการแสดงออก)

ก่อนหน้านี้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนคดีของบุคคลทุกคน (รวมทั้งจตุภัทร์) ซึ่งถูกดำเนินคดี 112 รวมทั้งพิจารณาการควบคุมตัวบุคคล ให้เป็นไปตามหลักการเรื่องความเหมาะสม และความสมเหตุสมผล และสอดคล้องกับหลักการเรื่องการสันนิษฐานเบื้องต้นว่าผู้ต้องสงสัยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ขณะที่ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) เรียกร้องรัฐบาลทหารไทยให้ปล่อยตัวจตุภัทร์โดยทันที โดยระบุว่า การดำเนินคดีด้วยกฎหมายหมิ่นฯ กับคนที่เพียงแค่เขียนหรือแชร์ความเห็นลงบนสื่อสังคมออนไลน์ เป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งได้รับการคุ้มครองภายใต้ ICCPR  และการไม่ให้ประกันตัวในคดีเหล่านั้นยังเป็นการละเมิด ICCPR ที่บัญญัติไว้ว่า ไม่ให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องคุมขังบุคคลที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดี (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ไผ่’ ร้อง ไม่ได้สิทธิต่อสู้คดีเต็มที่ ศาลให้ปรึกษาทนาย แต่ยังปฏิเสธให้ประกัน

ปิดคำฟ้องคดี “ไผ่” แชร์ข่าวบีบีซีไทย ขณะศาลยังคงปิดห้องพิจารณาเป็นการลับ

45 วัน คดีไผ่ ดาวดิน แชร์ข่าวบีบีซีไทย

 

X