‘ไผ่’ ร้อง ไม่ได้สิทธิต่อสู้คดีเต็มที่ ศาลให้ปรึกษาทนาย แต่ยังปฏิเสธให้ประกัน

‘ไผ่’ ร้อง ไม่ได้สิทธิต่อสู้คดีเต็มที่ ศาลให้ปรึกษาทนาย แต่ยังปฏิเสธให้ประกัน

ศาลไม่อนุญาตทนายจำเลยเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐาน แต่ให้เวลาปรึกษาทนายในห้องพิจารณา นัดสืบพยานเดือนสิงหา-กันยา ‘ไผ่’ ร้องขอสิทธิประกัน เพื่อสู้คดีเต็มที่ ศาลปฏิเสธเป็นครั้งที่ 8

21 มี.ค. 60 ศาลจังหวัดขอนแก่น นัดพร้อมโจทก์-จำเลย เพื่อตรวจพยานหลักฐานและกำหนดวันนัดสืบพยาน ในคดีที่ ‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ตกเป็นจำเลยในคดีที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีแชร์บทความ “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” ของเว็บไซต์ข่าว BBC Thai บนเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งหลังถูกจับกุมได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน 18 วัน จากนั้นถูกถอนประกัน และไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันอีก รวมเวลาถูกขังมาแล้ว 89 วัน (อ่านความเป็นมาของคดีที่นี่)

 

หน้าห้องพิจารณาที่ 4 แขวนป้าย “พิจารณาลับ” เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา แต่เนื่องจากทนายความยื่นคัดค้านพิจารณาลับ ประชาชนและเพื่อนนักศึกษาของจตุภัทร์ประมาณ 40 คน ที่มาให้กำลังใจจึงเข้าไปนั่งรอในพิจารณาเพื่อฟังคำสั่งศาลว่าจะสั่งพิจารณาลับหรือไม่

ศาลให้ปรึกษาทนาย แต่ ‘ไผ่’ ขอสิทธิประกันตัว

เวลาประมาณ 10.00 น. องค์คณะผู้พิพากษาออกนั่งบัลลังก์ และสั่งให้การพิจารณาในวันนี้ไม่เป็นการลับ เพื่อไม่ให้เกิดการครหา ทนายจำเลยแถลงประกอบคำร้องขอเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานออกไป เนื่องจากนับตั้งแต่จำเลยถูกถอนประกัน ทนายไม่สามารถนั่งคุยกับจำเลยได้อย่างเต็มที่ เรือนจำจัดให้ทนายกับจำเลยได้คุยกันในห้องเยี่ยมญาติ ซึ่งไม่สามารถจะเอาเอกสารให้จำเลยดูได้ ทนายจึงได้ทำหนังสือถึงเรือนจำขอให้จัดสถานที่ให้ทนายได้ปรึกษาหารือกับจำเลยเป็นการส่วนตัว เช่นเดียวกับที่จัดให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำผู้ต้องหา แต่ทางเรือนจำปฏิเสธ จึงขอเลื่อนตรวจพยานหลักฐานในนัดนี้ออกไป และขออนุญาตปรึกษาหารือกับจำเลยที่ศาล ว่าจำเลยจะอ้างพยานบุคคลเป็นใครบ้าง และจะให้ทนายเสาะแสวงหาหลักฐานอะไรมาบ้าง

ศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนการตรวจพยานหลักฐาน โดยชี้แจงว่า หากเลื่อนนัดออกไปจะทำให้กระบวนพิจารณากินเวลาเกิน 6 เดือน โดยที่จำเลยถูกขังมานานแล้ว แต่เปิดโอกาสให้ทนายและจตุภัทร์ได้ปรึกษาหารือข้อเท็จจริงกันอย่างเต็มที่ และหลังจากฝ่ายจำเลยยื่นบัญชีพยานเข้ามาแล้ว ในระหว่างการสืบพยาน ทนายก็สามารถเพิ่มพยานหลักฐานเข้ามาได้ตลอด ไม่ได้จำกัดของสิทธิจำเลยแต่อย่างใด

จตุภัทร์ได้ลุกขึ้นแถลงต่อศาลว่า จะเรียกว่าไม่ได้จำกัดสิทธิจำเลยได้อย่างไร ในเมื่อโจทก์มีเวลา 90 วัน ในการเสาะแสวงหาพยานหลักฐาน มีการประชุมปรึกษาหารือในการเตรียมพยาน แต่ฝ่ายจำเลยแม้ศาลจะให้โอกาสเพิ่มเติมหลักฐานในภายหลังได้ แต่ตัวเขาไม่มีโอกาสออกไปแสวงหาพยานหลักฐาน โดยเฉพาะหลักฐานที่เป็นสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งละเอียดอ่อน เนื่องจากถูกกักขังไว้ มีเวลาวันนี้ได้พบทนายเต็มๆ ไม่กี่ชั่วโมง เขาเสียเปรียบในการหาหลักฐาน เขาขอแค่ศาลให้โอกาสที่เท่าเทียมกัน “ไม่ใช่บอกว่า ให้รีบดำเนินกระบวนพิจารณา เพราะผมถูกขัง แต่ผมไม่ควรถูกขังไว้ในระหว่างพิจารณา ในขณะที่ผมยังเป็นแค่ผู้ถูกกล่าวหา”

ศาลขอให้ไผ่หยุดพูดคำว่า ‘เสียเปรียบ’ เพราะไม่ได้มีไผ่คนเดียวที่ถูกขัง และขณะนี้กำลังพูดเรื่องการตรวจพยานหลักฐาน เรื่องการประกันตัว ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น ตรงนั้นมันเสร็จไปแล้ว ศาลจะพูดขั้นตอนตามกฎหมายต่อไป

จตุภัทร์แถลงโต้แย้งว่า ที่เขาพูดเรื่องประกันตัวเพราะมันเกี่ยวเนื่องกัน เขาไม่ได้ประกันตัว ทำให้ไม่มีโอกาสเตรียมพยานหลักฐานมาสู้คดีอย่างเต็มที่ ทุกอย่างเป็นขั้นตอนตามกฎหมายทั้งหมด ทั้งเรื่องสิทธิในการประกันตัว สิทธิในการสู้คดีอย่างเต็มที่ สิทธิในการได้รับสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ที่ถอนประกันโดยกล่าวว่า เขาเย้ยหยันอำนาจรัฐต่างหากที่ไม่อยู่ในกฎหมาย แต่ขอโอกาสจากศาลให้ประกันตัวอีกครั้ง ครั้งก่อนศาลไม่ได้กำหนดเงื่อนไขอะไร เขาก็ใช้ชีวิตตามปกติ แต่หากศาลให้ประกันโดยกำหนดเงื่อนไขว่า ห้ามเล่นเฟซบุ๊ก ห้ามโพสต์ เขาก็ยินดีปฏิบัติตาม ถ้าเขาได้ประกันแล้วไม่ทำตามเงื่อนไข ก็ยินดีให้ศาลขังอีก หรือหากศาลพิพากษาว่าเขามีความผิด เขาก็ยินดีที่จะถูกขังอีก แต่อย่าขังแบบที่เขาไม่ได้ผิดเงื่อนไข และยังไม่ได้ถูกตัดสินว่ามีความผิด

ทั้งนี้ ศาลได้เลื่อนการตรวจพยานหลักฐานไปเป็นช่วงบ่าย โดยในช่วงเวลา 11.00-13.30 น. ให้จตุภัทร์และทนายได้ตรวจพยานหลักฐานของโจทก์ ซึ่งประกอบด้วย พยานเอกสาร จำนวน 20 แผ่น และพยานวัตถุเป็นแผ่นบันทึกภาพเคลื่อนไหว (ซีดี/ดีวีดี) จำนวน 4 แผ่น ปรึกษาหารือกัน และกำหนดบัญชีพยานมาโดยคร่าวๆ เพื่อให้ศาลกำหนดวันนัดสืบพยานต่อไปได้ ส่วนเรื่องที่จตุภัทร์เรียนต่อศาลให้ประกันโดยกำหนดเงื่อนไขให้เขาปฏิบัติตัว ศาลจะรับไว้พิจารณาและนำไปปรึกษาหารือกันก่อน

และตามที่ทนายความได้ยื่นคำร้องคัดค้านการพิจารณาคดีลับไว้ โดยชี้แจงเหตุผลว่า การได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยและเป็นธรรมเป็นสิทธิโดยพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งจำเลยในคดีอาญาย่อมได้รับความคุ้มครองโดยเสมอกันทุกคดี เพื่อเป็นหลักประกันของการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์ของความยุติธรรมตามกฎหมาย  คดีนี้แม้จะเป็นการกล่าวหาว่ามีการแสดงการดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ซึ่งเนื้อหาบางส่วนของการสืบพยาน ไม่สมควรที่จะให้แพร่หลายออกไปนั้น  จำเลยเห็นว่า โดยข้อเท็จจริงแล้วพยานโจทก์จำเลยทุกปากย่อมไม่ได้เบิกความที่อาจเกิดผลเช่นนั้นไปเสียทั้งหมด จึงขอศาลอนุญาตให้มีการสืบพยานและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้โดยเปิดเผย เว้นเสียแต่ในกรณีที่มีพยานปากใดหรือมีประเด็นข้อเท็จจริงใหม่โดยเฉพาะเกิดขึ้นในกระบวนการสืบพยาน จึงขอให้ศาลได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับในเฉพาะประเด็นนั้นๆ  พยานปากนั้นๆ ตามแต่กรณี ศาลพิเคราะห์แล้วมีคำสั่งว่า ศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้โดยเปิดเผยตามปกติ ยกเว้นบางนัดที่ศาลจะพิจารณาเป็นการลับ ซึ่งศาลจะมีคำสั่งในแต่ละนัดไป

พยานโจทก์ 19 ปาก พยานจำเลย 15 ปาก นัดสืบ ส.ค.-ก.ย.

ช่วงบ่าย ก่อนเริ่มการตรวจพยานหลักฐาน ศาลได้อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 30[1] ออกข้อกำหนดให้ ประชาชนที่เข้าร่วมสังเกตการณ์พิจารณาคดีปิดโทรศัพท์และเอาออกจากห้องพิจารณา ทั้งนี้ เพื่อความสงบเรียบร้อย

โจทก์ได้ยื่นบัญชีพยาน ระบุพยานบุคคล จำนวน 19 ปาก ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ผู้พบเห็นโพสต์ของจำเลยและแจ้งความดำเนินคดี คือ พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี, เจ้าหน้าที่สืบสวน จำนวน 3 ปาก, เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม จำนวน 2 ปาก, พนักงานสอบสวน จำนวน 4 ปาก, นักวิชาการด้าน ICT ผู้ตรวจข้อมูลการจราจรทางอินเตอร์เน็ต และตรวจพิสูจน์แผ่นซีดี/ดีวีดี จำนวน 3 ปาก, นักวิชาการและประชาชนผู้ให้ความเห็นเรื่องความหมายของข้อความ จำนวน 5 ปาก และผู้ติดตามเฟซบุ๊กของจำเลย จำนวน 1 ปาก ใช้เวลาสืบพยานโจทก์ไม่เกิน 5 นัด ในวันที่ 3-4, 15-17 ส.ค. 60

ด้านจำเลยระบุพยานประมาณ 15 ปาก ประกอบด้วย ผู้ที่เคยร่วมทำกิจกรรมทางสังคมกับจำเลย, ผู้ให้ความเห็นด้านระบบคอมพิวเตอร์และเฟซบุ๊ก และผู้ที่ให้ความเห็นต่อถ้อยคำที่ถูกกล่าวหา  โดยทนายจำเลยจะยื่นบัญชีพยานภายใน 15 วัน ใช้เวลาสืบพยานจำเลยไม่เกิน 5 นัด เช่นกัน ในวันที่ 30-31 ส.ค. และ 5-7 ก.ย. 60

‘ไผ่’ ถาม จะขังระหว่างรอสืบพยานอีกหลายเดือนใช่หรือไม่ สุดท้ายไม่ได้ประกันครั้งที่ 8

การสืบพยานจะเริ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม เนื่องจากโจทก์และทนายจำเลยมีเวลาว่างตรงกันเร็วที่สุดในช่วงนั้น ซึ่งเป็นเวลาหลังจากนี้ไปอีกกว่า 4 เดือน ทำให้จตุภัทร์ยกมือขึ้นถามองค์คณะผู้พิพากษาว่า ในระหว่างรอการพิจารณาอีกหลายเดือนนี้ ศาลก็จะขังเขาไว้ใช่หรือไม่ ศาลตอบว่า ใช่ แต่ถ้ามีเหตุเปลี่ยนแปลงอย่างไรให้ยื่นคำร้องเข้ามา ศาลจะพิจารณา

ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อศาล เป็นครั้งที่ 8 หลังจากจตุภัทร์ถูกถอนประกัน โดยวางหลักประกันเป็นเงินสด 700,000 บาท พร้อมทั้งระบุว่า คำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวของศาลอุทธรณ์ภาค 4  มีเหตุผลเพียงว่า จำเลยมีพฤติการณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐ จำเลยจึงให้คำมั่นว่า หากได้รับการปล่อยชั่วคราวจำเลยจะไม่แสดงความคิดเห็นบนสื่อสังคมออนไลน์ หรือแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอันเป็นการเย้ยหยันอำนาจรัฐ, ไม่ทำกิจกรรมใดๆ อันทำให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินคดี, มารายงานตัวต่อศาลทุก 30 วัน และจะมาศาลตามกำหนดนัดที่ศาลสั่งทุกครั้ง หากศาลเห็นว่าจะมีเงื่อนไขหรือข้อกำหนดอื่นใดเพิ่มเติมจากนี้ ขอให้ศาลกำหนดเงื่อนไขอันสมควร และจำเลยยินดีปฏิบัติตามเงื่อนไขทุกประการ นอกจากนี้ กำหนดวันนัดสืบพยานในคดียังอีกหลายเดือน หากขังจำเลยไว้ในระหว่างพิจารณา จะกระทบสิทธิเสรีภาพของจำเลยมากเกินจำเป็น

เวลาประมาณ 16.00 น. ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว ระบุว่า แม้จำเลยจะอ้างเหตุเพื่อปฏิบัติตัว แต่จากพฤติการณ์แห่งคดี เป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง และศาลอุทธรณ์ภาค 4 เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแล้ว

หลังฟังคำสั่งไม่ให้ประกันครั้งที่ 8 จตุภัทร์ยังคงมีสีหน้าปกติ โดยมีเพื่อนนักกิจกรรมเข้าไปกอดให้กำลังใจและอำลาก่อนเจ้าหน้าที่จะควบคุมตัวกลับออกจากห้องพิจารณา รอการคุมตัวกลับทัณฑสถานฯ ต่อไป

ทั้งนี้ ในระหว่างที่จตุภัทร์และทนายความ รวมทั้งประชาชน ยังรอฟังคำสั่งต่อคำร้องขอประกันตัวอยู่ในห้องพิจารณา รปภ.ศาลได้เข้ามาแจ้งว่า หัวหน้าศาลให้ควบคุมตัวจตุภัทร์กลับออกจากห้องพิจารณา แต่ฝ่ายจำเลย รวมทั้งเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ยืนยันว่า องค์คณะผู้พิพากษาในคดีนี้ให้รอฟังคำสั่งอยู่ก่อน รปภ.จึงได้กลับออกไป

มีข้อสังเกตอีกว่า ช่วงเช้าวันนี้มีสารวัตรทหารยืนรักษาการณ์อยู่ในห้องพิจารณาคดี 1 นาย และนอกห้องอีก 1 นาย ซึ่งปกติแล้ว เจ้าหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยในห้องพิจารณาคดี และในอาคารศาลจะเป็นเพียงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลเท่านั้น นอกจากนี้ มีรายงานอีกว่า บริเวณประตูทางเข้าศาลมีกำลังสารวัตรทหาร และ รปภ.ศาล ประจำอยู่ประมาณ 10 นาย ทำการตรวจค้นกระเป๋าของประชาชน และตรวจค้นรถทุกคันที่ผ่านเข้ามาในบริเวณศาล โดยนักศึกษาบางกลุ่มถูกตรวจ พร้อมทั้งถ่ายรูปบัตรประชาชนด้วย

 

เชิงอรรถ

[1] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 ให้ศาลมีอำนาจออกข้อกำหนดใด ๆ แก่คู่ความฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งหรือแก่บุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาลตามที่เห็นจำเป็น เพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาล และเพื่อให้กระบวนพิจารณา ดำเนินไปตามเที่ยงธรรมและรวดเร็ว อำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึงการ สั่งห้ามคู่ความมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในทางก่อความรำคาญ หรือในทางประวิงให้ชักช้าหรือในทางฟุ่มเฟือยเกินสมควร

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครอบครัวผิดหวังอีก ศาลขอนแก่นไม่ให้ประกัน ‘ไผ่ ดาวดิน’ ครั้งที่ 7

‘ไผ่’ ไม่ได้ประกันอีก ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น

ปิดคำฟ้องคดี “ไผ่” แชร์ข่าวบีบีซีไทย ขณะศาลยังคงปิดห้องพิจารณาเป็นการลับ

 

X