ครอบครัวผิดหวังอีก ศาลขอนแก่นไม่ให้ประกัน ‘ไผ่ ดาวดิน’ ครั้งที่ 7

ครอบครัวผิดหวังอีก ศาลขอนแก่นไม่ให้ประกัน ‘ไผ่ ดาวดิน’ ครั้งที่ 7

ขณะที่กรุงเจนีวา กำลังมีการประชุมทบทวนสถานการณ์สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในประเทศไทยตามกติกา ICCPR ศาลขอนแก่นยังไม่ให้ประกัน ‘ไผ่ ดาวดิน’ เป็นครั้งที่ 7 หลังครอบครัวหวังให้ไผ่ได้ออกมาสอบ ซำ้ทนายถูกทัณฑสถานฯ ปฏิเสธไม่ให้เข้าปรึกษาคดีใกล้ชิดเป็นส่วนตัว ทนายชี้ โอกาสไผ่ออกมาสู้คดีดูหริบหรี่

13 มี.ค.60 ทนายความยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่น ขอปล่อยตัวชั่วคราว ‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน และขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จำเลยในคดีหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คดีหมายเลขดำที่ 301/2560 จากกรณีแชร์ข่าว “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” จากเว็บข่าว BBC Thai 

นับเป็นการยื่นประกันครั้งที่ 7 โดยก่อนหน้านี้ หลังจากจตุภัทร์ถูกศาลจังหวัดขอนแก่นถอนประกัน จากการที่ยังแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ทนายความและครอบครัวได้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวจตุภัทร์ในระหว่างสอบสวนมาแล้ว 5 ครั้ง และขอให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณา หลังอัยการฟ้องคดีแล้วอีก 1 ครั้ง ซึ่งศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งไม่อนุญาตมาตลอด รวมทั้งล่าสุด ทนายความได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 คัดค้านคำสั่งศาลจังหวัดขอนแก่นลงวันที่ 22 ก.พ.60 ที่ไม่อนุญาตให้ประกันตัวจตุภัทร์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้น ไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว โดยระบุเหตุผลว่า จำเลยมีแนวโน้มที่จะแสดงความเห็นในสื่อสังคมออนไลน์เป็นเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐโดยไม่เกรงกลัว และต่อต้านกฎหมายบ้านเมือง ซ้ำ ซึ่งจะทำความเสียหายต่อรัฐอีก (อ่านรายละเอียดการยื่นอุทธรณ์และคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่นี่)

ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 119 ทวิ ซึ่งบัญญัติไว้ตอนท้ายว่า คําสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวยืนตามศาลชั้นต้นให้เป็นที่สุด แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิที่จะยื่นคําร้องให้ปล่อยชั่วคราวใหม่ ได้รับรองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยให้สามารถยื่นคำร้องขอประกันตัวคราวใหม่ได้อีก โดยไม่ผูกพันกับคำสั่งไม่ให้ประกันของศาลอุทธรณ์

การยื่นขอประกันตัวในครั้งนี้ ทนายและครอบครัวได้วางหลักประกันเป็นเงินสด 700,000 บาท ตามที่ได้ยื่นประกันในครั้งก่อน และนอกจากจะชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการรวบรวมพยานหลักฐานในการต่อสู้คดีนี้ และคดีอันเกิดจากการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตคดีอื่นๆ อีก 2 คดี รวมทั้งจำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนีแล้ว ยังได้ชี้แจงเหตุจำเป็นในการสอบวิชาสุดท้าย เพื่อสำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรี เนื่องจากจำเลยได้ลงทะเบียนสอบวิชาคอมพิวเตอร์อีกครั้งและมีกำหนดสอบในวันที่ 17 มี.ค. 60                               

นอกจากนี้ คำร้องขอประกันตัวยังได้อ้างถึงการประชุมทบทวนการบังคับใช้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) รอบของประเทศไทย ที่นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในวันที่ 13 – 14 มี.ค. นี้ ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee) ได้ส่งประเด็นคำถามเพิ่มเติมต่อรัฐบาลไทยโดยมีประเด็นคำถามที่เกี่ยวเนื่องกับการควบคุมตัวบุคคลในความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ระหว่างรอการพิจารณาคดีเป็นเวลานานและถูกปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวอย่างเป็นระบบ โดยรัฐบาลได้ชี้แจงต่อคณะกรรมการฯ ว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น มีสิทธิต่างๆ เช่นเดียวกับคดีอาญาอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม นายจักรพงศ์ นรแมนสรวง ผู้พิพากษาเวรชี้ ศาลจังหวัดขอนแก่น มีคำสั่งในเวลาประมาณ 16.15 น. ไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวเช่นเดิม โดยระบุว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นเคยมีคำสั่งไม่อนุญาต และศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้น เมื่อพิเคราะห์เหตุตามคำร้องประกอบพฤติการณ์อื่นในคดีแล้ว กรณียังไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

ก่อนหน้าการยื่นประกัน ในช่วงเช้าคณะทนายความของจตุภัทร์ได้ยื่นหนังสือถึงผู้อำนวยการทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น เพื่อขอพบนายจตุภัทร์เป็นการส่วนตัวภายในทัณฑสถานฯ เนื่องจากมีความจำเป็นต้องปรึกษาหารือกับนายจตุภัทร์เกี่ยวกับแนวทางในการต่อสู้คดี  โดยทนายความทำงานเป็นคณะทำงาน หากเยี่ยมในห้องเยี่ยมทนายความปกติ ซึ่งใช้โทรศัพท์สื่อสารกันได้ทีละคน จะทำให้ไม่อาจปรึกษาหารือได้อย่างเต็มที่  ขณะที่ทัณฑสถานฯ จัดสถานที่ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบปากคำผู้ต้องหาหรือจำเลยในทัณฑสถานฯ ได้ อีกทั้งกรณีของนายจตุภัทร์  ทางทัณฑสถานฯ ก็ได้อนุญาตให้เจ้าหน้าที่จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้าเยี่ยมภายในทัณฑสถานฯ มาโดยตลอด  คณะทนายความของนายจตุภัทร์  จึงขอให้ทัณฑสถานฯ จัดสถานที่เพื่อให้ทนายความมีสิทธิและโอกาสได้พบกับจำเลย เช่นเดียวกับพนักงานสอบสวน เพื่อความเสมอภาคกันในกระบวนการยุติธรรม แต่ได้รับคำตอบปฏิเสธจากผู้อำนวยการทัณฑสถานฯ

กฤษฎางค์ นุสจรัส หัวหน้าคณะทนายความได้ให้ความเห็นว่า การที่ทัณฑสถานฯ ปฏิเสธที่จะจัดสถานที่ให้คณะทนายได้ปรึกษาหารือกับไผ่เป็นการส่วนตัว โดยให้เยี่ยมแบบปกติเหมือนกับญาติผู้ต้องขัง ซึ่งต้องคุยผ่านโทรศัพท์ ที่สามารถรับฟังได้จากบุคคลที่สาม ทำให้ทนายยังไม่ได้คุยกับไผ่แบบตามลำพังอย่างเต็มที่  และเป็นไปไม่ได้ที่จะตรวจสำนวนต่างๆ ที่จะใช้สู้คดี วันที่ 21 มี.ค. ที่จะถึงนี้ ซึ่งเราต้องนำพยานหลักฐานไปโต้แย้งกับอัยการ ไผ่ก็คงไม่พร้อม พยานหลักฐานต่างๆ ก็คงเตรียมไม่ทัน

ทนายความยังให้ความเห็นเรื่องที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันเป็นครั้งที่ 7 ว่า โทษสูงสุดของคดีนี้คือ 15 ปี ยังไม่นับว่าเป็นโทษสูงเมื่อเทียบกับคดีอื่น คดีฆ่าคนตายที่มีโทษร้ายแรงกว่า ศาลขอนแก่นหรือศาลที่อื่นก็ยังให้ประกัน อีกทั้งคดีของไผ่ก็ยังไม่ได้มีการตัดสินว่าผิด ศาลขอนแก่นก็เคยให้ประกัน แต่มาถอนประกัน และหลังจากนั้นก็ไม่ให้ประกันอีกเลย แม้เราจะให้คนที่ได้รับความเชื่อถือจากสังคมมายืนยันว่าไผ่จะไม่หลบหนี ไผ่ก็เป็นเพียงนักศึกษานิติศาสตร์ ไม่ได้เป็นนักเลง นักเลงใหญ่ศาลก็ให้ประกันมาแล้ว คดีที่ศาลชั้นต้นตัดสินแล้วศาลก็ยังให้ประกัน แต่คดีของไผ่ไม่เคยถูกตัดสินแม้แต่คดีเดียว ทำไมศาลถึงไม่ให้ประกัน ทำให้โอกาสที่ไผ่จะออกมาต่อสู้คดีมันก็ดูริบหรี่เต็มที

เราเห็นว่าการที่ไผ่ไม่ได้ประกันตัวมันขัดกับกฎหมายที่เราใช้อยู่ ขัดกับสิ่งที่รัฐบาลชี้แจงกับต่างประเทศว่า คดี 112 ก็ใช้หลักเดียวกันกับคดีอาญาอื่นๆ ในการอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว หลักการมันไม่ได้อยู่ตรงที่ว่าไผ่ต้องออกมาสอบ แต่มันอยู่ตรงที่ว่า คนที่แค่ถูกกล่าวหาจะต้องไม่ถูกลงโทษไปก่อน ต้องให้ประกันตัว แต่ทุกวันนี้เท่ากับว่าไผ่ถูกลงโทษไปก่อนแล้ว ถ้าศาลตัดสินยกฟ้อง ใครจะรับผิดชอบสิ่งที่เขาได้รับ ขนาดไผ่เป็นคนทำงานทางสังคม เป็นคนที่รู้จักกันทั่วประเทศ ยังไม่ได้ประกัน ถ้าเป็นชาวบ้านตาสี ตาสาจะทำยังไง กฤษฎางค์กล่าวทิ้งท้าย

การปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยควบคุมตัวไว้ระหว่างรอการพิจารณาคดีเป็นเวลานาน  ถูกตั้งคำถามจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งกำลังมีการประชุมทบทวนการบังคับใช้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในช่วงวันที่ 13-14 มี.ค.นี้ โดยการกระทำหรือดำเนินการในลักษณะดังกล่าวของรัฐไทย มีแนวโน้มว่าเป็นไปในทางไม่สอดคล้องกับ ICCPR โดยเฉพาะในข้อ 9  “ผู้ถูกจับกุมหรือควบคุมในข้อหาทางอาญาจะต้องได้รับการปล่อยตัวไป มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่า จะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดีฯ” (อ่านรายละเอียด “คำถาม” คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน UN และ “คำตอบ” รัฐบาลไทย ก่อนเวทีทบทวน ICCPR ที่เจนีวา)

ทั้งนี้ ในการขอประกันตัวหรือคัดค้านการฝากขังในระหว่างการสอบสวน ทนายความ รวมทั้งตัวจตุภัทร์เอง ได้หยิบยก ICCPR  ที่ประเทศไทยได้เป็นภาคีและมีผลผูกพันให้ทุกองค์กรภาครัฐต้องปฏิบัติตามกติกาดังกล่าว ซึ่งได้รับรองสิทธิของผู้ที่ถูกดำเนินคดี ทั้งสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด และสิทธิในการรับการปล่อยตัวชั่วคราว แต่ศาลไม่ได้หยิบยกขึ้นมาประกอบการพิจารณาให้อนุญาตให้ประกันเลย

 

X