‘ไผ่’ ไม่ได้ออกไปสอบ ศาลฏีกาให้คำสั่งศาลอุทธรณ์ไม่ปล่อยเป็นที่สุด ขณะศาลขอนแก่นให้ฝากขัง-ไม่ให้ประกันอีก

‘ไผ่’ ไม่ได้ออกไปสอบ ศาลฏีกาให้คำสั่งศาลอุทธรณ์ไม่ปล่อยเป็นที่สุด ขณะศาลขอนแก่นให้ฝากขัง-ไม่ให้ประกันอีก

ศาลฎีกามีคำสั่งยกฏีกาของผู้ต้องหา ให้คำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ปล่อย ‘ไผ่’ เป็นที่สุด ขณะศาลขอนแก่นอนุญาตให้ฝากขังครั้งที่ 4 หลังไต่สวน ‘ลับ’ ตามด้วยไม่ให้ประกัน แม้ยกเหตุผลจำเป็นต้องไปสอบ อ้างไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งศาลอุทธรณ์ เป็นผลให้ไผ่ไม่ได้ไปสอบเพื่อจบปริญญาตรี  ศูนย์ทนายความฯ ชี้สิทธิของผู้ต้องหาที่บัญญัติไว้ในกฎหมายไม่เกิดขึ้นจริง

pai6

ที่มาภาพ เฟซบุ๊ก Piyarat Chongthep

6 ม.ค.60 ศาลจังหวัดขอนแก่นนัดเบิกตัวนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ‘ไผ่ ดาวดิน’ ผู้ต้องหาในความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีแชร์ข่าวพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์ข่าว BBC ไทย ที่ถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น มาที่ศาลจังหวัดขอนแก่นเพื่อฟังคำสั่งศาลฎีกา หลังจากเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.59 ทนายความของจตุภัทร์ยื่นฎีกาที่ศาลจังหวัดขอนแก่น เพื่อคัดค้านคำสั่งของศาลจังหวัดขอนแก่นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่มีคำสั่งให้ถอนประกันจตุภัทร์  ต่อศาลฎีกา (อ่านข่าวเดิมที่นี่ และประมวลคดีก่อนหน้านี้ที่นี่)

นอกจากนี้ ศาลมีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้องฝากขังครั้งที่ 4 หลังจากเมื่อวันที่ 5 ม.ค. ที่ผ่านมา พ.ต.ท.จิรัฐเกียรติ ศรวิเศษ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น เข้ายื่นคำร้องขอฝากขังนายจตุภัทร์ ต่อศาลจังหวัดขอนแก่น เป็นครั้งที่ 4 มีกำหนด 12 วัน นับตั้งแต่วันที่ 9 – 20 ม.ค.60 ขณะที่จตุภัทร์ได้ยื่นคำร้องขอให้มีการไต่สวนคำร้องขอฝากขัง แทนการอ่านคำร้องฝากขังและสอบถามผู้ต้องหาด้วยวิธีประชุมทางจอภาพ (video conference) ดังเช่นในการฝากขังครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.59

เวลาประมาณ 10.00 น. เจ้าหน้าที่นำตัวนายจตุภัทร์จากห้องขังใต้ศาลขึ้นห้องพิจารณา ขณะที่หน้าห้องพิจารณาคดีแขวนป้าย ‘พิจารณาลับ’ ทนายความผู้ต้องหาจึงยื่นคำร้องคัดค้านกระบวนพิจารณาลับ เนื่องจากตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญา การพิจารณาคดีต้องกระทำโดยเปิดเผย อีกทั้งเนื้อหาในการพิจารณาครั้งนี้เป็นเพียงประเด็นเรื่องการฝากขัง และความจำเป็นที่ต้องควบคุมไว้หรือไม่ ไม่ได้พาดพิงประเด็นแห่งคดี ซึ่งเป็นข้อหาความมั่นคง อันเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำสั่งยืนยันคำสั่งเดิม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177[1], 15

จากนั้น ศาลได้อ่านคำสั่งศาลฎีกา ลงวันที่ 4 ม.ค. 60 ซึ่งยกคำร้องของผู้ต้องหา เนื่องจากคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ถึงที่สุดแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 199 ทวิ[2] โดยมีรายละเอียดคำสั่ง ดังนี้

พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราวในระหว่างสอบสวน ต่อมา ผู้ต้องหากระทำผิดเงื่อนไขของศาลชั้นต้นในการปล่อยชั่วคราว ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวน เมื่อผู้ต้องหาอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาชั่วคราวในระหว่างสอบสวน และเห็นว่า คำสั่งศาลชั้นต้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้องนั้น การที่ผู้ต้องหาฎีกาขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่เพิกถอนคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวน และศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวนนั้น ถือได้ว่าผู้ต้องหามีความมุ่งหมายขอให้ศาลฎีกาทบทวนคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาอีกครั้ง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาระหว่างสอบสวน คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 119 ทวิ ยกคำร้อง

ต่อมา ในวันเดียวกัน ศาลไต่สวนคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 4 โดยมี พ.ต.ท.จิรัฐเกียรติ ผู้ยื่นคำร้องเข้าแถลงเหตุผลในการขอฝากขัง โดยอ้างว่า เนื่องจากต้องสอบสวนพยานบุคคลบางส่วน คือ เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ, พยานบางส่วนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และองค์กรภาคประชาชน รวมทั้งองค์กรนักกฎหมาย อยู่ระหว่างการประสานการเข้าให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวน และเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนยังสืบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงต่อเนื่องไม่เสร็จสิ้น

พนักงานสอบสวนตอบคำถามค้านของทนายผู้ต้องหาว่า ในการขอฝากขังครั้งที่ 3 ที่อ้างว่า ต้องสอบพยาน 4 ปาก ได้สอบสวนไปแล้ว 3 ปาก คงเหลืออีก 1 ปาก แต่ระหว่างสอบสวนทราบว่า มีพยานอื่นเพิ่มเติมที่จะต้องสอบปากคำอีก 4 ปาก จึงเหลือพยานที่ต้องสอบเพิ่มเติม 5 ปาก พ.ต.ท.จิรัฐเกียรติ ยังอ้างเหตุผลในการที่ต้องฝากขังผู้ต้องหาไว้ก่อนว่า เนื่องจากในครั้งก่อนที่ผู้ต้องหาได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหายังมีการเคลื่อนไหวในพฤติการณ์ทำนองเดิม และอาจเป็นอุปสรรคในการสอบสวน รวมทั้งได้คัดค้านการประกันตัวไว้ด้วย เนื่องจากเป็นคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคง มีอัตราโทษสูง เกรงว่า ผู้ต้องหาจะหลบหนี และไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือกลุ่มบุคคลที่มีการแสดงความเห็นทางสื่อสังคมออนไลน์ และก่อเหตุร้ายประการอื่น แต่หากผู้ต้องหาได้ปล่อยชั่วคราวแล้วหยุดโพสต์ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ก็อาจไม่เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน

ทั้งนี้ ทนายความของจตุภัทร์ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังครั้งที่ 4 ประกอบการไต่สวนด้วย โดยระบุว่า  ไม่มีเหตุจำเป็นจะต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ระหว่างการสอบสวน เนื่องจากผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และไม่มีพฤติการณ์ใด ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนและการฟ้องคดี อีกทั้งผู้ต้องหาไม่ทราบว่าพยานบุคคลที่พนักงานสอบสวนอ้างนั้นเป็นใคร จึงไม่อาจไปยุ่งเหยิงได้ ที่พนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา  โดยอ้างว่าเกี่ยวกับคดีความมั่นคง แต่คดีความผิดเช่นเดียวกันนี้ศาลก็อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้หลายกรณี  อีกทั้ง คดีนี้ผู้ต้องหาเพียงแชร์ข่าวจากเว็บไซต์ข่าวบีบีซี  ไม่ใช่การแสดงความเห็นด้วยตนเอง และผู้ต้องหาได้ให้ความร่วมมือในกระบวนการยุติธรรมด้วยดีมาโดยตลอด ดังนั้น  แม้จะเป็นการดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง  แต่ศาลอาจใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้ ส่วนที่อ้างว่าผู้ต้องหายังแสดงความเห็นในสื่อสังคมออนไลน์นั้น ผู้ต้องหาไม่ได้กระทำความผิดใด ๆ และไม่มีการแสดงความเห็นอันจะถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดซ้ำอีก  ทั้งไม่ได้ก่อความเสียหายต่อสาธารณะหรือต่อสังคม

ที่สำคัญ ผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาชั้นปีสุดท้าย  มีกำหนดจะสอบปลายภาควิชาคอมพิวเตอร์ในวันที่ 17 และ 18 ม.ค. 60  ซึ่งเป็นวิชาสุดท้ายเพื่อสำเร็จการศึกษา หากศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาอีก 12  วัน  จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและตัดโอกาสทางการศึกษาของผู้ต้องหา ทำให้ต้องได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรง  ทั้งที่ผู้ต้องหาเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น

จตุภัทร์ยังได้แถลงว่า  ผู้ต้องหายังคงเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา ศาลยังไม่ได้พิพากษาว่ากระทำผิด จึงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่ประเทศไทยเป็นภาคี และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

หลังเสร็จสิ้นการไต่สวนคำร้องฝากขัง ศาลมีคำสั่งอนุญาตฝากขัง 12 วัน ตามที่พนักงานสอบสวนขอ เนื่องจากการสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ ประกอบกับเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แต่กำชับให้เร่งสอบสวนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

ผลของคำสั่งอนุญาตฝากขัง ทำให้จตุภัทร์จะไม่สามารถไปสอบในวันที่ 17-18 ม.ค. ที่จะถึงนี้ได้ ทนายความและครอบครัวจึงยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวอีกครั้ง เป็นครั้งที่ 4 โดยวางหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 500,000 บาท และชี้แจงเหตุผลประกอบว่า ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลแต่อย่างใด การที่ผู้ต้องหาไม่ลบโพสต์และยังคงแสดงความเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ เนื่องจากผู้ต้องหาเข้าใจว่ายังมีสิทธิในการแสดงความเห็น ซึ่งหากศาลเห็นว่า การกระทำดังกล่าวก่อความเสียหาย หรือกระทบต่อการสอบสวน ศาลอาจกำหนดเงื่อนไขในการอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยผู้ต้องหาจะปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ประกอบกับพนักงานสอบสวนได้เบิกความในการไต่สวนคำร้องฝากขังแล้วว่า หากผู้ต้องหาไม่แสดงความเห็นทางสื่อสังคมออนไลน์ก็จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน นอกจากนี้ ผู้ต้องหามีความจำเป็นต้องไปสอบ หากไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว จะกระทบต่ออนาคตทางการศึกษาอย่างร้ายแรง

อย่างไรก็ตาม ศาลยังคงไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว โดยมีคำสั่งว่า ไม่ปรากฏเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยกคำร้อง

เป็นเหตุให้จตุภัทร์ยังคงถูกขังที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นอีก 12 วัน และไม่มีโอกาสออกมาสอบในวันที่ 17-18 ม.ค.นี้

ต่อกรณีที่ศาลจังหวัดขอนแก่นไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจตุภัทร์ในระหว่างสอบสวน เพื่อให้จตุภัทร์ได้ออกมาสอบวิชาสุดท้ายของหลักสูตรปริญญาตรี โดยอ้างถึงคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมาแล้ว แม้จตุภัทร์และทีมทนายความจะได้ชี้แจงเหตุผล ความจำเป็น ตลอดจนหลักกฎหมายและหลักการสิทธิมนุษยชน ทำให้อาจส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่ออนาคตทางการศึกษาของจตุภัทร์นั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีความเห็นทางกฎหมายว่า การอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเป็นดุลพินิจของศาล ที่จะต้องพิจารณาตามหลักกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งโดยหลักจะต้องอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่นน่าเชื่อถือเพียงพอตามที่กฎหมายระบุไว้เท่านั้น และแม้ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว แต่หากมีการยื่นคำร้องใหม่ ศาลจังหวัดขอนแก่นก็มีดุลพินิจที่จะพิจารณาให้ปล่อยตัวชั่วคราวอย่างเป็นอิสระ ไม่ผูกพันให้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเหมือนคำสั่งเดิมของศาลอุทธรณ์แต่อย่างใด ดังปรากฏในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 ทวิ ซึ่งบัญญัติไว้ตอนท้ายว่า คําสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวยืนตามศาลชั้นต้นให้เป็นที่สุด แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิที่จะยื่นคําร้องให้ปล่อยชั่วคราวใหม่ ซึ่งหากกฎหมายรับรองสิทธิในการยื่นประกันคราวใหม่ แต่ศาลยังยึดถือคำสั่งเดิมที่ได้เคยสั่งไว้แล้ว โดยไม่ได้ใช้ดุลพินิจพิจารณาเหตุผลใหม่ ก็จะทำให้สิทธิของผู้ต้องหาที่บัญญัติไว้ในกฎหมายไม่มีผลในทางปฏิบัติ

 

ข้อมูลประกอบ

[1] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 ศาลมีอำนาจสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ เมื่อเห็นสมควรโดยพลการหรือโดยคำร้องขอของคู่ความฝ่ายใด แต่ต้องเพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรม อันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันความลับอันเกี่ยวกับ ความปลอดภัยของประเทศมิให้ล่วงรู้ถึงประชาชน

[2] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 ทวิ ในกรณีที่ศาลสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ร้องขอมีสิทธิยื่นคําร้องอุทธรณ์คําสั่งนั้นได้ดังต่อไปนี้

(1) คําสั่งของศาลชั้นต้น ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์

(2) คําสั่งของศาลอุทธรณ์ ให้อุทธรณ์ไปยังศาลฎีกา

ให้ศาลชั้นต้นที่รับคําร้องอุทธรณ์คําสั่งรีบส่งคําร้องดังกล่าวพร้อมด้วยสํานวนความ หรือสําเนาสํานวนความเท่าที่จําเป็นไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณีเพื่อพิจารณาและมีคําสั่งโดยเร็ว

คําสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวยืนตามศาลชั้นต้นให้เป็นที่สุด แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิที่จะยื่นคําร้องให้ปล่อยชั่วคราวใหม่

X