15 ส.ค. 60 ‘ไผ่ ดาวดิน’ หรือ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักศึกษา/นักกิจกรรม ซึ่งตกเป็นจำเลยในคดีที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีแชร์บทความ “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” จากเว็บข่าวบีบีซีไทยลงบนเฟซบุ๊คส่วนตัว ตัดสินใจเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ ศาลจังหวัดขอนแก่นอ่านพิพากษาลับ ลงโทษจำคุก 5 ปี สารภาพลดโทษครึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปี 6 เดือน
เดิมวันนี้ศาลฯ นัดสืบพยานโจทก์ต่อจากเมื่อวันที่ 3-4 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยยังเหลือพยานฝ่ายโจทก์อีก 14 ปาก แต่ก่อนเริ่มการสืบพยาน แม่จตุภัทร์ได้ขอพูดคุยกับจตุภัทร์เป็นการส่วนตัว หลังจากนั้น จตุภัทร์ได้แถลงต่อศาลขอเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ ศาลจึงนัดอ่านคำพิพากษาในช่วงบ่าย
ผู้พิพากษาวิเนตร มาดีและเพิ่มพูน พิศาลธุรกิจ ก่อนเริ่มอ่านคำพิพากษาศาลมีคำสั่งพิพากษาลับ และศาลอ่านคำพิพากษาเพียงโทษของจำเลยโดยไม่ได้อ่านคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี โดยระบุว่าจำเลยมีความผิดตาม ม.112 และ พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14(3) เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนัก ให้จำคุก 5 ปี จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 2 ปี 6 เดือน นับโทษต่อจากคดีอาญาของศาล มทบ.23
คดีนี้เป็นอีกคดีที่ศาลยุติธรรมที่มีการพิพากษาลับในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (อ่านคดีของปิยะ ที่นี่) อย่างไรก็ตามแม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 จะให้ศาลมีอำนาจสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ แต่การพิพากษาลับไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 188 ซึ่งระบุว่า “คำพิพากษาหรือคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ได้อ่านในศาลโดยเปิดเผยเป็นต้นไป”
อีกทั้งศูนย์ทนายความฯ ยังมีข้อสังเกตอีกว่าการอ่านคำพิพากษาของศาล ศาลอ่านเพียงเเต่โทษเท่านั้น เเต่มิได้กล่าวถึงคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีว่าการกระทำของจำเลยในประการใดที่มีผลเป็นการดูหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ฯ ตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แม้ว่าจำเลยจะรับสารภาพก็ตาม ซึ่งประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 และ 187 ได้ระบุรายละเอียดที่ควรมีในคำพิพากษาเอาไว้ ซึ่งทนายความของจตุภัทร์ได้ยื่นคำร้องขอคัดถ่ายคำพิพากษาฉบับเต็มแต่จะต้องมารับในภายหลัง
ตั้งแต่จตุภัทร์ถูกดำเนินคดีจากเหตุดังกล่าวนี้ ตลอดกระบวนการจตุภัทร์ถูกกดดันวิธีการต่างๆ มาโดยตลอด จึงเป็นอุปสรรคในการต่อสู้คดีเป็นอย่างมาก เช่น
ศาลให้ฝากขังระหว่างการสอบสวน โดยครอบครัวได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีหลักทรัพย์เป็นเงิน 400,000 บาท ศาลอนุญาต แต่ 18 วันให้หลัง ศาลมีคำสั่งถอนประกันจากการที่จตุภัทร์แสดงความเห็นต่อกระบวนการยุติธรรมในเฟซบุ๊กของตน และศาลยังอ้างด้วยว่าจตุภัทร์ไม่ลบโพสต์ที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีออกแม้ว่าโพสต์นั้นจะเป็นหลักฐานในคดีก็ตาม จนถึงตอนนี้จตุภัทร์ถูกขังรวมเป็นระยะเวลากว่า 7 เดือนแล้ว ทนายและครอบครัวทั้งคัดค้านฝากขังศาลยกคำร้องคัดค้านทุกครั้ง และยังมีการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวถึง 10 ครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาตมาตลอด รวมทั้งยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ปล่อยชั่วคราว 2 ครั้ง แต่ก็ไม่เป็นผล
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 107 กำหนดว่า “ผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว” หรือตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งในข้อ 9 (3) บัญญัติให้ “ผู้ถูกจับกุมหรือควบคุมในข้อหาทางอาญาได้รับการปล่อยตัวไป มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดีฯ” หรือแม้แต่ “สิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด” ตามกติการะหว่างประเทศฯ ข้อ 14 (2) ซึ่งเท่ากับต้องปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดไว้ก่อน
อีกทั้งศาลยังเคยมีคำสั่งพิจารณาลับถึง 5 ครั้ง ตั้งแต่การไต่สวนถอนประกัน ศาลก็มีคำสั่งพิจารณาคดีลับโดยอ้างเหตุผลเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง และเป็นคดีที่มีโทษสูง แม้ว่าในการไต่สวนจะไม่มีการกล่าวถึงเนื้อหาในคดีเลยก็ตาม และครั้งล่าสุดก่อนการสืบพยานศาลได้มีคำสั่งพิจารณาลับตลอดทั้งคดี นอกจากนั้นยังสั่งห้ามเผยแพร่เนื้อหาการสืบพยานอีกด้วย
ทนายความยังพบกับความยากลำบากในการให้ความช่วยเหลือแก่จตุภัทร์ในการต่อสู้คดีอีกด้วยจากการที่ในช่วงฝากขังตำรวจศาลได้รีบนำตัวจตุภัทร์กลับเรือนจำทันทีหลังเสร็จสิ้นการพิจารณาคดี และยังพยายามไม่ให้จตุภัทร์ได้พบกับเพื่อนและครอบครัวที่มารอให้กำลังใจที่ศาลโดยการนำตัวขึ้นห้องพิจารณาคดีทันทีหรือแม้แต่เมื่อพิจารณาคดีเสร็จก็ถูกแยกตัวจากผู้ต้องขังอื่นๆ ส่งกลับเรือนจำก่อน(อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับอุปสรรคต่างๆ ที่จตุภัทร์ต้องเจอระหว่างถูกดำเนินคดีได้ ที่นี่)
คดีนี้นอกจากตัวจตุภัทร์เองที่ถูกกดดันด้วยวิธีการต่างๆ ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีโดยตรงอย่างนักกิจกรรมที่มาให้กำลังใจจตุภัทร์ก็ยังถูกดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาลจากการทำกิจกรรมที่ทางเท้าบริเวณด้านหน้าศาลอีกด้วย(อ่าน ที่นี่)
ส่วนตัวจตุภัทร์เองนอกจากคดีนี้แล้วนอกจากนี้ยังมีคดีที่อยู่ในระหว่างพิจารณา 1 คดี คือคดีชูป้ายในโอกาสครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร ของศาล มทบ.23 ซึ่งสืบพยานไปได้เพียง 2 ปาก และยังมีคดีประชามติ จากกรณีแจกเอกสารรณรงค์ประชามติ ของศาลจังหวัดภูเขียว ที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว ซึ่งเมื่อคดี 112 ของศาลจังหวัดขอนแก่นนี้แล้วเสร็จ กระบวนการพิจารณาคดีของศาลจังหวัดภูเขียวคงต้องดำเนินต่อไป โดยพนักงานอัยการจังหวัดภูเขียวและทนายจำเลยจะต้องแถลงต่อศาลเพื่อให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ หลังจากนั้นศาลก็จะนัดตรวจพยานหลักฐาน และสืบพยานต่อไป
อีกทั้งมีคดี ‘พูดเพื่อเสรีภาพ’ ซึ่ง ‘ไผ่’ และคนอื่นๆ อีก 10 คน ถูกแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 ร่วมกันชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จากกรณีจัดเวทีรณรงค์ประชามติที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น คดีนี้ยังอยู่ในระหว่างสอบสวน โดยพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้อง และนัดส่งสำนวนให้อัยการศาล มทบ.23 จ.ขอนแก่น พิจารณาสั่งคดีเมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่ผู้ต้องหาบางคนไม่ได้รับหมายนัด จึงเลื่อนส่งสำนวนออกไปก่อน โดยยังไม่ได้นัดหมายวัน
.
อ่านความเป็นมาของคดีและข่าวที่เกี่ยวข้อง:
กระบวนการยุติธรรมกับการจำกัดเสรีภาพ ‘ไผ่ ดาวดิน’: ประมวลคดี 112 ‘ไผ่’ ก่อนถึงวันสิ้นปี 59
สำรวจกระแส ปล่อย ‘ไผ่’ สะท้อนการดำเนินคดี ถอนประกัน และไม่ให้ประกันที่ไม่เป็นธรรม
เปิดคำฟ้องคดี “ไผ่” แชร์ข่าวบีบีซีไทย ขณะศาลยังคงปิดห้องพิจารณาเป็นการลับ
‘ไผ่’ ร้อง ไม่ได้สิทธิต่อสู้คดีเต็มที่ ศาลให้ปรึกษาทนาย แต่ยังปฏิเสธให้ประกัน
“ไผ่ ดาวดิน” ยังไร้เสรีภาพหลังยื่นประกันครั้งที่ 10 ศาลไม่อนุญาต