45 วัน คดีไผ่ ดาวดิน แชร์ข่าวบีบีซีไทย

45 วัน คดีไผ่ ดาวดิน แชร์ข่าวบีบีซีไทย

45days

‘ไผ่ ดาวดิน’ หรือนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักศึกษาและนักกิจกรรมที่เริ่มเป็นที่รู้จักจากการต่อสู้ร่วมกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการโครงการพัฒนาต่าง ๆ ในภาคอีสาน ถูก พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี นายทหารสังกัดมณฑลทหารบกที่ 23 แจ้งความจับในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์โดยการโฆษณา จากการแชร์ข่าวพระราชประวัติ ร.10 ของสำนักข่าวบีบีซีไทย และคัดลอกข้อความบางส่วนจากข่าวมาโพสต์บนเฟซบุ๊ก

ก่อนหน้านี้ ไผ่และเพื่อนเคยชู 3 นิ้วพร้อมใส่เสื้อที่เรียงกันเป็นข้อความว่า “ไม่เอารัฐประหาร” ปีต่อมาก็จัดกิจกรรมรำลึก 1 ปีรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น ก่อนจะร่วมกับกลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมในนามขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ชุมนุมต่อต้าน คสช. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ปีต่อมา จัดกิจกรรมพูดเพื่อเสรีภาพฯ เพื่อรณรงค์ประชามติ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก่อนจะไปแจกเอกสารรณรงค์ประชามติ ที่ จ.ชัยภูมิ เหล่านี้คือเหตุการณ์ที่ทำให้ไผ่ถูกจับกุมและดำเนินคดีช่วงหลังรัฐประหาร ซึ่งนับรวมการจับกุมและดำเนินคดีในครั้งนี้ถือได้ว่าไผ่ถูกจับกุมทั้งหมด 5 ครั้ง และถูกดำเนินคดี 5 คดี

provision-detention

3 ธ.ค. 2559 ไผ่ถูกจับหลัง พ.ท.พิทักษ์พล ไปแจ้งความหนึ่งวัน ตามกฎหมายแล้วตำรวจสามารถควบคุมผู้ต้องหาไว้ที่สถานีตำรวจเพื่อสอบสวนได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง หลังจากนั้นหากต้องการควบคุมตัวต่อจะต้องไปขออำนาจศาลเพื่อฝากขังระหว่างการสอบสวนได้ครั้งละ 12 วัน ไม่เกิน 7 ครั้ง หรือรวมไม่เกิน 84 วัน

ไผ่ถูกนำตัวไปขอฝากขังครั้งแรกที่ศาลจังหวัดขอนแก่น  ศาลอนุญาตให้ประกันตัวโดยใช้เงินสด 4 แสนบาท แต่แล้วก็ถูกถอนประกันเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2559 เพราะศาลเห็นว่าไผ่ไม่ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาและมีการโพสต์ข้อความในเชิงเย้ยหยันอำนาจรัฐ ซึ่งไม่ใช่เหตุผลตามกฎหมาย ที่ศาลจะพิจารณาถอนประกัน ทำให้ไผ่ต้องถูกคุมขังในเรือนจำ จนถึงปัจจุบันอยู่ระหว่างการฝากขังครั้งที่ 4 และต้องอยู่ในเรือนจำอย่างน้อย 24 วันแล้ว

ในการพิจารณาฝากขังครั้งที่ 3 ศาลไม่ได้ถามไผ่ว่าจะคัดค้านการฝากขังหรือไม่ ซึ่งการไม่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาคัดค้านการฝากขังถือเป็นกระบวนการที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย เมื่อทนายความร้องเรียนว่าการฝากขังวันนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลจึงวีดิโอคอนเฟรนซ์ไปถามไผ่ในเรือนจำว่าจะคัดค้านการฝากขังหรือไม่ และยังคงอนุญาตฝากขังไผ่เรื่อยมา โดยอ้างเหตุผลว่าเป็นคดีความมั่นคง

appeal

หลังไผ่ถูกศาลจังหวัดขอนแก่นถอนประกันเมื่อ 22 ธ.ค. 2559 ทำให้ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ทนายความได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งถอนประกันดังกล่าว แต่ศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้น โดยเพิ่มเหตุผลที่ไม่ให้ประกันตามกฎหมายว่า เกรงไผ่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคหรือก่อความเสียหายต่อการสอบสวน

หลังทราบผลอุทธรณ์ ทนายความได้ยื่นฎีกาคำสั่งถอนประกันต่อศาลฎีกา แต่ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว ทนายความจึงอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา ก่อนศาลฎีกาจะยกคำร้อง เพราะเห็นว่าเป็นการคัดค้านคำสั่งไม่ให้ประกันตัว ซึ่งตามกฎหมายแล้วคำสั่งศาลอุทธรณ์ถือเป็นที่สุด แต่ไม่ตัดสิทธิการยื่นประกันตัวครั้งต่อไป

bail

นับตั้งแต่ถูกเพิกถอนประกันเมื่อ 22 ธ.ค. 2559 เป็นต้นมา ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวไผ่ต่อศาลอีกทั้งหมด 4 ครั้ง หากรวมที่ศาลเคยอนุญาตประกันตัวในครั้งแรกด้วยจะเท่ากับว่าไผ่เคยยื่นประกันตัวในคดีนี้มาแล้วถึง 5 ครั้ง

ครั้งแรก คือ การยื่นประกันตัวในวันฝากขังครั้งที่ 1 โดยใช้เงินสด 4 แสนบาท ซึ่งศาลอนุญาตให้ประกันตัว

ครั้งที่ 2 คือ หลังทราบว่าศาลถอนประกัน ทนายความได้ยื่นประกันตัวใหม่ทันทีในวันนั้น โดยให้เหตุผลว่าไผ่ต้องเตรียมตัวเพื่อสอบระหว่างวันที่ 17-18 ม.ค. 2560 ซึ่งเป็นวิชาสุดท้ายแล้ว แต่ศาลไม่อนุญาต

ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2559 โดยยืนยันเหตุจำเป็นที่ไผ่ต้องเตรียมตัวเพื่อสอบระหว่างวันที่ 17-18 ม.ค. 2560

ครั้งที่ 4 ระหว่างการขอฝากขังครั้งที่ 4 เมื่อ 6 ม.ค. 2560 โดยเพิ่มเงินเป็น 5 แสนบาท

ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2560 ใช้เงิน 5 แสนบาท พร้อมตั้งค่าโพสต์ข่าวบีบีซีที่แชร์มาบนเฟซบุ๊กให้เป็นส่วนตัวไม่ให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ชั่วคราว เพราะหากลบโพสต์ก็จะกลายเป็นการทำลายหลักฐาน แต่ศาลก็ยังคงไม่อนุญาตเช่นที่ผ่านมา

closed-door-trial

นอกจากถูกศาลเพิกถอนประกัน และไม่อนุญาตให้ประกันตัวในครั้งต่อมาอีกหลายครั้ง ทำให้ไผ่ขาดอิสรภาพ และสุ่มเสี่ยงที่จะไม่ได้รับการปล่อยตัวไปสอบในวิชาสุดท้ายเพื่อจบการศึกษา ศาลขอนแก่นยังสั่งพิจารณาคดีไผ่เป็นการลับ ไม่ให้ญาติหรือบุคคลอื่นเข้าร่วมฟังการพิจารณาได้ อีก 2 ครั้งระหว่างช่วงฝากขังในชั้นสอบสวนนี้

ครั้งแรก คือ การไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนประกันในวันที่ 22 ธ.ค. 2559 และอีกครั้งคือการไต่สวนฝากขังครั้งที่ 4 เมื่อ 6 ม.ค. 2560 แต่เนื่องจากคดียังอยู่ในชั้นสอบสวนของตำรวจ การไต่สวนทั้งสองครั้งจึงไม่มีอะไรเกี่ยวข้องเนื้อหาของโพสต์ที่ถูกกล่าวหาของไผ่ ซึ่งศาลอาจอ้างได้ว่าเป็นเนื้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เพื่อสั่งพิจารณาเป็นการลับ แต่เมื่อทนายความยื่นคำร้องคัดค้านศาลก็ยังยืนยันสั่งพิจารณาลับเช่นเดิม ทำให้คดีไผ่อาจจะเป็นคดีแรกๆที่ไต่สวนฝากขังเป็นการลับ

change

16 ม.ค. 2560 ทนายความอาจจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวไผ่อีกครั้ง เพื่อให้ไผ่ได้ออกมาสอบวิชาสุดท้ายในชีวิตการเรียนมหาวิทยาลัย ขณะที่อีกด้านหนึ่ง เรื่องราวของกระบวนการยุติธรรมในคดีไผ่ ทำให้มีผู้เปิดแคมเปญรณรงค์ที่ change.org หรือ คืนสิทธิประกันตัวให้กับ “ไผ่ ดาวดิน” เพื่อให้คนทั่วไปมาร่วมลงชื่อเรียกร้องให้คืนสิทธิประกันตัวให้ “ไผ่ ดาวดิน” ที่ปัจจุบันมีผู้ลงชื่อ 3 พันกว่าคน

X