สห.ยัน ชูป้าย “คัดค้านรัฐประหาร” เป็นการทำลายประชาธิปไตย

ผบ.ร้อย.สห.มทบ.23 พยานโจทก์คดี ‘ไผ่’ และ ‘ดาวดิน’ ชูป้ายต้านรัฐประหาร ระบุ การชูป้าย “คัดค้านรัฐประหาร” เป็นการทำลายประชาธิปไตย ต้องรับโทษและถูกปรับทัศนคติ ด้านอัยการทหารขอแก้ฟ้องขอศาลนับโทษคดีนี้ต่อจากคดี 112 โดยไม่ให้หักวันขังที่ทับซ้อนกับหมายขังคดี 112

22 ส.ค.60 ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 (มทบ.23) นัดสืบพยานคดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร หมายเลขคดีดำที่ 61/2559 ซึ่ง ‘ไผ่ ดาวดิน’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา อดีตนักศึกษา/นักกิจกรรม เป็นจำเลย ในข้อหา ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 ชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

ก่อนเริ่มสืบพยาน อัยการศาล มทบ.23 ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง (ครั้งที่ 2) ศาลรับไว้ โดยทนายจำเลยขอยื่นคำแถลงคัดค้านคำร้องดังกล่าวในนัดหน้า ศาลจึงยังไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องตามที่ยื่นคำร้องมา โดยขอดูคำคัดค้านของทนายจำเลยก่อน

ต่อมา อัยการฯ นำพยานโจทก์ ร.อ.อภินันท์ วันเพ็ชร ผู้บังคับกองร้อยสารวัตร มทบ.23 ซึ่งเป็นผู้ร่วมจับกุมจำเลยกับพวกในวันเกิดเหตุ เข้าตอบคำถามค้านของทนายจำเลย ต่อจากที่เคยเข้าเบิกความตอบโจทก์ไว้ในการสืบพยานนัดแรก เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา

การพิจารณาคดีนี้ยังคงเหลือการสืบพยานโจทก์อีก 3 ปาก และพยานจำเลย 3 ปาก โดยนัดต่อไป โจทก์จะนำพยานที่เป็นนักข่าว ซึ่งบันทึกภาพเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ และพนักงานสอบสวนในคดีเข้าเบิกความ ในวันที่ 29 ก.ย. 60

บรรยากาศภายในศาล มทบ.23 มีศิลปินและประชาชนทั่วไปเดินทางมารอให้กำลังใจ ‘ไผ่’ และร่วมฟังการพิจารณาคดีกว่า 60 คน โดยสารวัตรทหารจัดให้เข้าเยี่ยม ‘ไผ่’ ที่ห้องขังใต้ศาลรอบละ 5 คน และอนุญาตให้เข้าฟังการพิจารณาคดีได้เพียง 15 คน เนื่องจากห้องพิจารณามีขนาดเล็ก ทั้งนี้ มีตัวแทนของคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) เข้าร่วมสังเกตการณ์การพิจารณาคดีด้วย โดย ‘ไผ่’ มีสีหน้าสดชื่น และนั่งฟังการซักค้านพยานด้วยความสนใจ

ทั้งนี้ คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง (ครั้งที่ 2) ของโจทก์ ระบุว่า เนื่องจากขณะนี้จำเลยอยู่ระหว่างต้องโทษจำคุกฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง มีกำหนดโทษ 2 ปี 6 เดือน ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 1945/2560 ของศาลจังหวัดขอนแก่น ยังไม่พ้นโทษ โจทก์จึงมีความประสงค์ขอเพิ่มเติมคำบรรยายฟ้อง และคำขอท้ายฟ้อง เพื่อให้ถูกต้องตรงความเป็นจริง โดยในส่วนของคำขอท้ายฟ้อง โจทก์ได้ขอเพิ่มเติมจากเดิมที่ระบุว่า “กับขอศาลได้โปรดนับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีหมายเลขดำที่ 1370/2559 ของศาลจังหวัดภูเขียว และริบป้ายประท้วงของกลางด้วย” เป็น “กับขอศาลได้โปรดนับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีหมายเลขดำที่ 1370/2559 ของศาลจังหวัดภูเขียว และขอศาลได้โปรดนับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีหมายเลขแดงที่ 1945/2560 ของศาลจังหวัดขอนแก่น และมิให้หักวันคุมขังคดีนี้ออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษาเนื่องจากทับซ้อนกับวันรับโทษจำคุกในคดีดังกล่าว และริบป้ายประท้วงของกลางด้วย”

คำขอท้ายฟ้องที่โจทก์ขอเพิ่มเติมมาในส่วนของการนับโทษนี้ หากศาลอนุญาตจะมีผลให้ กรณีที่ศาล มทบ.23 ลงโทษจำคุกจตุภัทร์ในคดีนี้ จตุภัทร์จะต้องถูกขังต่อจาก 2 ปี 6 เดือน ซึ่งเป็นโทษในคดี 112 ไปอีก โดยไม่หักวันที่ถูกขังตามหมายขังของศาล มทบ.23 ในระหว่างพิจารณา ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ศาลขอนแก่นขังจตุภัทร์ในคดี 112 (นับตั้งแต่วันที่นายประกันขอถอนประกัน คือ วันที่ 27 มี.ค. 60 จนถึงวันที่ศาล มทบ.23 จะมีคำพิพากษา) ซึ่งเท่ากับว่าอัยการทหารต้องการให้จตุภัทร์รับโทษยาวขึ้น ซึ่งทนายจำเลยจะได้ทำคัดค้านยื่นต่อศาลต่อไป

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดขอนแก่นอ่านคำพิพากษาเป็นการลับ พิพากษาให้จตุภัทร์มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14(3) ลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน โดยให้นับโทษต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ 61/2559 ของศาล มทบ.23 ตามที่พนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่นขอไว้ในคำฟ้องเช่นกัน

ปัจจุบันจตุภัทร์ถูกขังอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษจังหวัดขอนแก่น ตามหมายขังระหว่างอุทธรณ์ในคดี 112 ของศาลจังหวัดขอนแก่น, หมายขังระหว่างพิจารณาของศาล มทบ.23 ในคดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหารนี้ และหมายขังระหว่างพิจารณาในคดีประชามติของศาลจังหวัดภูเขียว

สรุปคำให้การพยานโจทก์ ร.อ.อภินันท์

ตอบโจทก์ถาม (เมื่อ 22 พ.ค.60)

ร.อ.อภินันท์เบิกความว่า รับราชการเป็นผู้บังคับกองร้อยสารวัตร มทบ.23 ในวันเกิดเหตุ (22 พ.ค.58) เป็นผู้ร่วมจับกุมจำเลย กับพวกรวม 7 คน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น พยานทราบจากแหล่งข่าวว่า จะมีกลุ่มนักศึกษามาร่วมกันแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านวันครบรอบที่ คสช.เข้ายึดอำนาจ จึงรายงานผู้บังคับบัญชา และไปซุ่มดูที่บริเวณดังกล่าว เห็นนักศึกษาเดินมาที่อนุสาวรีย์ฯ และชูป้ายข้อความว่า “คัดค้านรัฐประหาร” “ไม่เอาเหมืองเถื่อนจังหวัดเลย” “คัดค้านมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ” พร้อมกับตะโกนคัดค้านรัฐประหาร จึงร่วมกับ พ.อ.สุรศักดิ์ สำราญบำรุง หัวหน้ากองข่าว มทบ.23 และตำรวจ เข้าชี้แจงกลุ่มนักศึกษาว่า กระทำการชุมนุมผิดประกาศ คสช. และได้ควบคุมตัวนักศึกษาทั้งหมดมาที่สถานีสารวัตรทหาร มทบ.23 เพื่อเข้ารับการอบรมปรับทัศนคติ แต่กลุ่มนักศึกษาดังกล่าว ซึ่งมีจำเลยอยู่ด้วยปฏิเสธที่จะเข้ารับการอบรมปรับทัศนคติ พยานจึงนำกลุ่มนักศึกษาส่งให้กับ สภ.เมืองขอนแก่น ดำเนินคดีต่อไป

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้ประชาชนมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยฯ พยานเอง ก่อนเข้ารับราชการเป็นทหารก็ได้ปฏิญาณตนว่า จะรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยฯ แต่พยานไม่ได้แสดงการคัดค้านเมื่อ คสช. ทำรัฐประหาร พยานเห็นด้วย  เพราะเป็นการรักษาบ้านเมืองให้อยู่ในความสงบ อย่างไรก็ตาม พยานเห็นว่า ในปัจจุบันการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเหมาะกับประเทศไทยมากกว่าเผด็จการ

พยานทราบว่า การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 57 คสช. ได้ฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 แต่พยานไม่เห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย หรือเป็นกบฎในราชอาณาจักร แต่เป็นการกระทำที่น่าชื่นชมและสนับสนุน จำเลยจึงไม่ควรมาคัดค้าน การกระทำของจำเลยกับพวกที่ไปชูป้าย “คัดค้านรัฐประหาร” นั้น แม้จะเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต แต่เป็นการทำลายประชาธิปไตย สมควรได้รับโทษและปรับทัศนคติ

วันเกิดเหตุ พยานได้ไปจับนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น ทราบทีหลังว่าเป็นนักศึกษากลุ่มดาวดิน แต่พยานไม่ทราบว่า กลุ่มดาวดินจะเคยทำกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น ช่วยชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม มาก่อนหรือไม่ นอกจากจำเลยกับพวกจะไปชูป้าย “คัดค้านรัฐประหาร” ยังมีป้าย “ไม่เอาเหมืองเถื่อนจังหวัดเลย” “คัดค้านมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ” รวมถึงเรื่องเขื่อน และที่ดิน แต่พยานไม่เข้าใจว่าป้ายเหล่านี้มีความหมายว่าอย่างไร

พยานเห็นว่า ข้อความ “คัดค้านรัฐประหาร” ผิดกฎหมาย และการไปชูป้ายโดยไปเกินกว่า 5 คน ถือว่า ผิดคำสั่ง คสช.ที่ 3/58 ที่ห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คน ถ้าไปคนเดียว แล้วแสดงออกหรือเผยแพร่ข้อความดังกล่าวก็ถือว่าผิดคำสั่ง คสช. เช่นกัน ทั้งนี้ พยานแยกออกระหว่าง 1 คน และ 5 คน และจำนวนคนดังกล่าวก็เป็นสาระสำคัญของกฎหมายนี้ด้วย

ในวันเกิดเหตุ พยาน, พ.อ.สุรศักดิ์ สำราญบำรุง และตำรวจ เป็นผู้ใช้ดุลพินิจร่วมกัน ในการจับนักศึกษา โดยพยานและ พ.อ.สุรศักดิ์ แต่งเครื่องแบบทหาร เข้าแสดงตัวใช้อำนาจตาม ม.44 แต่ไม่ได้แสดงบัตรประจำตัวของเจ้าพนักงานฯ เนื่องจากพยานไม่มี พยานเคยได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานตาม ม.44 ทั้งโดยลายลักษณ์อักษรและวาจา ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.57 เช่นเดียวกับ พ.อ.สุรศักดิ์ แต่พยานไม่ได้มอบเอกสารดังกล่าวให้กับพนักงานสอบสวน (ต่อมาหลังอัยการถามติง พยานแก้เป็น การเข้าจับกุมจำเลย พยานใช้อำนาจตามคำสั่ง คสช.ที่ 3/58 โดยหัวหน้า คสช. ได้มอบอำนาจให้ ผบ.มทบ.23 ตามสายงานบังคับบัญชา และ ผบ.มทบ.23 มีคำสั่งแต่งตั้งพยานเป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.58)

พยานดูพฤติการณ์ที่นักศึกษาทั้ง 7 ทำกิจกรรมเป็นเวลานาน จึงเข้าไปบอกให้เลิกโดยละมุนละม่อม ไม่ได้ใช้ความรุนแรง นักศึกษามีลักษณะตั้งใจทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เพื่อถ่ายรูปและนำไปเผยแพร่ทางเฟซบุ๊ค ไม่ได้ตั้งใจทำกิจกรรมยืดเยื้อ หลังจากเจ้าหน้าที่บอกให้นักศึกษาหยุดทำกิจกรรม จึงได้เชิญตัวไปค่ายทหาร โดยจำเลยไม่มีการขัดขืน

ในการให้บุคคลเข้าปรับทัศนคติในค่ายทหาร ถ้าบุคคลนั้นยอมเปลี่ยนทัศนคติว่า จะไม่ดื้อ ไม่ต่อต้านรัฐประหารอีก ก็จะไม่มีการดำเนินคดี ถ้าไม่ยอมเปลี่ยนทัศนคติก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย ในการเชิญไปนั้น ไม่ได้เป็นการบังคับ แต่ถ้าเชิญแล้วต้องไป

พยานไม่ทราบว่า ระหว่างทัศนคติคัดค้านรัฐประหารกับรับใช้รัฐประหาร อันไหนเป็นทัศนคติที่ต้องปรับ การที่จำเลยถูกดำเนินคดี ไม่ใช่เป็นเพราะจำเลยไม่ยอมเปลี่ยนไปรับใช้รัฐประหาร แต่เป็นเพราะจำเลยชุมนุมเกิน 5 คน

 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศาลทหารเปิดนอกเวลาราชการ ฟ้อง ‘ไผ่ ดาวดิน’ คดีชุมนุมครบ 1ปี คสช.รัฐประหาร และขังระหว่างพิจารณาที่เรือนจำกลางขอนแก่น

ศาลทหารสอบคำให้การ ‘ไผ่ ดาวดิน’ นัดตรวจพยานหลักฐาน 27 ตุลาฯนี้ ก่อนได้ประกันตัว 1 หมื่นบาท

พ่อ ”ไผ่” ขอถอนประกันคดีชูป้ายต้านรัฐประหาร เหตุศาลขอนแก่นไม่ส่งตัวมาสืบพยานโจทก์ที่ศาลทหาร

หัวหน้ากองข่าวชี้ ‘ไผ่’ ไม่ยอมถูกปรับทัศนคติหลังชูป้าย ‘คัดค้านรัฐประหาร’ จึงถูกดำเนินคดี

 

X