ปล่อยตัวชั่วคราว ‘ไผ่ ดาวดิน’ คดี 112 ศาลเห็นความจำเป็นต้องสอบและศึกษาต่อ

ปล่อยตัวชั่วคราว ‘ไผ่ ดาวดิน’ คดี 112 ศาลเห็นความจำเป็นต้องสอบและศึกษาต่อ

ศาลจังหวัดขอนแก่นอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว ‘ไผ่ ดาวดิน’ หลังถูกดำเนินคดี 112 และ พ.ร.บ.คอมฯ ทนายยื่นคำร้องจำเป็นต้องสอบและศึกษาต่อให้จบ-ไม่เข้าองค์ประกอบความผิด-ขอใช้สิทธิต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ พร้อมวางเงินประกัน 400,000 ด้านไผ่เปิดเผยถูกคุ้มกันอย่างแน่นหนา พร้อมเตรียมทนายไว้ให้แล้ว

4 ธค.59 เวลาประมาณ 09.50 น. พนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่นยื่นคำร้องขอฝากขัง ‘ไผ่ ดาวดิน’ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ต่อศาลจังหวัดขอนแก่น  หลังจับกุมตามหมายจับเลขที่ 433/2559 ลงวันที่ 2 ธ.ค. 59 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการแชร์ลิงก์รายงานข่าวของบีบีซีไทย (BBC Thai) เรื่อง “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” พร้อมคัดลอกข้อความบางส่วนมาโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ได้นำตัวจตุภัทร์ไปสอบสวนที่ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 4 โดยแจ้งข้อหาเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) แล้วนำตัวไปขังไว้ที่ สภ.น้ำพอง เมื่อคืนนี้ (อ่านรายงานข่าว)

พนักงานสอบสวนระบุเหตุผลในคำร้องขอฝากขังว่า เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น โดยยังจะต้องสอบพยานอีก 6 ปาก และรอผลการตรวจสอบลายนิ้วมือ จึงขอฝากขังผู้ต้องหารายนี้ไว้มีกำหนด 12 วัน คือ ในวันที่ 4-15 ธ.ค.59 นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนได้คัดค้านการประกันตัว เนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูงและเกี่ยวกับความมั่นคง ละเอียดอ่อน ประกอบกับมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มบุคคลอื่น หากให้ประกันตัว ผู้ต้องหาน่าจะหลบหนี และอาจกระทบต่อความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย และความรุนแรงต่างๆ ขึ้นได้

10.10 น. ตำรวจ สภ.น้ำพองนำตัวจตุภัทร์มาถึงศาลจังหวัดขอนแก่นและควบคุมตัวไว้ห้องขังใต้ศาล ต่อมา เวลาประมาณ 10.45 น. ศาลได้ออกนั่งพิจารณาคำร้องขอฝากขังที่ห้องรายงานตัวฝากขัง โดยทนายฝ่ายผู้ต้องหาแถลงคัดค้านการฝากขัง อย่างไรก็ตาม ศาลแจ้งว่า จะพิจารณาอนุญาตให้ประกันตัว โดยฝ่ายผู้ต้องหาไม่ต้องคัดค้านการฝากขัง เนื่องจากกระบวนการไต่สวนประกอบการคัดค้านการฝากขังต้องใช้เวลานาน หลังทนายความปรึกษาจตุภัทร์แล้ว จึงไม่คัดค้านการฝากขัง แล้วยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว และนำเงินสดวางเป็นหลักประกันจำนวน  400,000 บาท ศาลพิจารณาคำร้องฯ แล้วจึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่กำหนดเงื่อนไขใดๆ และนัดหมายให้มารายงานตัวต่อศาลอีกครั้งในวันที่ 23 ม.ค.60

591204
ด้านทนายความเปิดเผยว่า เหตุผลหลักๆ ที่ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากเห็นว่าจตุภัทร์จำเป็นต้องไปสอบและเรียนให้จบในปีการศึกษา 2559 นี้

หลังจากจตุภัทร์ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวนแล้ว มีกำหนดจะต้องยื่นคำให้การเป็นเอกสารต่อพนักงานสอบสวนภายใน 15 วัน

ทั้งนี้ คำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจตุภัทร์ระบุเหตุผลว่า ผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาอยู่ในระหว่างสอบปลายภาค ซึ่งจะมีการสอบในวันที่ 8 ธ.ค. ที่จะถึงนี้ อีกทั้งจะต้องเรียนในภาคเรียนที่สองของปีการศึกษา 2559 ให้สำเร็จการศึกษาด้วย นอกจากนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายจับมาแสดง ผู้ต้องหาก็ไม่ได้ขัดขืนการจับกุม และไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนีแต่อย่างใด

คำร้องของจตุภัทร์ยังระบุด้วยว่า การออกหมายจับผู้ต้องหาในคดีนี้  ไม่ได้มีการออกหมายเรียกให้ผู้ต้องหามาพบพนักงานสอบสวนก่อนแต่อย่างใด  หากพนักงานสอบสวนออกหมายเรียกผู้ต้องหาหรือหากทราบว่าถูกออกหมายจับ ผู้ต้องหาย่อมไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยตนเองอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ คำร้องฯ ระบุว่า พฤติการณ์ของผู้ต้องหาไม่ได้เข้าองค์ประกอบความผิดตามข้อกล่าวหา  ผู้ต้องหาเพียงแต่แชร์ข่าวจากเว็บไซต์บีบีซีไทย  ซึ่งเป็นเว็บข่าวที่น่าเชื่อถือและมีผู้คนได้แชร์ข่าวดังกล่าวไปจำนวนมาก  โดยไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินคดีเว็บข่าวดังกล่าวแต่อย่างใด และโดยผู้ต้องหามิได้แสดงความคิดเห็นอันเป็นการดูหมิ่น  หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ฯ แต่อย่างใด ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารผู้เข้าแจ้งความดำเนินคดีนั้น มีพฤติการณ์หยุดยั้งไม่ให้ผู้ต้องหาและชาวบ้านใช้เสรีภาพในการแสดงออกอยู่บ่อยครั้ง

จตุภัทร์ได้ระบุในคำร้องอีกว่า ผู้ต้องหายังเป็นเยาวชน การขังผู้ต้องหาไว้ย่อมไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม อีกทั้ง ผู้ต้องหาประสงค์จะนำพยานเข้าพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาตั้งแต่ในชั้นพนักงานสอบสวนอย่างถึงที่สุด จึงขอให้ศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อสิทธิในการต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ตั้งแต่ในชั้นพนักงานสอบสวน

ถูกจับ

จตุภัทร์เปิดเผยหลังได้รับการปล่อยตัวว่า ค่อนข้างตกใจที่ตั้งแต่ถูกจับกุม การนำตัวเขาไปสถานที่ต่างๆ  ไม่ว่า สภ.แก้งคร้อเพื่อทำบันทึกจับกุม มาสอบสวนที่ขอนแก่น และนำไปขังที่ สภ.น้ำพอง มีการวางกำลังอย่างแน่นหนา มีรถวิ่งนำหน้าและตามหลังรวม 4-5 คัน พร้อมเปิดหวอนำ และในระหว่างเดินทางมาสอบสวนที่ขอนแก่นก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อใคร และเจ้าหน้าที่ไม่แจ้งว่าจะนำตัวไปที่ใดด้วย นอกจากนี้ ในการสอบสวนซึ่งมีสารวัตรทหารเข้าร่วมสังเกตการณ์ ตำรวจได้จัดเตรียมทนายไว้ให้ แต่เขาปฏิเสธกระบวนการสอบสวนดังกล่าว และยืนยันให้ทนายความที่ตนเองไว้ใจเท่านั้นเข้าร่วมการสอบสวน ทำให้ตำรวจต้องมารับตัวทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งรออยู่ที่ สภ.เมืองขอนแก่น โดยทนายความให้ข้อมูลว่า ในระหว่างเดินทางไปพบจตุภัทร์ เจ้าหน้าที่ตำรวจพาขับรถวนไปมา และออกไปยังทุ่งนา พร้อมทั้งไม่แจ้งว่า จะพาไปยังสถานที่ใด นอกจากนี้ ยังถูกยึดโทรศัพท์เพื่อไม่ให้ส่งตำแหน่งที่อยู่ไปให้ผู้ใดทราบ และบริเวณศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 4 ที่ใช้เป็นสถานที่สอบสวนมีการวางกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธจำนวนหลายนาย

ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7/1 ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาซึ่งถูกควบคุมหรือขังมีสิทธิแจ้งหรือขอให้เจ้าพนักงานแจ้งให้ญาติ หรือผู้ซึ่งผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาไว้วางใจทราบถึงการถูกจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุมในโอกาสแรก และให้ผู้ถูกจับ หรือผู้ต้องหามีสิทธิดังต่อไปนี้ด้วย
(1) พบและปรึกษาผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว
(2) ให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้ในชั้นสอบสวน
(3) ได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อกับญาติได้ตามสมควร
(4) ได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเกิดการเจ็บป่วย

และ มาตรา 134/4 ในการถามคำให้การผู้ต้องหา ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่า
(1) ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ ถ้าผู้ต้องหาให้การ ถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้การนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้
(2) ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้

เกี่ยวกับการดำเนินคดีนี้ นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาประจำประเทศไทยของฮิวแมนไรท์วอช ให้สัมภาษณ์ VOICE TV ว่า บรรยากาศหลังจากนี้จะเต็มไปด้วยความหวาดกลัวและการเซ็นเซอร์ตัวเอง เนื่องจากเท่ากับเจ้าหน้าที่วินิจฉัยไปแล้วว่า การแชร์ข่าวพระราชประวัติของรัชกาลที่ 10 จาก BBC Thai เป็นความผิด พร้อมกล่าวด้วยว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาขณะนี้คือ หลายคดีที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตีความการใช้ มาตรา 112 อย่างกว้างมากทำให้ประชาชนไม่แน่ใจว่าอะไรทำได้หรือทำไม่ได้ รวมทั้งตั้งข้อสังเกตว่า หลังรัฐประหาร 22 พ.ค.57 ทหารเป็นฝ่ายแจ้งความดำเนินคดี ม.112 รวมถึงกรณีไผ่ล่าสุดนี้ด้วย

 

X