กฎหมายว่าด้วยการประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยของไทยเป็นไปตามมาตรฐานสากลจริงหรือ
นันทน อินทนนท์
ทนายความ และอดีตผู้พิพากษา
Unless this right to bail before trial is preserved, the presumption of innocence, secured only after centuries of struggle, would lose its meaning. (Chief Justice Vinson, Stack v. Boyle. Supreme Court of the United States, 1951 342 U.S. 1, 72 S.Ct. 1)
บทความนี้ชี้ให้เห็นว่ากฎหมายและกระบวนการการใช้ดุลพินิจของผู้ตีความกฎหมายของไทยเกี่ยวกับการประกันตัวบุคคลในคดีอาญาไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานสากลดังที่มีการกล่าวอ้าง
สิทธิในการประกันตัว (Right to Bail) เป็นสิทธิพื้นฐานของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาที่มีพื้นฐานจากหลักการที่ว่าบุคคลต้องได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำความผิด การคุมขังบุคคลก่อนมีคำพิพากษาก่อให้เกิดผลสำคัญ 2 ประการคือ เป็นการขัดแย้งต่อหลักการที่สันนิษฐานว่าบุคคลย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำความผิด และการคุมขังเป็นการจำกัดสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรมเพราะผู้ต้องหาหรือจำเลยจะมีโอกาสที่ลดน้อยลงในการต่อสู้คดี ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อกับทนายความ พยาน การแสวงหาพยานหลักฐานมาต่อสู้คดี การคุมขังระหว่างพิจารณาจึงเป็นเพียงข้อยกเว้นที่จะมีขึ้นได้ในสถานการณ์ที่จำกัดเป็นอย่างยิ่ง
เดิมทีการคุมขังระหว่างพิจารณามุ่งประสงค์ที่จะเป็นหลักประกันว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นจะต้องมาปรากฏตัวต่อศาลเมื่อมีการดำเนินคดีเท่านั้น เหตุของการไม่อนุญาตให้มีการประกันตัวจึงจำกัดอยู่เพียงการพิจารณาข้อเท็จจริงว่าบุคคลนั้นจะหลบหนีไปในระหว่างการพิจารณาคดีหรือไม่ แต่แนวคิดของการคุมขังระหว่างพิจารณาได้ขยายของเขตออกไปโดยมุ่งประสงค์ที่จะคุ้มครองไม่ให้มีการกระทำความผิดที่เป็น “อันตรายต่อสังคม” อีก
เมื่อปี พ.ศ. 2547 ประเทศไทยจึงมีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ว่า “การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว จะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้ … 3. ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น”
มีปัญหาน่าคิดว่าคำว่า “ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น” หมายความว่าอย่างไร
ในความเป็นจริงนั้น แนวคิดในการป้องกันเหตุอันตรายที่จะเกิดขึ้นนั้น ประเทศไทยนำมาจากกฎหมาย Bail Reform Act of 1984 ของประเทศสหรัฐ ซึ่งกำหนดให้มีการคุมขังระหว่างพิจารณาเพื่อป้องกันอันตรายต่อชุมชน (danger to the community) อย่างไรก็ตาม กฎหมายไทยกลับมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแตกต่างจากกฎหมายในประเทศแม่แบบมาก ซึ่งนำไปสู่การตีความที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนและเป็นการละเมิดสิทธิของบุคคลอย่างร้ายแรง
1. ความหมายของคำว่า “อันตราย”
กฎหมาย Bail Reform Act ไม่ได้ให้ความหมายของคำว่า “Danger to the Community” แต่ได้กำหนดปัจจัย (Factors) หลายประการที่ศาลจะต้องพิจารณาว่าจะให้ประกันหรือไม่ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีหลายประการ แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งก็คือ การกระทำความผิดที่ถูกกล่าวหา (Offence) นั้นเป็นอาชญากรรมที่ใช้ความรุนแรง (crime of violence) อาชญากรรมการก่อการร้าย (crime of terrorism) การกระทำความผิดที่เด็กเป็นผู้เสียหาย (crime involving minor victim) การกระทำความผิดเกี่ยวกับสารเคมีควบคุม (controlled substance) การใช้อาวุธ ระเบิดหรือการทำลายล้าง (firearm, explosive, or destructive device) หรือไม่ ฐานความผิดเหล่านี้ทั้งหมดล้วนแต่เป็นการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการใช้กำลังทางกายภาพต่อบุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นทั้งสิ้น (physical force against the person or property of another) (ดู 18 USC § 3156(a)(4))
เห็นได้ว่า เหตุที่กฎหมายจะยกเว้นไม่ให้มีการประกันตัวนั้นต้องเป็นไปเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อบุคคลหรือทรัพย์เท่านั้น ไม่ใช่ความผิดทางการเมือง หรือความมั่นคงของรัฐที่รัฐเป็นผู้เสียหาย ดังนั้น ความหมายของ “อันตรายประการอื่น” จึงไม่ได้หมายความถึงความผิดใดๆ ก็ได้ หรือความผิดที่ได้เคยถูกฟ้องมาแล้ว อย่างที่มีบางท่านออกมาอธิบาย การตีความกฎหมายไทยว่า “เหตุอันตราย” นั้นหมายความถึงการกระทำความผิด (Offence) ใดๆ ก็ได้ระหว่างการปล่อยชั่วคราวจึงทำให้กฎหมายของไทยนั้นไม่สอดคล้องกับกฎหมายระดับสากล
2. มาตรฐานการพิสูจน์และภาระการพิสูจน์
มาตรา 108/1 ได้กำหนดมาตรฐานการพิสูจน์ (Standard of Proof) เพียง “เหตุอันควรเชื่อ” เท่านั้น ซึ่งหมายความว่าเพียงแค่ศาลมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ศาลก็มีอำนาจในการสั่งไม่ให้ประกันแล้ว
ในทางทฤษฎี มาตรฐานการพิสูจน์มีหลายระดับด้วยกันตั้งแต่ มีข้อสงสัย (Suspicion) (10%) มีข้อสงสัยอันมีเหตุสมควร (Reasonable suspicion) (20%) มีมูลเหตุที่น่าจะเป็น (Probable cause) (>50%) มีความเหนือกว่าซึ่งพยานหลักฐาน (Preponderance of the evidence) (>50%) มีพยานหลักฐานที่ชัดแจ้งและน่าเชื่อถือ (Clear and convincing evidence) (80%) และปราศจากข้อสังสัยอันสมควร (Beyond reasonable doubt) (99%)
ที่น่าสนใจคือมาตรฐานการพิสูจน์ในระดับ “เหตุอันควรเชื่อ” ของไทยนั้นอยู่ในระดับใด จากประสบการณ์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าคำว่า “เหตุอันควรเชื่อ” ในทางปฏิบัตินั้นมีมาตรฐานการรับฟังที่ต่ำมาก เพราะมักจะแต่อาศัยความคิดส่วนบุคคล (Subjective) โดยไม่เคยมีพยานหลักฐานที่จับต้องได้ (Concrete evidence) มาสนับสนุนอย่างจริงจังเลย
ในทางตรงกันข้าม ในสหรัฐนั้น การจะมีคำสั่งไม่ให้ประกันนั้น ภาระการพิสูจน์ (Burden of proof) ต้องอยู่กับรัฐ ไม่ใช่อยู่กับผู้ต้องหาหรือจำเลย รัฐมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงโดยผ่านมาตรฐาน 2 ระดับในข้อเท็จจริง 2 เรื่องคือ ประการแรก ปัญหาว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยได้กระทำความผิดอาญาร้ายแรงหรือมีโอกาสที่จะหลบหนีหรือไม่ รัฐต้องพิสูจน์ตามหลักความเหนือกว่าซึ่งพยานหลักฐาน (preponderance of the evidence) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ รัฐต้องพิสูจน์ได้มากกว่า 50% ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นกระทำความผิดร้ายแรงหรือมีโอกาสที่จะหลบหนีหรือจะกระทำการอันเป็ฯอุปสรรคต่อความยุติธรรม (Whether the government has established “by a preponderance of the evidence that the defendant either has been charged with one of the crimes enumerated in § 3142(f)(1) or that the defendant presents a risk of flight or obstruction of justice.”) [United States v. Friedman, 837 F.2d 48, 49 (2d Cir. 1988)]
นอกจากนั้น เมื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าวได้แล้ว รัฐยังมีหน้าที่ต้องพิสูจน์โดยชัดแจ้งและน่าเชื่อถือด้วยว่า หากมีการปล่อยตัวชั่วคราวจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยของบุคคลอื่นหรือสังคม (The government must show by clear and convincing evidence that pretrial release will not reasonably ensure the safety of other persons and the community.) [United States v. Orta, 760 F.2d 877 (8th Cir. 1985).] ซึ่งมาตรฐานในส่วนนี้หมายความว่ารัฐต้องมีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักถึง 80% มาพิสูจน์
ในสหรัฐนั้น ศาลจะไม่เข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งกับผู้ต้องหาหรือจำเลย การจะคัดค้านการประกัน รัฐต้องมีหน้าที่ในการนำสืบข้อเท็จจริงว่าหากศาลให้ประกัน ผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นจะไปก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคลอื่นหรือสังคม รัฐต้องมีพยานหลักฐานที่ชัดแจ้งและน่าเชื่อถือมาแสดง ไม่ใช่หน้าที่ของศาลที่จะไปคาดหมายเช่นนั้นเอง และไม่ใช่หน้าที่ของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่จะต้องมานำสืบให้ศาลเห็นว่าหากตนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว ตนจะไม่หลบหนีหรือก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคลอื่น เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็ย่อมขัดกับหลักสันนิษฐานความบริสุทธิ์อย่างชัดแจ้ง
เมื่อเปรียบเทียบมาตรฐานตามกฎหมายสหรัฐที่ประเทศไทยใช้เป็นแม่แบบของกฎหมายกับกฎหมายไทยตามมาตรา 108/1 แล้ว ย่อมเห็นได้ว่าประเทศไทยใช้มาตรฐานในการพิสูจน์ความเป็นไปได้ในการก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลหรือสังคมในระดับที่ต่ำกว่ากฎหมายของสหรัฐมาก ทั้งในทางปฏิบัติกลับกำหนดให้ภาระการพิสูจน์ตกแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยด้วย ซึ่งส่งผลโอกาสที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในประเทศไทยจะไม่ได้รับการประกันตัวมีมากกว่าในระบบของกฎหมายสหรัฐมาก
3. การกำหนดเงื่อนไขในการประกัน
ตามกฎหมายสหรัฐ ในการพิจารณาว่าจะปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่นั้น ศาลมีหน้าที่ต้องพิจารณาเงื่อนไข (Condition) ซึ่งอาจเป็นเงื่อนไขเดียวหรือเงื่อนไขหลายอย่างรวมกันเพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นต้องมาปรากฏตัวที่ศาลหรือเพื่อเป็นหลักประกันในความปลอดภัยของบุคคลและสังคม และหากศาลเห็นว่าไม่มีทางอื่นใดเลยที่จะป้องกันผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ให้หลบหนีหรือคุ้มครองความปลอดภัยของสาธารณะ ศาลจึงจะมีคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว (If … the judicial officer finds that no condition or combination of conditions will reasonably assure the appearance of the person as required and the safety of any other person and the community, such judicial officer shall order the detention of the person before trial.)
ดังนั้น คำกล่าวที่ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยมีหน้าที่ต้องเสนอเงื่อนไข และศาลจะไปบังคับผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ให้กระทำการตามเงื่อนไขที่ศาลไม่ได้นั้น จึงไม่ถูกต้องไม่ว่าตามกฎหมายของไทยเองหรือมาตรฐานกฎหมายสากล
นอกจากนี้ ที่มีการกล่าวว่ากฎหมายไทยนั้นมีความสอดคล้องกับกฎหมายสหราชอาณาจักร The Bail Act 1976 นั้น มีความถูกต้องเพียงบางส่วนเท่านั้น จริงอยู่ว่า The Bail Act, para 2 Schedule 1 ได้กำหนดให้การกระทำความผิดระหว่างได้รับการประกันตัว (commit an offence while on bail) เป็นข้อยกเว้นของสิทธิในการประกันตัว (Exceptions to right to bail) แต่การจะไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวนั้นต้องเป็นกรณีที่ศาลเป็นที่พอใจว่ามี “เหตุผลอย่างยิ่งยวด” (Substantial ground) ที่จะเชื่อว่าจำเลยจะกระทำความผิดระหว่างได้รับการประกัน (The defendant need not be granted bail if the court is satisfied that there are substantial grounds for believing that the defendant, if released on bail (whether subject to conditions or not) would – (b) commit an offence while on bail,…”) ในขณะที่กฎหมายไทยนั้นใช้เพียงหลัก “เหตุอันควรเชื่อ” เท่านั้น
ตามแนวทางของศาลสหราชอาณาจักรนั้น การกระทำการตามข้อกล่าวหา (Conviction) ว่าได้กระทำความผิดไม่ได้ถือว่าเป็นการกระทำความผิด (Offence) ดังนั้น แม้หากจะมีการกล่าวหาว่ากระทำความผิดหลายครั้ง โดยที่การกระทำนั้นยังไม่เคยถูกตัดสินว่าเป็นความผิดเลย ศาลจึงย่อมไม่มี “เหตุผลอย่างยิ่งยวด” (Substantial ground) ที่จะปฏิเสธการให้ประกัน (If a defendant has several previous convictions but has never previously been convicted of committing an offence whilst on bail, this may be used to suggest that ‘substantial grounds’ do not exist for believing that the defendant will commit further offences if released on bail.)
จากเหตุผลดังกล่าวนี้ คำอธิบายที่ว่ากฎหมายไทยมีความสอดคล้องกับกฎหมายในระดับสากลนั้นจึงไม่ถูกต้อง
กฎหมายเกี่ยวกับการประกันตัวก็เหมือนกฎหมายของไทยอีกเป็นจำนวนมากที่เราคัดลอกมาจากต่างประเทศโดยหยิบฉวยแนวคิดอย่างผิวเผินมาใช้เพียงเพื่อให้กฎหมายดูดีมีมาตรฐานเช่นสากลนิยม เมื่อรากฐานความรู้ในสารัตถะแห่งกฎหมายนั้นไม่ได้ถูกศึกษาและถ่ายทอดกันมาโดยถ่องแท้ ก็ย่อมส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปโดยอำเภอใจ นักกฎหมายไทยส่วนมากมักคิดว่าเมื่อผ่านการทดสอบความรู้พื้นฐานมาแล้ว เขาก็อ่านกฎหมายรู้ดูกฎหมายเป็น จะให้เขาไปคิดพิเคราะห์เพื่อประโยชน์อันใด ตราบที่อำนาจในการชี้ขาดอยู่ในมือที่เขาคิดว่าสะอาดบริสุทธิ์แล้ว
3 พฤษภาคม 2564
หมายเหตุ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าบทความมีเนื้อหาน่าสนใจ จึงนำมาเผยแพร่ในเว็บไซต์ โดยได้รับการอนุญาตจากผู้เขียนแล้ว