จาก ‘บัสบาส’ ถึง ‘สมบัติ-สิทธิโชค’: ความไม่มีมาตรฐานของการประกันตัวในคดี ม.112?

หลังจากวานนี้ (26 ม.ค. 2566) ศาลจังหวัดเชียงรายมีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ของ “บัสบาส” มงคล ถิระโคตร นักกิจกรรมในจังหวัดเชียงราย ด้วยโทษจำคุกสูงถึง 28 ปี โดยเห็นว่าข้อความในเฟซบุ๊กที่เขาโพสต์มีความผิดจำนวน 14 ข้อความ นับได้ว่าเป็นอัตราโทษจำคุกที่สูงที่สุดในคดีมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นในยุคหลังปี 2563 เป็นต้นมา

สิ่งที่น่าสนใจคือภายหลังคำพิพากษา ศาลจังหวัดเชียงรายได้ส่งคำร้องขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คดี ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิจารณา และต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้มีคำสั่งออกมาในเย็นวันเดียวกัน แตกต่างจากสถานการณ์ในกรุงเทพมหานคร ที่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งส่งเรื่องให้ศาลอุทธรณ์ จะต้องใช้ระยะเวลาพิจารณา 2-3 วัน กว่าจะทราบผล ซึ่งทำให้จำเลยในหลายคดีต้องถูกนำตัวไปคุมขังในช่วงเวลารอคอยดังกล่าว แม้ต่อมาศาลอาจจะให้ประกันตัวก็ตาม แต่นั่นก็คือการสูญเสียอิสรภาพอยู่ดี

ขณะเดียวกัน ในคดีของมงคล แม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษาด้วยอัตราโทษที่นับได้สูง แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยังมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยเห็นว่าตลอดการพิจารณาคดี จำเลยไม่เคยผิดสัญญาประกันตัว และให้ใช้จำนวนหลักทรัพย์เดิมในศาลชั้นต้นประกันตัว คือ 300,000 บาท

สถานการณ์ดังกล่าวค่อนข้างแตกต่างจากตัวอย่างคดีมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะในคดีของสมบัติ ทองย้อย ผู้ถูกดำเนินคดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ และถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์มากว่า 9 เดือนแล้ว

แม้สมบัติจะถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 6 ปี จากการโพสต์เฟซบุ๊กใน 2 กระทง หลังคำพิพากษา ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้ส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย สองวันถัดมา ฝ่ายจำเลยจึงทราบคำสั่งว่าศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกันตัว ระบุคำสั่งว่า

“พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง ลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยนำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์ กระทบกระเทือนจิตใจของประชาชน ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นหรืออาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์”

กรณีของสมบัติ เขาไม่เคยผิดสัญญาประกันตัว เดินทางไปตามนัดของศาลตลอด ไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ทั้งศาลชั้นต้นยังเคยกำหนดเงื่อนไขการประกันตัว ได้แก่ ห้ามจําเลยกระทําหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่จะกระทําให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกฟ้องในคดีนี้ และห้ามเดินทางออกออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งสมบัติก็ไม่เคยฝ่าฝืนเงื่อนไขดังกล่าวตลอดการประกันตัว

การยื่นประกันตัวสมบัติ ยังมีความพยายามขอวางหลักทรัพย์ประกันตัวเพิ่มเติม หรือการขอให้ศาลกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวเพิ่ม แม้แต่การยินยอมให้ติดกำไล EM มาตลอดด้วย แต่ทั้งศาลก็ยังคงปฏิเสธ ไม่ให้ประกันตัวเรื่อยมา หลังยื่นไปทั้งหมด 11 ครั้งแล้ว

.

.

ขณะเดียวกันหากพิจารณาการกระทำที่ถูกฟ้อง โพสต์ที่สมบัติถูกกล่าวหาก็ไม่ได้มีลักษณะตรงไปตรงมา และขึ้นอยู่กับตีความอย่างมากของผู้อ่านข้อความ ขณะที่ในคดีของมงคล ข้อความและภาพหลายข้อความมีลักษณะตรงไปตรงมามากกว่ามาก ว่ากำลังกล่าวถึงและวิพากษ์วิจารณ์สิ่งใด หากวิญญูชนได้ดูรายละเอียดของทั้งสองคดีดังกล่าว ย่อมเห็นว่า “ระดับ” ของการแสดงออกของทั้งสองคนนั้นแตกต่างกัน

กระนั้น ภายใต้การที่จำเลยไม่เคยผิดสัญญาประกันตลอดการพิจารณาเหมือนกันทั้งสองคดี แต่ศาลหนึ่งกลับไม่ได้นำประเด็นเรื่องอัตราโทษสูง แม้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกสูงถึง 28 ปี และประเด็นเรื่อง “ความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์” หรือ “กระทบกระเทือนจิตใจของประชาชน” มาพิจารณาแต่อย่างใด แต่ยังพิจารณาให้ประกันตัว และให้จำเลยต่อสู้คดีถึงที่สุดภายใต้อิสรภาพ

แต่อีกศาลอุทธรณ์หนึ่ง ซึ่งศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 6 ปี กลับนำประเด็นที่ดูจะเป็น “ความเห็น” หรือกระทั่งเป็น “อุดมการณ์” อย่างเรื่องความเสื่อมเสียต่อสถาบันฯ หรือการกล่าวอ้างความรู้สึกของประชาชนเอง เข้ามาประกอบคำสั่งไม่ให้ประกันตัว มากกว่าการคำนึงถึงหลักการที่ควรจะสำคัญกว่า อย่างการให้โอกาสจำเลย ซึ่งยังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่

ความลักลั่นดังกล่าว ยังเห็นได้ในกรณีของสิทธิโชค หนุ่มไรเดอร์ที่ถูกกล่าวหาว่านำของเหลวคล้ายน้ำมันไปเทลงกองไฟที่ลุกอยู่แล้ว บริเวณฐานพระบรมฉายาลักษณ์ระหว่างการชุมนุม คดีนี้หลังการต่อสู้ ซึ่งเขายืนยันว่าของเหลวดังกล่าวไม่ใช่น้ำมัน และมีเจตนาไปช่วยดับไฟ แต่ศาลอาญาพิเคราะห์รับฟังพยานฝ่ายโจทก์ เห็นว่าจำเลยมีความผิด พิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี 4 เดือน

อัตราโทษดังกล่าว หากเทียบกับสองคดีแรกที่กล่าวถึงแล้ว ก็นับได้ว่าไม่สูงมากนัก และตัวจำเลยเองก็ต่อสู้คดีมาโดยตลอด และเดินทางไปตามนัดต่างๆ ของศาล โดยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี แต่ศาลอุทธรณ์กลับมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยระบุว่า

“พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง ลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยอุกอาจ ไม่ยำเกรงกฎหมายบ้านเมือง ทั้งยังกระทบต่อความรู้สึกและศีลธรรมอันดีของประชาชน พฤติการณ์แห่งคดีร้ายแรง หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นหรืออาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์”

อีกครั้ง ที่ศาลวินิจฉัยไปเองก่อนล่วงหน้าว่า “การกระทำของจำเลยอุกอาจ ไม่ยำเกรงกฎหมายบ้านเมือง…” ทั้งที่จำเลยยังต่อสู้คดีอยู่ว่าตนเองไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง และการอ้างอิงถึงความรู้สึกของประชาชน ก็ดูจะเป็นอัตวิสัยของศาลเอง มากกว่าภววิสัยของสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน

.

ภาพสิทธิโชค โดย iLaw

.

ขณะเดียวกัน ในคดีลักษณะที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “การวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์” นั้น หากพิจารณาในพื้นที่ต่างจังหวัด จะพบว่ามีกรณีที่จังหวัดขอนแก่น ที่มีการดำเนินต่อผู้แสดงออกโดยการเผาพระบรมฉายาลักษณ์ในช่วงปี 2564 จำนวนถึง 3 คดี แต่ทั้งหมดไม่ได้มีการตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 แต่อย่างใด หากตั้งข้อหาเฉพาะการวางเพลิงเผาทรัพย์และทำให้เสียทรัพย์เท่านั้น ทั้งต่อมา ศาลจังหวัดขอนแก่นก็ได้มีคำพิพากษาให้ทั้งสามคดี รอการกำหนดโทษจำเลยเอาไว้ทั้งหมด

หากย้อนไปก่อนหน้านั้น มีเหตุการณ์กลุ่มวัยรุ่นเผาพระบรมฉายาลักษณ์ในพื้นที่ขอนแก่นในช่วงปี 2560 แม้คดีจะมีการตั้งข้อหามาตรา 112 ร่วมกับอีกหลายข้อหา แต่เมื่อถึงชั้นอุทธรณ์ แม้จำเลยจะรับสารภาพตามฟ้อง เพียงแต่ขอให้ศาลลงโทษสถานเบา ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้พิพากษายกฟ้องในข้อหามาตรา 112 เนื่องจากพิจารณาความมุ่งหมายของจำเลย ยังเห็นว่าไม่เข้าข่ายความผิดมาตรานี้ แต่ให้ลงโทษในข้อหาอื่นๆ แทน

นอกจากนั้น ยังมีตัวอย่างคดีของพิทยุตม์ ที่ถูกกล่าวหาว่าวางเพลิงเผาป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ในช่วงปี 2564 แม้คดีนี้มีการตั้งข้อหาตามมาตรา 112 ร่วมกับข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ และจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง โดยศาลจังหวัดอุดรธานีได้พิพากษาลงโทษจำคุก แต่พิจารณาเห็นว่าจำเลยมีประวัติดี และเป็นกระทำความผิดครั้งแรก โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และให้คุมประพฤติจำเลยเป็นเวลา 1 ปี

ตัวอย่างคดีดังกล่าว สะท้อนประเด็นว่าการแสดงออกในลักษณะเผาพระบรมฉายาลักษณ์ ยังเป็นประเด็นถกเถียงทางกฎหมาย ว่าจะเข้าข่ายมาตรา 112 หรือไม่ และควรต้องถึงขนาดคุมขังผู้กระทำหรือไม่ อีกทั้งการแสดงออกดังกล่าวจะเป็น “ความอุกอาจ” หรือ “กระทบต่อความรู้สึกและศีลธรรมอันดีของประชาชน” หรือไม่นั้น ก็ยังเป็นความรู้สึกหรือความคิดเห็นที่มีความแตกต่างกันไปภายใต้กระบวนการยุติธรรมเอง การสรุปของศาลในกรุงเทพฯ และนำมาเป็นคำอธิบายในการไม่อนุญาตให้ประกันตัว จึงดูจะไม่ใช่ข้อเท็จจริงภายใต้สภาพสังคมไทยปัจจุบันแต่อย่างใด

จากสถานการณ์การประกันตัวจำเลยในคดีมาตรา 112 ดังกล่าว ดูเหมือนไม่มี “คำอธิบายทางกฎหมาย” ที่ชัดเจนต่อความแตกต่างและมาตรฐานที่ไม่เหมือนกันในการพิจารณาทำคำสั่ง นอกจากในแง่มุมความแตกต่างของ “พื้นที่” ของศาล ระหว่างศาลในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ “ใจกลางของอำนาจ” กับศาลในภูมิภาค

แม้การใช้ “ดุลยพินิจ” ในการตีความกฎหมาย จะเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาพิพากษาคดีต่างๆ  แต่ดุลยพินิจดังกล่าวจำต้องอยู่ภายใต้การกำกับโดยหลักการตีความภายใต้ระบบนิติรัฐนิติธรรมอย่างเคร่งครัด เพื่อทำให้การใช้และตีความกฎหมายมีความคงเส้นคงวา สร้างความชัดเจนแน่นอนให้กับสังคม ภายใต้ความสมดุลระหว่างความยืดหยุ่นในการตีความกฎหมายให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในแต่ละคดี กับความชัดเจนของกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนทราบได้ว่ากฎหมายคืออะไร 

หากการใช้ดุลยพินิจเกิดขึ้นอย่างลักลั่นแตกต่าง จนไม่ชัดเจน กลายเป็นสิ่งที่เปลี่ยนไปมาตามความเห็น-อุดมการณ์ของผู้พิพากษาแต่ละคน กระทั่งทำให้เกิดคำถามจากสาธารณชนในวงกว้าง สถานการณ์เช่นว่าอาจส่งผลเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมยิ่งกว่าสิ่งใด

.

X