รับสารภาพ แล้วทำไมต้องได้สิทธิประกัน?: การขอประกันตัวหลังรับสารภาพในคดีอาญา 

กิตติศักดิ์  กองทอง

.

การต่อสู้คดีอาญาในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยนั้น โจทก์และจำเลยสามารถต่อสู้คดีได้ 3 ชั้นศาล ได้แก่ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา  การให้สิทธิคู่ความต่อสู้คดีได้ 3 ชั้นศาล ก็เพื่อให้โอกาสได้ต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ และยังเป็นการเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบและทบทวนคำพิพากษาของศาลชั้นต้นโดยศาลสูงตามลำดับ ดังนั้นคำพิพากษาของศาลจึงไม่ใช่ประกาศิตที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้ อีกทั้ง คำพิพากษาของศาลก็อาจผิดหลงและบกพร่องได้เช่นกัน จึงต้องมีวิธีการถ่วงดุลตรวจสอบการใช้อำนาจตุลาการดังกล่าว

สำหรับการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอาญาในศาลชั้นต้น แม้จำเลยรับสารภาพว่ากระทำความผิดตามฟ้องจริง จำเลยก็ยังมีสิทธิต่อสู้คดีต่อไปได้อีก หากจำเลยไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์ เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ทบทวนตรวจสอบว่า การใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยเป็นการลงโทษที่รุนแรงเกินสมควรหรือไม่ และมีเหตุผล ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่จะรอการลงโทษจำเลยได้หรือเปล่า 

หากศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดีของจำเลยอาจรอการลงโทษได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ก็ย่อมเป็นประโยชน์กับจำเลยที่จะไม่ต้องถูกจำคุกตามคำพิพากษา และได้โอกาสในการกลับตัว ไม่กลับไปกระทำความผิดนั้นอีก

ในคดีอาญาที่จำเลยรับสารภาพและศาลพิพากษาลงโทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษ หรือที่เข้าใจโดยทั่วไปว่าไม่รอลงอาญา ถ้าจำเลยประสงค์จะโต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้น  โดยยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว ทำให้คดีของจำเลยจึงยังไม่ถึงที่สุด จำเลยจึงมีสิทธิที่จะได้รับการประกันตัวออกมาต่อสู้คดีได้ ลำพัง “การรับสารภาพ” หรือ “การถูกศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษว่ากระทำความผิด” มิได้เป็นเหตุผลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ที่จะนำมาเป็นเงื่อนไขในการไม่อนุญาตให้ประกันตัวจำเลยในคดีอาญาได้ 

ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 29 บัญญัติไว้ว่า “…ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้…” ดังนั้น แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ แต่เมื่อคดีของจำเลยยังไม่ถึงที่สุด จึงจะปฏิบัติกับจำเลยเสมือนว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดแล้วไม่ได้ จำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการประกันตัวเพื่อต่อสู้คดีต่อไป 

การคุมขังจำเลยไว้เพียงเพื่อรอฟังคำพิพากษาศาลสูงจึงย่อมเป็นการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพเกินสมควร และเมื่อภายหลังหากศาลสูงมีคำพิพากษาให้รอการลงโทษจำเลย การที่จำเลยถูกคุมขังไว้ก็ไม่อาจได้รับการเยียวยาหรือแก้ไขได้ 

ขณะที่ในหลายคดี ก็พบว่าการคุมขังจำเลยไว้โดยคดียังไม่ถึงที่สุด มีแนวโน้มจะกลายเป็นการบีบให้จำเลยตัดสินใจยุติการอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษา เพื่อทำให้คดีจบสิ้นลง และมีกำหนดรับโทษที่แน่นอน ทั้งได้รับสิทธิหากมีการอภัยโทษในโอกาสสำคัญ แทนที่จะถูกคุมขังไปเรื่อยๆ เพื่อรอฟังคำพิพากษาของศาลสูง

ชีวิตและเสรีภาพที่ถูกพรากไปจากการถูกจองจำ อาจทำให้คนคนหนึ่งหรือครอบครัวหนึ่งต้องสูญสิ้นและพังทลายลงไปได้ คำกล่าวที่ว่าศาลเป็นที่พึ่งพาที่สุดท้ายของประชาชนนั้นจึงเป็นคำที่ไม่ไกลจากความเป็นเป็นจริง หากศาลนั้นดำรงและสถิตไว้ซึ่งความยุติธรรม

.

X