พิพากษาจำคุก 6 ปี “สมบัติ ทองย้อย” ผิด ม.112 กรณีโพสต์ “#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจ” กับอีก 2 ข้อความ ศาลชี้เจตนาล้อเลียน-ด้อยค่ากษัตริย์

28 เม.ย. 2565 เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดอ่านคำพิพากษาในคดีของ “สมบัติ ทองย้อย” อดีตการ์ดเสื้อแดง ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 กรณีโพสต์ข้อความ “#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ” ประกอบกับภาพบันทึกหน้าจอจากข่าวมติชนเกี่ยวกับบัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่เข้ารับปริญญาทั้งคณะ เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2563 พร้อมกับอีก 2 ข้อความ กล่าวถึงการทำตัวใกล้ชิดประชาชนและการแจกลายเซ็น ซึ่งโพสต์เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2563 

>>เปิดบันทึกสืบพยานคดี 112 “สมบัติ ทองย้อย” โพสต์ #กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ ก่อนศาลพิพากษาพรุ่งนี้

>>อ่านฐานข้อมูล คดี 112 สมบัติ ทองย้อย ถูกกล่าวหาโพสต์ 3 ข้อความ ล้อเลียน-ใส่ความ ร.10

.

ที่ห้องพิจารณา 502 เวลา 09.20 น. สมบัติได้เดินทางมาถึงศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยในนัดนี้มีผู้สังเกตการณ์จาก iLaw เจ้าหน้าที่จากสถานทูตลักเซมเบิร์ก และนักศึกษาจำนวนหนึ่งมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย 

ก่อนศาลออกพิจารณา เจ้าหน้าที่ศาลได้แจ้งว่า เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของของโควิด-19 ขอให้ผู้ที่ไม่ใช่คู่ความออกไปรอหน้าห้องพิจารณา แต่ถ้าหากประสงค์จะเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดี ก็ขอให้แสดงผลตรวจ ATK ที่ตรวจภายใน 3 วันก่อนเข้าห้องพิจารณาคดี ถ้าหากไม่มีผลตรวจสามารถติดต่อขอซื้อชุดตรวจ ATK กับศาลได้ ภายหลังจากที่แสดงผลตรวจกับเจ้าหน้าที่ศาลแล้ว ผู้สังเกตการณ์คดีจึงสามารถเข้าห้องพิจารณาได้

ประมาณ 10.00 น. พัฒนา วงษ์เมตตา และชญานิษฐ์ อภิชาตบุตร ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีออกนั่งอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ โดยเริ่มจากบรรยายคำฟ้องของอัยการโจทก์ ก่อนจะสรุปว่า สำหรับข้อความ “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจนะ” ซึ่งเป็นพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2563 ที่ตรัสชม ฐิติวัฒน์ ธนการุนย์ ชายผู้ชูพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 9 และพระราชินีในรัชกาลที่ 9 ท่ามกลางกลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎรนั้น โดยเนื้อแท้ข้อความเป็นการกล่าวชื่นชม ไม่ได้เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทแต่อย่างใด ศาลจึงต้องพิจารณาจากเจตนา 

เนื่องจากจำเลยโพสต์ข้อความ “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจนะ” ประกอบกับภาพบันทึกหน้าจอข่าวมติชนที่ระบุทำนองว่า “ฝ่ายความมั่นคงเข้าพบนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ไม่รับปริญญาทั้งคณะ” ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นผู้พระราชทานปริญญาบัตรแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมกันนี้ ในสังคมไทยมองว่าการรับปริญญาถือว่าเป็นเกียรติและศิริมงคล การที่จำเลยโพสต์ในลักษณะนี้จึงถือว่า มีเจตนาชื่นชมบัณทิตที่ไม่เข้ารับพิธีรับปริญญา โดยการเอาพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ 10 มาโพสต์ 

การกระทำของจำเลยจึงถือเป็นการล้อเลียน เสียดสี เป็นการกระทำที่ไม่บังควร จาบจ้วง และเข้าลักษณะดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ การที่จำเลยกล่าวอ้างว่าโพสต์ข้อความตามกระแสไวรัลในสังคมออนไลน์ โดยไม่ทราบว่าเป็นพระราชดำรัสรัชกาลที่ 10 นั้น ฟังไม่ขึ้น เพราะในระหว่างการสืบพยาน ทั้งพยานฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยต่างเบิกความในทำนองเดียวกันว่า ถ้อยคำ “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” เป็นพระราชดำรัสที่รัชกาลที่ 10 ตรัสกับฐิติวัฒน์ ซึ่งมีการเผยแพร่ในสื่ออย่างแพร่หลายและเป็นที่ทราบโดยทั่วกัน

สำหรับข้อความที่สองซึ่งระบุว่า “เขาให้ลดงบประมาณที่เอาไปใช้จ่าย ไม่ใช่ลดตัวลงมาใกล้ชิดประชาชน เข้าใจอะไรผิดไหม เรื่องการลดตัวลงมาแนบสนิทชิดใกล้ประชาชนแบบที่เห็น แสดงให้เห็นว่ารู้ตัวสินะว่าคนเขาไม่เอาเลยต้องลงมาทําขนาดนี้ ถ้าจริงใจต้องทํามานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาทําเพื่อเรียกคะแนนนิยมกลับคืนมา แต่น่าจะช้าไปแล้วจริงๆ ละครหลังข่าวชัดๆ” นั้น จำเลยได้โพสต์เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2563 หลังรัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชพิธีในวันปิยมหาราชในวันที่ 23 ต.ค. 2563

แม้จำเลยจะอ้างว่า โพสต์ดังกล่าวเป็นการตำหนิรัฐบาลประยุทธ์ที่ใช้จ่ายงบประมาณอย่างสุรุ่ยสุร่ายและบริหารอย่างไม่มีประสิทธิภาพ คะแนนนิยมตกต่ำลงจนถึงกับต้องส่ง ส.ส.และรัฐมนตรีไปลงพื้นที่หาคะแนนเสียง พบปะกับประชาชนเพื่อเรียกคะแนนนิยมกลับคืน แต่ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในช่วงเวลาที่จำเลยโพสต์ข้อความดังกล่าว ไม่ปรากฏหลักฐานว่า มีนายกรัฐมนตรีหรือ ส.ส. คนไหนไปลงพื้นที่พบปะประชาชน 

นอกจากนี้ จำเลยได้ใช้คำว่า “ลดตัว” ซึ่งอ้างอิงตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง ถ่อมตัว ไว้ตัว ซึ่งไม่ได้ใช้กับ ส.ส. หรือนายกรัฐมนตรี พร้อมกันนี้กลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎรก็มีการปราศรัยข้อเรียกร้องให้ปรับลดงบประมาณสถาบันกษัตริย์อีกด้วย การโพสต์ข้อความดังกล่าวจึงสื่อว่า สถาบันกษัตริย์ใช้งบประมาณมากเกินไป ซึ่งเป็นข้อความเท็จ ไม่ได้เป็นการติชมโดยสุจริต แต่เป็นการดูถูก ด้อยค่า และหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ 

ส่วนข้อความ “มีแจกลายเซ็นต์ด้วยเซเลปชัดๆ” ที่จำเลยโพสต์เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2563 ศาลเชื่อว่าจำเลยน่าจะสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 เพราะเป็นการโพสต์หลังรัชกาลที่ 10 เสด็จไปเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต และแจกลายพระหัตถ์ ในวันที่ 1 พ.ย. 2563 ซึ่งห่างจากวันที่จำเลยโพสต์ข้อความเพียง 1 วัน การที่จำเลยเบิกความว่า ถ้อยคำไม่ได้ระบุเจาะจงถึงใคร รวมถึงจำไม่ได้แล้วว่ากล่าวถึงใคร ศาลเห็นว่า เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ และฟังไม่ขึ้น 

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) (3)  ให้ลงโทษทุกกระทงความผิด รวม 2 กระทง ให้จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี 

หลังศาลอ่านคำพิพากษาจบ ตำรวจศาลได้ใส่กุญแจมือสมบัติ และพาลงไปที่ห้องขังใต้ถุนศาล ก่อนที่นายประกันจะยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ พร้อมวางหลักทรัพย์เป็นเงิน 300,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ระบุเหตุผลว่า ตั้งแต่จําเลยถูกร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีนี้ได้ให้ความร่วมมือมาตลอด ไม่มีพฤติการณ์หลบหนีแต่อย่างใด อีกทั้งคดีนี้ศาลชั้นต้นเคยอนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลยโดยกำหนดเงื่อนไข “ห้ามจําเลยกระทําหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่จะกระทําให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกฟ้องในคดีนี้ ห้ามเดินทางออกออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากศาล และมาตามกําหนดนัดของศาลหรือคําสั่งศาลโดยเคร่งครัด” ซึ่งหลังจากจําเลยได้รับอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวทุกประการ

ต่อมา ราว 12.00 น. เนตรดาว มโนธรรมกิจ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งให้ส่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวสมบัติให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาว่าจะให้ประกันหรือไม่ ซึ่งโดยปกติศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งภายใน 1-3 วัน ทำให้วันนี้สมบัติต้องถูกควบคุมตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ  

มีข้อสังเกตว่า อัยการฟ้องสมบัติในฐานความผิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งเป็นฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) แต่ศาลพิพากษาว่า สมบัติมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) ด้วย จึงเป็นการพิพากษานอกคำฟ้องของอัยการ ซึ่งคาดว่าทนายจำเลยจะยื่นอุทธรณ์ในประเด็นนี้ต่อไปด้วย

อนึ่ง จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ณ วันที่ 28 เม.ย. 2565 มีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี จำนวนอย่างน้อย 8 คน โดยมีสมบัติเป็นรายที่ 8

.

ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว ระบุนำความเสื่อมเสียสู่สถาบันกษัตริย์

ต่อมาวันที่ 30 เม.ย. 2565 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวสมบัติ ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา

คำสั่งศาลลงวันที่ 29 เม.ย. 2565 ระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง ลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยนำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์ กระทบกระเทือนจิตใจของประชาชน ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นหรืออาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”

.

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

อีกระลอก! ผู้ต้องขังทางการเมือง ตั้งแต่กลาง มีนาคม 2565

X