เรื่องราวการสารภาพ ‘112’ ของ ‘หนุ่ม’ จำเลยคดีวางเพลิงรูป ร.10 ก่อนศาลอุดรฯ ตัดสินจำคุก 5 ปี ลดครึ่งแล้วรอลงอาญา 2 ปี

ไม่เพียงกระแสม็อบเยาวชนปลดแอกช่วงกลางปี 2563 เป็นต้นมา จะส่งแรงกระเพื่อมต่อความคิดของผู้คนให้ตระหนักถึงความจำเป็นในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ฯ ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการเป็นสถาบันที่สมควรถูกตรวจสอบและได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนได้  กระแสที่ว่ายังหนุนนำให้ “หนุ่ม” พิทยุตม์ (สงวนนามสกุล) วัย 24 ปี  ผู้เฝ้ามองปรากฎการณ์ทางการเมืองมาตั้งแต่จำความได้ ใฝ่ฝันว่าวันหนึ่งจากผู้สังเกตการณ์เขาจะขยับมาเป็นผู้เล่นบ้าง โดยมีวิถีของนักการเมืองผู้เป็นตัวแทนประชาชนเป็นอีกหนี่งทางเลือกที่คนหนุ่มอย่างเขาตั้งเป้าหมายไว้  

จากชีวิตที่ ต.บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี หลังเรียนจบประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จากวิทยาลัยแห่งหนึ่งในตัวจังหวัด หนุ่มมุ่งไปหาประสบการณ์ทั้งด้านชีวิตและด้านวิชาชีพที่เมืองใกล้ศูนย์กลางของประเทศอย่าง จ.นนทบุรี เป็นช่วงเดียวกับกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศกำลังตื่นตัวอย่างสูง ด้วยต้องการแสดงจุดยืนและอยากไปดูไปเห็นบรรยากาศ หนุ่มจึงไปร่วมชุมนุมอยู่บ่อยครั้ง “ถ้าเราไม่ออกไป ไม่ส่งเสียงเขาก็ไม่รู้ แม้ถึงเราออกไปเขายังนิ่งเฉยอยู่ เราก็ต้องออกไปส่งเสียงให้เขาได้ยินเราให้ได้” หนุ่มเล่าถึงตอนไปชุมนุมช่วงปี 2563

.

.

กระทั่งการระบาดของโควิด-19 เมื่อหนุ่มรู้สึกไม่ปลอดภัยหากจะอยู่ในเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยผู้คนและการแพร่ระบาดของโรค เขาจึงตัดสินใจกลับไปตั้งหลักที่บ้านเกิด 

ก่อนชีวิตมีจุดเปลี่ยนเมื่อถูกดำเนินคดี “วางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น” จากการถูกกล่าวหาเผาป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ซ้ำร้ายกว่านั้นหนุ่มถูกแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 ในภายหลัง 

แม้ในชั้นสอบสวน และในชั้นศาล หนุ่มจะยืนยันให้การรับสารภาพในข้อหาวางเพลิง แต่ปฏิเสธข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 โดยหลังเกิดเหตุไม่ถึง 1 เดือน เขาได้ซ่อมแซมป้ายพระบรมฉายาลักษณ์จนมีสภาพดังเดิม และตัวเทศบาลเองก็ไม่ได้ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติม

แต่ในนัดสืบพยานที่ศาลจังหวัดอุดรธานี กลับมีสถานการณ์ที่ทำให้หนุ่มต้องเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา เมื่อในห้องพิจารณาคดี ผู้พิพากษายื่นข้อเสนอที่ทำให้ครอบครัวหนุ่มไม่กล้าปฏิเสธ และเป็นสาเหตุให้เขาเองไม่อาจยืนยันต่อสู้คดีดังความตั้งใจแรกได้ นับจากนั้นหนุ่มจึงต้องรอคอยคำพิพากษาที่อาจเป็นไปได้ทั้งอิสรภาพและโทษทัณฑ์ที่เขาไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ชีวิตตัวเองได้เลย

.

การเมืองที่เพียงติดตามเฝ้ามอง สู่วันที่ออกเผชิญหน้าท้องถนน

เป็นที่ทราบกันดีว่า แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอารยธรรมก่อนประวัติศาสตร์ อันเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก หนุ่มเกิดและเติบโตในครอบครัวไทพวน ใกล้ชิดกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ที่ที่เขากล่าวอย่างภาคภูมิว่ามีโอกาสเห็นคนจากหลากหลายที่มาเยือน 

นอกจากที่เที่ยวแล้วบ้านเชียงมีจุดขายสำคัญคือสินค้าจากนโยบาย 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ ประเภทเครื่องปั้นลายดินเผา และผ้าทอแบบไทพวน ที่ทำให้บ้านชาวบ้านบ้านเชียงสามารถค้าขายสินค้าประจำถิ่นได้ หนุ่มย้อนให้ภาพว่า จากนโยบายสินค้าโอท็อปเมื่อปี 2544 ทำให้คนรอบตัวในบ้านเชียงยังนิยมชมชอบอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยก็ครองใจคนในพื้นที่มานับ 20 ปีแล้ว ส่วนครอบครัวของหนุ่มนั้น เขาเล่าว่า “ที่บ้านจะเป็นคนที่ไม่ค่อยพูดถึงเรื่องการเมืองเท่าไหร่ ส่วนมากผมจะไปติดตามดูเองซะมากกว่า”

หลังเรียนจบ สาขาเทคนิคการผลิต ผ่านการบวชอีก 1 พรรษา ช่วงปี 2563 หนุ่มเดินทางไปนนทบุรีเพื่อไปทำงานเป็นช่างด้านโซลาร์เซลล์ และด้วยความสนใจทางการเมืองที่สั่งสมมาตั้งแต่รัฐประหาร 2557 พอเห็นการชุมนุมทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และนนทบุรี หนุ่มจึงไม่พลาดโอกาสที่จะเข้าไปสัมผัสบรรยากาศ ชู 3 ประเด็นที่ต้องการ นั่นคือ ให้รัฐบาลประยุทธ์ลาออก ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ตามแนวทางเรียกร้องของผู้ชุมนุมทั่วประเทศ 

.

ภาพเหตุการณ์ชุมนุม 16 ต.ค. 2563 จากประชาไท

.

กระทั่งวันที่ 16 ต.ค. 2563 วันที่หนุ่มจำได้ดี เพราะเขาอยู่ในที่ชุมนุมของกลุ่มราษฎรบริเวณสี่แยกปทุมวัน ก่อนถูกตำรวจควบคุมฝูงชนสลายชุมนุมด้วยการฉีดน้ำ รวมไปถึงสารเคมี นั่นเป็นครั้งแรก ๆ ที่หนุ่มเผชิญหน้าความรุนแรงทางการเมือง ก่อนหน้านั้นเขาเพียงแต่เฝ้าอ่านและสังเกตการณ์มัน รวมไปถึงติดตามนักวิชาการที่ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ อย่าง ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์

“โดยเฉพาะกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส ที่ทำให้ผมตาสว่างจริง ๆ ก็กรณีการสวรรคตของ ร.8 สงสัยว่าทำไมไม่เป็นข่าว ทำไมไม่มีการเผยแพร่ เพราะว่าในตำราเรียนหลักสูตรของไทย จะมีการสอนเรื่องราชวงศ์ตลอด แต่ทำไมการเสียชีวิตของกษัตริย์องค์นั้น กลับไม่ถูกเอ่ยถึงเท่าที่ควรจะเป็น” หนุ่มเล่าถึงความคิดตัวเองขณะอ่านประวัติศาสตร์กระแสรอง

ในช่วง 8 เดือนที่อยู่ต่างบ้าน นอกจากทำงานแล้ว ที่ชุมนุมคืออีกสถานที่ที่หนุ่มมักไปปรากฏตัว กระทั่งสถานการณ์โควิด -19 ที่ลุกลามหนัก รวมถึงรัฐบาลยังไม่ได้จัดหาวัคซีนให้ประชาชน หนุ่มจึงตัดสินใจลาออกจากงานในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 เขากล่าวถึงตัวเองขณะนั้นว่า “อนาคตรู้สึกว่ามันดับไป ไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อ ”

ในอีกด้านหนึ่งการกลับมาอยู่บ้านของหนุ่ม เป็นช่วงที่เขาได้สังเกตเรียนรู้ การทำงานในพื้นที่ของนักการเมืองที่รู้จักกัน ก่อนงานการเมืองกำลังเป็นแพลนที่เขามุ่งหวังจะทำในอนาคต โดยหนุ่มมีต้นแบบจาก ทักษิณ ชินวัตร ผ่านนโยบายหลักประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค และ จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีของนิวซีแลนด์ ที่ชูนโยบาย ประเทศต้องเดินด้วยงาน เมื่อทุกคนมีงานทำ คนก็ต้องจ่ายภาษี ภาษีก็เอามาพัฒนาประเทศเพื่อดูแลคนอื่นๆ  อีก 

.

เผารูปเปรียบเป็นสัญลักษณ์เรียกร้อง ไม่ใช่อาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ฯ

ย้อนไป 1 ส.ค. 2564 ตำรวจในพื้นที่อุดรฯ หลายนาย ไปที่บ้านของหนุ่ม หลังจากเข้าค้นหอพักแห่งหนึ่งในตัวเมือง โดยไม่มีหมายค้นและตรวจยึดรถมอเตอร์ไซค์ของหนุ่มที่จอดอยู่บริเวณนั้น กระทั่งช่วงหกโมงเย็นวันเดียวกันเมื่อหนุ่มเดินทางกลับถึงบ้าน จึงถูกตำรวจแสดงตัวเข้าจับกุม โดยนำภาพจากกล้องวงจรปิดมาให้ดู เป็นภาพชายกำลังจุดไฟเผารูป ร.10 ที่ตั้งอยู่ริมถนนแห่งหนึ่งในตำบลบ้านเชียง ก่อนที่หนุ่มจะยอมรับว่าเขาเป็นผู้วางเพลิงก่อเหตุในคืนวันที่ 28 ก.ค. 2564 

หลังถูกคุมตัวไว้ 1 คืน พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา “วางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น” บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาระบุว่า เพลิงไหม้รูป ร.10 ได้รับความเสียหายคิดเป็นมูลค่า 95,000 บาท ครั้งนั้นหนุ่มซึ่งมีเพียงครอบครัวอยู่ด้วยในฐานะผู้ไว้วางใจ ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ก่อนในชั้นฝากขัง ศาลจังหวัดอุดรธานีมีคำสั่งอนุญาตฝากขังและอนุญาตให้ประกัน ตีราคาประกัน 70,000 บาท 

.

.

กระทั่งกลางเดือนกันยายน 2564 พนักงานอัยการจังหวัดอุดรฯ มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กับหนุ่มเพิ่มเติม แม้ว่าหนุ่มจะเคยให้การรับสารภาพในข้อหาวางเพลิง แต่สำหรับข้อกล่าวหาที่เพิ่มเติมมาเขายืนยันให้การปฏิเสธ

“การเผามันก็เป็นแค่การเรียกร้องหรือว่าการส่งเสียงให้เขารู้ ไม่ใช่การเผาพริกเผาเกลือ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดูหมิ่นหรืออาฆาตเลย เราก็ยังเคารพเขา แต่เราเผาให้เขาเห็นว่าเราเรียกร้องอยู่นะ เราส่งเสียงอยู่นะ” หนุ่มกล่าวไว้ตอนหนี่ง 

จนเมื่ออัยการมีคำสั่งฟ้องในเดือนตุลาคม 2564 ที่ต่อมาการขึ้นศาลในนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์และพฤษภาคม 2565 เป็นไปอย่างปกติ กระทั่งนัดสืบพยานวันแรก 27 ก.ย. 2565 เป็นวันที่หนุ่มยอมรับว่าตัดสินใจยากที่สุดวันหนึ่งในชีวิตเขา เมื่อก่อนสืบพยาน ผู้พิพากษาพูดว่า ศาลมองว่า การเผาพระบรมฉายาลักษณ์เป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้าย เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 ให้จำเลยไปปรึกษาทนายและครอบครัวอีกรอบว่าจะยืนยันให้การปฏิเสธหรือไม่ หลังการปรึกษาหารือหนุ่มยังยืนยันต่อสู้คดี 

“สำหรับผมการจะอาฆาตมาดร้ายตามที่ศาลบอก ต้องแบบจ้องจะฆ่าแกงกัน จ้องจะทำร้าย แต่มันไม่ใช่ไง เราไม่ได้อาฆาตกษัตริย์” เขาสะท้อนความคิดไว้อีกตอน

แต่ผู้พิพากษาให้ทั้งทนายและคนที่มาสังเกตการณ์คดีออกไปจากห้อง 

หนุ่มเล่าถึงบรรยากาศในห้องพิจารณาคดี ขณะนั้นที่มีเขากับพ่อแม่อยู่ ผู้พิพากษาพูดอีกว่า การเผามันชัดเจนอยู่แล้ว ดูจากจำเลยแล้วคิดว่าคงทำไปโดยความคึกคะนอง ผู้พิพากษาคิดว่ายังไงก็ไม่พ้นความผิด 112 แน่ หากยอมรับผู้พิพากษาจะลงโทษสถานเบา แต่ถ้าจำเลยสู้จนหลุด 112 โทษข้อหาวางเพลิงก็หนักอยู่ดี 

เป็นแม่ที่เริ่มใจอ่อนไม่กล้าปฏิเสธข้อเสนอของศาล ทำให้ในที่สุดหนุ่มตัดสินใจเปลี่ยนเป็นให้การรับสารภาพ 

นอกจากการรับสารภาพแล้ว ในห้องพิจารณาคดีผู้พิพากษายังชี้แนวทางให้หนุ่มไปทำพิธีขอขมาต่อรูป ร.10 ประกอบคำรับสารภาพ แม้ว่าเมื่อย้อนไปหลังได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวนตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว หนุ่มได้เข้าไปขอขมาและซ่อมแซมรูปดังกล่าวให้กลับมาเป็นแบบเดิมแล้ว 

ก่อนที่ถัดจากนั้น หนุ่มต้องไปพบพนักงานคุมประพฤติเพื่อให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะประวัติและทำรายงานส่งให้ศาลพิจารณาประกอบการเขียนคำพิพากษา

“เขาก็จะสอบถามว่าเรา ทำไมถึงไปทำ ตอนนั้นเราคิดอะไรอยู่ ก่อนหน้านี้คิดอะไรอยู่  ผมก็บอกว่าสนใจการเมือง อยากให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้การปกครอง ภายใต้รัฐธรรมนูญ อยากให้เป็นแบบประเทศอังกฤษหรือประเทศญี่ปุ่น” หนุ่มเล่าถึงวันที่เขาพบพนักงานคุมประพฤติ

.

ไม่ได้อาฆาตมาดร้าย แต่รับผิด ‘112’ เพราะครอบครัว 

แม้จะตัดสินใจรับสารภาพไปแล้ว และทำตามกระบวนการที่ศาลแนะทั้งหมด รอคอยเพียงวันที่ศาลมีคำพิพากษา หากเมื่อหนุ่มมองย้อนกลับไป เขาคิดว่ายังไงก็ยังอยากต่อสู้คดี และย้ำหลักการส่วนตัวว่า

“เราไม่ได้อาฆาตมาดร้าย แล้วตัวกฎหมายก็ไม่ได้เป็นสากลขนาดที่เราจะยอมรับให้โดนตัดสินว่าผิด ยังไงผมก็รู้สึกว่าผมไม่ได้ผิด ม.112 ในเรื่องนี้อยู่ดี แต่เราเลือกแล้วที่รับสารภาพเพราะครอบครัวอย่างเดียว ที่มีผลต่อจิตใจ อย่างน้อยทำให้พ่อแม่สบายใจ แล้วเราจะได้ไปหาหนทางอื่นมาสู้ดีกว่า”

แต่หากศาลจะพิพากษาลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา ไม่เหมือนคำพูดในห้องพิจารณาวันนั้น หนุ่มก็เตรียมตัวเตรียมใจไว้เหมือนกัน ย้ำชัดว่า “ไม่เป็นไรถ้าเราต้องติดจริง ๆ ก็เตรียมใจไว้ครับ หาอ่านหนังสือในคุก หาเพื่อนที่มีอุดมการณ์เดียวกันข้างในนั้น”

.

.

ส่วนแผนที่หนุ่มวางไว้ หากได้รับอิสรภาพ วางเป้าจะเรียนภาษา เพื่อจะได้ไปทำงานและเรียนต่อที่ต่างประเทศ คาดหวังว่าวันหนึ่งจะได้กลับมาสานฝันการเป็นนักการเมืองในท้องที่บ้านเชียง ที่เขาใช้ชีวิตเกิดและเติบโต พร้อมกล่าวถึงสิ่งที่ต้องการว่า “ผมอยากพัฒนาบ้านเชียงให้ดีในทุก ๆ ด้าน ทำให้ตอนนี้อยากเรียนเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการเมือง รัฐศาสตร์”

ระหว่างที่อนาคตยังไม่แน่นอน หนุ่มก็เริ่มทำตามแพลนไปพลางๆ ด้วยการแสวงหาความรู้และประสบการณ์ ล่าสุดเขาเข้าเรียนหลักสูตรเยาวชนก้าวหน้ากับ Common School ซึ่งเรียนเรื่องรณรงค์ความคิดทางการเมืองรวม 48 ชั่วโมง 

“เป็นการหาความรู้เสริม เพราะถ้าอ่านหนังสือหรือเสพข่าวในอินเทอร์เน็ต มันก็ไม่เหมือนที่เราเจอเขาจริง ๆ  แล้วก็อาจจะได้เจอเพื่อนที่มีอุดมการณ์เดียวกันด้วย” หนุ่มเล่าถึงโรงเรียนทางการเมืองที่กำลังบ่มเพาะความคิดให้เขา

กับความคิดที่อยากเป็นนักการเมือง หนุ่มให้ทัศนะว่า “การเป็นผู้แทนประชาชน ก็เหมือนรวบรวมเสียงของตัวเอง และเสียงของคนอื่น ๆ ในสังคม ไปบอกกล่าว เพื่อนำมาพัฒนา ลำพังระบบสังคมไม่อาจนำพาความเปลี่ยนแปลงมาได้มากนัก ถ้าขาดคนที่จะเป็นตัวแทนในการตัดสินใจ ซึ่งคนที่จะได้ใช้สิทธิตัดสินใจ ก็ต้องเป็นผู้ที่ถูกเลือกและได้รับการยอมรับด้วย” 

เมื่อให้ลองยกตัวอย่างสิ่งที่หนุ่มคิดว่าอยากทำหากมีอำนาจทางการเมือง อดีตนักเรียนช่างชาวบ้านเชียงบอกว่า อุดรธานีเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีผู้คนเดินทางมาตลอดทั้งปี ทั้ง พิพิธภัณฑ์บ้านเชียง, ป่าคำชะโนด หรือแม้แต่ทะเลบัวแดง หากได้ไปศึกษาที่ต่างประเทศเขาคิดว่า อยากหาโมเดลระบบขนส่งที่นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่เดินทางจะไปยังจุดต่าง ๆ ของจังหวัด ได้ครบภายใน 1 วัน ด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงง่ายและประหยัด 

จากภายนอกที่สนใจเรื่องการเมือง และมีความฝันจะเห็นบ้านเมืองเปลี่ยนแปลง ลึกลงไปภายใน หนุ่มก็เล่าถึงตัวเองว่า เขาก็เป็นคนทั่วไป ที่ชอบอยู่กับเพื่อนพบปะพูดคุยกันในเรื่องชีวิตประจำวัน ส่วนอุดมการณ์ทางการเมืองนั้นคนรอบข้างจะเข้าใจดีว่า เขาคิดเห็นอย่างไร และปรารถนาอยากจะเห็นในสิ่งไหน ถึงที่สุดศาลจะตัดสินชะตาชีวิตให้พัดพาไปในทิศทางไหน หนุ่มก็ยังชัดเจนในแนวทางส่วนตัวว่า เพราะถูกกดทับจึงต้องแสดงออกด้วยการต่อต้าน แสดงออกด้วยการไม่ยอมรับ และอยากให้ผู้มีอำนาจฟังเสียงของประชาชน

.

ไม่ดีใจเสียใจแม้ศาลพิพากษารอลงอาญา เมื่อนึกถึงอีกหลายคนยังคงถูก ม.112 เล่นงาน 

29 พ.ย. 2565 เป็นวันที่ศาลนัดฟังคำพิพากษา หนุ่มพร้อมพ่อและแม่เดินทางมาถึงศาลก่อน ขณะนั่งรอทนายซึ่งต้องเดินทางมาจากจังหวัดอื่นอยู่หน้าห้องพิจารณา หนุ่มเล่าด้วยสีหน้าที่ไม่ได้แสดงความกังวลว่า เมื่อคืนนอนหลับสบายดี ส่วนผู้เป็นแม่นั้นเปรยว่า นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ ถึงอย่างไรความกังวลต่อชะตากรรมของบุตรชายก็ยังรบกวนจิตใจเธอ

เจ้าหน้าที่ประจำห้องพิจารณาเรียกหนุ่มให้เข้าไปในห้อง แม้ว่าทนายจำเลยจะยังเดินทางมาไม่ถึงและศาลยังไม่ออกพิจารณาคดี ก่อนยื่นรายงานการสืบเสาะของพนักงานคุมประพฤติให้อ่านและตรวจสอบว่า ข้อเท็จจริงตรงกับที่หนุ่มให้ข้อมูลไปหรือไม่ หนุ่มใช้เวลาอ่านซักพัก จากนั้นเขาส่งให้แม่ได้อ่านด้วย เมื่อเจ้าหน้าที่เรียกคืน หนุ่มก็แจ้งว่าไม่มีอะไรต้องแก้ไข

ราว 10.15 น. หลังผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนออกนั่งพิจารณาคดีตามลำดับมาถึงคดีของหนุ่ม ได้กล่าวถึงเนื้อหาคำพิพากษาสั้น ๆ ว่า จากรายงานการสืบเสาะ จำเลยมีประวัติดี กระทำความผิดครั้งแรก ศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี 6 เดือน โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี คุมประพฤติเป็นเวลา 1 ปี โดยให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง และทำงานบริการสังคม 24 ชั่วโมง ก่อนกล่าวกับหนุ่มในตอนท้ายว่า ศาลให้โอกาสแล้วอย่าทำอีก 

ทั้งนี้ ศาลไม่ได้อ่านโทษจำคุกที่พิพากษาลงโทษ ก่อนลดโทษกึ่งหนึ่งเพราะเหตุที่รับสารภาพ แต่บอกเพียงโทษที่ลดครึ่งแล้วว่า จำคุก 2 ปี 6 เดือน ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่า โทษที่พิพากษาเต็มคือจำคุก 5 ปี โดยเป็นการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักกว่าฐานวางเพลิงเผาทรัพย์

หลังยื่นคำร้องขอคืนหลักประกันซึ่งเป็นโฉนดที่ดินของแม่ที่วางไว้กับศาลตั้งแต่ชั้นฝากขังแล้ว ในช่วงบ่ายหนุ่มได้ไปรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติเพื่อรับทราบวันนัดรายงานตัวตามเงื่อนไขคุมประพฤติของศาล และวิธีทำงานบริการสังคม ซึ่งเจ้าหน้าที่แจ้งว่า ให้ไปทำงานบริการให้กับวัดที่กำหนดรวม 4 วัน วันละ 6 ชั่วโมง 

เมื่อภารกิจทางคดีในวันนี้เสร็จสิ้นลง แม้ยังไม่ใช่การที่คดีสิ้นสุด หากว่าอัยการยื่นอุทธรณ์ คดีก็จะต้องไปอยู่ในการพิจารณาของศาลที่สูงกว่าต่อไปนี้ แต่อย่างน้อยวันนี้หนุ่มยังมีอิสรภาพอยู่ เขาเปิดเผยความรู้สึกว่า

“เอิ่มม… จะดีใจมั้ยก็ไม่ จะเสียใจมั้ยก็ไม่ มันอยู่กลางๆ อะครับ แต่เห็นพ่อแม่รู้สึกโล่งใจแล้ว ผมก็โอเคอยู่ครับ ถ้ามองในมุมผมจริง ๆ ผมยังรู้สึกเซ็งๆ ในตัวกฎหมาย ม.112 อยู่มาก ถึงผมจะได้รอลงอาญา แต่ยังมีคนที่ไม่ได้รับอิสรภาพเฉกเช่นเดียวกันกับผม และมีอีกหลายคนที่ยังไม่รู้ว่า ศาลจะพิพากษาให้พวกเขาได้รับอิสรภาพมั้ย ผมจึงอยากเป็น 1 เสียงที่พูดว่า #ปล่อยเพื่อนเรา #อย่าลืมเพื่อนเรา”

.

อ่านฐานข้อมูลคดีเพิ่มเติม 

คดี 112 “พิทยุตม์” หนุ่มอุดรฯ วางเพลิงรูป ร.10 คืนวันเฉลิมฯ

X