“หากยืนหยัดสู้ ก็ไม่ต้องกลัวเกรงใดๆ” เรื่องของ “ปีเตอร์” พ่อค้าออนไลน์ จำเลย ‘112’ ปราศรัย เรื่องยศ “ฟูฟู” และงบสถาบันกษัตริย์ ที่อุดรฯ

ท่ามกลางชีวิตครอบครัว ‘คริสเตียน’ ย่านตลิ่งชันของกรุงเทพฯ “ปีเตอร์” (นามสมมติ) จำเลยคดี ‘112’ จากการปราศรัย วิจารณ์อวยยศ “ฟูฟู” ก็มีชีวิตวิถีเรียบง่ายเช่นใครหลายคน จนมาถึงทางแยกของชีวิตที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน ช่วงอายุ 17 ปี เขาย้ายตัวเองไปอยู่กับพ่อที่เชียงใหม่ ก่อนชีวิตผกผันต้องออกจากมหาวิทยาลัยเพียงเพราะอยากทำงานเพื่อสั่งสมประสบการณ์หาเงิน การเริ่มชีวิตทำงานไวก็ทำให้ปีเตอร์ผ่านพบเรื่องราวมากกว่าคนวัยเดียวกัน ในแง่จริงก็ตกผลึกถึงชีวิตที่ใฝ่ฝันความเท่าเทียมและอยากเห็นคนในสังคมลืมตาอ้าปากได้ในทางเศรษฐกิจ

จนวันหนึ่งในสถานการณ์โควิด-19 ที่คนทำงานเชิงธุรกิจได้รับผลกระทบเต็มๆ การค้าขายในภาวะที่หลายอย่างหยุดชะงักก็ทำให้ปีเตอร์มีเวลาเพียงพอที่จะย้อนไปศึกษาการเมือง ยิ่งกับที่มาที่ไปของอำนาจที่เขาไม่ได้เลือกมันมา ก็ยิ่งถูกชวนตั้งคำถามมากขึ้น และเมื่อย้อนไปในช่วงปี 2553 ระหว่างความขัดแย้งทางการเมืองเรื่องสีเสื้อ ปีเตอร์ก็ย้ำกับตัวเองเสมอว่า ในช่วงชีวิตนั้นเขาพอจะรู้ดีว่าสิ่งไหนผิด สิ่งใดถูก และอะไรเป็นปัญหาสำคัญของการเมืองไทย

กระทั่งการตัดสินใจขึ้นปราศัยครั้งแรกครั้งเดียวในชีวิต ที่งานชุมนุม “กฐินราษฎร์ตลาดหลวง” เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ที่ จ.อุดรธานี ก็เป็นเหตุที่ทำให้ปีเตอร์ถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ที่หลังจากต่อสู้คดีมากว่า 1 ปี ศาลจังหวัดอุดรธานีกำลังจะมีคำพิพากษา ในนามคริสเตียน ปีเตอร์กล่าวถึงวันชี้ชะตาชีวิตไว้ว่า “คงแล้วแต่พระเจ้าจะนำทางให้” 

.

พ่อค้าออนไลน์ที่ลงทุนด้วยชีวิต

ปีเตอร์ ในวัย 29 ปี ย้อนเล่าถึงชีวิตว่า เกิดที่กรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรี ย่านตลิ่งชัน ในครอบครัวที่มีแม่เป็นคริสเตียน แต่อาศัยอยู่กับยายเป็นหลัก เนื่องจากพ่อกับแม่ต้องไปทำงานนอกบ้าน ก่อนจะแยกทางกันตอนปีเตอร์อายุได้ 13 ปี 

กระทั่งอายุ 17 ปี พ่อของปีเตอร์ชวนให้ย้ายไปอยู่ จ.เชียงใหม่ ด้วยกัน ปีเตอร์เลือกเข้าเรียนด้านการตลาดตามความสนใจที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ที่พอเรียนไปได้ 2 ปี เขาตัดสินใจหันหลังให้ชีวิตการศึกษา เพื่อจะมุ่งหน้าทำงานหาเลี้ยงชีพ 

ในวัยยังไม่ถึง 20 ปี ปีเตอร์ผ่านการเรียนรู้งานที่ประเทศจีน โดยเฉพาะเรื่องการนำเข้าส่งออกสินค้า กระทั่งรูปแบบการส่งออกสินค้ามีระบบออนไลน์มากขึ้น คนที่ทำหน้าที่ติดต่อเจรจาถูกลดบทบาทลง ปีเตอร์จึงได้กลับประเทศไทยเพื่อมาทำงานอื่นในเชิงธุรกิจ เช่น เป็นเซลล์ขายผลไม้นำเข้าไปประเทศตะวันออกกลาง ก่อนจะย้ายตัวเองไปที่ จ.อุดรธานี ตามความต้องการของพ่อซึ่งมีที่ทางอยู่ที่นั่น

ภาพจาก iLaw

แต่เนื่องจากพื้นที่อยู่ต่างอำเภอไกลจากตัวเมือง ปีเตอร์ไม่ชินกับการใช้ชีวิตในจุดนั้น จึงขยับตัวเองมาทำงานในตัวเมืองอุดรธานี เป็นธุรกิจเล็ก ๆ ด้วยการทำตู้แช่ส่งออกปลาแซลมอนเข้าประเทศลาว ก่อนที่ธุรกิจจะชะงักและปิดกิจการไปในช่วงโควิด-19 ระบาดในปี 2563 ช่วงนั้นเองที่ปีเตอร์มีเวลาสนใจการเมืองมากขึ้น เพราะอยากรู้ต้นตอของปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดในประเทศ

“ไม่เลือกงาน ไม่ยากจน” ดูจะเป็นประโยคธรรมดาที่เห็นกันดาษดื่น แต่ในสถานการณ์โควิดชีวิตของปีเตอร์ก็สอดคล้องไปกับประโยคนั้น ปีเตอร์เล่าว่า เขาต้องเริ่มจากศูนย์ใหม่อีกครั้ง ทำงานทุกอย่าง

กระทั่งไปสมัครงานที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง เจ้าของกิจการถามปีเตอร์ว่าทำอะไรได้บ้าง? ก่อนจะให้เขาขับซาเล้งส่งขนมปัง การขับรถส่งของทำให้ปีเตอร์ได้รู้จักคนและพื้นที่มากขึ้น เมื่อโอกาสใหม่ๆ มาถึง จึงสมัครงานเป็นตัวแทนการขายในแอปพลิเคชั่นเดลิเวอรี่แห่งหนึ่ง เป็นพนักงานประจำและมีเงินเดือน  

ปีเตอร์ไม่หยุดตัวเองอยู่ที่การเป็นมนุษย์เงินเดือน เขาขยับตัวเองออกมาทำแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ออนไลน์ของตัวเองเต็มตัว แล้วจึงย้ายชีวิตกลับไปเชียงใหม่อีกครั้ง เนื่องจากงานขายของออนไลน์สามารถทำที่ไหนก็ได้ และเชียงใหม่เหมาะกับการทำงาน เขาพอมีคนรู้จักและลูกค้าเยอะ หลังแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่กระแสซาลง ปีเตอร์ก็หันมายึดงานขายอาหารสัตว์ออนไลน์ที่มีทุกยี่ห้อ ขายผ่านกลุ่มไลน์ที่มีคนรู้จักและกลุ่มลูกค้าอยู่แล้ว รายได้ที่พอเหลือเป็นเงินเก็บปีเตอร์ก็ยังมองถึงการต่อยอดลงทุนครั้งใหม่ต่อไป

.

‘Rome: Total War’ จุดเริ่มใฝ่รู้การเมือง

ปีเตอร์เล่าถึงการรับรู้และตื่นตัวทางการเมืองว่า มาจากการชอบเล่นเกม ‘Rome: Total War’ เกมที่มีต้นแบบมาจากสงครามจริงในประวัติศาสตร์โลก ทำให้เขาสนใจประวัติศาสตร์ตั้งแต่เด็ก เป็นเกมที่เปิดโลกทัศน์ และสอดคล้องกับบทเรียนทางการเมืองที่แต่ละคาแรกเตอร์ในเกมได้เผชิญ ก่อนที่เขาจะใฝ่รู้เรื่องสังคมการเมืองในโลกปัจจุบันมากขึ้น ปีเตอน์กล่าวด้วยว่า “การเล่นเกมที่ให้บทบาทสมมติเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ ก็ทำให้ผมตาสว่าง รู้ผิดถูกและตั้งคำถามตั้งแต่เด็กเลยก็ว่าได้” 

มันทำให้ตั้งคำถามไปกับหลาย ๆ เรื่องในสังคม ปีเตอร์ยกตัวอย่าง “เช่นตอนเด็กถูกบอกว่าต้องรักสถาบันกษัตริย์นะ เราก็ตั้งคำถามกับสิ่งที่ถูกบอกมานี้ ทำให้เกิดการเรียนรู้ และเข้าใจว่า โลกของเราหมุนโดยมีเหตุการณ์ทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง”

ภาพจาก GameSpot.com

ด้วยก่อนที่พ่อกับแม่ปีเตอร์จะแยกทางกัน ทั้งคู่ก็มีความขัดแย้งทางการเมืองมาตั้งแต่ที่เขายังเด็ก โดยเฉพาะการเมืองยุคเสื้อเหลือง เสื้อแดง ทำให้ปีเตอร์ศึกษาผ่านสิ่งเหล่านี้จนเข้าใจเองว่า อะไรถูกอะไรผิด ปีเตอร์ย้ำว่า สิ่งที่สั่งสมมามันก็ให้คำตอบในตัวเอง แต่ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ 

โดยเฉพาะวาทกรรม “เผาบ้านเผาเมือง” ปีเตอร์เล่าประสบการณ์ในช่วงเวลานั้นว่า เหตุการณ์ยิงประชาชนและไฟไหม้ในฝั่งพระนคร แต่เขาเห็นควันไฟได้จากดาดฟ้าแถวบ้านในฝั่งธนฯ คนรอบตัวที่ส่วนใหญ่ชอบพรรคประชาธิปัตย์ต่างก็บอกว่าเสื้อแดงสมควรถูกฆ่าเพราะเผาบ้านเผาเมือง และมีการบิ๊กคลีนนิ่งเดย์เหมือนบอกว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ความรู้สึกของเขาขณะนั้น “รู้สึกหดหู่ ทำให้เห็นว่าใครเป็นยังไงบ้างในตอนนั้น” 

หลังจากเหตุการณ์สลายชุมนุมคนเสื้อแดงไม่นาน เขาก็ไปใช้ชีวิตที่เชียงใหม่ และทำงานเป็นหลัก โดยติดตามการเมืองบ้างกับประเด็นสำคัญๆ ที่ไม่ห่างไปจากตัวเขา

ปีเตอร์เล่าอีกว่า จนช่วงสถานการณ์โควิดที่เศรษฐกิจแย่ ธุรกิจที่ทำพังไปหมด และต้องกักตัวที่บ้าน จึงพอมีเวลาศึกษาประวัติศาสตร์ไทยมากขึ้น และคิดไปว่าเมื่อไหร่ประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง แต่แม้รู้เห็นข้อมูล และเริ่มเห็นผู้คนออกมาชุมนุมในช่วงปี 2563 ปีเตอร์ก็ยอมรับว่าเขาไม่ใช่คนมีความสามารถในการพูดเท่าไหร่นัก การมีส่วนร่วมที่ทำได้ง่ายที่สุดคือเข้าร่วมรับฟังการปราศรัยชุมนุมในพื้นที่ จ.อุดรธานี และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่า ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารในขณะนั้น 

ปีเตอร์ไปชุมนุมครั้งแรกที่ จ.ขอนแก่น จุดมุ่งหมายที่ไปอยากเห็นคนที่มีจุดยืนร่วมกัน คือยึดถือความเท่าเทียม นอกนั้นเป็นเรื่องฟื้นฟูเศรษฐกิจปากท้อง ปีเตอร์ให้ไอเดียว่า “ชอบคิดว่าทำยังไงให้ประเทศเรารวย มีรายได้มากขึ้น เพราะมีประสบการณ์ไปเห็นต่างประเทศมาก็มาก แล้วเรารู้สึกว่าผู้นำไทยควรจะมีความสามารถทำให้ประชาชนลืมตาอ้าปากและมีชีวิตที่ดีกว่านี้”

.

คดี ‘112’ ที่พูดเพราะหวังดีต่อสถาบันกษัตริย์

จากชีวิตที่ไม่เคยขึ้นศาล เหตุที่ปีเตอร์ถูกดำเนินคดีมาจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2563 เขาขึ้นปราศรัยครั้งแรกโดยวิจารณ์การพระราชทานยศให้ “ฟูฟู” สุนัขทรงเลี้ยง และงบสถาบันกษัตริย์ ความคิดห้วงนั้นปีเตอร์อยากจะพูดสิ่งที่อยากจะช่วยแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะเรื่องสถาบันกษัตริย์ ปีเตอร์ย้อนภาพว่า “วันนั้นเพียงเพราะอยากลองพูดดู ไม่คาดคิดว่าจะถูกดำเนินคดีเพราะว่าหวังดีจริงๆ” 

ส่วนตัวปีเตอร์รู้ถึงโทษมาตรา 112 เพราะในความเห็นของเขาเป็นกฎหมายที่ไม่เท่าเทียม เป็นกฎหมายที่เขาเองตั้งคำถามมานานแล้วว่ามันไม่ควรมีโทษรุนแรง เขาเล่าความตั้งใจในครั้งนั้นว่า “ตอนที่ปราศรัยคิดว่าสิ่งนี้ไม่ควรมีในโลกมนุษย์ใบนี้ ทั้งโบร่ำโบราณ โลกปัจจุบันไม่ควรมีเรื่องยศถาบรรดาศักดิ์ที่มอบให้สัตว์เลี้ยง ผมเคยเปรยกับเพื่อนที่เป็นข้าราชการว่า เวลาเห็นสัตว์มียศ แต่เราเป็นคนทำงาน มันทำให้เรารู้สึกยังไง ซึ่งผมอยากจะพูดว่าไม่ควรจะมีสิ่งแบบนี้ ” 

ปีเตอร์ย้ำอีกว่า ไม่มีเจตนาไม่ดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อยากให้ชวนฉุกคิดตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นมากกว่า พร้อมกล่าวเสริมว่า “ผมมีแค่เรื่องความเท่าเทียมกับเศรษฐกิจ และทุกคนต้องปรับตัวตามยุคสมัยให้อยู่ในโลกได้ ธรรมเนียมที่ล้าหลังก็ต้องปรับไปตามยุคสมัย” 

ภาพจาก iLaw

อาจเป็นเรื่องอัดอั้นมานานที่อยากพูด อย่างไรก็ตามการปราศรัยในการชุมนุม “กฐินราษฎร์ตลาดหลวง” ตรงแยกกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ก็เป็นการพูดในที่สาธารณะครั้งแรกและครั้งเดียวของเขา และเป็นครั้งที่ทำให้ตกเป็นผู้ต้องหา 112 เสร็จจากการปราศรัยครั้งนั้น ปีเตอร์ก็ไม่ได้ไปปรากฏตัวที่การชุมนุมที่ไหนอีกเลย ด้วยต้องทำงานทั้งวันได้นอนเพียงวันละ 6 ชั่วโมง ทั้งปีมีวันหยุดเพียง 3 วัน

ตั้งแต่ถูกดำเนินคดีมาปีเตอร์ก็ทำใจ กับอุปสรรคอื่น ๆ ก็ไม่ค่อยมี ในระหว่างต่อสู้ทั้งที่สถานีตำรวจ สำนักงานอัยการ หรือศาล โดยมากไปก็นั่งเงียบ ๆ สุขุม ปีเตอร์กล่าวว่า “โชคดีที่มีทั้งทนายความและกองทุนราษฎรประสงค์ช่วยเหลือในการต่อสู้คดี และมีความเชื่อใจในขบวนการที่ร่วมต่อสู้ จึงไม่ได้รู้สึกกังวลอะไรมาก ไม่ได้กลัวการติดคุก เพราะสิ่งที่ทำไม่ควรเกิดเป็นคดีด้วยซ้ำ” 

กับผลกระทบหลักๆ เนื่องจากปัจจุบันอาศัยอยู่เชียงใหม่แล้วคดีเกิดขึ้นที่อุดรธานี ทำให้ต้องเดินทางไกลบ่อยครั้ง และมีบ้างที่การติดต่อธุรกิจสะดุดลงไปเพราะต้องใช้เวลาอยู่ในศาลนาน  

ถึงทึ่สุดปีเตอร์บอกอีกว่า หากมีโอกาสปราศรัยอีกคงจะกล่าวด้วยความหวังดีถึงสิ่งที่อยู่ในความคิดเสมอว่า  “การเมืองที่ดีทุกคนต้องลืมตาอ้าปากได้ ไม่ใช่ว่าไม่มีความจน แต่สามารถทำให้ดีได้กว่านี้ทั้งประเทศ ปัจจุบันมันคือการวนลูปเดิม และขัดกับความเท่าเทียม ผมเชื่อว่าทุกคนในประเทศสามารถมีสวัสดิการจากรัฐที่ดีกว่านี้ได้” 

.

ชะตาชีวิต อยู่ที่พระเจ้าจะให้ทางไป 

ปีเตอร์กล่าวถึงชะตาชีวิตที่ไม่อาจควบคุมได้ว่า ทุกคนไม่อยากติดคุกอยู่แล้ว แต่การออกไปแสดงออกก็เพื่อเจตนาอยากให้แก้ไข อยากให้ทุกอย่างดีขึ้น มีความหวังดีกับประเทศ แล้วอยู่ๆ มีคดีตามมาก็รู้สึกเสียใจ ไม่อยากติดคุกเพราะไม่อยากเสียเวลา 

“ไม่กลัวติดคุก แต่กลัวเสียเวลา หวังว่าศาลจะพิจารณาในความเป็นจริงในสิ่งที่เราอยากนำเสนอ แต่สุดท้ายอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ต้องยอมรับความเป็นจริง” ปีเตอร์สะท้อนความรู้สึกไว้ตอนหนึ่ง

ในมุมมองคนทำธุรกิจเล็กๆ พ่อค้าขายอาหารสัตว์ออนไลน์เห็นว่า การมีคดีทำให้มีสิ่งติดค้างในชีวิต ถ้าเกิดหลุดพ้น จะทำให้มีอิสระในการที่จะทำหลายอย่าง และอยากทำธุรกิจที่อยากจะเริ่มให้ได้เต็มที่มากขึ้น 

ส่วนกับคนอื่นๆ ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112  ปีเตอร์ก็รู้สึกเห็นใจ ไม่ควรมีใครมาโดนคดีนี้ เท่าที่เห็นจำเลยหลายรายอายุไม่เกิน 30 ปี ที่ชีวิตเพิ่งจะได้เริ่มตั้งตัวด้วยซ้ำ ปีเตอร์สะท้อนอีกว่า “ผมรู้สึกสงสารที่เขาเกิดมาในประเทศนี้ เขาไม่ควรมาเจอสภาพแบบนี้ เขาเหล่านั้นเป็นผู้กล้า และการพูดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงออก” 

ทั้งด้วยเข้าใจหัวอก ความเห็นอกเห็นใจ และไม่ควรมีใครมาพบเจอสถานการณ์ชีวิตแบบนี้กับอัตราโทษที่สูงกว่าหลายคดีความผิดทางอาญา ปีเตอร์เล่าถึงการรับรู้จากคนใกล้ตัวว่า “คนรอบข้างค่อนข้างจะเข้าใจเรื่องที่ถูกดำเนินคดีหมดเลย ไม่มีใครมองเป็นคนไม่ดี กับครอบครัวก็มีแม่กับยายที่มีความกังวลอย่างมาก และเห็นว่าผมไม่ควรทำสิ่งนี้เลย ส่วนฝั่งพ่อเขาคิดว่าเป็นวิถีของแต่ละคน เมื่อเป็นคดีแล้วมันก็ดำเนินไปตามทาง” 

ชายหนุ่มเล่าอีกว่า หากผลตัดสินไม่เป็นใจ ก็คงต้องสู้ต่อตามช่องทางที่มี ลึก ๆ แล้ว การขาดอิสรภาพไม่ได้ทำให้มีความกลัว 

ในน้ำเสียงที่เชื่อมั่นในตนเอง ปีเตอร์บอกว่า “ผมเป็นคนหนึ่งที่เข้ากับคนง่าย แล้วถ้าเข้าเรือนจำไปแรกๆ คงจะเบื่อ แต่อาจได้ไปพักผ่อนและเรียนรู้ชีวิตเพิ่ม ผมเป็นคนที่มองโลกในแง่ดี คุกมันไม่ใช่นรก แต่เป็นสถานที่หนึ่งที่เราอาจจะมีประสบการณ์เพิ่มมากขึ้น เป็นบทเรียนชีวิตบทหนึ่งเลย” 

ก่อนกล่าวทิ้งท้ายว่า “อยู่ที่พระเจ้าเขาจะให้ทางไป แต่เราเป็นคริสเตียนก็เชื่อว่าหากยืนหยัดสู้ ก็ไม่ต้องกลัวเกรงใดๆ ทั้งสิ้น ทุกเหตุการณ์ในชีวิตที่จะเกิดนับจากนี้ จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ผมมาสนใจการเมืองมากกว่านี้อีก”  

อ่านบันทึกสืบพยาน

คดีที่ไม่ควรเป็นคดี: บันทึกสืบพยานคดี 112 “ปีเตอร์” ยืนยันปราศรัยวิจารณ์อวยยศ “ฟูฟู” – งบสถาบันกษัตริย์ ด้วยหวังดี ขณะศาลเคยชี้ไม่เข้าองค์ประกอบ ม.112

X