ฟ้อง ม.112 พ่อค้าออนไลน์ขึ้นปราศรัยครั้งแรกที่อุดรฯ ปี 63 วิจารณ์อวยยศ “ฟูฟู” – งบสถาบันกษัตริย์ 

11 ก.ค. 2565 “ปีเตอร์” (นามสมมติ) พ่อค้าออนไลน์วัย 27 ปี เดินทางจากจังหวัดทางภาคเหนือไปที่ศาลจังหวัดอุดรธานีในนัดส่งฟ้องคดีมาตรา 112 หลังทราบเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมาว่า พนักงานอัยการจังหวัดอุดรฯ มีคำสั่งฟ้อง แต่เขาได้ขอเลื่อนนัดส่งฟ้องมาเป็นวันนี้ เพื่อเตรียมเรื่องการประกันตัว

คดีดังกล่าวนี้มีเหตุมาจากการที่ปีเตอร์เข้าร่วมชุมนุม “กฐินราษฎร์ตลาดหลวง” เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2563 และขึ้นปราศรัยถึงการพระราชทานยศให้ “ฟูฟู” สุนัขทรงเลี้ยง และงบสถาบันกษัตริย์

เวลา 13.30 น. เจ้าหน้าที่จากสำนักงานอัยการจังหวัดอุดรฯ เดินทางมายื่นฟ้องและนำตัวปีเตอร์ไปส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวไว้ในห้องขังด้านหลังศาล ขณะเจ้าหน้าที่ศาลดำเนินการรับคำฟ้องและออกหมายเลขคดีดำ ก่อนทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวปีเตอร์ระหว่างพิจารณาคดี ด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสด 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

ประมาณ 16.00 น. หลังศาลใช้วิธีคอนเฟอเรนซ์จากห้องพิจารณามาที่ห้องขังเพื่ออ่านคำฟ้องโดยสรุป และถามคำให้การเบื้องต้น ซึ่งปีเตอร์ให้การปฏิเสธ ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตามที่ทนายยื่นคำร้อง  โดยไม่กำหนดเงื่อนไขใดๆ นอกจากให้มาศาลตามนัด พร้อมทั้งนัดคุ้มครองสิทธิและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 18 ส.ค. 2565 เวลา 13.30 น. 

ปีเตอร์ได้รับการปล่อยตัวในเวลาเกือบ 17.00 น. รวมเวลาถูกขังกว่า 3 ชม. 

นฤทชัย ผลจันทร์ พนักงานอัยการจังหวัดอุดรธานี ซึ่งยื่นฟ้องปีเตอร์ในฐานความผิด “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บรรยายคำฟ้องมีใจความโดยสรุปว่า 

เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2563 จําเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยใช้เครื่องขยายเสียงพูดหรือปราศรัยแก่ประชาชนหลายคน บริเวณแยกกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี 

คำฟ้องได้กล่าวถึงบางตอนของคำปราศรัยซึ่งมีเนื้อหาวิจารณ์การพระราชทานยศให้ “ฟูฟู” สุนัขทรงเลี้ยง และงบสถาบันกษัตริย์ ซึ่งมีใจความสำคัญว่า “…ผมอยากฝากถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ โปรดเถอะครับ ยกเลิกการพระราชทานยศแก่สุนัขทรงเลี้ยงอะไรพวกนี้อ่ะครับ เพราะว่าจะทําให้ราชการที่รับราชการเนี่ยเขาเกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ําใจว่า ทําไมเนี่ยเรารับใช้รัชกาลจะตายเนี่ย แต่ทําไมถึงมียศไม่เท่ากับพลอากาศเอกฟูฟู เนี่ย ยกเลิกเถอะครับ พระราชทานยศให้สุนัขทรงเลี้ยงเนี่ย” 

และ “คุณรู้ไหมว่า ปี 60 เนี่ย สถาบันพระมหากษัตริย์เนี่ย ได้รับภาษีของเราสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ภาษีของเราเนี่ยตัวเลขนี้อยู่ที่ 3.7 หมื่นล้านบาท… ซึ่งมันไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจในปัจจุบัน ตอนนี้ประเทศเราเนี่ย GDP ติดลบ 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ทําไม ผมตั้งคําถามว่าทําไมสถาบันพระมหากษัตริย์ถึงต้องเอาภาษีเราไปจํานวนมากขนาดนี้ 3.7 หมื่นล้าน ซึ่งมันมากเหลือเกิน แล้วภาษีของเราเนี่ยตกอยู่ที่สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่หนึ่งของโลกเช่นกัน ผมจะยกตัวอย่างของสถาบันเบลเยี่ยมนะ เจ้าฟ้าชายฟิลิปเนี่ยเบลเยียม คุณเชื่อไหมว่าเขาได้รับภาษีจากประชาชนเบลเยียม แค่ 340 ล้านบาทต่อปี แต่คุณเชื่อไม่ว่าประชาชนเบลเยียม รวยอันเป็นอันดับ 6 ของโลก พอผมมองย้อนกลับไปดูที่บ้านเราเนี่ย โอ้โหสถาบันเรารวยถึง 1.376 ล้านล้าน แต่ประชาชนเนี่ย ประเทศไทยมันอยู่อันดับไหนเนี่ย” 

อัยการระบุว่า เมื่อบุคคลทั่วไปได้ฟังคําพูดของจําเลยดังกล่าวข้างต้นแล้วย่อมทําให้เข้าใจได้ว่าเป็นการพูดปราศรัยโดยการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทําให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง โดยจำเลยมีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพ 

.

คดีนี้ปีเตอร์ถูก สภ.เมืองอุดรธานี ออกหมายเรียกเมื่อเดือน มี.ค. 2565 หลังการชุมนุมเกือบปีครึ่ง โดยมี พ.ต.ต.จักรกฤษณ์ กองม่วง สว.สส.สภ.เมืองอุดรธานี เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ แต่หมายเรียกถูกส่งไปที่อยู่ตามทะเบียนบ้านซึ่งปีเตอร์ไม่ได้อยู่ และญาติที่รับหมายเรียกไม่ได้แจ้งเขาจนกระทั่งปลายเดือนเมษายน เมื่อทราบว่ามีหมายเรียกปีเตอร์จึงติดต่อพนักงานสอบสวนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 9 พ.ค. 2565 

ในการรับทราบข้อกล่าวหา คณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ตามคําสั่ง ภ.จว.อุดรธานี ที่ 39/2564 แจ้งปีเตอร์และทนายความถึงพฤติการณ์คดีโดยระบุว่า การปราศรัยวิจารณ์การแต่งตั้งยศให้ฟูฟูนั้น เป็นการพูดบิดเบือนข้อเท็จจริง ใส่ความรัชกาลที่ 10 เนื่องจากไม่พบว่ามีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงเรื่องการพระราชทานยศ “พลอากาศเอก” ให้กับ “ฟูฟู” แต่อย่างใด ส่วนคำปราศรัยเรื่องงบสถาบันกษัตริย์ เป็นการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ด้วยถ้อยคําที่ไม่เหมาะสม เป็นการก้าวล่วง ล่วงเกิน ลิดรอนพระราชอํานาจของพระองค์ท่าน

อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนระบุด้วยว่า ก่อนหน้านี้คณะพนักงานสอบสวนมีความเห็นไม่ควรสั่งฟ้องปีเตอร์ในข้อหาตามมาตรา 112 โดยเห็นว่า ผู้ต้องหาปราศรัยด้วยถ้อยคำไม่เหมาะสม มีข้อความหมิ่นเหม่ แต่ไม่ถึงขนาดเป็นความผิด แต่เมื่อส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการพิจารณา พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง จึงต้องติดตามตัวปีเตอร์มาดําเนินคดี 

ปีเตอร์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหามาตั้งแต่ชั้นสอบสวน โดยพนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวไว้ เนื่องจากผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก 

ต่อมา พนักงานสอบสวนนัดหมายปีเตอร์ส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการในวันที่ 6 มิ.ย. 2565 โดยพนักงานอัยการที่รับผิดชอบสำนวนเปลี่ยนคนไปจากคนเดิมที่เคยรับสำนวนไว้พิจารณาและมีความเห็นสั่งฟ้องไปแล้ว อย่างไรก็ตาม หลังรับสำนวนมาพิจารณาไม่ถึงเดือน ในนัดฟังคำสั่งอัยการครั้งแรกในวันที่ 28 มิ.ย. 2565 พนักงานอัยการคนใหม่ก็มีความเห็นสั่งฟ้องปีเตอร์ในทันทีเช่นกัน 

ปีเตอร์กล่าวถึงการถูกดำเนินคดีมาตรา 112 คดีแรก จากการขึ้นปราศรัยครั้งแรกและครั้งเดียวของเขาว่า “ผมเริ่มต้นการปราศรัยด้วยการบอกว่า ผมหวังดีกับสถาบันกษัตริย์ จริงๆ ผมเป็นคนที่รักสถาบันฯ แต่ผมคิดว่าถึงเวลาที่สถาบันฯ ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้างแล้ว” 

กิจกรรม “กฐินราษฎร์ตลาดหลวง” (ภาพโดย iLaw)

สำหรับเหตุในคดีนี้ ย้อนไปเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2563   กลุ่ม “อุดรพอกันที” ร่วมกับนักเรียนกลุ่ม “อุดรพิทย์ไม่ยอมเป็นทาส” และ “RN ปฏิวัติ” จัดชุมนุม #กฐินราษฎร์ตลาดหลวง บริเวณอนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เพื่อสนับสนุน 3 ข้อเรียกร้องของคณะราษฎร รวมทั้งเรียกร้องให้ปล่อยคนที่ถูกจับและยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยมีนักกิจกรรมและประชาชนขึ้นปราศรัยแสดงความเห็นหลายคน 

นอกจากปีเตอร์ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 แล้ว ยังมีนักกิจกรรมกลุ่ม “ราษฎร” อีก 2 ราย ได้แก่ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ และ “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงค์ ถูกดำเนินคดีมาตรา 116 จากการขึ้นปราศรัยในการชุมนุมครั้งเดียวกันนี้ ซึ่งอัยการยื่นฟ้องคดีไปเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ที่ผ่านมา และศาลนัดสอบคำให้การ และตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 3 ส.ค. 2565 

>> ฟ้อง ม.116 “ครูใหญ่-จัสติน” ปราศรัย “ประเทศนี้เป็นของราษฎร-ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ที่อุดรฯ ปี 63 ศาลให้ประกันไม่ต้องวางหลักประกัน

.

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-65

X