ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกัน ‘อานนท์’ ระบุถูกถอนประกันคดี 19 กันยา เพราะผิดเงื่อนไข ทั้งที่ไม่เคยถูกถอน

14 ก.ย. 64 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องขออุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัว อานนท์ นำภา ภายหลังจากวานนี้ (13 ก.ย. 64) ทนายความได้เข้ายื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ นำภา ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ในคดีตามมาตรา 112 จากการปราศรัยในงานครบรอบ 1 ปี #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 บริเวณลานหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ โดยครั้งนี้เป็นการยื่นอุทธรณ์คำสั่งครั้งแรกนับตั้งแต่อานนท์ถูกคุมขังเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564

ต่อมาในวันนี้ ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งมายังศาลอาญากรุงเทพใต้ เห็นว่าคำสั่งไม่ให้ประกันตัวชอบแล้ว  

“พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าข้อหาที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหามีอัตราโทษสูง ประกอบกับการกระทำที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหายังคงมีลักษณะที่เป็นการขึ้นปราศรัยด้วยถ้อยคำที่มิบังควร แม้ผู้ต้องหาเคยอ้างว่าการกระทำตามที่ถูกกล่าวหานั้น ผู้ต้องหามีสิทธิ์กระทำได้โดยชอบและเป็นการใช้สิทธิ์ตามกฎหมายก็ตาม แต่การใช้สิทธิ์ใดๆ จะต้องไม่เกินล้ำขอบเขตของกฎหมายจนกลายเป็นว่าก่อให้เกิด หรืออาจจะก่อให้เกิดความเสียหายโดยรวม 

“นอกจากนี้แล้ว เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2564 ผู้ต้องหาได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจากศาลอาญาในคดีที่มีลักษณะข้อหาเป็นอย่างเดียวกัน โดยผู้ต้องหาสมัครใจที่จะทำตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด กล่าวคือจะไม่กระทำการอันเป็นที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ร่วมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีดังกล่าวผู้ต้องหามีที่ปรึกษาสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ซึ่งประกอบอาชีพทนายความเช่นเดียวกับผู้ต้องหาเป็นผู้กำกับดูแลให้ผู้ต้องหาปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวของศาล แต่เมื่อเวลาผ่านไปผู้ต้องหากลับไม่กระทำตามเงื่อนไขที่เป็นดั่งคำมั่นที่ให้ไว้ต่อศาล จนเป็นเหตุให้ศาลอาญามีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีดังกล่าว 

“อีกทั้งในสภาวะการณ์ที่บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะวิกฤตของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด 19) อยู่ในขณะนี้ ผู้ต้องหากับกระทำการเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นผู้นำให้มีการรวมกลุ่มของบุคคลอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายความวุ่นวาย รวมทั้งอาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคดังกล่าว 

“เมื่อพิจารณาคำคัดค้านของพนักงานสอบสวนแล้ว ยังปรากฏว่าผู้ต้องหายังคงมีความเคลื่อนไหวในสื่อโซเชียลมีเดีย ที่มีการโพสต์ข้อความที่เป็นการยั่วยุและชักชวนให้มวลชนเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมในหลายแห่งหลายท้องที่ โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง รวมไปถึงการชุมนุมในรูปแบบคาร์ม็อบอีกด้วย 

“นอกจากนั้นยังปรากฏว่าผู้ต้องหาถูกจับกุมตามหมายจับ กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว ผู้ต้องหาอาจจะก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายประกันอื่น และน่าเชื่อว่าผู้ต้องหาอาจจะหลบหนี กรณีสมควรรอฟังการสอบสวนในคดีก่อน คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวชอบแล้ว ยกคำร้อง”

คำสั่งข้างต้นไม่ได้ลงชื่อผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ มีเพียงลายเซ็นและตราประทับของศาลอุทธรณ์

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าคำสั่งของศาลยังไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เนื่องจากอานนท์ยังไม่เคยถูกศาลอาญาสั่งเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร แต่อย่างใด แต่มีการเลื่อนนัดไต่สวนไปในวันที่ 3 พ.ย. 64


เปิดคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวอานนท์

สำหรับการยื่นอุทธรณ์คำสั่งนี้ เป็นการยื่นครั้งแรกในคดีนี้ของอานนท์ หลังจากก่อนหน้านี้ศาลอาญากรุงเทพใต้ไม่อนุญาตให้ประกันตัว จากการยื่นขอรวม 5 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 64 ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้เหตุผล “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เหตุตามคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหายังไม่มีเหตุผลที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมลงวันที่ 11 ส.ค. 2564” 

คำสั่งของวันที่ 11 ส.ค. ระบุว่า คดีนี้มีอัตราโทษสูงและพนักงานสอบสวนคัดค้านว่า หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก และมีการฝ่าฝืนเงื่อนไขปล่อยตัวชั่วคราวของศาลอาญาด้วย 

ทนายความได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งในการประกันตัว โดยใช้เงินสดจำนวน 200,000 บาท ระบุเนื้อหาโดยสรุปว่า 

1. พนักงานสอบสวนเคยเบิกความไว้หลายครั้งว่าการปล่อยผู้ต้องหาไม่เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน

คดีนี้พนักงานสอบสวนได้เบิกความ ตอบทนายความผู้ต้องหาซักค้านในการขอฝากขังครั้งที่ 2 ว่า “เจตนาในการฝากขังก็เพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาออกไปกระทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งข้าฯเห็นว่าเป็นความผิดต่อกฎหมาย” และยังเบิกความม่า “การขอฝากขังนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสอบสวน แต่เนื่องจากผู้ต้องหาอาจไปกระทำความผิดซ้ำ” 

พนักงานสอบสวนยังได้เบิกความตอบทนายความผู้ต้องหาซักค้านในการขอฝากขังครั้งที่ 3 “หากไม่ขังผู้ต้องหาไว้ระหว่างการสอบสวนพยานที่เหลือ ก็ไม่ทำให้เกิดปัญหาในการสอบสวนแต่อย่างใด” 

และในการฝากขังครั้งที่ 4 ได้เบิกความต่อศาลว่า พยานทั้ง 8 ปากที่พนักงานสอบสวนยังสอบไม่แล้วเสร็จนั้น เป็นพยานผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการถอดเทปถ้อยคำปราศรัยของผู้ตองหา ซึ่งเป็นการให้ความเห็นจากเอกสารที่ถอดเทปไว้แล้วนั้น แม้ศาลไม่ควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ระหว่างการสอบสวน พนักงานสอบสวนก็สามารถทำการสอบสวนต่อไปได้ “การปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาจึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน”

เหตุผลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าพนักงานสอบสวนไม่มีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ระหว่างการสอบสวน ซึ่งเหตุผลหลักในการควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ระหว่างสอบสวนนั้นต้องปรากฏว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี หรือมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน กรณีขอฝากขังผู้ต้องหานั้นไม่ได้เป็นไป “เพื่อการสอบสวน แต่เป็นไปเพื่อความสะดวกเท่านั้น” 


2. ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี

ตามคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาที่ผ่านมาของพนักงานสอบสวนไม่ปรากฏเหตุและพฤติการณ์ใดๆ ของผู้ต้องหาที่เข้าเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาแม้แต่น้อย  ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 29 วรรคสอง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและไม่กระทบเสรีภาพของผู้ต้องหา 

หากพบว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์จะหลบหนี ย่อมต้องมีข้อเท็จจริงเป็นฐานรองรับการใช้ดุลพินิจ เช่น ผู้ต้องหาเป็นผู้มีอิทธิพล มีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงไม่ให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนหรือไม่มาพบพนักงานสอบสวนตามนัด หรือมีพฤติการณ์ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานอย่างไร มีแนวโน้มจะไปก่ออันตรายประการอื่นอย่างไร 


3. เคยมีการอนุญาตปล่อยตัวในคดีลักษณะนี้มาก่อน

ตามฐานความผิดในคดีนี้ ศาลนี้ได้เคยอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจําเลยมาหลายคดี อาทิ สิรภพ พึ่งพุ่มพุทธ และชูเกียรติ แสงวงค์ ในคดี #ม็อบ18 พ.ย., พริษฐ์ ชิวารักษ์ กับพวกรวม 5 คน ในคดีแต่งชุดครอปท็อปเดินสยามพารากอน, จตุพร แซ่อึง ในคดีเดินแฟชั่นโชว์ที่สีลม, ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล กับพวกรวม 12 คน ในคดีอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมัน 

ผู้ต้องหาจึงขอให้ศาลพิจารณาปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาในคดีนี้ด้วย


4. ผู้ต้องหาไม่สามารถไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน เนื่องจากอยู่ในความครอบครองของพนักงานสอบสวน

ผู้ต้องหาขอเรียนว่า ผู้ต้องหาประกอบอาชีพทนายความ แม้ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดจากพนักงานสอบสวนจำนวนหลายคดี แต่เมื่อศาลอนุญาตการปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว ไม่เคยมีประวัติหรือพฤติการณ์ใดๆ ว่าผู้ต้องหาไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน หรือไปข่มขู่พยานบุคคลของพนักงานสอบสวน  คดีนี้บันทึกภาพถ่าย ภาพเคลื่อนไหว การปราศรัยและบันทึกถอดเทปคำปราศรัยของผู้ต้องหาก็อยู่ในการครอบครองของพนักงานสอบสวน อีกทั้งพยานบุคคลในคดีนี้จะเป็นบุคคลใดบ้างนั้นเป็นเรื่องในสำนวนสอบสวนที่ผู้ต้องหาไม่มีทางรู้ได้ 

ทั้งนี้หากศาลเห็นควรสามารถออกข้อกำหนดหรือเงื่อนไขบังคับให้ผู้ต้องหาไม่ไปก่ออันตรายประการอื่นได้ และหากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาขอรับรองว่าผู้ต้องหาจะไม่ไปก่ออันตรายประการอื่น หรือจะไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับคดีนี้


5. ผู้ต้องหายังไม่เคยถูกตัดสินว่าฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว

ผู้ต้องหาไม่ได้มีการกระทำการที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวของศาลอาญาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 287/2564 (คดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร) ของศาลอาญา อีกทั้งศาลอาญายังไม่มีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้แต่อย่างใด 

เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2564 ศาลอาญาได้กำหนดวันนัดเพื่อทำการไต่สวนคำร้องเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย เนื่องจากจำเลยยังไม่ได้รับสำเนาเอกสารขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อให้จำเลยได้นำพยานหลักฐานเข้าไต่สวนสู้คดีอย่างเต็มที่ ศาลอาญาจึงมีคำสั่งให้เลื่อนวันนัดพิจารณาไต่คำร้องเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวออกไป ในวันที่ 3 พ.ย. 2564 

ดังนั้นการที่ผู้ร้องอ้างมาในคำร้องฝากขังครั้งที่ 1 ว่า ผู้ต้องหากระทำการที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวของศาลอาญานั้น จึงไม่ใช่ข้อเท็จจริง เพราะศาลอาญายังไม่ได้มีคำสั่งว่าผู้ต้องหาผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวแต่ประการใด


6. เชื้อโควิด-19 กำลังระบาดในเรือนจำและผู้ต้องหาเคยติดเชื้อมาแล้ว

ขณะนี้ปรากฏว่ามีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครนอกจากนี้ ยังพบว่าสถานที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวมากที่สุดสถานที่หนึ่ง คือ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ผู้ต้องหาได้รับการควบคุมตัวในเรือนจำมาแล้วเป็นเวลาสามสิบกว่าวัน สถานที่คุมขังผู้ต้องหานั้นมีลักษณะแออัด มีผู้ต้องหาที่ถูกขังเป็นจำนวนมาก อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หากผู้ต้องหาไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวจะต้องถูกคุมขังต่อในเรือนจำดังกล่าวด้วย ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้ต้องหา เนื่องจากเสี่ยงต่อการติดเชื้ออีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ ผู้ต้องหาเคยติดเชื้อโควิด จากการถูกคุมขังในสถานที่ดังกล่าว โดยไม่ได้รับสิทธิการปล่อยชั่วคราวมาแล้ว จากการติดเชื้อครั้งที่แล้ว ทำให้ปอดของผู้ต้องหาผิดปกติเหนื่อยหอบง่าย

ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางซึ่งเป็นที่ควบขังผู้ต้องหานั้น ในห้องที่ขังมีเพื่อนผู้ต้องหาที่ถูกขังอยู่ด้วยจำนวน 12 คน ปรากฏว่าเพื่อนผู้ต้องขังทั้งหมดได้ติดเชื้อโควิด-19 และส่งตัวไปรับการรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เหลือเพียงผู้ต้องหาคนเดียวที่ยังไม่ติดเชื้อ แต่ต้องกักตัวและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ดังนั้นแล้วผู้ต้องจึงมีโอกาสสูงที่จะได้รับเชื้อจากเรือนจำอีกครั้ง



ปัจจุบันอานนท์ นำภา ถูกคุมขังที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางมาแล้ว 34 วัน โดยไม่สามารถออกจากห้องขังได้ตลอด 24 ชั่วโมง ยกเว้นเมื่อต้องขึ้นศาลผ่านการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์​และคุยโทรศัพท์กับทนายความที่มาตีเยี่ยม ทั้งนี้เพื่อนร่วมห้องของอานนท์ติดโควิดไปแล้วจำนวน 12 คน จาก 13 คน ซึ่งถูกขังอยู่รวมกัน 

X