ศาลอาญากรุงเทพใต้ให้ประกัน “อานนท์” แล้ว จำกัดเวลา 3 เดือน พร้อมติด EM – ห้ามด้อยค่าสถาบันกษัตริย์ หลังเสียอิสรภาพเกือบ 7 เดือน

28 ก.พ. 2565 นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว “อานนท์ นำภา” ทนายความสิทธิมนุษยชน ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ใน 2 คดีที่ยังมีหมายขัง ได้แก่ คดีมาตรา 112 กรณีปราศรัยในงานครบรอบ 1 ปี ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ หรือ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 บริเวณลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพ และคดี #ม็อบ18พฤศจิกา บริเวณแยกราชประสงค์ ต่อเนื่องกันที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563 หลังจากที่ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมา ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน

ในเวลา 16.15 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ทั้ง 2 คดี มีกำหนด 3 เดือน วางหลักประกันรวม 300,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขหลายข้อ ทั้งห้ามแสดงออกที่เสื่อมเสียหรือด้อยค่าสถาบันกษัตริย์ รวมถึงสถาบันศาล ห้ามโพสต์ชวนมวลชนร่วมชุมนุม หรือเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อความวุ่นวาย ให้ติด EM และห้ามออกนอกเคหสถาน ตั้งแต่ 19.00 – 06.00 น. 

จากคำสั่งดังกล่าว หลังวางหลักประกันเป็นเงินสดจากกองทุนราษฎรประสงค์แล้ว ทำให้อานนท์ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงค่ำ หลังถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างการต่อสู้คดีโดยเฉพาะในคดีม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 ซึ่งศาลนี้ไม่ให้ประกันตัวตั้งแต่ชั้นฝากขังในวันที่ 11 ส.ค. 2564 รวม 202 วัน หรือเกือบ 7 เดือน 

อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ต้องขังในคดีที่มีเหตุจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง ซึ่งยังไม่ได้การประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดีอีกอย่างน้อย 5 คน โดยทั้งหมดถูกดำเนินคดีในข้อหาอื่นๆ ที่ไม่ใช่มาตรา 112 

>>สถิติผู้ถูกคุมขังคดีทางการเมืองในระหว่างต่อสู้คดี

คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวยืนยันไม่เคยผิดเงื่อนไขจนศาลถอนประกัน และยินดีปฏิบัติตามเงื่อนไขศาลเช่นเดียวกับนักกิจกรรมคนอื่น

คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ครั้งนี้ อธิบายเหตุผลทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายหลายประการเพื่อให้ศาลอาญากรุงเทพใต้ใช้ดุลพินิจให้ประกันอานนท์ ดังนี้

คดีนี้จําเลยยื่นคําร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวครั้งแรก ศาลอาญากรุงเทพใต้ไม่อนุญาต ให้เหตุผลว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีนี้มีอัตราโทษสูง และพนักงานสอบสวนคัดค้านว่า หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก มีการฝ่าฝืนเงื่อนไขของศาลอาญาด้วย จึงเห็นควรให้ยกคําร้อง” หลังจากนั้นจําเลยก็ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวหลายครั้ง ศาลก็ไม่อนุญาตให้ประกันตัวให้เหตุผลว่า “ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคําสั่งเดิม”

เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2564 จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่า “ปราศรัยด้วยถ้อยคำมิบังควร กระทำผิดเงื่อนไขของศาลอาญาจนถูกเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าหากให้ประกันตัวจะก่อให้เกิดอันตราย หรือความเสียหายประการอื่น และน่าเชื่อว่าจะหลบหนี จึงไม่ให้ประกัน”

เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2565 ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ด้วยเหตุผลหลายประการ ศาลอาญากรุงเทพใต้โดยที่ประชุมผู้บริหารศาล ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่า “ที่จำเลยอ้างว่ามีภารกิจต้องดูแลครอบครัวและต้องทำงานนั้น เห็นว่าเหตุที่ขอปล่อยตัวเป็นเหตุทั่ว ๆ ไปไม่ใช่เหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งศาลอุทธรณ์”

กล่าวโดยสรุปเหตุผลที่ ศาลอาญากรุงเทพใต้ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย โดยอ้างจากคำสั่งของศาลอุทธรณ์นั้น จึงมีประเด็นตามคำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยโดยอ้างเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 อยู่ 2 ประการ ได้แก่ 1.หากปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยจะไปก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายประการอื่นหรือไม่ 2.จำเลยจะหลบหนีหรือไม่

จำเลยจึงขอแสดงเหตุผลให้ศาลเชื่อมั่นว่า จำเลยไม่มีพฤติการณ์ใดอันจะไปก่อให้เกิดภยันตรายประการอื่น และจำเลยไม่เคยมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีแต่อย่างใด ดังนี้

  • พนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวโดยข้ออ้างที่ผิดพลาดจากข้อเท็จจริง 

นับตั้งแต่จําเลยถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ศาลอาญา เป็นคดีหมายเลขดําที่ อ.287/2564 (คดี19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร) จําเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยศาลอาญาได้กําหนดเงื่อนไขว่า “ห้ามกระทําการใดอันเป็นการเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์” จําเลยก็ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลอาญามาโดยตลอด ไม่เคยถูกเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวแต่อย่างใด ข้ออ้างของพนักงานสอบสวนในคดีนี้ที่คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวจึงเป็นการอ้างที่ผิดพลาดจากข้อเท็จจริง ทําให้ศาลในคดีนี้ใช้ดุลพินิจที่คลาดเคลื่อน

  • จำเลยไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนีแต่อย่างใด

จําเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนีแต่อย่างใด นับตั้งแต่จําเลยถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จําเลยได้เดินทางไปพบพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และศาล ตามกําหนดนัดในทุกคดี ไม่เคยผิดนัด ไม่เคยหลบหนีมาก่อน แม้กระทั่งในคดีนี้ที่จําเลยถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิด จําเลยก็เดินทางไปพบพนักงานสอบสวนที่สถานีตํารวจนครบาลปทุมวันด้วยตนเองไม่เคยคิดที่จะหลบหนี เพราะจําเลยมั่นใจในความบริสุทธิ์ของตนเอง 

อีกทั้ง จําเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจากศาลอาญา ศาลอาญาก็กําหนดเงื่อนไขให้ติด EM ห้ามจําเลยออกนอกเคหสถานในเวลาที่จํากัด ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ดังนั้น ย่อมเป็นหลักประกันได้ว่าเมื่อได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจําเลยย่อมไม่หลบหนีอย่างแน่นอน

  • จำเลยถูกคุมขังมาเป็นเวลา 6 เดือนเศษ โดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานใด ๆ ให้เห็นถึงความผิดของจําเลย

นับจนถึงวันนี้จําเลยถูกคุมขังไว้ในระหว่างการพิจารณาคดีจนถึงวันนี้นับเป็นเวลาเกินกว่า 6 เดือนเศษแล้ว ซึ่งในคดีนี้พยานโจทก์และพยานจําเลยมีจํานวนมากยังไม่อาจกําหนดได้ว่าจะสามารถพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นเสร็จสิ้นเมื่อใด และยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานใด ๆ ให้เห็นถึงความผิดของจําเลย จําเลยจึงมีความประสงค์ที่จะขอให้ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจําเลยไปในระหว่างพิจารณาคดีนี้ เพื่อให้จําเลยได้ออกไปแสวงหาพยานหลักฐานมาต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่และเป็นธรรมต่อไป

  • จำเลยเป็นทนายความซึ่งมีคดีที่ต้องรับผิดชอบจำนวนมาก

จําเลยประกอบวิชาชีพเป็นทนายความ ส่วนหนึ่งจําเลยเป็นทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รับว่าความให้แก่ผู้ต้องหาหรือจําเลยในคดีอาญาเกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองและการชุมนุมจํานวนหลายคดี ซึ่งมีนัดสืบพยานเกือบตลอดทั้งปี 2565 ที่ผ่านมา หลายคดีต้องถูกเลื่อนคดีมาด้วยเหตุที่จําเลยถูกคุมขังอยู่ 

  • จําเลยคนอื่นที่ถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดในลักษณะเดียวกันถูกปล่อยตัวทั้งหมดแล้ว

จําเลยที่ถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในลักษณะเดียวกันกับที่จําเลยถูกกล่าวหาในคดีนี้ ทั้งของศาลอาญาและศาลอาญากรุงเทพใต้ และของศาลอื่น ๆ ซึ่งถูกคุมขังอยู่ ล้วนได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวแล้วทั้งสิ้น

ปัจจุบันคงเหลือเพียงจําเลยเท่านั้นที่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจําพิเศษกรุงเทพฯ คดีของจําเลยที่ศาลอาญาก็ได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในทุกคดีแล้ว หากศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจําเลยในคดีนี้ จําเลยก็จะได้ออกไปประกอบวิชาชีพ ทํามาหาเลี้ยงครอบครัว และแสวงหาพยานหลักฐานต่าง ๆ มาต่อสู้คดีตามกฎหมายได้อย่างเต็มที่และเป็นธรรมต่อไป

  • เสนอเงื่อนไขประกันตัวเช่นเดียวกับนักกิจกรรมคนอื่นที่ศาลอนุญาตให้ประกันแล้ว

จำเลยขอเสนอเงื่อนไขว่า หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยจะไม่กระทำการใดอันจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อ สถาบันพระมหากษัตริย์ และไม่เข้าร่วมกิจกรรมใดที่อาจจะก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ยินยอมอยู่ในเคหะสถานตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเพื่อการรักษาพยาบาล ติดต่อธุรกิจสำคัญ ไปสถานีตำรวจ สำนักงานอัยการ และศาล หรือมีเหตุอื่นโดยได้รับอนุญาตจากศาล ยินยอมติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) และหากศาลกำหนดเงื่อนไขอื่น ๆ ประการใด จำเลยยินยอมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลทุกประการ รวมทั้งการอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีระยะเวลาที่จำกัด

ศาลยังยืนยันอานนท์เคยผิดเงื่อนไขประกัน แต่ให้โอกาสปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เสนอต่อศาล 3 เดือน

คำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ระบุว่า คณะผู้บริหารของศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้ร่วมกันพิจารณาคําร้องขอปล่อยชั่วคราวและเอกสาร ประกอบแล้ว มีคําสั่งดังนี้

“เห็นว่าแม้จําเลยเคยปฏิบัติผิดเงื่อนไขการขอปล่อยตัวชั่วคราว และศาลเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้วครั้งหนึ่ง จนจําเลยต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจําจนถึงปัจจุบัน การที่จําเลยยื่นคําร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในวันนี้ โดยอ้างเหตุผลและสมัครใจเสนอเงื่อนไขการขอปล่อยตัวชั่วคราวมาหลายข้อว่า จําเลยจะไม่กระทําการใดอันทําให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และจะไม่ก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองอีก และจะปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลอย่างเคร่งครัดนั้น การที่จําเลยเสนอเงื่อนไขมาจึงน่าเชื่อว่าเงื่อนไขดังกล่าวน่าจะควบคุมพฤติกรรมของจําเลยได้ว่า หากปล่อยตัวชั่วคราวจําเลยจะไม่ไปก่อภัยอันตรายหรือก่อความเสียหายที่เกิดจากการปล่อยตัวชั่วคราวอีก 

ดังนี้ จึงเห็นควรให้โอกาสจําเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เสนอต่อศาลสักช่วงเวลาหนึ่ง มีกําหนด 3 เดือน (ครบกําหนดวันที่ 28 พฤษภาคม 2565) ตีราคาหลักประกัน 200,000 บาท (ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2) และ 100,000 บาท (ม็อบ18พฤศจิกา) 

ระหว่างปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีกําหนดเวลา เห็นควรกําหนดเงื่อนไข ดังนี้

  1. ห้ามจําเลยทํากิจกรรมหรือกระทําการใดๆ ที่อันจะทําให้เกิดความเสื่อมเสียหรือด้อยค่าต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และสถาบันศาลในทุกด้าน
  2. ห้ามจําเลยกระทําการใดๆ อันเป็นการขัดขวางกระบวนพิจารณาคดีของศาล
  3. ห้ามจําเลยโพสต์ข้อความที่เป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น หรือชักชวนให้มวลชนเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมในสื่อโซเชียลมีเดีย หรือเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
  4. ห้ามจําเลยออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 19.00 – 06.00 น. ของวันใหม่ เว้นแต่มีเหตุจําเป็นเพื่อการรักษาพยาบาลหรือได้รับอนุญาตจากศาล
  5. ห้ามจําเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล
  6. ให้จําเลยมารายงานตัวต่อศาลทุกๆ 30 วัน นับแต่วันที่ปล่อยตัวชั่วคราว
  7. ให้จําเลยติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ EM เพื่อจํากัดระยะเวลาเดินทาง

อนึ่ง หากอานนท์ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว ศาลอาจมีคําสั่งเปลี่ยนแปลง หรือเพิกถอนคําสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวอันมีเวลาจํากัด และเมื่อครบกําหนดปล่อยตัวชั่วคราวให้อานนท์มารายงานตัวต่อศาล และให้ผู้ประกันส่งตัวอานนท์ต่อศาลในวันที่ 28 พ.ค. 2565 เวลา 10.00 น.  

ซึ่งการกําหนดเงื่อนไขให้ปฏิบัตินั้น เป็นการกําหนดตามที่นรเศรษฐ นาหนองตูม ทนายความ เสนอต่อศาลและอานนท์ นําภา ยินยอมที่จะปฏิบัติตามโดยสมัครใจ ทั้งนี้  เมื่อครบกําหนด 3 เดือน อานนท์ นําภา ต้องถูกกักขัง ณ ทัณฑสถานบําบัดพิเศษกลาง เว้นแต่จะมีการยื่นคําร้องขอปล่อยชั่วคราวอีกครั้งหนึ่ง

X