ฟ้อง ม.116 “ครูใหญ่-จัสติน” ปราศรัย “ประเทศนี้เป็นของราษฎร-ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ที่อุดรฯ ปี 63 ศาลให้ประกันไม่ต้องวางหลักประกัน

13 มิ.ย. 2565 เวลา 14.10 น. “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ และ “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงค์ 2 นักกิจกรรมกลุ่ม “ราษฎร” พร้อมทนายความและ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เดินทางไปที่ศาลจังหวัดอุดรธานี ในนัดส่งฟ้องคดีตามมาตรา 116 จากการปราศรัยในกิจกรรม “กฐินราษฎร์ตลาดหลวง” ในตัวเมืองอุดรฯ เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2563

เมื่อเดินทางถึงศาล เจ้าหน้าที่จากสำนักงานอัยการจังหวัดอุดรฯ และเจ้าหน้าที่ศาลได้เข้ามารับตัว ก่อนนำตัวไปยังห้องขังด้านหลังศาล อรรถพลแสดงความสงสัยว่า ทนายกำลังยื่นประกัน ทำไมไม่ให้ไปรอในห้องพิจารณา  เจ้าหน้าที่ตอบเพียงว่า ต้องไปรอที่ห้องขัง พร้อมกล่าวว่า ใช้เวลาไม่นานหรอก ให้เจ้าหน้าที่เตรียมเอกสารก่อน

จากนั้นทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวอรรถพลและชูเกียรติระหว่างพิจารณาคดี โดยใช้ตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล 2 คน คือ อภิชาติ ศิริสุนทร และทวีศักดิ์ ทักษิณ เป็นหลักประกัน ทั้งนี้ อัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยมาในคำฟ้อง

อรรถพลและชูเกียรติถูกคุมขังอยู่กว่า 2 ชั่วโมง ระหว่างนั้น ศาลได้วีดิโอคอนเฟอเรนซ์จากห้องพิจารณามาที่ห้องขังด้านหลังศาลเพื่ออ่านคำฟ้องโดยสรุปให้ฟังและถามคำให้การเบื้องต้น ทั้งสองยืนยันให้การปฏิเสธ ศาลจึงนัดคุ้มครองสิทธิ สอบคำให้การ และตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 3 ส.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

ราว 16.30 น. ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวนักกิจกรรมทั้งสอง โดยไม่ต้องวางหลักประกัน แต่ให้จำเลยทำสัญญาประกันตนเอง หากผิดสัญญาไม่มาศาลตามนัด ปรับคนละ 100,000 บาท

.

คดีนี้ ศาลจังหวัดอุดรฯ ได้อนุมัติออกหมายจับอรรถพลและชูเกียรติเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2563 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 วันต่อมา ชุดสืบสวนของตำรวจนครบาล (บก.สส.บช,น.9) ก็เข้าจับกุมอรรถพลที่โรงแรมแห่งหนึ่งย่านมักกะสัน กรุงเทพฯ ในช่วงเย็นวันที่ 25 พ.ย. 2563 ซึ่งกลุ่ม “ราษฎร” มีการนัดหมายชุมนุม  #25พฤศจิกาไปSCB ก่อนควบคุมตัวไปดำเนินคดีที่ สภ.เมืองอุดรฯ กลางดึกคืนวันเดียวกัน ขณะที่ชูเกียรติเข้ามอบตัวเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2563 หลังจากทราบว่า ถูกออกหมายจับในคดีนี้ด้วย ทั้งสองได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างสอบสวนหลังถูกส่งฝากขังโดยไม่ต้องวางหลักประกัน นอกจากนี้ ศาลยังยกคำร้องฝากขังอรรถพลในครั้งที่ 3 ด้วย 

หลังครบกำหนดฝากขังชูเกียรติ 48 วัน อัยการไม่ได้ยื่นฟ้อง กระทั่งกว่า 1 ปีถัดมา อัยการจึงนัดหมายอรรถพลและชูเกียรติมาเพื่อส่งฟ้องศาล ก่อนเลื่อนนัดถึง 2 ครั้ง ทำให้ชูเกียรติต้องเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น เนื่องจากได้จองตั๋วเครื่องบินไป-กลับไว้ล่วงหน้าแล้วทั้งสองครั้ง โดยครั้งหลังเขาเดินทางมาถึงอุดรฯ แล้วจึงรู้ว่าอัยการยังเรียงคำฟ้องไม่เสร็จ   

.

ชูเกียรติขณะขึ้นปราศรัย ก่อนถูกออกหมายจับ

คำฟ้องที่อัมรินทร์ ศุภกิจจารักษ์ พนักงานอัยการจังหวัดอุดรธานี ยื่นฟ้องต่อศาลนั้น กล่าวหาอรรถพลและชูเกียรติในฐานความผิดเดียวคือ “ร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 โดยบรรยายฟ้องใจความโดยสรุปว่า   

จําเลยทั้งสองเป็นแกนนําผู้เข้าร่วมชุมนุมได้กระทําความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมโดยขึ้นเวทีปราศรัยในหลายพื้นที่ของประเทศ มีการเคลื่อนไหวเชื่อมโยงกับแกนนําอื่นในหลายพื้นที่ กล่าวคือ

ระหว่างวันที่ 19 – 22 ต.ค. 2563 จําเลยทั้งสองกับพวกอีกหลายคนได้ร่วมกันชักชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองในกิจกรรม “กฐินราษฎร์ ตลาดหลวง” ผ่านทางเฟซบุ๊กชื่อเพจ “อุดรพอกันที – UDDONE” และอีกหลายกลุ่ม โดยนัดหมายเดินขบวนไปตามถนนและชุมนุมปราศรัยที่วงเวียนอนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 

เป็นเหตุให้มีประชาชนเข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมตามที่จําเลยทั้งสองกับพวกได้โฆษณาชักชวนดังกล่าวเป็นจํานวนหลายร้อยคน โดยมีประชาชนผู้เข้าร่วมได้ถือป้ายข้อความว่า “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลสอุดรธานี” ซึ่งสื่อความหมายทํานองว่า ที่นี่ไม่ต้องการให้มีสถาบันกษัตริย์ และมีคนถือธงชาติมีข้อความบนธงว่า “REPUBLIC OF THAILAND” ซึ่งสื่อความหมายทํานองว่า ต้องการให้ประเทศไทยปกครองในระบอบสหพันธรัฐหรือสาธารณรัฐ อันอันมิใช่การกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร 

คำฟ้องระบุอีกว่า จําเลยทั้งสองกับพวกได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันปราศรัยโดยได้ทําให้ปรากฏด้วยวาจาแก่ประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุมและผู้ที่ได้ดูไลฟ์สด โดยถ้อยคําปราศรัยของจําเลยทั้งสองพาดพิงเปรียบเปรยถึงสถาบันกษัตริย์ในทางที่มิบังควร กล่าวหารัฐบาลและสถาบันกษัตริย์ว่าเป็นเผด็จการศักดินา สถาบันกษัตริย์ค้ำยันเผด็จการ ค้ำยันศักดินา รัฐบาลนี้ก็ขยายพระราชอํานาจของสถาบันกษัตริย์อย่างกว้างขวาง โดยมีการโอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ ทรัพย์สินที่กษัตริย์และราษฏรเคยใช้ร่วมกันอย่าง เช่น สนามหลวง กลายเป็นของกษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว สถาบันพระมหากษัตริย์มีกองกําลังทหารเป็นของตนเอง 

อัยการอ้างว่า การกระทําของจําเลยทั้งสองกับพวกดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่พลเมืองตามรัฐธรรมนูญ ทําให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ประชาชนเสื่อมศรัทธา โดยจําเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันกระทําเพื่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้น เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาลโดยใช้กําลังมวลชลข่มขืนใจ อันมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ และมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต

อัยการยังแนบท้ายคำฟ้องด้วยถอดเทปคำปราศรัยของอรรถพลและชูเกียรติในวันเกิดเหตุยาวกว่า 6 หน้ากระดาษมาด้วย

.

สำหรับเหตุในคดีนี้ ย้อนไปเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2563   กลุ่ม “อุดรพอกันที” ร่วมกับนักเรียนกลุ่ม “อุดรพิทย์ไม่ยอมเป็นทาส” และ “RN ปฏิวัติ” จัดชุมนุม #กฐินราษฎร์ตลาดหลวง บริเวณอนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เพื่อสนับสนุน 3 ข้อเรียกร้องของคณะราษฎร รวมทั้งเรียกร้องให้ปล่อยคนที่ถูกจับและยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยชูเกียรติได้ขึ้นปราศรัยเรียกร้องให้ประชาชนออกมาต่อสู้เพื่อให้สังคมมีความเท่าเทียมและรัฐสวัสดิการ โดยย้ำว่า ประเทศนี้เป็นของราษฎร  ด้านอรรถพลได้ปราศรัยถึงข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยยํ้าว่าปฏิรูปไม่ใช่การล้มล้าง 

นอกจากคดีนี้แล้ว หลังการชุมนุมผ่านไป 1 ปีกว่า ราวเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุดรฯ ยังออกหมายเรียกผู้ปราศรัยอีก 1 ราย มาดำเนินคดีตามมาตรา 112 ปัจจุบันสำนวนการสอบสวนยังอยู่ในการพิจารณาของพนักงานอัยการ

.

X