ปล่อยตัวชั่วคราว “ครูใหญ่” ไม่ต้องวางหลักประกัน หลังถูกบุกจับกลางกรุง เหตุปราศรัยชุมนุม “กฐินราษฎร์ ตลาดหลวง”

26 พ.ย. 2563 เวลา 9.30 น. ที่ศาลจังหวัดอุดรธานี พนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุดรธานี ควบคุมตัว “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ แกนนำกลุ่ม “ขอนแก่นพอกันที” ไปยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหา ครั้งที่ 1 หลังอรรถพลถูกจับกุมตามหมายจับของศาลจังหวัดอุดรฯ ที่ 173/2563 ลงวันที่ 24 พ.ย. 2563 โดยชุดสืบสวนของตำรวจนครบาล (บก.สส.บชน.9) ที่โรงแรมแห่งหนึ่งย่านมักกะสัน และถูกควบคุมตัวเดินทางมาถึง สภ.เมืองอุดรฯ กลางดึกคืนวานนี้ (25 พ.ย. 2563)

ขณะเดียวกัน ทนายผู้ต้องหาก็ได้ยื่นคำร้องคัดค้านฝากขัง ระบุเหตุผลว่า ผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี, พฤติการณ์ที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาเป็นเพียงการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ การดำเนินคดีผู้ต้องหามีความมุ่งหมายทางการเมืองที่จงใจขัดขวางการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว, หลักฐานในคดีเป็นคลิปวีดิโอที่ผู้ต้องหาไม่สามารถไปยุ่งเหยิง จึงไม่มีเหตุจำเป็นต้องขังผู้ต้องหาไว้นี้ ทั้งนี้ คำร้องยังขอให้เรียกพนักงานสอบสวนมาไต่สวนถึงเหตุจำเป็นในการขอฝากขังด้วย 

เวลาต่อมา ศาลได้เรียกทั้งสองฝ่ายไต่สวนในห้องพิจารณา โดยไต่สวนฝ่ายผู้ร้อง คือ พนักงานสอบสวน 1 ปาก  และพยานฝ่ายผู้ต้องหา คือ อรรถพล 1 ปาก

พนักงานสอบสวนเบิกความถึงเหตุที่ต้องขอฝากขังผู้ต้องหาไว้ในระหว่างสอบสวนเป็นเวลา 12 วัน โดยสรุปคือ เนื่องจากมีความจำเป็นต้องสอบสวนพยานเพิ่มเติมอีก 15 ปาก กับต้องรอผลการตรวจพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือจากกองพิสูจน์หลักฐาน 

ด้านอรรถพลหลังสาบานตนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในทุกศาสนาแล้ว ได้เบิกความตามคำร้องคัดค้านฝากขัง พร้อมทั้งระบุว่า การสอบสวนผู้ต้องหาเสร็จสิ้นแล้ว ในส่วนพยานที่พนักงานสอบสวนต้องสอบสวนเพิ่มเติมก็ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา การตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือก็เป็นกระบวนการของตำรวจ อีกทั้งผู้ต้องหาไม่ได้มีเจตนาที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานในคดี 

เกือบ 12.00 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังตามที่พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย. – 7 ธ.ค. 2563 ระบุเหตุผลว่า มีเหตุจำเป็นตามที่พนักงานสอบสวนอ้างว่าต้องสอบสวนพยานเพิ่มเติมจำนวน 15 ปาก ทนายผู้ต้องหาจึงได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างสอบสวน 

เวลา 13.00 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอรรถพล โดยกำหนดวงเงินประกัน 1 แสนบาท แต่ไม่ต้องวางหลักประกัน หากผิดสัญญาจึงจะปรับในวงเงินดังกล่าว และกำหนดเงื่อนไขห้ามผู้ต้องหากระทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย โดยมี อภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เป็นนายประกัน ศาลนัดอรรถพลมารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 8 ธ.ค. 2563 ก่อนที่อรรถพลจะได้รับการปล่อยตัว

หลัง “ครูใหญ่” ได้รับการปล่อยตัว (ภาพโดย iLaw)

ก่อนหน้าที่พนักงานสอบสวนจะยื่นคำร้องขอฝากขังในวันนี้ หลังอรรถพลถูกควบคุมตัวถึง สภ.เมืองอุดรฯ เมื่อเวลาประมาณ 22.30 น. คืนวันที่ 25 พ.ย. 2563 คณะพนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุดรฯ ได้แจ้งข้อกล่าวหาอรรถพล ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 โดยกล่าวถึงพฤติการณ์ในการกระทำผิดว่า

เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2563 ผู้ถูกกล่าวหากับพวกมีการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอนโดยการเชิญชวนประชาชนทั่วไปผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก “กลุ่มอุดรพอกันที” ให้เข้าร่วมกิจกรรม “กฐินราษฎร์ ตลาดหลวง” ที่บริเวณแยกกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ซึ่งในการเดินชุมนุมปรากฏว่ามีการนำป้ายขนาดกว้างประมาณ 1 เมตรยาวประมาณ 4 เมตร มีถ้อยคำว่า “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส อุดรธานี” และมีการนำผืนธงชาติไทยกว้างประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 4 เมตร โดยมีการพ่นหรือเขียนตัวอักษรภาษาอังกฤษว่า “REPUBLIC OF THAILAND” ลงบนแถบสีน้ำเงิน ถือเดินนำขบวนผู้ชุมนุมนั้นด้วยเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มองเห็นข้อความนั้นได้ชัดเจน 

ซึ่งต่อมาได้มีนักศึกษาประชาชนโดยทั่วไปเข้าร่วมการชุมนุมเป็นจำนวนมาก โดยมีนายอรรถพล ผู้ถูกกล่าวหา และนายชูเกียรติ แสงวงศ์ ได้ขึ้นพูดปราศรัยพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย อันเป็นการยุยงให้ประชาชนคนทั่วไปที่ฟังแล้วอาจเกิดความเข้าใจผิดเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งอาจเป็นการสร้างความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงนี้ได้ 

การที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองมีการปราศรัยพร้อมแสดงแผ่นป้ายข้อความต่างๆ มุ่งหมายให้ยกเลิกหรือลิดรอนพระราชอํานาจของสถาบัน ซึ่งอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทย ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต การที่กลุ่มแกนนำชักชวนให้ประชาชนร่วมสนับสนุนให้ลิดรอนพระราชอำนาจพร้อมทั้งแก้ไขกฎหมายดังกล่าวนั้น การเดินขบวนในลักษณะปราศรัยในทางสาธารณะดังกล่าว ทั้งยังมีการพูดปราศรัยในลักษณะทำนองเดียวกันนี้ในอีกหลายท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ย่อมเล็งเห็นได้ว่าอาจก่อให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ต่อกฎหมายสูงสุดและสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งหากประชาชนเข้าร่วมจำนวนมากย่อมก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักรได้ 

ทั้งนี้ อรรถพลให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และประสงค์จะยื่นประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวน แต่พนักงานสอบสวนปฏิเสธให้ยื่นประกัน โดยให้ไปยื่นประกันในขั้นตอนการฝากขังแทน

 

ขอบคุณภาพปกจาก iLaw

 

X