ยกฟ้อง! คดี 112 “ปีเตอร์” ปราศรัยที่อุดรฯ ศาลชี้ ไม่ระบุชัดถึง ร.10 ทั้งข้อมูล “ฟูฟู” – งบสถาบันกษัตริย์ เผยแพร่ทั่วไปในอินเตอร์เน็ต  

29 ส.ค. 2566 ศาลจังหวัดอุดรธานีพิพากษายกฟ้อง “ปีเตอร์” พ่อค้าออนไลน์วัย 29 ปี ในคดีมาตรา 112 กรณีปราศรัยเรื่องการพระราชทานยศให้ “ฟูฟู” สุนัขทรงเลี้ยง และงบสถาบันกษัตริย์ ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2563 ศาลเห็นว่า ประชาชนทั่วไปที่ได้ฟังคำปราศรัยเรื่องฟูฟูไม่สามารถเข้าใจได้ในทันทีว่าจำเลยหมายถึงใคร และในเรื่องงบสถาบันกษัตริย์ จำเลยก็ไม่ได้เฉพาะเจาะจงถึงกษัตริย์องค์ใด ประกอบกับสิ่งที่จำเลยปราศรัยเป็นข้อมูลที่เผยแพร่ในอินเตอร์เน็ตอยู่แล้ว จึงไม่ถือว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ 

เวลา 09.40 น. ปีเตอร์ซึ่งเดินทางมาจากเชียงใหม่ถึงอุดรฯ ตอนเช้าตรู่ พร้อมแม่ และทนายจำเลย เข้าไปที่ห้องพิจารณาที่ 11 เพื่อรอฟังคำพิพากษา โดยมีผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมติดตามการอ่านคำพิพากษาของศาลในวันนี้ด้วย พร้อมทั้งมีตำรวจประจำศาลถือกุญแจมือเข้ามานั่งรอควบคุมตัวจำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษ 

อย่างไรก็ตาม เมื่อ ปวริศ หวังพินิจกุล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดอุดรฯ ออกนั่งพิจารณาคดีมาถึงคดีของปีเตอร์ ศาลได้ขอให้คู่ความในคดีอื่นๆ รวมถึงผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายฯ ซึ่งไม่ได้เป็นคู่ความในคดีนี้ ออกจากห้องพิจารณาก่อน คงเหลือเพียงปีเตอร์ แม่ ทนายจำเลย และตำรวจศาล อยู่ฟังคำพิพากษา ส่วนอัยการโจทก์ไม่ได้เดินทางมาศาล

ราว 10 นาที ตำรวจประจำศาลจึงออกจากห้องไป ขณะที่เจ้าหน้าที่เรียกให้คู่ความในคดีอื่นเข้าห้องพิจารณา 

พัฒนะ ศรีใหญ่ ทนายเครือข่ายของศูนย์ทนายฯ ให้ข้อมูลว่า ก่อนอ่านคำพิพากษา ศาลแจ้งว่า คำพิพากษาคดีนี้มีความเห็นแย้งในสำนวน จากนั้นได้อ่านคำพิพากษามีใจความโดยสรุปว่า  

เห็นว่า เมื่อพิจารณาคําเบิกความพยานโจทก์ทุกปากแล้ว ไม่มีพยานโจทก์ปากใดที่เบิกความยืนยันว่า ถ้อยคําที่จําเลยพูดปราศรัยเป็นการที่จําเลยแสดงความอาฆาตมาดร้าย ทั้งเมื่อพิจารณาถ้อยคําที่จําเลยพูดปราศรัยโดยตลอดแล้วก็ไม่ปรากฏให้เห็นว่าเป็นเช่นนั้น 

ส่วนถ้อยคําดังกล่าวจะเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์หรือไม่นั้น การหมิ่นประมาท หมายถึง การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ซึ่งการใส่ความนั้นจะต้องเป็นการแสดงข้อเท็จจริงเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย และจะต้องระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าบุคคลที่ถูกใส่ความเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ 

ส่วนดูหมิ่น หมายถึง การด่า ดูถูก เหยียดหยามหรือสบประมาทให้อับอาย การดูหมิ่นก็ย่อมต้องระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกดูหมิ่นเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกดูหมิ่นโดยตรง การดูหมิ่นนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ ทั้งต้องพิเคราะห์จากถ้อยคําที่จําเลยพูดปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงตามฟ้องเท่านั้นว่า บุคคลทั่วไปที่ฟังสามารถทราบได้หรือไม่ว่าบุคคลที่ถูกพูดถึงหมายถึงบุคคลใด 

ได้ความจากคําเบิกความของพยานโจทก์ว่าถ้อยคําที่จําเลยกล่าวปราศรัยสรุปได้ว่า จําเลยเปรียบเทียบสุนัขทรงเลี้ยงฟูฟูกับข้าราชการทหารที่รับราชการมาไม่มีความก้าวหน้าก็ให้ไปเกิดเป็นสุนัขทรงเลี้ยงจะได้มีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งพูดพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ยกเลิกการพระราชทานยศสุนัขทรงเลี้ยง 

ส่วนเรื่องงบประมาณสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ความจากคําเบิกความของพยานโจทก์ว่า จําเลยพูดวิพากษ์วิจารณ์ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีทรัพย์สินมากอยู่แล้วเป็นล้าน ๆ บาท แต่ยังรับงบประมาณแผ่นดินปีละ 3.7 หมื่นล้านบาท นั้น 

เห็นว่า ถ้อยคําของจําเลยดังกล่าวมิใช่การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ทั้งมิใช่การใส่ความอันเป็นการแสดงข้อเท็จจริงเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายอันจะเป็นหมิ่นประมาท และถ้อยคําของจําเลยดังกล่าวมิใช่การด่า ดูถูก เหยียดหยามหรือสบประมาทให้อับอาย อันจะเป็นการดูหมิ่น แต่เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นตามข้อมูลที่จําเลยได้รับรู้มาเท่านั้น มิได้มีเจตนาหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น เพราะข้อมูลเกี่ยวสุนัขทรงเลี้ยงฟูฟูซึ่งมียศเป็นพลอากาศเอกและงบประมาณสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเผยแพร่อยู่ในอินเทอร์เน็ตเป็นสาธารณะอยู่แล้ว บุคคลทั่วไปรวมทั้งจําเลยอาจสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตได้ 

ซึ่งได้ความจากคําเบิกความของจําเลยว่า จําเลยได้รับข้อมูลเรื่องสุนัขทรงเลี้ยงฟูฟูมาจากเว็บไซต์วิกิพีเดีย โดยหากพิมพ์คําว่า ฟูฟู ในระบบอินเทอร์เน็ตก็จะมีเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องปรากฏให้เห็นเป็นจํานวนมาก ตามเอกสารที่จำเลยอ้างก็ระบุว่า คุณฟูฟูได้รับพระราชทานยศเป็นพลอากาศเอก ในวันเกิดเหตุจําเลยนําเรื่องสุนัขทรงเลี้ยงฟูฟูมาพูด เนื่องจากความหวังดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 

สําหรับเรื่องงบประมาณสถาบันพระมหากษัตริย์ จําเลยได้รับข้อมูลมาจากเว็บไซต์ ILAW และเว็บไซต์ประชาไท และจําเลยพูดเพราะมีเจตนาหวังดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ประกอบกับเมื่อพิจารณาถ้อยคําที่จําเลยพูดปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงตามฟ้องมีแต่เฉพาะคําว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้พูดถึงองค์พระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งโดยเฉพาะ

ทั้งพยานโจทก์ก็ล้วนเบิกความตรงกันว่า คําว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ หมายถึง องค์พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน อดีตพระมหากษัตริย์ พระราชินีองค์ปัจจุบัน อดีตพระราชินี พระบรมวงศานุวงศ์ และอดีตพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งมีหลายพระองค์ และสุภัทร พยานโจทก์ซึ่งเป็นอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องภาษาไทย เบิกความว่า ข้อความ สถาบันพระมหากษัตริย์ ที่พยานอ่านในบันทึกการถอดคลิปเสียงเป็นการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในภาพรวม มิได้หมายความเฉพาะเจาะจง หากอ่านข้อความจะไม่ได้หมายความไปถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 แต่ถ้าหากคิดต่อแล้วเชื่อมโยงกันก็จะหมายถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 เนื่องจากพยานเคยเห็นสุนัขทรงเลี้ยงของในหลวงรัชกาลที่ 10 ก็เป็นสุนัขพันธุ์พุดเดิ้ล ซึ่งก็หมายถึงพลอากาศเอกฟูฟู และหากผู้ฟังเคยดูข่าวในพระราชสํานักเป็นประจําก็อาจจะเข้าใจได้ว่า ข้อความดังกล่าวหมายถึงสุนัขทรงเลี้ยงของในหลวงรัชกาลที่ 10 

คําเบิกความของสุภัทรในส่วนนี้บ่งชี้ให้เห็นในทางกลับกันว่า หากผู้ฟังไม่เคยพบเห็นสุนัขทรงเลี้ยงพันธุ์พุดเดิ้ลของในหลวงรัชกาลที่ 10 หรือไม่ได้ดูข่าวในพระราชสํานักเป็นประจํา ก็อาจทําให้ไม่เข้าใจว่าถ้อยคําดังกล่าวของจําเลยสื่อความหมายถึงพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งโดยเฉพาะ 

นอกจากนี้ยังได้ความจากพยานโจทก์ปากร้อยตํารวจเอกพิศุทธิ์ธรรมเบิกความว่า เหตุที่พยานเข้าใจว่าหมายถึงสุนัขทรงเลี้ยงของในหลวงรัชกาลที่ 10 เนื่องจากคําว่าพลอากาศเอกฟูฟู ซึ่งพยานเข้าใจอยู่ก่อนแล้วว่าเป็นสุนัขทรงเลี้ยงของในหลวงรัชกาลที่ 10 และเบิกความตอบทนายจําเลยถามค้านว่า คนทั่วไปที่ฟังการปราศรัยต้องมีความรู้มาก่อนว่าพลอากาศเอกฟูฟูเป็นสุนัขทรงเลี้ยงของในหลวงรัชกาลที่ 10 ถึงจะเข้าใจข้อความที่จําเลยพูดปราศรัยได้ และพยานโจทก์ปากจ่าสิบเอกธวัชชัยเบิกความว่า ข้อความที่ว่า พลอากาศเอกฟูฟู ถ้าหากเป็นทีมข่าวหรือข้าราชการทหารหรือตํารวจจะเข้าใจว่าเป็นสุนัขทรงเลี้ยงของในหลวงรัชกาลปัจจุบัน แต่หากเป็นบุคคลอื่นก็อาจจะไม่ทราบ 

เมื่อถ้อยคําที่จําเลยพูดปราศรัยทั้งเรื่องสุนัขทรงเลี้ยงฟูฟูและเรื่องงบประมาณสถาบันพระมหากษัตริย์ดังกล่าวจะเป็นการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นหรือไม่ จําต้องพิจารณาตามความรู้สึกของวิญญูชนทั่ว ๆ ไปเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา และการเข้าใจถ้อยคําดังกล่าวย่อมขึ้นอยู่กับความรู้ความเข้าใจรวมถึงการตีความของแต่ละบุคคลที่อาจแตกต่างกัน ดังนั้น จึงต้องถือว่าถ้อยคําที่จําเลยพูดปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงตามฟ้อง จําเลยมิได้ระบุถึงบุคคลที่ถูกดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทให้รู้ได้แน่นอนว่าเป็นองค์พระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งโดยเฉพาะ 

ทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ก็มิใช่องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 การที่จําเลยพูดปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงโดยใช้ถ้อยคําตามฟ้องจึงมิใช่การหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พยานหลักฐานโจทก์ยังรับฟังไม่ได้ว่าจําเลยกระทําความผิดตามฟ้องแต่อย่างใด 

พิพากษายกฟ้อง .

ภายหลังออกจากห้องพิจารณาคดีปีเตอร์เปิดเผยความรู้สึกสั้นๆ ว่า ดีใจ เหมือนยกภูเขาออกจากอก ความกังวลเรื่องคดีน่าจะหมดไปและเดินหน้าลุยเรื่องธุรกิจออนไลน์ได้อย่างเต็มที่ แต่อย่างไรก็ตาม คดีนี้ก็น่าจะเป็นบทเรียนสำหรับเขาที่จะต้องระมัดระวังเรื่องการแสดงออกให้มากขึ้น

ก่อนแยกย้ายกันเดินทางกลับออกจากศาล ทนายความได้ยื่นคำร้องขอคืนหลักประกันซึ่งได้วางไว้กับศาลในการขอปล่อยชั่วคราวปีเตอร์ระหว่างพิจารณาคดีตั้งแต่วันที่อัยการยื่นฟ้องเมื่อ 11 ก.ค. 2565 โดยเป็นเงินของกองทุนราษฎรประสงค์จำนวน 150,000 บาท เจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะเสนอศาล และจะโอนเงินประกันคืนภายใน 10 วัน   

สำหรับเหตุในคดีนี้ ย้อนไปเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2563 กลุ่ม “อุดรพอกันที” ร่วมกับนักเรียนกลุ่ม “อุดรพิทย์ไม่ยอมเป็นทาส” และ “RN ปฏิวัติ” จัดชุมนุม #กฐินราษฎร์ตลาดหลวง บริเวณอนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เพื่อสนับสนุน 3 ข้อเรียกร้องของคณะราษฎร รวมทั้งเรียกร้องให้ปล่อยคนที่ถูกจับและยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยมีนักกิจกรรมและประชาชนขึ้นปราศรัยแสดงความเห็นหลายคน

ภายหลังถูกดำเนินคดีและถูกฟ้องต่อศาลในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ปีเตอร์ต่อสู้คดีว่า ตนมีเจตนาหวังดีต่อสถาบันกษัตริย์ และข้อมูลที่ปราศรัยมีการเผยแพร่ทั่วไปในอินเตอร์เน็ต อีกทั้งคำปราศรัยเป็นการกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ ไม่ได้กล่าวถึงกษัตริย์องค์ใดโดยเฉพาะ ซึ่ง “สถาบันกษัตริย์” ไม่ใช่องค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 และคดีนี้ศาลได้เคยวินิจฉัยไว้ในชั้นขอออกหมายจับของตำรวจแล้วว่า ยังไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112

การชุมนุมครั้งดังกล่าว นอกจากปีเตอร์ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 แล้ว ยังมีนักกิจกรรมกลุ่ม “ราษฎร” อีก 2 ราย ได้แก่ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ และ “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงค์ ถูกดำเนินคดีมาตรา 116 จากการปราศรัยเช่นเดียวกัน ปัจจุบันคดียังอยู่ระหว่างการสืบพยาน 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

คดีที่ไม่ควรเป็นคดี: บันทึกสืบพยานคดี 112 “ปีเตอร์” ยืนยันปราศรัยวิจารณ์อวยยศ “ฟูฟู” – งบสถาบันกษัตริย์ ด้วยหวังดี ขณะศาลเคยชี้ไม่เข้าองค์ประกอบ ม.112 

“หากยืนหยัดสู้ ก็ไม่ต้องกลัวเกรงใดๆ” เรื่องของ “ปีเตอร์’ พ่อค้าออนไลน์ จำเลย ‘112’ ปราศรัย เรื่องยศ “ฟูฟู” และงบสถาบันกษัตริย์ ที่อุดรฯ

X