9 ต.ค. 2567 ศาลจังหวัดอุดรธานีอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในคดีมาตรา 112 ของ “ปีเตอร์” (นามสมมติ) พ่อค้าออนไลน์วัย 31 ปี ซึ่งถูกฟ้องจากกรณีปราศรัยเรื่องการพระราชทานยศให้ “ฟูฟู” สุนัขทรงเลี้ยง และงบสถาบันกษัตริย์ ในการชุมนุม #กฐินราษฎร์ตลาดหลวง เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2563 ที่วงเวียนกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี
โดยศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ ระบุว่า อุทธรณ์ของโจทก์ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่รับวินิจฉัย
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2566 ศาลจังหวัดอุดรธานีพิพากษายกฟ้องปีเตอร์ โดยศาลเห็นว่า ประชาชนทั่วไปที่ได้ฟังคำปราศรัยเรื่องฟูฟูไม่สามารถเข้าใจได้ในทันทีว่าจำเลยหมายถึงใคร และในเรื่องงบสถาบันกษัตริย์ จำเลยก็ไม่ได้เฉพาะเจาะจงถึงกษัตริย์องค์ใด ประกอบกับสิ่งที่จำเลยปราศรัยเป็นข้อมูลที่เผยแพร่ในอินเตอร์เน็ตอยู่แล้ว จึงไม่ถือว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ แต่อัยการยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
ผลคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ทำให้ปีเตอร์ยังคงไม่มีความผิดในคดีนี้ อย่างไรก็ตาม คดียังไม่ถึงที่สุด อัยการอาจยื่นฎีกาต่อศาลฎีกาได้อีก
.
ประมาณ 09.00 น. ปีเตอร์ ทนายจำเลย พร้อมทั้งครอบครัวและเพื่อนที่มาให้กำลังใจปีเตอร์เดินทางมาถึงห้องพิจารณาที่ 11
ราว 09.40 น. ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีปีเตอร์ในชั้นต้นออกนั่งพิจารณาคดี จากนั้นตำรวจประจำศาลได้เดินถือกุญแจมือเข้ามาในห้อง ถามหาจำเลย ก่อนใส่กุญแจมือทั้งสองข้างของปีเตอร์ไว้ด้วยกัน และนั่งลงข้าง ๆ
ก่อนเริ่มอ่านคำพิพากษา ผู้พิพากษาได้ขอให้ทนายและคู่ความที่รอการพิจารณาในคดีอื่นอยู่ออกจากห้องพิจารณาก่อน โดยขอให้เฉพาะบุคคลที่มาในคดีปีเตอร์อยู่ฟังคำพิพากษาเท่านั้น
จากนั้นศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 เฉพาะในส่วนที่เป็นคำวินิจฉัย มีเนื้อหาว่า
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ซึ่งจะเห็นได้ว่าคําพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าววินิจฉัยการกระทําเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 การกระทําของจําเลยเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์หรือไม่ และส่วนที่ 2 การกระทําของจําเลยเป็นการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นพระมหากษัตริย์หรือไม่ โดยศาลชั้นต้นกล่าวเหตุผลในการตัดสินไว้อย่างชัดแจ้งว่า การกระทําของจําเลยดังกล่าวไม่เป็นความผิดเพราะเหตุใด
โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับคําพิพากษาศาลชั้นต้น ขออุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านดังต่อไปนี้ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเมื่อพิจารณาพยานโจทก์ทุกปากแล้ว ไม่มีพยานโจทก์ปากใดที่เบิกความยืนยันว่า ถ้อยคําที่จําเลยพูดปราศรัยเป็นการที่จําเลยแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ แสดงว่าโจทก์มุ่งประสงค์จะอุทธรณ์คําพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะที่วินิจฉัยเกี่ยวกับการแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์
แต่โจทก์กลับอ้างว่า โจทก์เห็นว่าการที่จําเลยพูดพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ยกเลิกการพระราชทานยศสุนัขทรงเลี้ยงและเรื่องงบประมาณสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ประชาชนทั่วไปที่ได้ฟังคําพูดของจําเลยย่อมเข้าใจว่าจําเลยพูดปราศรัย จาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายผู้ใด อันเป็นการยกเอาถ้อยคําตามที่บรรยายฟ้องมากล่าวสรุปไว้ในอุทธรณ์ และมุ่งเน้นเรื่องการกระทําของจําเลยเป็นการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่ตรงกับข้ออุทธรณ์ของโจทก์ข้างต้น
แล้วหยิบยกเอาถ้อยคําว่า แสดงความอาฆาตมาดร้าย อันเป็นการกระทําอย่างหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบความผิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ขึ้นมากล่าวไว้ในตอนท้ายให้ครบถ้วน สุดท้ายก็สรุปเอาว่า ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาตามพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่าจําเลยกระทําความผิดตามฟ้องเท่านั้น โดยตามอุทธรณ์ของโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคําพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวให้เห็นโดยชัดแจ้งว่า เป็นคําวินิจฉัยที่ผิดพลาด คลาดเคลื่อน ไม่ถูกต้องในข้อใด อย่างใด และที่ถูกควรเป็นเช่นไร
อีกทั้งโจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคําพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า การกระทําของจําเลยไม่เป็นหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นพระมหากษัตริย์มาโดยตรงว่า เป็นคําวินิจฉัยที่ไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องอย่างไร และที่ถูกต้องเป็นอย่างไรเช่นกัน
อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคสอง แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ ก็ไม่ทําให้เป็นอุทธรณ์โดยชอบได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่รับวินิจฉัย พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์
องค์คณะผู้พิพากษาประกอบด้วย พิเชษฐ์ วังศานุตร, สุมิตร ดวงสีดา และวรยศ เอกะกุล
.
หลังศาลอ่านคำพิพากษาจบได้กล่าวกับปีเตอร์ว่า กลับบ้านได้ ตำรวจประจำศาลจึงถอดกุญแจมือให้ปีเตอร์ ปีเตอร์กล่าวขอบคุณศาลด้วยน้ำเสียงโล่งใจ โดยศาลกล่าวว่า คดียังไม่จบนะ โจทก์ยังมีสิทธิฎีกาต่อได้อีก ซึ่งเป็นสิทธิของคู่ความทุกฝ่ายในทุกคดี
สำหรับเหตุในคดีนี้ ย้อนไปเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2563 กลุ่ม “อุดรพอกันที” ร่วมกับนักเรียนกลุ่ม “อุดรพิทย์ไม่ยอมเป็นทาส” และ “RN ปฏิวัติ” จัดชุมนุม #กฐินราษฎร์ตลาดหลวง บริเวณอนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เพื่อสนับสนุน 3 ข้อเรียกร้องของคณะราษฎร รวมทั้งเรียกร้องให้ปล่อยคนที่ถูกจับและยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยมีนักกิจกรรมและประชาชนขึ้นปราศรัยแสดงความเห็นหลายคน
การชุมนุมครั้งดังกล่าว นอกจากปีเตอร์ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 แล้ว ยังมีนักกิจกรรมกลุ่ม “ราษฎร” อีก 2 ราย ได้แก่ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ และ “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงค์ ถูกดำเนินคดีมาตรา 116 จากการปราศรัยเช่นเดียวกัน ซึ่งศาลลจังหวัดอุดรธานีก็มีคำพิพากษายกฟ้องเช่นเดียวกับคดีนี้
.
ดูฐานข้อมูลคดี
คดี 112 “ปีเตอร์” ปราศรัยวิจารณ์อวยยศ “ฟูฟู” – งบสถาบันกษัตริย์ ที่อุดรธานี
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง