นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 คดี 112 “ปีเตอร์” พ่อค้าออนไลน์ปราศรัยที่อุดรฯ วิจารณ์อวยยศ “ฟูฟู” – งบสถาบันกษัตริย์ หลังศาลชั้นต้นยกฟ้อง แต่อัยการอุทธรณ์

9 ต.ค. 2567 ศาลจังหวัดอุดรธานีนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในคดีมาตรา 112 ของ “ปีเตอร์” (นามสมมติ) พ่อค้าออนไลน์วัย 31 ปี ซึ่งถูกฟ้องจากกรณีปราศรัยเรื่องการพระราชทานยศให้ “ฟูฟู” สุนัขทรงเลี้ยง และงบสถาบันกษัตริย์ ในการชุมนุม #กฐินราษฎร์ตลาดหลวง เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2563 ที่วงเวียนกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2566 ศาลจังหวัดอุดรธานีพิพากษายกฟ้องปีเตอร์ โดยศาลเห็นว่า ประชาชนทั่วไปที่ได้ฟังคำปราศรัยเรื่องฟูฟูไม่สามารถเข้าใจได้ในทันทีว่าจำเลยหมายถึงใคร และในเรื่องงบสถาบันกษัตริย์ จำเลยก็ไม่ได้เฉพาะเจาะจงถึงกษัตริย์องค์ใด ประกอบกับสิ่งที่จำเลยปราศรัยเป็นข้อมูลที่เผยแพร่ในอินเตอร์เน็ตอยู่แล้ว จึงไม่ถือว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ 

อย่างไรก็ตาม วันที่ 15 ธ.ค. 2566 ชวลิต สุวรรณภูชัย พนักงานอัยการ สํานักงานคดีศาลสูงภาค 4 (อัยการศาลสูงจังหวัดอุดรธานี) ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคําพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับคําพิพากษาของศาลชั้นต้น ลงโทษจําเลยตามฟ้อง โดยอ้างว่า คำปราศรัยของจำเลยใส่ความสถาบันกษัตริย์ ประชาชนที่ได้ฟังย่อมเข้าใจว่า จําเลยปราศรัยหมิ่นประมาทผู้ใด พยานหลักฐานของโจทก์จึงรับฟังได้ว่าจําเลยกระทําผิดตามฟ้อง

ฝ่ายจำเลยจึงยื่นคำแก้อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในเวลาต่อมา ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์และพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เนื่องจากพยานโจทก์หลายคนเบิกความไปในแนวทางเดียวกันว่า คำว่า “สถาบันกษัตริย์” หมายรวมถึง พระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งมีหลายพระองค์ คำปราศรัยจึงไม่ได้เจาะจงถึงกษัตริย์องค์ใดโดยเฉพาะ อีกทั้งไม่อาจตีความมาตรา 112 ขยายไปคุ้มครองสถาบันกษัตริย์ อันเป็นการขัดต่อหลักสากลและหลักกฎหมายอย่างร้ายแรง

ต่อมา ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้มีคำพิพากษา ศาลจังหวัดอุดรฯ จึงนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในครั้งนี้

.

อุทธรณ์ของโจทก์ที่โต้แย้งคัดค้านคําพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 

ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเมื่อพิจารณาพยานโจทก์ทุกปากแล้ว ไม่มีพยานโจทก์ปากใดที่เบิกความยืนยันว่าถ้อยคําที่จําเลยพูดปราศรัย เป็นการที่จําเลยแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โจทก์เห็นว่าการที่จําเลยพูดพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ยกเลิกการพระราชทานยศสุนัขทรงเลี้ยง และเรื่องงบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งมีทรัพย์สินมากอยู่แล้วแต่ยังรับงบประมาณอีกปีละ 3.7 หมื่นล้านบาทนั้น เป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง 

ซึ่งประชาชนทั่วไปที่ได้ฟังคําพูดของจําเลยย่อมเข้าใจว่าจําเลยพูดปราศรัยจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายผู้ใด ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาตามพยานหลักฐานของโจทก์จึงรับฟังได้ว่าจําเลยกระทําผิดตามฟ้อง โจทก์จึงขอศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับคําพิพากษาของศาลชั้นต้นโดยพิพากษาลงโทษจําเลยตามฟ้องของโจทก์ด้วย 

.

คำแก้อุทธรณ์ที่จำเลยยื่นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า “โจทก์เห็นว่าการที่จำเลยพูดพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งมีทรัพย์สินมากอยู่แล้ว แต่ยังรับงบประมาณอีกปีละ 3.7 หมื่นล้านบาทนั้น เป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง” จำเลยเห็นว่า ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวไว้โดยชอบแล้วกล่าวคือ คำว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ มิใช่องค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

ประกอบกับมีพยานโจทก์หลายคนเบิกความไปในแนวทางเดียวกันว่า คำว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ หมายถึง อดีตพระมหากษัตริย์ อดีตพระราชินี และอดีตพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ด้วย รวมถึงพยานโจทก์ปาก พ.ต.อ.ยศวัจน์ แก้วสืบธัญนิจ ได้ตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า “คำว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ ในความเข้าใจของข้าฯ หมายความถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 พระบรมวงศานุวงศ์ และอดีตพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ ซึ่งรวมแล้วจะมีกี่พระองค์นั้นข้าฯ ก็ไม่ทราบเพราะมีจำนวนเยอะมาก” อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าถ้อยคำปราศรัยของจำเลยไม่ได้ระบุถึงบุคคลที่ถูกดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายให้รู้ได้แน่นอนว่าเป็นองค์พระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งโดยเฉพาะ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น

2. ที่โจทก์ได้อุทธรณ์ไว้ว่า “ซึ่งประชาชนทั่วไปที่ได้ฟังคำพูดของจำเลยย่อมเข้าใจว่าจำเลยพูดปราศรัยจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาร้ายผู้ใด ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาตามพยานหลักฐานของโจทก์จึงรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง” จำเลยเห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์มิได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นไว้โดยชัดแจ้ง ว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยหรือรับฟังพยานหลักฐานไม่ชอบด้วยประการใด รวมถึงไม่ได้ยกข้อโต้แย้งว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ควรรับฟังพยานหลักฐานให้เป็นอย่างไร จำเลยจึงไม่อาจทำคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ในประเด็นนี้ได้ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

3. กฎหมายอาญามีหลักประกันสำคัญประการหนึ่ง คือ หลัก “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ ไม่มีกฎหมาย” (Nullum crimen, nulla poena sine lege) อันเป็นหลักการสำคัญที่ถูกรับรองไว้ทั้งในระดับกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามเป็นภาคี มีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม และถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 อีกทั้งหลักการดังกล่าวยังเป็นหลักย่อยประการหนึ่งของหลักนิติรัฐ ในรัฐที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่มีหลักนิติรัฐจึงพึงต้องปฏิบัติตามหลักการดังกล่าว

เมื่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คุ้มครองเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์ จึงไม่อาจจะตีความขยายความรวมไปถึง “สถาบันพระมหากษัตริย์” ที่เป็นองค์กรได้ หากบุคคลใดเห็นว่าการวิพากษ์วิจารณ์หรือพูดถึง “สถาบันพระมหากษัตริย์” ก็เป็นเรื่องที่ไม่บังควรเป็นอย่างยิ่งนั้น ก็สมควรที่จะต้องแยกแยะว่า การกระทำใด ๆ จะเป็นเรื่องที่สมควรหรือไม่ กับ ผิดกฎหมายหรือไม่ เป็นคนละเรื่องคนละส่วนกัน เมื่อไม่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นความผิด ก็จะลงโทษบุคคลนั้น ๆ ไม่ได้ เพราะขัดต่อหลักการสากลและหลักกฎหมาย 

หากโจทก์หรือบุคคลอื่นใดเห็นว่า แม้การวิพากษ์วิจารณ์พูดถึง “สถาบันพระมหากษัตริย์” ก็เป็นเรื่องที่ไม่บังควรและควรจะผิดกฎหมาย หรือกฎหมายควรจะต้องคุ้มครองถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ต้องไปรณรงค์หรือเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายผ่านทางกระบวนการนิติบัญญัติให้เกิดความชัดเจน ไม่ใช่ตีความขยายความเพื่อลงโทษบุคคล ซึ่งแบบนั้นจะขัดต่อหลักการสากลและหลักกฎหมายอย่างร้ายแรง

.

ดูฐานข้อมูลคดี

คดี 112 “ปีเตอร์” ปราศรัยวิจารณ์อวยยศ “ฟูฟู” – งบสถาบันกษัตริย์ ที่อุดรธานี 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

“หากยืนหยัดสู้ ก็ไม่ต้องกลัวเกรงใดๆ” เรื่องของ “ปีเตอร์’ พ่อค้าออนไลน์ จำเลย ‘112’ ปราศรัย เรื่องยศ “ฟูฟู” และงบสถาบันกษัตริย์ ที่อุดรฯ

X