ยกฟ้อง “ครูใหญ่-จัสติน” ไม่ผิด ม.116 ศาลชี้ คำปราศรัยที่อุดรฯ ปี 63 ไม่ปรากฏข้อเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง

7 ธ.ค. 2566 ศาลจังหวัดอุดรธานีอ่านคำพิพากษายกฟ้อง 2 นักกิจกรรม “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ และ “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงค์ ในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จากการเข้าร่วมชุมนุม #กฐินราษฎร์ตลาดหลวง และปราศรัย 3 ข้อเรียกร้อง เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2563 ที่วงเวียนกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรฯ หลังต่อสู้คดีมานาน 3 ปี

คดีนี้อรรถพลและชูเกียรติถูกออกหมายจับในข้อหาดังกล่าว หลังการชุมนุมเพียง 1 เดือน โดยอรรถพลถูกจับกุมที่กรุงเทพฯ ก่อนเวลานัดหมายชุมนุม #25พฤศจิกาไปSCB และควบคุมตัวไปดำเนินคดีที่ สภ.เมืองอุดรฯ ส่วนชูเกียรติมอบตัวในเวลาถัดมา ก่อนทั้งสองได้รับการปล่อยชั่วคราวชั้นฝากขัง 

ต่อมา พนักงานอัยการจังหวัดอุดรธานียื่นฟ้องอรรถพลและชูเกียรติในฐานความผิดดังกล่าว  โดยกล่าวหาว่า ทั้งสองกับพวกหลายคนได้ร่วมกันชักชวนให้ประชาชนเข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมผ่านทางเฟซบุ๊กชื่อเพจ “อุดรพอกันที – UDDONE” เป็นเหตุให้มีประชาชนเข้าร่วมชุมนุมในวันที่ 22 ต.ค. 2563 และมีผู้ชุมนุมถือป้ายข้อความ “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลสอุดรธานี” และถือธงชาติมีข้อความ “REPUBLIC OF THAILAND” อันเป็นการแสดงออกเชิงสัญญลักษณ์ว่าต้องการให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นระบอบสาธารณรัฐ จากนั้นจําเลยทั้งสองได้ปราศรัยพาดพิงสถาบันกษัตริย์ว่า ค้ำยันเผด็จการ ค้ำยันศักดินา 

ในการสืบพยานเมื่อวันที่ 20, 21  มิ.ย. และ 30 ส.ค. 2566 อรรถพลและชูเกียรติมีข้อต่อสู้ว่า ไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุมและไม่ได้เกี่ยวข้องกับป้ายผ้าและธงที่มีคนถือระหว่างเดินขบวน เพียงแต่ไปร่วมชุมนุมและได้รับเชิญขึ้นปราศรัย โดยปราศรัยถึง 3 ข้อเรียกร้อง รวมถึงให้กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญเช่นเดิม ไม่ได้เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงไปเป็นระบอบอื่น หรือล้มล้างสถาบันกษัตริย์

ย้อนอ่าน: บันทึกสืบพยานก่อนพิพากษาคดี ม.116 “ครูใหญ่-จัสติน” ยืนยัน ปราศรัยที่อุดรฯ ปี 63 เรียกร้องกษัตริย์อยู่ใต้ รธน. โดยสุจริต ด้าน ตร.อ้าง ‘อาจ’ ก่อให้เกิดความวุ่นวาย

.

เวลา 09.45 น. อรรถพลพร้อมทนายความเดินทางมาศาล ศาลสอบถามถึงชูเกียรติ หลังจากเลื่อนการอ่านคำพิพากษาจากวันที่ 31 ต.ค. 2566 มาแล้ว 1 ครั้ง แต่เมื่อยังไม่สามารถติดตามชูเกียรติมาฟังคำพิพากษาได้ ศาลจึงเริ่มอ่านคำพิพากษา มีเนื้อหาโดยสรุปว่า

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่

เห็นว่า ในวันที่ 22 ต.ค. 2563 ระหว่างเดินขบวนมีผู้ถือป้ายข้อความ “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลสอุดรธานี” และธงชาติมีข้อความ “Republic of Thailand” ซึ่งพยานโจทก์ปาก กฤษฎา นารินทร์รักษ์ อาจารย์สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เบิกความให้ความเห็นว่า รอยัลลิตส์มาร์เก็ตเพลส หมายความว่า สถานที่แห่งนั้นไม่ต้องการให้มีสถาบันกษัตริย์, Republic of Thailand มีความหมายว่า ต้องการให้ประเทศไทยเป็นสาธารณรัฐ ถ้อยคำปรากฏบนแถบสีน้ำเงิน แปลว่า ปฏิเสธการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 

ข้อความดังกล่าวย่อมขัดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 2 ที่บัญญัติว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมาตรา 50 (1) บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

การจะวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาถึงการกระทำและมูลเหตุจูงใจเป็นสำคัญ ตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยได้ความว่า ก่อนการชุมนุม พชรได้ทำหนังสือแจ้งการชุมนุม มีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก, ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และได้รับอนุญาตจากผู้กำกับการ สภ.เมืองอุดรธานี ให้ชุมนุมได้ เป็นไปตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ต่อมาจึงได้มีการโพสต์เชิญชวนประชาชนให้เข้าร่วมการชุมนุม ผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ อุดรพอกันที โดยไม่ปรากฏว่า จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับเพจดังกล่าว และไม่ปรากฏว่า จำเลยทั้งสองได้โพสต์เชิญชวนในเฟซบุ๊กของตน อันจะถือว่าเป็นผู้จัดหรือประสงค์จะจัดให้มีการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ จำเลยทั้งสองจึงเป็นเพียงผู้เข้าร่วมการชุมนุม

ส่วนป้ายข้อความและธงที่มีข้อความดังกล่าวได้ความตามรายงานการสืบสวนว่า ชานนท์เป็นผู้นำมาให้ผู้ชุมนุมถือ โดยไม่ปรากฏว่าชานนท์และจำเลยทั้งสองมีส่วนเกี่ยวข้องกันอย่างไร และคำปราศรัยของจำเลยทั้งสองก็ไม่ปรากฏว่ามีการเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐ หรือล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ จำเลยทั้งสองยังได้กล่าวย้ำในการปราศรัยว่า ไม่ได้ประสงค์เปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง หรือล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์

แม้จำเลยที่ 1 จะปราศรัยเรื่องการโอนย้ายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยการออก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 และการโอนกำลังพลไปเป็นกำลังพลส่วนพระองค์ โดยการออก พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ พ.ศ. 2562 ก็เป็นไปในลักษณะกล่าวโทษรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ออกกฎหมายดังกล่าว 

และแม้จะได้ความว่าจำเลยทั้งสองเคยร่วมกันชุมนุมปราศรัยในพื้นที่ต่าง ๆ หลายครั้ง ก็ไม่ปรากฏว่า มีการปราศรัยหรือมีข้อเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง หรือล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์

ประกอบกับผู้เข้าร่วมชุมนุมไม่มีอาวุธ ไม่ปรากฏความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางราชการ หรือเกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ไม่มีการนัดหมายเพื่อชุมนุมติดตามข้อเรียกร้องต่อไป อันจะถือเป็นการใช้กําลังมวลชนข่มขืนใจรัฐบาล 

การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่อาจฟังได้ว่า มีพฤติการณ์พิเศษหรือมีมูลเหตุจูงใจในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ดังที่โจทก์ฟ้อง จึงยังฟังไม่ได้ว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 แต่อย่างใด พิพากษายกฟ้อง. 

.

การชุมนุมในวันที่ 22 ต.ค. 2563 ที่วงเวียนประจักษ์ฯ จ.อุดรธานี นั้น นอกจากอรรถพลและชูเกียรติที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 116 แล้ว ยังมี “ปีเตอร์” พ่อค้าออนไลน์วัย 27 ปี ถูกดำเนินคดีอีกราย ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการขึ้นปราศรัยเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิต เรื่องการพระราชทานยศให้ “ฟูฟู” สุนัขทรงเลี้ยง และงบสถาบันกษัตริย์ ซึ่งศาลจังหวัดอุดรฯ พิพากษายกฟ้องไปแล้วก่อนหน้านี้

.

X