บันทึกสืบพยานก่อนพิพากษาคดี ม.116 “ครูใหญ่-จัสติน” ยืนยัน ปราศรัยที่อุดรฯ ปี 63 เรียกร้องกษัตริย์อยู่ใต้ รธน. โดยสุจริต ด้าน ตร.อ้าง ‘อาจ’ ก่อให้เกิดความวุ่นวาย

31 ต.ค. 2566 ศาลจังหวัดอุดรธานีนัดฟังคำพิพากษาในคดีมาตรา 116 ที่ 2 นักกิจกรรม “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ และ “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงค์ ตกเป็นจำเลยจากการเข้าร่วมชุมนุมและปราศรัยเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2563 ในกิจกรรม “กฐินราษฎร์ตลาดหลวง” บริเวณอนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรฯ หลังต่อสู้คดีมายาวนานเกือบ 3 ปี

ย้อนไปเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2563 กลุ่ม “อุดรพอกันที” ร่วมกับนักเรียนกลุ่ม “อุดรพิทย์ไม่ยอมเป็นทาส” และ “RN ปฏิวัติ” จัดชุมนุม #กฐินราษฎร์ตลาดหลวง เพื่อสนับสนุน 3 ข้อเรียกร้อง คือ ประยุทธ์ลาออก, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยมีนักเรียน นักกิจกรรม และประชาชนหลายคนขึ้นกล่าวปราศรัย รวมทั้งอรรถพลและชูเกียรติ

หลังการชุมนุมเพียง 1 เดือน ศาลจังหวัดอุดรฯ ได้อนุมัติออกหมายจับอรรถพลและชูเกียรติในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ก่อนที่ชุดสืบสวนของตำรวจนครบาล (บก.สส.บช,น.9) เข้าจับกุมอรรถพลที่โรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2563 ก่อนเวลานัดหมายชุมนุม  #25พฤศจิกาไปSCB และควบคุมตัวไปดำเนินคดีที่ สภ.เมืองอุดรฯ เมื่อชูเกียรติทราบว่า เขาถูกออกหมายจับในคดีนี้ด้วยจึงเข้ามอบตัวเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2563 ทั้งสองได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวหลังถูกส่งฝากขังโดยไม่ต้องวางหลักประกัน 

กว่า 1 ปีถัดมา อัยการจึงนัดหมายอรรถพลและชูเกียรติเพื่อส่งฟ้องศาล ก่อนเลื่อนนัดถึง 2 ครั้ง ทำให้ชูเกียรติต้องเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น เนื่องจากได้จองตั๋วเครื่องบินไป-กลับไว้ล่วงหน้าแล้วทั้งสองครั้ง โดยครั้งหลังเขาเดินทางมาถึงอุดรฯ แล้วจึงรู้ว่าอัยการยังเรียงคำฟ้องไม่เสร็จ

.

คำฟ้องชี้ ข้อความบนป้าย-ธง ตลอดจนคำปราศรัยของจำเลยยุยงปลุกปั่นประชาชน

สุดท้าย พนักงานอัยการจังหวัดอุดรธานียื่นฟ้องอรรถพลและชูเกียรติต่อศาลจังหวัดอุดรฯ เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2565 ในฐานความผิด “ร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 โดยบรรยายฟ้องใจความโดยสรุปว่า   

ระหว่างวันที่ 19 – 22 ต.ค. 2563 จําเลยทั้งสองกับพวกอีกหลายคนได้ร่วมกันชักชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองในกิจกรรม “กฐินราษฎร์ ตลาดหลวง” ผ่านทางเฟซบุ๊กชื่อเพจ “อุดรพอกันที – UDDONE” และเครือข่ายสังคมออนไลน์อีกหลายกลุ่ม โดยนัดหมายเดินขบวนไปตามถนนและชุมนุมปราศรัยที่วงเวียนอนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม อ.เมืองอุดรธานี เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 

เป็นเหตุให้มีประชาชนเข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมตามที่จําเลยทั้งสองกับพวกได้โฆษณาชักชวนดังกล่าวเป็นจํานวนหลายร้อยคน โดยมีประชาชนผู้เข้าร่วมได้ถือป้ายข้อความว่า “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลสอุดรธานี” ซึ่งสื่อความหมายทํานองว่า ที่นี่ไม่ต้องการให้มีสถาบันกษัตริย์ และมีคนถือธงชาติมีข้อความบนธงว่า “REPUBLIC OF THAILAND” ซึ่งสื่อความหมายทํานองว่า ต้องการให้ประเทศไทยปกครองในระบอบสหพันธรัฐหรือสาธารณรัฐ อันเป็นการแสดงออกเชิงสัญญลักษณ์ว่า จำเลยทั้งสองกับพวกและผู้เข้าร่วมชุมนุมไม่ต้องการให้ประเทศไทยมีสถาบันกษัตริย์และต้องการให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นระบอบสาธารณรัฐ อันมิใช่การกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร 

คำฟ้องระบุอีกว่า จากนั้นจําเลยทั้งสองกับพวกได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันปราศรัยโดยได้ทําให้ปรากฏด้วยวาจาแก่ประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุมและผู้ที่ได้ดูไลฟ์สด โดยถ้อยคําปราศรัยของจําเลยทั้งสองพาดพิงเปรียบเปรยถึงสถาบันกษัตริย์ในทางที่มิบังควร กล่าวหารัฐบาลและสถาบันกษัตริย์ว่าเป็นเผด็จการศักดินา สถาบันกษัตริย์ค้ำยันเผด็จการ ค้ำยันศักดินา ทำลายพระพุทธศาสนา รัฐบาลขยายพระราชอํานาจของสถาบันกษัตริย์อย่างกว้างขวาง โดยมีการโอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ ทรัพย์สินที่เคยเป็นของส่วนรวมที่กษัตริย์และราษฏรใช้ร่วมกันอย่าง เช่น สนามหลวง กลายเป็นของกษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว สถาบันพระมหากษัตริย์มีกองกําลังทหารเป็นของตนเอง 

อัยการอ้างว่า การกระทําของจําเลยทั้งสองกับพวกดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่พลเมืองตามรัฐธรรมนูญ ทําให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ประชาชนเสื่อมศรัทธา โดยจําเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันกระทําเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้น เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาลโดยใช้กําลังมวลชลข่มขืนใจ อันมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ และมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต

หลังถูกฟ้องอรรถพลและชูเกียรติได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณา โดยไม่ต้องวางหลักประกัน แต่ให้ทำสัญญาประกันตนเอง หากไม่มาศาลตามนัด ให้ปรับคนละ 100,000 บาท

การชุมนุมในวันที่ 22 ต.ค. 2563 ที่วงเวียนประจักษ์ฯ นั้น นอกจากอรรถพลและชูเกียรติที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 116 แล้ว ยังมี “ปีเตอร์” พ่อค้าออนไลน์วัย 27 ปี ถูกดำเนินคดีอีกราย ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการขึ้นปราศรัยเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิต เรื่องการพระราชทานยศให้ “ฟูฟู” สุนัขทรงเลี้ยง และงบสถาบันกษัตริย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2566 ศาลจังหวัดอุดรฯ พิพากษายกฟ้องไปแล้ว

.

พยานโจทก์รับ ไม่ทราบใครโพสต์ชวนชุมนุม- เตรียม ‘ป้าย-ธง’ แต่คำปราศรัยพาดพิงสถาบันกษัตริย์ ทำให้ประชาชนกระด้างกระเดื่อง – อาจก่อความวุ่นวาย  ด้านจำเลยยืนยัน แค่เรียกร้องกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ 

คดีนี้มีการสืบพยานในวันที่ 20, 21  มิ.ย. และ 30 ส.ค. 2566 โจทก์นำพยานเข้าเบิกความรวม 7 ปาก ได้แก่ ประชาชนและตำรวจผู้กล่าวหา, ตำรวจชุดสืบสวนผู้อยู่ในเหตุการณ์ และถอดเทปคำปราศรัย, อาจารย์สาขานิติศาสตร์ ผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับถ้อยคำในป้ายผ้า และพนักงานสอบสวน

พยานโจทก์เบิกความไปในทางเดียวกันว่า ธงและและป้ายที่นักเรียนถือในขณะเดินขบวน สื่อว่าอยากเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐ ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญ แต่พยานตำรวจสืบสวนและสอบสวนทุกปากเบิกความว่า ในทางสืบสวนไม่ทราบว่าใครเป็นผู้โพสต์ชวนชุมนุม และจัดทำธงกับป้ายดังกล่าว ขณะที่รอง ผกก.สืบสวน ยืนยันว่า จำเลยทั้งสองไม่เกี่ยวข้องกับการโพสต์ รวมทั้งธงและป้ายด้วย 

ในส่วนคำปราศรัย พยานตำรวจสืบสวนและสอบสวนเกือบทุกปากระบุว่า จำเลยทั้งสองปราศรัยพาดพิงสถาบันกษัตริย์ ทำให้ประชาชนที่ได้ฟังอาจเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนและเกิดความกระด้างกระเดื่องต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งจะเกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง อย่างไรก็ตาม พยานเหล่านี้ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า จำเลยปราศรัยเรียกร้องให้กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่ได้เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครอง อีกทั้งภายหลังการชุมนุมก็ไม่ได้เกิดความวุ่นวาย หรือมีประชาชนออกมาเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครองเลย 

ฝ่ายจำเลยมีอรรถพลและชูเกียรติเบิกความเป็นพยานให้ตนเอง โดยอรรถพลยืนยันว่า ปราศรัยถึง 3 ข้อเรียกร้อง ซึ่งในเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นั้นหมายถึง ให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายจากที่ให้อำนาจกษัตริย์มากขึ้น กลับมาเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นเดิม ไม่ได้เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงไปเป็นระบอบอื่น ด้านชูเกียรติระบุว่า คำปราศรัยของเขาเน้นเรื่องรัฐสวัสดิการ เป็นการสื่อสารถึงผู้มีอำนาจให้เห็นความสำคัญของประชาชน รวมถึงเรียกร้องให้กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ได้ต้องการล้มล้างสถาบันกษัตริย์

ทั้งนี้ ในนัดสืบพยานเมื่อเดือน ก.พ. 2566 ชูเกียรติไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ เนื่องจากต้องดูแลพ่อที่ป่วยกระทันหัน ทนายจึงขอศาลเลื่อนการสืบพยานออกไปก่อน แต่ศาลให้เลื่อนเพียงวันเดียว โดยให้ชูเกียรติมาศาลในวันถัดไป หากไม่สามารถมาได้ ให้เขียนคำร้องขอสืบพยานลับหลัง ไม่เช่นนั้นศาลจะพิจารณาออกหมายจับ แต่อย่างไรก็ตาม วันถัดมา ชูเกียรติยังคงต้องดูแลพ่อ จึงยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอีกครั้ง ระบุว่าไม่ประสงค์ให้พิจารณาคดีลับหลัง ซึ่งโจทก์ก็ไม่คัดค้าน เนื่องจากยังติดตามพยานบางปากมาเบิกความไม่ได้ สุดท้ายศาลปรึกษาผู้บริหาร ก่อนอนุญาตให้เลื่อนสืบพยานไปในเดือน มิ.ย. 2566 

ก่อนฟังคำพิพากษาชวนอ่านรายละเอียดคำเบิกความของพยานโจทก์และพยานจำเลยแต่ละปาก

.

อดีต พนง.รัฐวิสาหกิจ แจง เข้าแจ้งความจากเหตุมีคนถือธง Republic of Thailand สื่ออยากเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ ไม่ได้ติดใจคำปราศรัยของจำเลย

กฤษณ์ จิตศักดิ์ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ปัจจุบันเกษียณเป็นเกษตรกร ผู้กล่าวหาที่ 1 เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุพยานเป็นพนักงานประจำศูนย์ควบคุมการบินอุดรธานี สังกัดวิทยุการบินอุดรธานี ลาออกเมื่อวันที่ 1 ก.ค 2565 

เมื่อปลายปี 2563 พยานติดตามสถานการณ์ทางการเมืองซึ่งมีการขัดแย้งทางความคิด โดยมีกลุ่มวัยรุ่นออกมาชุมนุมทั่วประเทศ เนื่องจากไม่พอใจที่มาของนายกฯ จึงเรียกร้องต้องการให้เปลี่ยนแปลงการปกครอง โจทก์ติงว่า พยานเบิกความไกลไปแล้ว พยานเบิกความใหม่ว่า เรียกร้องให้นายกฯ ลาออก, แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

เกี่ยวกับคดีนี้ พยานติดตามข่าวโดยการพูดคุยในกลุ่มเพื่อนฝูง ดูทีวี เฟซบุ๊ก และยูทูบ ทราบว่า มีการชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2563 มีการเดินพาเหรดจากแยกหอนาฬิกาถึงวงเวียนกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม มีคนเข้าร่วมประมาณ 500 คน และมีการจัดกฐิน ชื่อกิจกรรมว่า “กฐินราษฎร์ ตลาดหลวง” พยานไม่ทราบว่าใครเป็นแกนนำ วันเกิดเหตุพยานนอนดูทีวีอยู่ที่ห้อง แต่ติดตามการเดินขบวนและปราศรัยทางทีวี และดูยูทูบย้อนหลัง รวมทั้งอ่านคอมเมนท์ในเฟซบุ๊กด้วย

ที่พยานเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีนั้น เนื่องจากพยานเห็นว่ามีการใช้เสียงและถือป้ายเป็นธงคล้ายธงชาติไทย ยาว 3 เมตร แต่ไม่เหมือนธงชาติไทย เพราะแถบสีน้ำเงินตรงกลางมีข้อความว่า Republic of Thailand พยานไม่เก่งภาษาอังกฤษ แต่พยานเห็นธงดังกล่าวแล้วเข้าใจคำแปลที่ตรงตามตัวอักษรว่า ผู้ถือต้องการสื่อว่า ตอนนี้ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักร แต่อยากเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ

จากนั้นพยานได้ไปแจ้งความโดยไม่ได้นำพยานหลักฐานใดไปมอบให้ตำรวจ ส่งเพียงหนังสือร้องทุกข์และให้การไว้กับพนักงานสอบสวน พยานไม่ได้ระบุตัวบุคคลที่ประสงค์จะดำเนินคดี โดยให้ตำรวจทำการสืบสวนเอง

พยานฟังคำปราศรัยแล้วรู้สึกว่า เป็นการยั่วยุปลุกปั่น ผู้ปราศรัยไม่พอใจที่มาของนายกฯ, ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง, รัฐธรรมนูญ มีการพาดพิงกษัตริย์, ศักดินา ซึ่งพยานไม่เข้าใจคำนี้เท่าไหร่นัก คำว่า รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส พยานก็ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร

จากนั้นกฤษณ์ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานเคยร่วมชุมนุมตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา ล่าสุดชุมนุมกับกลุ่มเรารักสถาบันกษัตริย์ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มจำเลย หรือกลุ่มที่เรียกร้อง 3 ข้อเรียกร้องดังกล่าว ทั้งนี้ การชุมนุมและปราศรัยเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่สามารถทำได้ 

พยานทราบว่า ประยุทธ์มาจากการรัฐประหารปี 57 ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ หลังจากรัฐประหารประยุทธ์และ คสช. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 ซึ่งรัฐธรรมนูญดังกล่าวบัญญัติให้ประยุทธ์แต่งตั้ง สว. และ สว. มายกมือออกเสียงเลือกนายกฯ จึงเป็นเหตุให้ประชาชนมาชุมนุมให้ประยุทธ์ลาออก และแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ สว.ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ

พยานทราบด้วยว่า ปฏิรูป คือการทำให้ดีขึ้น แต่พยานไม่ทราบว่าข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มีรายละเอียดอย่างไร และไม่ทราบว่าจำเลยทั้งสองมีจุดมุ่งหมายอย่างไรในการปราศรัยเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ที่พยานเข้าแจ้งความนั้นพยานไม่ได้ติดใจในคำปราศรัยของจำเลยทั้งสอง พยานติดใจแค่ธง Republic of Thailand ซึ่งพยานไม่ทราบว่า ใครเป็นคนทำและถือธงดังกล่าว 

พยานไม่เคยได้ยินว่า เคยมีคนเรียกร้องให้กลับไปปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

.

สารวัตรสืบเชื่อ จำเลยมีส่วนร่วมโพสต์ชวนชุมนุม แม้ไม่มีหลักฐาน ทั้งปราศรัยยุยงประชาชน เรียกร้องเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐ 

พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ กองม่วง ขณะเกิดเหตุเป็นสารวัตรสืบสวน สภ.เมืองอุดรธานี ผู้กล่าวหาที่ 2 เบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุทั่วประเทศมีการชุมนุมของผู้เห็นต่างทางการเมือง ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาและประชาชนวัยกลางคน เรียกร้องให้นายกฯ ลาออก, แก้รัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ พยานติดตามข่าวโดยตลอดเพราะในพื้นที่ก็มีการชุมนุม

จำเลยที่ 1 มีชื่อเรียกกันว่า ครูใหญ่ ร่วมชุมนุมทางการเมืองและเป็นผู้นำการปราศรัย ส่วนใหญ่ที่จังหวัดขอนแก่น มีความคิดในทางเดียวกันกับกลุ่มนักเรียนนักศึกษา คือ เรียกร้อง 3 ข้อดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 2 มีชื่อเรียกว่า จัสติน พยานทราบข้อมูลการขึ้นปราศรัยเฉพาะในพื้นที่ สภ.เมืองอุดรฯ มักแต่งกายด้วยเสื้อกล้ามสีขาว กางเกงวอร์มสีแดง เหมือนนักร้องชื่อ จัสติน บีเบอร์

เกี่ยวกับคดีนี้เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2563 เฟซบุ๊กเพจ อุดรพอกันที, อุดรพิทย์ไม่ยอมเป็นทาส และเสรีประชาธิปไตย ได้โพสต์เชิญชวนประชาชนมาร่วมชุมนุมบริเวณวงเวียนกรมหลวงประจักษ์ฯ ในวันที่ 22 ต.ค. 2563 เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงประชุมเตรียมรับมือการชุมนุม โดยผู้กำกับการ สภ.เมืองอุดรฯ มีคำสั่งแต่งตั้งพยานเป็นชุดสืบสวนหาข่าวปะปนกับประชาชน

ในทางสืบสวนเพจทั้งสามมีแอดมินหลายคน แต่พยานไม่ได้สืบสวนเอง พยานเชื่อว่า จำเลยทั้งสองเป็นแอดมินด้วย แต่ไม่ได้มีการพิสูจน์ทราบว่า ใครเป็นคนโพสต์เชิญชวนชุมนุมครั้งนี้ 

แกนนำจัดกิจกรรมดังกล่าวมีหลายคน คนหนึ่งคือ พชร หรือแม็ค ซึ่งมายื่นขออนุญาตชุมนุมสาธารณะต่อผู้กำกับการ สภ.เมืองอุดรฯ คนต่างถิ่นที่เข้าร่วมชุมนุมก็มีจำเลยที่ 1 โดยมีการประสานจากแอดมินให้มาปราศรัย

ในวันที่ 22 ต.ค. 2563 ผู้ชุมนุมรวมตัวกันและตั้งขบวนที่บริเวณห้าแยกหอนาฬิกา ตั้งแต่เวลา 15.00 น. พยานไปอยู่ในที่เกิดเหตุตั้งแต่จุดนี้ เวลา 16.00 น. ขบวนเริ่มออกเดิน มีคนเข้าร่วมประมาณ 100 กว่าคน มีรถยนต์ติดเครื่องขยายเสียงปราศรัยไปตามทาง ผู้ร่วมขบวนถือธงชาติไทยมีข้อความ Republic of Thailand และป้ายข้อความอีกหลายป้าย

ภาพโดย iLaw

พยานเห็นจำเลยทั้งสองเข้าร่วมเดินขบวน ในรายงานการสืบสวนก็มีภาพจำเลยที่ 1 ชู 3 นิ้ว ขณะเดินขบวนจราจรติดขัดบ้าง แต่มีตำรวจอำนวยความสะดวก ผู้ชุมนุมโห่ร้องและมีประชาชนตามข้างทางตะโกนไม่เห็นด้วยบ้าง แต่ไม่มีความวุ่นวาย มีการปราศรัยไล่นายกฯ แต่ไม่ถึงกับบังคับขู่เข็ญ ไม่มีผู้ร่วมชุมนุมมีอาวุธ เมื่อถึงวงเวียนกรมหลวงประจักษ์ฯ มีการปราศรัยตั้งแต่เวลา 18.00 น. โดยผู้ปราศรัยยืนอยู่ลานด้านบน ส่วนผู้ฟังอยู่บริเวณถนน มีผู้ฟังประมาณ 500 คน

ตามรายงานการสืบสวนมีภาพจำเลยที่ 2 โดยเขียนบรรยายว่า เวลา 17.50 น. ชูเกียรติกล่าวนำทอดกฐินและโจมตีรัฐบาล เวลา 18.20 น. อรรถพลขึ้นปราศรัย

ในวันดังกล่าวมีคนขึ้นปราศรัยประมาณ 9 คน รวมทั้งจำเลยทั้งสองซึ่งปราศรัยไล่นายกฯ เรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ถ้อยคำมีลักษณะส่อเสียด ดูแคลนสถาบันกษัตริย์ ประมาณว่า สถาบันกษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ สถาบันกษัตริย์ให้ท้ายรัฐบาลศักดินาให้ใช้ระบบศักดินาปกครองบ้านเมือง ทำลายพุทธศาสนา โอนทรัพย์สินสาธารณะเป็นของส่วนพระองค์ เช่น สนามหลวง มีกองกำลังทหารของสถาบันกษัตริย์เอง

หลังการชุมนุมตำรวจประชุมสรุปสถานการณ์ มีข้อสรุปว่าจะมีการดำเนินคดี 2 ส่วน คือ การถือป้าย รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส อุดรธานี มีความหมายทำนองว่า ไม่เอาสถาบันกษัตริย์ ซึ่งไม่ใช่ความหมายที่แปลตรงตัวอักษร และธงชาติไทยมีข้อความ Republic of Thailand มีความหมายว่า ประเทศไทยเป็นสหพันธรัฐ พยานเข้าใจว่าเป็นการเรียกร้องการปกครองแบบอื่น ไม่ใช่แบบปัจจุบันซึ่งเป็นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คนถือธงเป็นเด็กผู้หญิง 2 คน แต่พยานไม่ได้เป็นคนสืบสวนว่า ใครเป็นคนทำ และไม่ทราบว่า มีการดำเนินการกับบุคคลดังกล่าวอย่างไรหรือไม่ 

พยานไปร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสอง โดยให้การว่า จำเลยทั้งสองเข้าข่ายมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เนื่องจากน่าจะชักชวนให้ประชาชนมาร่วมชุมนุม โดยเชื่อว่าน่าจะมีการประสานกับแอดมินในการโพสต์เชิญชวน โดยกลุ่มนี้มีข้อเรียกร้องต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญ 

ในส่วนการปราศรัยของจำเลยทั้งสองที่พาดพิงรัฐบาลและสถาบันกษัตริย์ โดยมีการถ่ายทอดสด ประชาชนดูได้ทั่วประเทศ ก็ทำให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองตามที่จำเลยชักชวน และจะเกิดความไม่สงบในบ้านเมือง 

พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ ตอบทนายจำเลยถามค้านในเวลาต่อมาว่า รายงานการสืบสวนระบุว่า ป้ายข้อความ 2 ป้าย มีคนอื่นเป็นคนทำแล้วนำมาถือในขบวน จำเลยทั้งสองไม่ได้เกี่ยวข้อง 

รายงานการสืบสวนยังระบุว่า แอดมินเพจอุดรพอกันที คือ พชร ที่พยานระบุว่า พยานเชื่อว่าจำเลยติดต่อประสานงาน มีส่วนเกี่ยวข้องในการโพสต์ชักชวน เป็นเพียงความเชื่อของพยานเท่านั้น ไม่มีพยานหลักฐานในรายงานการสืบสวนเลย อีกทั้งพยานไม่เห็นจำเลยทั้งสองโพสต์เชิญชวน พยานจำไม่ได้ด้วยว่า จำเลยทั้งสองใช้เฟซบุ๊กชื่อว่าอะไร   

พยานเป็นผู้เข้าแจ้งความและเป็นฝ่ายสืบสวน แต่พยานไม่ทราบว่า ในคดีนี้ผู้บังคับบัญชาได้ทำหนังสือถึง บก.ปอท. ให้ตรวจสอบหาแอดมินเพจที่โพสต์เชิญชวนหรือไม่ 

การชุมนุมในวันเกิดเหตุแจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ แล้ว ซึ่งผู้กำกับการ สภ.เมืองอุดรฯ ไม่ได้แจ้งให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขการชุมนุมแต่อย่างใด อีกทั้งรายงานการสืบสวนไม่มีการระบุว่า พชรได้รับมอบอำนาจจากจำเลยทั้งสองมาแจ้งการชุมนุม

รอยัลลิสต์ หมายถึง กลุ่มคนที่นิยมสถาบันกษัตริย์ มาร์เก็ตเพลส แปลว่า พื้นที่กลางหรือพื้นที่แลกเปลี่ยน รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส จึงแปลว่า ที่พบปะของกลุ่มคนที่นิยมกษัตริย์ ส่วนที่พยานเบิกความว่า หมายถึง ไม่เอากษัตริย์นั้น เป็นความเห็นของพยานเองที่มาจากการไปเสิร์ชในเฟซบุ๊ก

ตามรายงานการสืบสวน ภาพที่มีผู้ชุมนุมถือธง Republic of Thailand เป็นภาพในช่วงเวลา 16.00 น. ซึ่งเป็นช่วงต้น ๆ ของการเดินขบวน แต่มีภาพของจำเลยที่ 1 ในเวลา 17.38 น. ซึ่งจำเลยที่ 1 จะมาถึงที่ชุมนุมเวลาใด พยานไม่ทราบ และจะยืนห่างจากธง Republic กี่เมตร พยานก็จำไม่ได้

ข้อเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก และแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นสิทธิของประชาชนที่ทำได้ตามกฎหมาย การแก้เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญก็ทำกันมาหลายครั้งแล้ว ส่วนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะหมายถึง ทำให้สถาบันกษัตริย์ดีขึ้น สถาพรขึ้นหรือไม่ พยานไม่มีความเห็น

ที่พยานเบิกความว่า จำเลยที่ 1 ปราศรัยว่า สถาบันกษัตริย์ค้ำจุนระบบศักดินานั้น  พยานจำไม่ได้ว่า ถ้อยคำดังกล่าวจะมีในคำปราศรัยหรือไม่ และที่พยานเบิกความว่า พยานฟังปราศรัยแล้วมีความเห็นตามที่เบิกความไปนั้น เป็นความเห็นของคณะทำงานไม่ใช่ความเห็นของพยานเอง คนอื่นที่ได้ฟังคำปราศรัยก็มีความเห็นแตกต่างไปได้

พยานทราบว่า คำปราศรัยเกี่ยวกับกองกำลังส่วนพระองค์, การโอนทรัพย์สินไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์นั้น เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งกฎหมายดังกล่าวออกในรัชสมัยของรัชกาลที่ 10 แต่ไม่แน่ใจว่าในช่วงรัฐบาลประยุทธ์หรือไม่ ทั้งนี้ พยานไม่ทราบว่า ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยในโลกประเทศใดที่พระมหากษัตริย์มีกองกำลังของตนเองบ้าง และในสมัยรัชกาลที่ 9 เคยมีการออกกฎหมายในลักษณะดังกล่าวหรือไม่ 

การปราศรัยของจำเลยที่ 1 เรียกร้องในข้อเรียกร้องทั้งสาม ไม่มีข้อเรียกร้องให้เป็นสาธารณรัฐ คำปราศรัยของจำเลยที่ 2 ก็ไม่มีถ้อยคำรณรงค์ให้เปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นสาธารณรัฐ

การชุมนุมในวันเกิดเหตุไม่มีความวุ่นวาย รวมทั้งไม่มีความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือชีวิตของบุคคลใด หลังการชุมนุมในจังหวัดอุดรฯ ก็ไม่มีการชุมนุมเรียกร้องให้ประเทศเป็นสาธารณรัฐ และที่กรุงเทพฯ ประยุทธ์ยังได้ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ส่วนในกิจกรรมอื่นที่จำเลยทั้งสองเข้าร่วม มีธง Republic of Thailand ปรากฏด้วยหรือไม่ พยานไม่ได้ตรวจสอบ 

พยานให้การในชั้นสอบสวนว่า จำเลยทั้งสองเข้าข่ายมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 โดยอ้างมาตรา 6 และมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อความว่า กษัตริย์ละเมิดมิได้ พยานเข้าใจว่า หมายความว่า ห้ามพูดส่อเสียด แต่ความหมายที่แท้จริงคืออะไร หรือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 เป็นอย่างไร พยานไม่ได้ศึกษา และจำไม่ได้ว่า เคยได้ยินเกี่ยวกับพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 ในปี 2548 ว่า กษัตริย์ถูกวิจารณ์ได้ หรือไม่  

ที่พยานกล่าวหาว่า จำเลยปราศรัยว่า กษัตริย์ทำลายพระพุทธศาสนา แต่พยานไม่ทราบว่า รัฐบาลปัจจุบันได้ออกกฎหมายให้กษัตริย์แต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมได้ ซึ่งผิดหลักการ ดังนั้น ที่จำเลยปราศรัยว่า มีการให้อำนาจสถาบันกษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องกับคณะสงฆ์ก็เป็นเรื่องจริง

รายงานการสืบสวนระบุว่า ชูเกียรติ จำเลยที่ 2 เดินทางมาร่วมชุมนุมในเวลา 18.00 น. แต่พยานเห็นจำเลยที่ 2 มาถึงก่อนหน้านั้น

อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ ตอบโจทก์ถามติงว่า ที่พยานตอบทนายจำเลยเกี่ยวกับคำปราศรัยว่ามีมูลความจริงนั้น พยานเห็นว่า จำเลยพูดเรื่องดังกล่าวได้ แต่ไม่ควรพูดในลักษณะเสียดสีสถาบันกษัตริย์ ส่อให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำ พยานฟังแล้วรู้สึกไม่สบายใจ ไม่ชอบใจ รวมถึงประชาชนที่ฟังแล้วเห็นด้วย จะก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องต่อสถาบันกษัตริย์ ส่วนกลุ่มที่มีความจงรักภักดีก็อาจจะไม่สบายใจที่เห็นว่าสถาบันกษัตริย์ถูกดูหมิ่น และออกมาแสดงพลัง

.

รอง ผกก.สืบสวน ยืนยัน จำเลยไม่เกี่ยวกับโพสต์ชวนชุมนุม-ป้าย-ธง คำปราศรัยก็เป็นเรื่องกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

พ.ต.อ.ยศวัจน์ แก้วสืบธัญนิจ ขณะเกิดเหตุเป็นรองผู้กำกับสืบสวน สภ.เมืองอุดรฯ เข้าแฝงตัวปะปนกับผู้ร่วมชุมนุมในวันเกิดเหตุเช่นกัน เบิกความสอดคล้องกับ พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ ว่า ก่อนเกิดเหตุมีการโพสต์เชิญชวนประชาชนร่วมชุมนุม จากนั้นพชรได้เข้าแจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ จากการสืบสวนไม่ทราบว่าใครเป็นแอดมินเพจและโพสต์เชิญชวน และจำเลยทั้งสองก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเพจและการโพสต์ 

ในวันเกิดเหตุขณะผู้ชุมนุมเดินขบวน ไม่มีเหตุวุ่นวาย การจราจรติดขัดบ้าง แต่มีตำรวจอำนวยความสะดวก พยานเห็นนักเรียนหญิงถือป้าย รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส อุดรธานี และธง Republic of Thailand แต่ไม่เห็นจำเลยทั้งสองมาร่วมเดินขบวน เมื่อไปถึงวงเวียนกรมหลวงประจักษ์ฯ มีคนปราศรัยประมาณ 6-7 คน รวมถึงจำเลยทั้งสอง โดยจำเลยที่ 1 ปราศรัยเรื่องชุดนักเรียน, คณะสงฆ์ และสถาบันกษัตริย์ ส่วนจำเลยที่ 2 ปราศรัยเรื่องกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

จากการสืบสวนไม่ทราบว่าใครเป็นคนจัดทำป้ายและธงดังกล่าว แต่ไม่พบว่าเกี่ยวข้องกับจำเลยทั้งสอง พยานจำไม่ได้ว่าได้มีการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ธงฯ กับผู้ที่ถือธงหรือไม่

พยานทราบว่า ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานีมอบหมายให้ พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ กองม่วง แจ้งความดำเนินคดีจำเลยทั้งสอง

พ.ต.อ.ยศวัจน์ ยังตอบทนายจำเลยถามค้านว่า หลังเกิดเหตุผู้กำกับ สภ.เมืองอุดรฯ ได้เรียกผู้จัดกิจกรรมมาสอบถามเกี่ยวกับธงและป้าย ซึ่งก็ไม่เกี่ยวกับจำเลยทั้งสอง นอกจากนี้ ที่พยานเบิกความว่า จำเลยที่ 2 ปราศรัยเกี่ยวกับกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญนั้น ประเด็นดังกล่าวมีความหมายแตกต่างจากป้าย Republic of Thailand

ภาพโดย iLaw

.

สารวัตรสืบผู้ถอดเทปคำปราศรัยระบุ จำเลยไม่เกี่ยวกับการไลฟ์สดการปราศรัยผ่านเพจอุดรพอกันที

พ.ต.ท.อรรคพล ยี่เกาะ ขณะเกิดเหตุเป็นสารวัตรกองกำกับการสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี ผู้ถอดเทปคำปราศรัย เบิกความว่า วันเกิดเหตุพยานได้รับมอบหมายให้ดูแลความปลอดภัยบริเวณที่ชุมนุมและถอดเทปคำปราศรัย จึงเดินทางไปที่เกิดเหตุตั้งแต่เริ่ม และอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมง เห็นว่าเหตุการณ์ไม่น่ามีความวุ่นวาย จึงกลับไปที่ทำงานเพื่อฟังคำปราศรัยผ่านไลฟ์สดเพจอุดรพอกันที  

พยานเป็นหัวหน้าชุดในการถอดเทปทำปราศรัยของผู้ปราศรัยทั้ง 9 คน จากนั้นพยานได้จัดทำบันทึกการถอดเทปนำส่งพนักงานสอบสวน ต่อมา อัยการสั่งให้พิสูจน์อักษรเฉพาะคำปราศรัยของจำเลยทั้งสอง พยานจึงจัดทำบันทึกการถอดเทปฉบับใหม่

พยานไม่รู้จักกับจำเลยทั้งสอง ไม่เคยติดตามข่าวการเมืองด้วย โดยทำเฉพาะคดียาเสพติด พยานมีหน้าที่ในคดีนี้เพียงถอดเทป ส่วนจะเป็นความผิดหรือไม่ ใครไปร้องทุกข์กล่าวโทษ พยานไม่ทราบ

อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.อรรคพล ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า บันทึกการถอดเทปฉบับใหม่ก็อาจจะมีบางจุดที่พยานไม่แน่ใจว่าถอดเทปและพิมพ์ได้ถูกต้องหรือไม่ จึงขอยืนยันคำปราศรัยตามคลิป

พยานให้การกับพนักงานสอบสวนว่า ไม่ทราบว่าใครเป็นแอดมินเพจอุดรธานี คนที่ทำการไลฟ์สดก็ไม่เกี่ยวกับจำเลยทั้งสอง เพราะจำเลยอยู่บนเวทีปราศรัย และเป็นการไลฟ์สดผ่านเพจไม่ใช่เฟซบุ๊กส่วนตัว

.

อาจารย์นิติฯ เบิกความ ธง Republic of Thailand มีความหมายขัดรัฐธรรมนูญ แต่ไม่เข้าข่ายผิด ม.116

กฤษฎา นารินทร์รักษ์ อาจารย์สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี พยานความเห็น เบิกความว่า พยานเป็นอาจารย์ประจำสาขานิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรฯ มาแล้ว 16 ปี ช่วงเกิดเหตุติดตามข่าวการชุมนุมตามปกติ ไม่เคยสังเกตว่า จำเลยเคยร่วมปราศรัยหรือไม่ วันเกิดเหตุพยานก็ไม่ได้ไปร่วมสังเกตการณ์ เห็นจากข่าวย้อนหลังเท่านั้น

หลังการชุมนุมพนักงานสอบสวนได้นำป้ายและธงที่มีข้อความมาถามว่า มีความหมายอย่างไรและสื่อว่าอย่างไร พยานให้ความเห็นไว้ว่า รอยัลลิตส์มาร์เก็ตเพลส หมายความว่า สถานที่แห่งนั้นไม่ต้องการให้มีสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นความหมายที่พยานอนุมานตามถ้อยคำ Republic of Thailand มีความหมายว่า ต้องการให้ประเทศไทยเป็นสาธารณรัฐหรือสหพันธรัฐ ถ้อยคำปรากฏที่แถบสีน้ำเงิน แปลว่า ปฏิเสธการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ความหมายดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยวแบ่งแยกไม่ได้

แต่เมื่อทนายจำเลยถามค้าน กฤษฎาเบิกความตอบว่า พยานเคยให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่า การแสดงป้ายดังกล่าวไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116

ทั้งนี้ กฤษฎาตอบโจทก์ถามติงในประเด็นดังกล่าวด้วยว่า พนักงานสอบสวนอ่านข้อความจำนวน 11 บรรทัด แล้วถามความเห็น ตนจึงตอบว่า หากมีเพียงเท่านี้ยังไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 116 

.

พงส.ชี้ ไม่มีหลักฐานว่า จำเลยเกี่ยวข้องกับการโพสต์ชวนชุมนุม-ป้าย-ธง แต่คำปราศรัยอาจทำให้ประชาชนเข้าใจสถาบันกษัตริย์ผิด-อาจก่อความวุ่นวาย    

พ.ต.ท.นิวัตร กุลศรี และ พ.ต.ท.ผลิตอรัญ บุญมาตุ่น รองผู้กำกับสอบสวน สภ.เมืองอุดรธานี คณะพนักงานสอบสวนในคดีนี้ เบิกความในทำนองเดียวกันว่า ก่อนเกิดเหตุในคดีนี้มีการชุมนุมทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มีแกนนำหลายคน กลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนักศึกษา มีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ เหมือนกัน และพยานเคยเห็นจำเลยทั้งสองขึ้นปราศรัยหลายครั้ง 

ก่อนการชุมนุมในวันที่ 22 ต.ค. 2563 เพจเฟซบุ๊ก อุดรพอกันที ได้ประกาศเชิญชวนประชาชนมาร่วมชุมนุม ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานีจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนโดยมีพยานเป็นหนึ่งในนั้นด้วย

หลังเกิดเหตุประชาชนคนหนึ่ง คือ กฤษณ์ จิตศักดิ์ มาร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 แต่ไม่ได้ระบุว่าดำเนินคดีกับผู้ใด ต่อมา พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ เข้าแจ้งความเป็นผู้กล่าวหาที่ 2 ให้ดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสอง หลังรวบรวมพยานหลักฐาน คณะพนักงานสอบสวนได้ขอออกหมายจับจำเลยทั้งสอง โดยศาลอนุมัติหมายจับ หลังจับจำเลยทั้งสองได้พยานได้แจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 116 ทั้งสองให้การปฏิเสธ

คณะพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้อง เนื่องจากในการเดินขบวนมีเยาวชนถือธงชาติไทยที่มีข้อความบนแถบสีน้ำเงิน รวมทั้งถือป้ายข้อความ ซึ่งความหมายของข้อความตามที่สอบพยาน ขัดกับรูปแบบการปกครองของไทย โดยในทางสืบสวนไม่ทราบว่าใครเป็นแอดมินเพจอุดรพอกันทีและผู้โพสต์ชวนชุมนุม แต่ พ.ต.ท.นิวัตร ระบุว่า น่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสองจะมีการวางแผนติดต่อกับกลุ่มแกนนำเพจอุดรพอกันที ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด และมอบหมายให้โพสต์เชิญชวนประชาชนมาชุมนุม 

ขณะเดินขบวนมีภาพจำเลยที่ 1 เดินชู 3 นิ้ว แต่ไม่เห็นว่าอยู่ใกล้ป้ายและธงดังกล่าวหรือไม่ ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่มีภาพในขบวน ซึ่งจากการสืบสวนไม่ทราบว่าจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้องกับป้ายและธงดังกล่าวอย่างไร และไม่มีการดำเนินคดีเยาวชนผู้ถือธงและป้าย มีเพียงว่ากล่าวตักเตือนเท่านั้น จำเลยที่ 2 แต่งกายเข้าร่วมชุมนุมด้วยเสื้อรัดรูปสีขาว กางเกงขายาวสีแดง พ.ต.ท.นิวัตร เบิกความว่า เป็นการส่อเสียดพระมหากษัตริย์ซึ่งเคยมีภาพตามสื่อว่าแต่งกายแบบนี้ 

ในส่วนคำปราศรัยของจำเลยทั้งสอง ที่ประชุมคณะพนักงานสอบสวนเห็นว่า มีลักษณะส่อเสียดสถาบันกษัตริย์ ทำให้ผู้ฟังที่ไม่เข้าใจเกิดความกระด้างกระเดื่อง ขณะปราศรัยมีการไลฟ์สดผ่านเพจ อุดรพอกันที ทำให้ประชาชนที่ได้ฟังอาจเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนที่ไม่ดีต่อสถาบันกษัตริย์ ซึ่งถ้ามีจำนวนมากก็อาจจะออกมาร่วมชุมนุมกับจำเลยทั้งสอง ผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็อาจจะออกมาต่อต้าน เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

คดีนี้เป็นคดีความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งให้เสนอภาคพิจารณา ซึ่งผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 มีความเห็นควรสั่งฟ้องเช่นกัน 

ภาพโดย iLaw

เมื่อทนายจำเลยถามค้าน พนักงานสอบสวนทั้งสองตอบโดยสรุปว่า การชุมนุมในวันเกิดเหตุมีการแจ้งการชุมนุมตามกฎหมายแล้ว ซึ่งผู้แจ้งคือ พชร ได้ให้ที่อยู่และเบอร์โทรไว้ด้วย แต่คณะพนักงานสอบสวนไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลทางโทรศัพท์ว่า พชรได้ติดต่อกับจำเลยทั้งสองหรือไม่ และตามรายงานการสืบสวนก็ไม่พบความเชื่อมโยงระหว่างพชรกับจำเลยทั้งสอง นอกจากนี้ ผลการตรวจสอบของ ปอท. ก็ไม่พบว่า จำเลยทั้งสองเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กกับพชร

รอยัลลิสต์ แปลว่า กลุ่มผู้สนับสนุนการมีกษัตริย์ ที่พยานเบิกความว่า ไม่ต้องการให้มีสถาบันกษัตริย์นั้น พยานเบิกความตามที่สอบพยานนักวิชาการ แต่ความหมายที่แท้จริงคืออะไร พยานไม่ทราบและไม่ได้ไปสืบค้น ขณะจำเลยปราศรัยก็ไม่ปรากฏว่ามีการนำป้ายและธงข้อความตามฟ้องไปเป็นฉากหลัง

พยานไม่เคยสอบจำเลยทั้งสองและพยานทุกปากในประเด็นว่า คำปราศรัยของจำเลยทั้งสองเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริตหรือไม่ ซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 116 พยานไม่ได้ตรวจสอบด้วยว่า จำเลยทั้งสองปราศรัยโดยสุจริตตามข้อเท็จจริงหรือไม่ อยู่ในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

การแต่งกายของจำเลยที่ 2 คล้ายกับนักร้องชื่อ จัสติน บีเบอร์ บันทึกถอดเทปคำปราศรัยของจำเลยที่ 2 ก็มีเนื้อหาเป็นเรื่องรัฐสวัสดิการ รวมทั้งระบุว่า ไม่ได้ต้องการล้มล้างสถาบันกษัตริย์ ต้องการเพียงปฏิรูป

พยานสรุปความเห็นว่า คำปราศรัยของจำเลยทั้งสองมีลักษณะลิดรอนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ และปราศรัยสนับสนุนข้อความ Republic of Thailand แต่สิ่งที่จำเลยปราศรัยทั้งหมดไม่ได้เรียกร้องการปกครองระบอบสาธารณรัฐ แต่เรียกร้องประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

พยานกล่าวหาว่า การเผยแพร่คำปราศรัยผ่านไลฟ์สดก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน แต่พยานรับว่า ไม่เคยร้องขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมลบคลิปนี้ การชุมนุมในวันเกิดเหตุไม่มีความวุ่นวาย หลังการชุมนุมก็ไม่ปรากฏว่ามีความวุ่นวายถึงกับต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 

จากการสอบปากคำสันติบาล, กอ.รมน. หรือพยานทั้งหมดก็ไม่ปรากฏว่า จำเลยทั้งสองไปปราศรัยที่อื่นเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นสาธารณรัฐ การชุมนุมทั่วประเทศในปี 63 และ 64 ก็เรียกร้องให้นายกฯ ลาออก, แก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เรียกร้องสาธารณรัฐ

.

“ครูใหญ่” ยืนยัน ปราศรัย 3 ข้อเรียกร้อง – แก้ไขกฎหมายให้กลับเป็นเช่นรัชกาลก่อน ไม่ได้เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงไปเป็นระบอบอื่น

ที่พยานปราศรัยทั้งหมด พยานไม่ได้เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่เรียกร้องให้ขับไล่รัฐบาล, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งหมายถึงการแก้ไขกฎหมายที่กล่าวมาให้กลับเป็นเช่นเดิม เหมือนเช่นรัชกาลก่อน โดยให้เป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ให้เปลี่ยนแปลงไปเป็นระบอบอื่น

อรรถพล บัวพัฒน์ จำเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยานให้ตนเองว่า พยานไม่ได้เป็นแกนนำกลุ่มอุดรพอกันที และไม่ทราบว่าใครเป็น รวมถึงไม่ทราบว่าใครจะเป็นแอดมินเพจอุดรธานีพอกันที และโพสต์เชิญชวนไปชุมนุม ตลอดจนจัดการชุมนุมในวันเกิดเหตุ แต่พยานไม่ได้เป็นผู้จัด

ตามรายงานการสืบสวนซึ่งมีรูปคนถือป้าย Republic of Thailand และ รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส อุดรธานี พยานไม่รู้จักคนเหล่านั้น และไม่ทราบว่าใครเป็นคนนำป้ายมาในที่ชุมนุม คนที่ถือป้ายทั้งสองจะอยู่ตรงไหนของขบวน พยานก็ไม่ทราบ เพราะพยานถึงที่ชุมนุมในขณะที่ขบวนมาถึงวงเวียนประจักษ์ฯ ด้านหลังอนุสาวรีย์แล้ว 

เหตุที่พยานขึ้นปราศรัยน่าจะเพราะพยานมีชื่อเสียงจึงมีคนเชิญให้ขึ้นปราศรัย นอกจากพยานก็มีประชาชนทั่วไปคนอื่นขึ้นปราศรัยเช่นกัน

เกี่ยวกับคำปราศรัยเรื่องการโอนทรัพย์สิน เนื่องจากในรัฐบาลประยุทธ์มีการออก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 โอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นทรัพย์สินประจำตำแหน่ง ไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ ซึ่งหากมีการผลัดเปลี่ยนกษัตริย์อาจเกิดปัญหาว่า ทรัพย์สินดังกล่าวจะตกเป็นของผู้ใด ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองได้ พยานจึงได้กล่าวปราศรัยเช่นนั้น 

ที่พยานปราศรัยเรื่องการโอนกำลังพลไปเป็นกำลังพลส่วนพระองค์นั้น ข้อเท็จจริงคือมีการออกกฎหมายโดยสภาในสมัยรัฐบาลประยุทธ์โอนย้ายราบ 1 และราบ 11 ไปเป็นกองกำลังส่วนพระองค์ในปี 2562 ซึ่งโดยทั่วไปประเทศที่เป็นประชาธิปไตยและมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข กษัตริย์จะไม่มีกองกำลังเป็นของตนเอง ทั้งนี้ หากกษัตริย์มีกำลังพลส่วนพระองค์และกำลังพลนั้นทำการรัฐประหาร กษัตริย์จะเป็นที่ครหาของประชาชน ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาเท่าที่พยานรู้ ไม่เคยมีการโอนกำลังพลไปเป็นราชการส่วนพระองค์เช่นนี้ พยานจึงออกมาปราศรัยถึงปัญหาดังกล่าว

ส่วนคำปราศรัยเรื่อง พ.ร.บ.สงฆ์ นั้น พ.ร.บ.สงฆ์ ฉบับเดิมกำหนดให้การแต่งตั้งพระราชาคณะรวมถึงพระสังฆราชเป็นอำนาจของมหาเถรสมาคม แต่ในสมัยรัฐบาลประยุทธ์มีการแก้ พ.ร.บ.สงฆ์ ให้การแต่งตั้งพระราชาคณะชั้นสูงเป็นอำนาจของกษัตริย์ ทำให้ศาสนาขึ้นกับกษัตริย์ หากเกิดปัญหาในวงการสงฆ์ มีความเสื่อมเสีย จะระคายเคืองเบื้องยุคลบาท พยานจึงปราศรัยเรียกร้องให้แก้กฎหมายกลับเป็นเช่นเดิม เพื่อไม่ให้สถาบันกษัตริย์มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว

ที่พยานปราศรัยทั้งหมด พยานไม่ได้เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่เรียกร้องให้ขับไล่รัฐบาล, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งหมายถึงการแก้ไขกฎหมายที่กล่าวมาให้กลับเป็นเช่นเดิม เหมือนเช่นรัชกาลก่อน โดยให้เป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ให้เปลี่ยนแปลงไปเป็นระบอบอื่น

บรรยากาศขณะที่พยานปราศรัย รถสามารถวิ่งได้ ไม่มีความรุนแรง หรือมีทรัพย์สินราชการเสียหาย หลังพยานปราศัย ที่จังหวัดอุดรฯ ก็ไม่ได้มีคนออกมาเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครอง 

.

“จัสติน” ระบุ คำปราศรัยเน้นเรื่องรัฐสวัสดิการ สื่อสารถึงผู้มีอำนาจให้เห็นความสำคัญของประชาชน 

ภาพโดย iLaw

ภาพรวมคำปราศรัยคือเรียกร้องรัฐสวัสดิการ ซึ่งเป็นหลักการของคนเท่ากัน เห็นได้จากคำปราศรัยที่พยานกล่าวว่า ไม่ได้เรียกร้องล้มล้างสถาบันกษัตริย์ แต่ต้องการให้กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ โดยสื่อสารถึงผู้มีอำนาจให้เห็นความสำคัญของประชาชน และให้ประชาชนเห็นความสำคัญในสิทธิของตน

ชูเกียรติ แสงวงค์ จำเลยที่ 2 เบิกความเป็นพยานให้ตัวเองว่า พยานไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการชุมนุมหรือจัดเตรียมอุปกรณ์ รวมถึงการประชาสัมพันธ์เชิญชวนชุมนุมในเพจอุดรพอกันที 

ช่วงเกิดเหตุ พยานเดินทางมาทำธุระในภาคอีสาน เห็นโพสต์เชิญชวนของกิจกรรมนี้ ในฐานะที่พยานเป็นนักกิจกรรมจึงสนใจและไปร่วมกิจกรรมนี้ พยานเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว ถึงที่ชุมนุมขณะมีการตั้งเวทีปราศรัยแล้ว จึงไม่ได้เข้าร่วมขณะมีการเดินขบวน ซึ่งตามรายงานการสืบสวนก็ไม่มีภาพถ่ายของพยาน

เหตุที่พยานขึ้นปราศรัยเนื่องจากเป็นที่รู้จักในหมู่น้อง ๆ ที่จัดกิจกรรม จากเอกลักษณ์การแต่งตัวเลียนแบบนักร้องชื่อ จัสติน บีเบอร์ จึงได้รับเชิญขึ้นปราศรัย

ภาพรวมคำปราศรัยของพยานหลัก ๆ คือเรียกร้องรัฐสวัสดิการ รวมถึง 3 ข้อเรียกร้อง แต่เน้นเรื่องรัฐสวัสดิการมากกว่า ซึ่งเท่าที่พยานหาข้อมูลมา รัฐสวัสดิการจะเป็นประโยชน์ในการช่วยแก้ปัญหาความยากจนของประชาชนในประเทศโดยไม่แบ่งแยก ประเทศที่มีรัฐสวัสดิการที่ดี ได้แก่ สวีเดน

คำปราศรัยของพยานไม่ได้ยุยงให้คนเกลียดกัน หรือสร้างความรุนแรง แต่เป็นเรื่องรัฐสวัสดิการซึ่งเป็นหลักการของคนเท่ากัน เห็นได้จากคำปราศรัยที่พยานกล่าวว่า ไม่ได้เรียกร้องล้มล้างสถาบันกษัตริย์ แต่ต้องการให้กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ โดยสื่อสารถึงผู้มีอำนาจให้เห็นความสำคัญของประชาชน และให้ประชาชนเห็นความสำคัญในสิทธิของตน 

หลังการชุมนุมไม่มีเหตุรุนแรง ทรัพย์สินถูกทำลาย หรือมีความเคลื่อนไหวในจังหวัดอุดรฯ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

.

X