หนุ่มอุดรฯ ใส่เสื้อ 112 เข้ารับทราบข้อหาเพิ่มเติม “ม.112” คดีวางเพลิงเผารูป ร.10 คืนวันเฉลิมฯ 

22 ก.ย. 2564 “หนุ่ม” พิทยุตม์ (สงวนนามสกุล) อายุ 23 ปี ลูกจ้างบริษัทเอกชนชาวอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ใส่เสื้อยืดสีขาว มีข้อความ  112  เขียนด้วยปากกาเมจิกสีแดงที่บริเวณหน้าอกเสื้อ  เดินทางไปที่ สภ.หนองหาน พร้อมทนายความ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในคดีวางเพลิงเผาป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 หน้าเทศบาลแห่งหนึ่งในคืนวันที่ 28 ก.ค. 2564 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา วางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นเพียงข้อหาเดียว แต่เมื่อส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการ อัยการมีคำสั่งให้แจ้งข้อหาเพิ่มเติม 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน สภ.หนองหาน, ตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี และตำรวจภูธรภาค 4 หลายนาย ยกกำลังไปที่บ้านของพิทยุตม์ในอำเภอหนองหาน หลังจากเข้าค้นหอพักแห่งหนึ่งในอำเภอเมืองอุดรธานี โดยไม่มีหมายค้นและตรวจยึดรถมอเตอร์ไซค์ของพิทยุตม์ที่จอดอยู่ที่หอพัก 

เมื่อพิทยุตม์กลับถึงบ้านในราว 18.00 น. ตำรวจจึงได้แสดงตัวเข้าจับกุม โดยไม่มีหมายจับมาแสดง เพียงแต่นำภาพจากกล้องวงจรปิดมาให้ดู เป็นภาพชายกำลังจุดไฟเผารูป ร. 10 ที่ตั้งอยู่ริมถนน พร้อมกับสอบถาม พิทยุตม์รับว่าเป็นภาพตนเอง และรับว่าเป็นผู้ก่อเหตุวางเพลิงในคืนวันที่ 28 ก.ค. 2564 เวลา 23.30 น. 

เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้นำตัวพิทยุตม์ไปที่ สภ.หนองหาน ในช่วงกลางดึก และทำบันทึกการตรวจยึดประกอบคำรับสารภาพ หลังจากเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของพิทยุตม์ และให้เขาพาไปยึดเสื้อผ้าที่ใช้ในวันเกิดเหตุ รวมทั้งยึดโทรศัพท์ ทั้งยังขอรหัสผ่านเข้าโทรศัพท์และเฟซบุ๊กด้วย ซึ่งพิทยุตม์ยินยอมให้เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ โดยกระบวนการทั้งหมดมีเพียงพี่ชายเป็นพยาน ไม่มีทนายความเข้าร่วม 

อย่างไรก็ตาม บันทึกการตรวจยึดประกอบคำรับสารภาพระบุว่า พิทยุตม์ยินยอมให้ถอดข้อมูลในเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือและข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์  โดยก่อนถอดข้อมูล เจ้าหน้าที่ตํารวจแจ้งให้ทราบแล้วว่าจะนําข้อมูลที่ได้ใช้เป็นพยานหลักฐานประกอบการสืบสวน ไม่ใช่อย่างที่พิทยุตม์เข้าใจว่า ให้รหัสเข้าเครื่องและเฟซบุ๊กเท่านั้น

ก่อนเที่ยง วันที่ 2 ส.ค. 2564 พ.ต.ต.ณัฐพงษ์ ส่องโสม พนักงานสอบสวนได้ทำการแจ้งข้อกล่าวหาพิทยุตม์ โดยไม่มีทนายความเข้าร่วม แม้ว่าพิตยุตม์ได้ขอใช้โทรศัพท์และแจ้งให้ทนายความเข้าร่วมด้วย แต่พนักงานสอบสวนได้พูดคุยกับพี่ชายให้ใช้ทนายความที่ตำรวจจัดหาไว้ให้ แต่ในที่สุดมีเพียงพี่ชายและแม่ร่วมฟังในฐานะผู้ไว้วางใจเท่านั้น 

พ.ต.ต.ณัฐพงษ์ แจ้งข้อกล่าวหา “วางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น” โดยบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาระบุว่า การกระทำของพิทยุตม์ ทำให้ป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ซึ่งตั้งอยู่หน้าสำนักงานเทศบาล และเป็นทรัพย์สินของเทศบาล ถูกเพลิงไหม้ได้รับความเสียหายคิดเป็นมูลค่า 95,000 บาท พิทยุตม์ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ระบุว่า ทำไปด้วยความคึกคะนอง รู้เท่าไม่ถึงการณ์

ช่วงบ่ายวันเดียวกัน พนักงานสอบสวนได้นำตัวพิทยุตม์ไปขออำนาจศาลจังหวัดอุดรธานีฝากขังในระหว่างสอบสวน โดยครอบครัวได้ใช้โฉนดที่ดินยื่นประกัน ต่อมา ศาลมีคำสั่งอนุญาตฝากขัง และอนุญาตให้ประกัน ตีราคาประกัน 70,000 บาท พร้อมทั้งให้ติดกำไลอิเลกทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) โดยนัดพิทยุตม์ให้มารายงานตัววันที่ 26 ต.ค. 2564

อย่างไรก็ตาม วันที่ 16 ก.ย. 2564 พนักงานสอบสวนได้โทรศัพท์แจ้งทางครอบครัวให้พาพิทยุตม์ไปพบพนักงานสอบสวนอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น เนื่องจากอัยการมีคำสั่งให้แจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 เพิ่มเติม จากนั้นอัยการคงจะส่งฟ้องเลย แต่เมื่อพิทยุตม์ติดต่อทนายความ  ทนายความแจ้งว่า ในวันที่ 17 ก.ย. 2564 ติดคดีอื่น ไม่สามารถเข้าร่วมการรับทราบข้อกล่าวหาได้ อีกทั้งพนักงานสอบสวนไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งต้องออกเป็นหมายเรียกผู้ต้องหาให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม พิทยุตม์จึงยืนยันกับพนักงานสอบสวนให้ออกเป็นหมายเรียกมาและขอไปรับทราบข้อกล่าวหาในสัปดาห์ถัดไป เพื่อให้มีทนายที่ไว้ใจเข้าร่วม 

แต่ในวันถัดมา ตำรวจยังคงโทรหาพิทยุตม์ขณะที่เขากำลังทำงานในตัวเมืองอุดรฯ อีกหลายครั้ง พยายามให้เขาไปรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในวันนั้นให้ได้ อ้างว่าถ้าไปจะเป็นผลดี อาจจะมีแค่โทษปรับบ้าง สุดท้ายบอกว่าให้การปฏิเสธก็ได้ พิทยุตม์รับปาก แต่เขาไม่ได้ไปพบพนักงานสอบสวน เนื่องจากต้องการให้ทนายเข้าร่วมด้วย

ทั้งนี้ ในข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 217 มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 7 ปี ซึ่งพนักงานสอบสวนและอัยการขอศาลฝากขังผู้ต้องหาได้ไม่เกิน 48 วัน หากนับตั้งแต่ศาลอนุญาตให้ฝากขังเมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2564 ก็จะครบ 48 วัน ในวันที่ 18 ก.ย. 2548 ซึ่งเป็นวันเสาร์ ถ้าอัยการไม่ยื่นฟ้องหรือแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมที่มีอัตราโทษอย่างสูงตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ในวันศุกร์ที่ 17 ก.ย. 2564 ก็จะขอฝากขังพิทยุตม์ต่อไปไม่ได้ คาดว่าเป็นสาเหตุให้อัยการเร่งให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 เพิ่มเติม จนตำรวจต้องกดดันให้พิทยุตม์เข้ารับทราบข้อกล่าวหาดังกล่าวภายในวันที่ 17 ก.ย. 2564 

เมื่อพิทยุตม์พร้อมทนายความเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม พ.ต.ต.ณัฐพงษ์ สว.(สอบสวน) แจ้งให้ทราบอีกครั้งว่า พนักงานอัยการจังหวัดอุดรฯ มีคำสั่งให้แจ้งข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพิ่มเติม ก่อนแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมให้พิทยุตม์ทราบว่า การกระทำของพิทยุตม์ที่วางเพลิงเผาป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 เป็นความผิดฐาน “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ” ด้วย  

เมื่อพนักงานสอบสวนถามคำให้การ พิทยุตม์กล่าวว่า ให้การรับสารภาพในข้อหาวางเพลิง แต่ขอให้การปฏิเสธในข้อหาตามมาตรา 112 โดยจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายในวันที่ 12 ต.ค. 2564 พ.ต.ท.ณัฐพงษ์ กล่าวว่า พนักงานสอบสวนมีอำนาจแค่แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมตามที่อัยการมีคำสั่งมาเท่านั้น เมื่อแจ้งแล้วจะส่งสำนวนให้อัยการเลย ทนายจึงแย้งว่า เป็นสิทธิของผู้ต้องหาที่จะให้การในข้อหาที่แจ้งเพิ่มเติม หลังการโต้แย้งเหตุผลกันซักพัก พนักงานสอบสวนจึงยอมบันทึกถ้อยคำของพิทยุตม์ลงในคำให้การ โดยตลอดเวลาที่แจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำ พ.ต.ท.ณัฐพงษ์ ได้ทำการบันทึกวีดิโอด้วย ระบุว่า เป็นคำสั่ง เนื่องจากเป็นคดีสำคัญ 

หนุ่มเล่าว่า หลังได้รับการประกันตัว เขาได้ไปทำการซ่อมแซมป้ายพระบรมฉายาลักษณ์จนมีสภาพดังเดิม เขายังเปิดเผยด้วยว่า ในช่วงที่เขาถูกจับกุมและควบคุมตัวมาที่ สภ.หนองหาน ตำรวจก็พยายามพูดกับเขาให้ยอมให้ความร่วมมือตลอดกระบวนการ รวมถึงการตรวจดีเอ็นเอ และให้พาสเวิร์ดเข้าโทรศัพท์และเฟซบุ๊ก แม้กระทั่งการแจ้งข้อกล่าวหาโดยไม่รอให้ทนายมาถึงก่อน ตลอดจนถึงการไม่ให้เรื่องนี้เป็นข่าวออกไป โดยกล่าวว่าทางตำรวจจะไม่แจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ครอบครัวและตัวเขาจึงยอมให้ความร่วมมือ แต่เมื่อมีการแจ้งข้อหา 112 เขาก็รู้ว่าเขาไม่สามารถเชื่อถืออะไรได้ จึงคิดว่าไม่จำเป็นต้องทำให้เรื่องนี้เงียบอีกต่อไปแล้ว   

X