31 ส.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดขอนแก่นนัดฟังคำพิพากษาคดีวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์หน้าวิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2564 ซึ่งพนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่นเป็นโจทก์ฟ้อง “เทพ” (นามสมมติ) อายุ 19 ปี นักศึกษา ปวช.ชั้นที่ปี 3 วิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น ในความผิดฐาน วางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น และทําให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217, 358 โดยวิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น ผู้เสียหาย เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 85,120 บาท
ในนัดคุ้มครองสิทธิและถามคำให้การเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2565 เทพให้การรับสารภาพ วันเดียวกันนั้น ผอ.วิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น ได้ยื่นคำร้องขอให้ชดเชยค่าเสียหาย จำนวน 85,120 บาท หากจำเลยชำระก็จะไม่ติดใจเอาความในทางอาญาและทางแพ่ง เทพตกลงจะหาเงินมาทะยอยชำระค่าเสียหาย จากนั้นได้นำเงินมาวางต่อศาลรวม 2 งวด จนครบตามจำนวนดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา
>> อ่านรายละเอียด คดี “วางเพลิง” ซุ้มฯ หน้าเทคนิคขอนแก่น “เทพ” นศ.ปวช.3 ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายเกือบแสน
.
เทพและเพื่อนเดินทางมาศาลพร้อมทนายความ ระหว่างรอศาลออกอ่านคำพิพากษา เทพเล่าว่า ปัจจุบันเขาเข้าเรียนต่อระดับ ปวส.สาขาวิจิตรศิลป์ ที่วิทยาลัยแห่งใหม่ แม้จะเปลี่ยนสาขาไปจากช่างโยธาที่เรียนตอน ปวช. แต่ก็เป็นสิ่งที่เขาอยากเรียนมาตั้งแต่เด็ก
เทพเช่าหอพักอยู่ลำพัง ทำงานหารายได้เลี้ยงตัวเองและเป็นค่าเทอม เนื่องจากพ่อเสียชีวิตได้หลายปีแล้ว ส่วนแม่แยกไปอยู่ที่อื่น มีญาติคือป้าที่บางครั้งก็ส่งค่าใช้จ่ายให้เขาบ้างตามกำลังของป้า การที่เขาเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย ทำให้รายได้จากการทำงานและจากป้าเพียงพอแค่ใช้ชีวิตประจำวันและการเรียนเท่านั้น ค่าเสียหายในคดีก้อนใหญ่จึงเป็นเรื่องที่สุดความสามารถ
เทพเคยเล่าว่า เขาเตรียมใจที่จะติดคุกไว้แล้ว เพราะคิดว่าคงไม่มีทางหาเงินมาชำระค่าเสียหายได้ทัน แต่ด้วยความช่วยเหลือของ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ นักกิจกรรม “ขอนแก่นพอกันที” ที่ระดมเงินช่วยเหลือจากประชาชนที่เห็นใจเทพ รวมทั้งขอความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ เมื่อรวมกับเงินเก็บเล็กน้อยของเขาทำให้เขาสามารถวางเงินค่าเสียหายต่อศาล เพื่อให้ทางวิทยาลัยเทคนิคขอนแก่นมารับไปได้
อย่างไรก็ตาม แม้ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2565 ศาลนี้จะมีคำพิพากษาคดีวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์ 2 คดี โดยให้รอการกำหนดโทษ 2 ปี และในนัดฟังผลการชำระเงินในคดีนี้ล่าสุด ศาลก็กล่าวกับเทพว่า ก็คงจะใช้บรรทัดฐานเดียวกับอีก 2 คดี เนื่องจากไม่มีประวัติกระทำผิด รู้สำนึก และพยายามบรรเทาผลร้ายโดยการชำระค่าเสียหายจนครบเช่นเดียวกับจำเลยในทั้งสองคดี แต่เทพก็เปิดเผยก่อนเข้าฟังคำพิพากษาว่า เขาเองก็ยังเผื่อใจไว้อยู่บ้างว่า คำพิพากษาอาจจะไม่ได้ออกมาเหมือนกับ 2 คดีแรก
.
ราว 10.00 น. สมเด็จ จุลราช ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดขอนแก่น ออกนั่งอ่านคำพิพากษา รายละเอียดว่า พิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217, 358 การกระทําของจําเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด
เมื่อพิจารณารายงานการสืบเสาะและพินิจจําเลยของพนักงานคุมประพฤติแล้ว ไม่ปรากฏว่าจําเลยได้รับโทษจําคุกมาก่อน จําเลยสํานึกผิดโดยให้การรับสารภาพ และพยายามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้น โดยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ร้องจนครบถ้วน ผู้ร้องไม่ติดใจเอาความจําเลยทั้งในทางแพ่งและทางอาญาอีกต่อไป และจําเลยอยู่ในวิสัยที่จะปรับปรุงแก้ไขให้กลับตัวเป็นพลเมืองดีได้ เห็นสมควรให้โอกาสจําเลยกลับตนเป็นพลเมืองดี
จึงให้รอการกําหนดโทษไว้ 2 ปี โดยกําหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติให้จําเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 ครั้ง ภายในกำหนดเวลา 2 ปี เพื่อพนักงานคุมประพฤติจะได้สอบถาม แนะนํา ช่วยเหลือ หรือ ตักเตือนจําเลยตามที่เห็นสมควรเกี่ยวกับเรื่องที่ถูกคุมประพฤติ และให้จําเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนําไปสู่การกระทําความผิดทํานองนี้อีก กับให้จําเลยทํากิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลา 24 ชั่วโมง
.
ในช่วงปี 2564 มีเหตุวางเพลิงวางเพลิงเผาบรมฉายาลักษณ์ในจังหวัดขอนแก่นและตำรวจติดตามจับกุมผู้ต้องสงสัยมาดำเนินคดีรวม 3 คดี ซึ่งทั้ง 3 คดี พนักงานสอบสวนและอัยการไม่ได้ตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 เหมือนเช่นคดีที่มีการแสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์ในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งถือว่า เป็นการตีความมาตรา 112 โดยไม่ขยายขอบเขตให้เกินกว่าตัวบท
นอกจากนี้ ทั้ง 3 คดี ศาลจังหวัดขอนแก่นยังมีคำพิพากษาให้รอการกำหนดโทษไว้ 2 ปี ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ได้ให้อํานาจและดุลพินิจแก่ศาลไว้ โดยระบุว่า ในคดีที่ศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ถ้าปรากฏว่าจำเลยไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน เมื่อศาลได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ และสิ่งแวดล้อมของจำเลย หรือสภาพความผิด หรือการรู้สึกความผิด และพยายามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้น หรือเหตุอื่นอันควรปรานีแล้ว ศาลจะพิพากษาว่าผู้นั้นมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษ หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ โดยจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้นั้นด้วยหรือไม่ก็ได้