21 ธ.ค. 2564 ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น “บอส” อิศเรษฐ์ เจริญคง นักกิจกรรมและพ่อค้าขายดอกไม้วัย 23 ปี มีนัดรายงานตัวตามสัญญาประกันเป็นครั้งที่ 4 ในคดีวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์ บริเวณบายพาส จ.ขอนแก่น หลังครบฝากขังครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ที่ผ่านมา ก่อนทราบว่า พ.ต.ท.วัฒนพงษ์ จันทระ พนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่น ยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดขอนแก่นแล้ว
พัฒนะ ศรีใหญ่ ทนายจำเลยจึงยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวอิศเรษฐ์ระหว่างพิจารณาคดี โดยขอใช้หลักประกันและสัญญาประกันเดิมในชั้นสอบสวน ซึ่งได้วางเงินสดจากกองทุนราษฎรประสงค์จำนวน 35,000 บาท ไว้เป็นหลักประกัน และมีเงื่อนไขหากผิดสัญญาประกันจะถูกปรับ 70,000 บาท ระหว่างรอกระบวนการคุ้มครองสิทธิและให้ประกันตัวของศาล อิศเรษฐ์ถูกตำรวจนำตัวไปคุมขังในห้องขังใต้ถุนศาล
อัยการยื่นฟ้องอิศเรษฐ์ในฐานความผิด วางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น, ทําให้เสียทรัพย์ และทําให้เสียหาย ทําลาย ทําให้เสื่อมค่า ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217, 358, 360 บรรยายคำฟ้องว่า
เมื่อระหว่างวันที่ 10-11 มี.ค. 2564 เวลาใดไม่ปรากฏชัด จําเลยได้วางเพลิงเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 และพระบรมราชินี ขนาดกว้าง 210 เซนติเมตร ยาว 370 เซนติเมตร ราคา 4,500 บาท ตั้งอยู่ริมถนนมิตรภาพตัดกับถนนเลี่ยงเมือง ซึ่งเป็นทรัพย์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น นิติบุคคลผู้เสียหาย มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ในการให้ประชาชนที่สัญจรผ่านไปมาได้เคารพสักการะ ด้วยการใช้ขวดบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงสีชา (ขวดระเบิดเพลิง) จุดไฟขว้างใส่ จนเกิดเพลิงลุกไหม้ได้รับความเสียหาย
ท้ายคำฟ้องอัยการแนบภาพพระบรมฉายาลักษณ์ที่เสียหายตามฟ้อง ซึ่งปรากฏรอยไหม้เป็นรอยโหว่ขนาดเล็ก 2 จุด ที่บริเวณด้านล่าง ภาพส่วนอื่นยังอยู่ในสภาพเดิม
ทั้งนี้ อัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โดยขอให้อยู่ในดุลพินิจของศาล
ประมาณ 14.00 น. ศาลวีดิโอคอนเฟอเรนซ์จากห้องเวรชี้สอบถามคำให้การเบื้องต้น ซึ่งอิศเรษฐ์ให้การปฏิเสธ ศาลนัดคุ้มครองสิทธิและสอบคำให้การอีกครั้งในวันที่ 15 ก.พ. 2565 จากนั้นมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้หลักประกันและสัญญาประกันเดิมในชั้นสอบสวนตามที่ทนายจำเลยยื่นคำร้อง โดยอิศเรษฐ์ได้รับการปล่อยตัวจากห้องขังใต้ถุนศาลราว 14.50 น. หลังถูกขังรอกระบวนการของศาลราว 5 ชั่วโมง
บอสมักปรากฏตัวในที่ชุมนุมที่จัดโดยนักกิจกรรมในขอนแก่น โดยทำหน้าที่การ์ดรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุม เขาเล่าว่าตัวเขาไม่ได้สังกัดกลุ่มกิจกรรมใด ทุกครั้งที่ไปช่วยเป็นการ์ดก็ไปเองด้วยใจ และภูมิใจที่ได้มีโอกาสช่วยคนอื่น
ปกติบอสช่วยแม่ขายดอกไม้ธูปเทียน ทำให้เขาเห็นว่า เศรษฐกิจภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีแต่แย่ลง รายได้ของครอบครัวลดน้อยลง ประกอบกับเขามีหลานเล็กๆ ซึ่งเขาอยากให้หลานเติบโตในสังคมที่ดีกว่านี้ เป็นเหตุให้เขาออกมาร่วมเคลื่อนไหวในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ แต่สำหรับเหตุการณ์ตามที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ บอสยืนยันให้การปฏิเสธ
ก่อนหน้านี้บอสเคยถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองรวม 3 คดี เป็นคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2 คดี จากการเข้าร่วมการชุมนุมที่สวนเรืองแสง เรียกร้องปล่อย 4 แกนนำราษฎรที่ไม่ได้รับการประกันตัว เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2564 และการชุมนุมหน้า สภ.ย่อย มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2564 ประณามตำรวจที่ใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุม
อีกคดีเป็นคดีที่บอสถูกกล่าวหาว่าต่อสู้ขัดขวางและพยายามทำร้ายเจ้าพนักงาน จากเหตุการณ์ที่ รอง ผบช.ภ.4 เข้าปิดลำโพงและแย่งไมค์จากกลุ่ม “ราษฎรขอนแก่น” ขณะชุมนุมขับไล่รัฐบาลหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่นระหว่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2564 จนเกิดการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจ ทั้ง 3 คดี ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการว่าจะมีคำสั่งฟ้องหรือไม่
คดีนี้นับเป็นคดีวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์ที่อัยการยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่นเป็นคดีที่ 3 ในช่วง 2 เดือนนี้ ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤศจิกายน เจมส์ (นามสมมติ) และบอส (นามสมมติ) 2 นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถูกฟ้องฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น โดยถูกกล่าวหาว่าร่วมกันวางเพลิงซุ้มเฉลิมพระเกียรติพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ราคา 149,800 บาท
รวมทั้ง ‘เทพ’ นักศึกษาวิทยาเทคนิคขอนแก่น ถูกฟ้องฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น และทําให้เสียทรัพย์ อัยการกล่าวหาว่าวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 แล้วเพลิงได้ลามไปติดบางส่วนของพระบรมฉายาลักษณ์อีก 2 ภาพ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของวิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น ราคาภาพละ 40,000 บาท รวมราคาทรัพย์ที่เสียหาย 120,000 บาท
หากเปรียบเทียบกับคดีวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์ในพื้นที่อื่นๆ มีความน่าสนใจว่า คดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ทั้งพนักงานสอบสวนและอัยการตั้งข้อหาเพียง “วางเพลิงเผาทรัพย์” และ “ทำให้เสียทรัพย์” หรือ “ทําให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย” ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่น่าจะตรงกับรูปแบบการกระทำความผิดที่สุด ไม่ได้ตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 เช่นในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งเป็นการตีความมาตรา 112 ขยายขอบเขตออกจนเกินไป (ดูเพิ่มเติมรายงาน iLaw ปรากฏการณ์การใช้มาตรา 112 ต่อการเผา – ทำลาย ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ)
ทั้งนี้ ความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 7 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 – 140,000 บาท ส่วนฐานทำให้เสียทรัพย์ มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และฐานทําให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ