แจ้งข้อหาเพิ่ม “บอส” การ์ดผู้ชุมนุม “พยายามทำร้าย จพง.” ขณะบอสอ้างใช้สิทธิป้องกัน หลังรอง ผบช.ภ.4 แย่งไมค์ “ราษฎรขอนแก่น” โดยไม่มีหน้าที่  

19 พ.ย. 2564 “บอส” อิศเรษฐ์ เจริญคง นักกิจกรรมขอนแก่นวัย 23 ปี พร้อมทนายความ เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมที่ สภ.เมืองขอนแก่น ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมกับ “ไนซ์ ดาวดิน” ภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ในเหตุการณ์ชุลมุนหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2564 ขณะ “ราษฎรขอนแก่น” จัดกิจกรรมรับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น 

ก่อนหน้านี้ อิศเรษฐ์ถูกจับกุมในวันเกิดเหตุ และถูกเปรียบเทียบปรับในข้อหา “ขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต” เป็นเงิน 700 บาท แต่หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนยังออกหมายเรียกไปแจ้งข้อกล่าวหา “ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานฯ และร่วมกันใช้กําลังทําร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายฯ” อีก โดยอิศเรษฐ์ให้การปฏิเสธ พร้อมทั้งระบุว่า ในเหตุการณ์นั้นตนได้ถูกเปรียบเทียบปรับในข้อหาอื่นไปแล้ว ตำรวจจึงไม่สามารถมาดำเนินคดีกับตนได้อีก ตามหลักที่ว่า “บุคคลไม่อาจถูกลงโทษหลายครั้งสำหรับการกระทำความผิดครั้งเดียวได้” 

>> แจ้งอีก 2 ข้อหา การ์ดผู้ชุมนุม แม้เคยถูกปรับคดียุติแล้ว เหตุชุลมุนหลังรอง ผบช.ภ.4 แย่งไมค์ “ราษฎรขอนแก่น” ชุมนุมรับประวิตร

อย่างไรก็ตาม เมื่อพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนการสอบสวนส่งให้พนักงานอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่น อัยการได้ส่งคืนสำนวนและมีคำสั่งให้แจ้งข้อหาอิศเรษฐ์เพิ่มเติมอีก 

พ.ต.ท.อนุชิต ผดุงชาติ สารวัตร (สอบสวน) สภ.เมืองขอนแก่น แจ้งพฤติการณ์ที่กล่าวหาเช่นเดียวกับที่เคยแจ้งไปแล้วในครั้งก่อน ก่อนระบุว่า การกระทำของอิศเรษฐ์ที่ใช้กำปั้นชกไปที่ พล.ต.ต.ไพศาล ลือสมบูรณ์ (รอง ผบช.ภ.4) 1 ครั้ง และชกไปที่ พ.ต.ท.เมธี ศรีวันนา 1 ครั้ง แต่ไม่โดนนั้น เป็นความผิดฐาน “พยายามทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 ประกอบมาตรา 289(2) และมาตรา 80    

อิศเรษฐ์ให้การปฏิเสธ และยืนยันคำให้การเดิม ตามที่เคยให้การไว้ครั้งก่อน อีกทั้งให้การเพิ่มเติมด้วยว่า การกระทำตามที่ถูกกล่าวหานั้น เป็นการใช้สิทธิป้องกัน เนื่องจากภาณุพงศ์ถูก พ.ต.ท.ไพศาล เข้าแย่งไมค์ และภาณุพงศ์ได้ปัดป้องการกระทำของไพศาล ตนเองจึงได้เข้าไปเพื่อป้องกันภาณุพงศ์

ทั้งนี้ในวันเกิดเหตุ ผู้ต้องหาก็ได้รับบาดเจ็บ เป็นรอยฟกช้ำที่แขนซ้าย ซี่โครงซ้าย และเสื้อขาด เนื่องจากถูกตำรวจชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) รุมทำร้าย กดและลากถูไปกับพื้น แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่า คฝ.ที่รุมทำร้ายผู้ต้องหาเป็นคนใดบ้าง และยังไม่ได้เข้าแจ้งความเอาผิด

อิศเรษฐ์ให้การย้ำอีกว่า การเข้าร่วมชุมนุมของผู้ต้องหาและผู้ชุมนุมในวันเกิดเหตุเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง อันเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ การกระทำของ พล.ต.ต.ไพศาล และ พ.ต.ท.เมธี จึงเป็นการกระทำเพื่อขัดขวางการแสดงออกและการใช้สิทธิทางการเมือง ซึ่งไม่ใช่การกระทำอันเป็นความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ และโดยที่ พล.ต.ต.ไพศาล ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมฝูงชน ผู้ต้องหาจึงได้ใช้มือผลักดันออกไป อันถือเป็นการใช้สิทธิป้องกัน 

หลังเสร็จกระบวนการ พนักงานสอบสวนนัดอิศเรษฐ์เพื่อส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนให้อัยการอีกครั้งในวันที่ 2 ธ.ค. 2564

คดีนี้มีภาณุพงศ์ถูกดำเนินคดีอีกราย โดยถูกแจ้งข้อกล่าวหา “ร่วมกันขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน, ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย และร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” เช่นเดียวกับอิศเรษฐ์ 

ภาณุพงศ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และแจ้งความ คฝ. กลับ ฐาน “เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ, ทำให้เสียทรัพย์ และทำร้ายร่างกาย” เนื่องจาก คฝ.ใช้กำลังเข้าควบคุมตัวภาณุพงศ์และอิศเรษฐ์โดยใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ จนเป็นเหตุให้ภาณุพงศ์ได้รับบาดเจ็บที่แขนซ้าย ข้อมือ ฝ่ามือ และบริเวณเอว รวมถึงแว่นตาแตก 

อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนระบุว่า ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา “พยายามทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานฯ” เพิ่มเติมกับภาณุพงศ์ 

ทั้งนี้ ข้อหา “พยายามทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานฯ” ที่แจ้งเพิ่มเติมกับอิศเรษฐ์ ซึ่งพนักงานสอบสวนระบุว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 ประกอบมาตรา 289(2) และมาตรา 80 นั้น มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเท่ากับอัตราโทษของข้อหา ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานฯ คดีจึงยังอยู่ในอำนาจการพิจารณาสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่นเช่นเดิม   

ขณะที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 ระบุถึงสิทธิในการป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นไว้ว่า “ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”

.

X