แจ้งอีก 2 ข้อหา การ์ดผู้ชุมนุม แม้เคยถูกปรับคดียุติแล้ว เหตุชุลมุนหลังรอง ผบช.ภ.4 แย่งไมค์ “ราษฎรขอนแก่น” ชุมนุมรับประวิตร  

27 ต.ค. 2564 “บอส” อิศเรษฐ์ เจริญคง นักกิจกรรมขอนแก่นวัย 23 ปี พร้อมทนายความ เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกของ สภ.เมืองขอนแก่น ในข้อหา ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กําลังประทุษร้าย ซึ่งมี พ.ต.ท.ณัฏฐ์ โหม่งพุฒ ผู้บังคับกองร้อยควบคุมฝูงชน เป็นผู้กล่าวหา 

การออกหมายเรียกดังกล่าวสืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่ พล.ต.ต.ไพศาล ลือสมบัติ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 (รอง ผบช.ภ.4) เข้าปิดลำโพงและแย่งไมค์จาก “ไนซ์” ภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ ขณะ “ราษฎรขอนแก่น” จัดกิจกรรมหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่นรับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา จนเกิดการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจ ก่อนที่ตำรวจควบคุมฝูงชนนับสิบนายจะเข้าพยายามเข้าควบคุมตัวภาณุพงศ์และอิศเรษฐ์ โดยใช้กำลังทำร้ายจนทั้งสองได้รับบาดเจ็บ และควบคุมตัวอิศเรษฐ์ไป (ดูคลิปเหตุการณ์ที่ ไทยรัฐออนไลน์ และ The Isaan Record)

คฝ.ใช้กำลังเข้าควบคุมตัวภาณุพงศ์และอิศเรษฐ์ (ภาพโดย The Isaan Record)

อย่างไรก็ตาม ในวันนั้นหลังจากถูกควบคุมตัวไปที่ สภ.เมืองขอนแก่น อิศเรษฐ์ถูกแจ้งข้อกล่าวหา “ขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต” โดยเขาให้การรับสารภาพ และพนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบปรับทั้ง 2 ข้อหา รวมเป็นเงิน 700 บาท ทำให้คดีอาญายุติลงในชั้นสอบสวนแล้ว

หลังจากอิศเรษฐ์ถูกจับและปรับ วันต่อมา (15 ต.ค. 2564) ขณะภาณุพงศ์และนักกิจกรรมราษฎรขอนแก่นรวม 5 ราย เข้ารับทราบข้อกล่าวหาคดีคาร์ม็อบขอนแก่น “แห่ ไล่ ประยุทธ์” 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 17 ก.ค., 1 ส.ค. และ 22 ส.ค. 2564 พ.ต.ท.สุพรรณ สุขพิไลกุล รอง ผกก.(สอบสวน) สภ.เมืองขอนแก่น ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาภาณุพงศ์จากเหตุการณ์หน้าศาลากลางดังกล่าวอีก 

นอกจากแจ้ง 2 ข้อหา เช่นเดียวกับอิศเรษฐ์แล้ว ยังมีข้อหา ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย และร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ เพิ่มมา ภาณุพงศ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนพนักงานสอบสวนออกหมายเรียกอิศเรษฐ์เข้ารับทราบข้อกล่าวหาอีก

ในการแจ้งข้อกล่าวหาอิศเรษฐ์ครั้งที่ 2 นี้ พ.ต.ท.สุพรรณ และ พ.ต.ต.พงษ์ศักดิ์ ผิวผุย สว.(สอบสวน) สภ.เมือง ขอนแก่น ได้แจ้งการกระทําที่กล่าวหาให้อิศเรษฐ์ทราบว่า ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และคณะลงพื้นที่ตรวจราชการที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น อิศเรษฐ์, ภาณุพงศ์ และผู้ชุมนุมประมาณ 30 คน ได้เดินทางมาร่วมกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่บริเวณสวนรัชดานุสรณ์ หน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น มีการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ปราศรัยโจมตีการทํางานของรัฐบาล 

เมื่อ พล.ต.ต.ไพศาล ลือสมบูรณ์ รอง ผบช.ภ.4 พร้อมเจ้าหน้าที่ตํารวจได้การประกาศแจ้งเตือนข้อกฎหมายให้กลุ่มผู้ชุมนุมทราบและหยุดการใช้เครื่องขยายเสียงโดยทันที แต่ภาณุพงศ์พร้อมพวกไม่ยอมปฏิบัติตาม เจ้าหน้าที่ตํารวจจึงได้เข้าไปควบคุมสถานการณ์และเจรจาให้กลุ่มผู้ชุมนุมหยุดการกระทําดังกล่าว เป็นเหตุให้กลุ่มผู้ชุมนุมไม่พอใจ โดยนายภาณุพงศ์ได้เดินเข้ามาหา พล.ต.ต.ไพศาล เพื่อจะแย่งไมโครโฟน และได้ใช้มือผลัก พล.ต.ต.ไพศาล 

และในขณะเดียวกันในทันทีทันใด อิศเรษฐ์ ซึ่งเป็นการ์ดของกลุ่มผู้ชุมนุม ได้วิ่งเข้ามาใช้กําปั้นชกไปที่ พล.ต.ต.ไพศาล และ พ.ต.ท.เมธี ศรีวรรณา จากนั้นเจ้าหน้าที่ตํารวจกองร้อยควบคุมฝูงชน จึงเข้าระงับเหตุ ตีวงล้อม แต่อิศเรษฐ์และภาณุพงศ์ได้พยายามผลักดันและพยายามแหกแนวเจ้าหน้าที่ตํารวจควบคุมฝูงชน อิศเรษฐ์กระชากหมวกของเจ้าหน้าที่ตํารวจควบคุมฝูงชน จนเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บ การกระทําของ อิศเรษฐ์และภาณุพงศ์เป็นการร่วมกันต่อสู้ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตํารวจซึ่งได้กระทําการตามหน้าที่และร่วมกันใช้กําลังทําร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ 

จากนั้นได้แจ้งว่า การกระทําของอิศเรษฐ์เป็นความผิดฐาน “ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กําลังประทุษร้าย และร่วมกันใช้กําลังทําร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” 

สภาพอิศเรษฐ์หลังถูกควบคุมตัวในวันเกิดเหตุ 14 ต.ค. 64

อิศเรษฐ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยให้การว่า พล.ต.ต.ไพศาล ลือสมบูรณ์ รอง ผบช.ภ.4 ไม่ได้มีหน้าที่ในการควบคุมฝูงชน ทั้งยังพกพาอาวุธปืนไปในที่ชุมนุม จึงไม่ใช่เจ้าพนักงานที่ปฏิบัติตามหน้าที่

อีกทั้งตนได้ถูกเปรียบเทียบปรับในข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงานและใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตไปแล้ว ตามบันทึกจับกุมและใบเสร็จค่าปรับ ลงวันที่ 14 ต.ค. 2564 ซึ่งเป็นพฤติการณ์และเหตุการณ์เดียวกับคดีนี้ ทำให้สิทธิในการดำเนินคดีอาญาในคดีนี้ระงับไปแล้ว ตามหลักสากลว่า บุคคลไม่อาจถูกลงโทษหลายครั้งสำหรับการกระทำความผิดครั้งเดียวได้ (Not Twice for the Same) และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 37, 39 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จึงไม่สามารถมาดำเนินคดีนี้กับตนอีกได้ 

นอกจากนี้กิจกรรมที่ตนเข้าร่วมดังกล่าว เป็นกิจกรรมแสดงออกทางการเมืองที่รัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครองไว้ พล.ต.ต.ไพศาล จึงไม่มีอำนาจและหน้าที่ในการเข้าระงับการใช้เครื่องขยายเสียงของนายภาณุพงศ์ และปิดกั้นการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตนเข้าร่วมการชุมนุมในครั้งนี้เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อการบริหารราชการแผ่นดินที่ล้มเหลวของ พล.อ.ประวิตร และรัฐบาล ทั้งเรื่องการบริหารจัดการโควิด น้ำท่วม และในอีกหลายๆ ด้าน   

ส่วนภาพหลักฐานที่พนักงานสอบสวนนำมาให้ดูนั้น ตนกำลังปกป้องนายภาณุพงศ์ที่ถูกปิดเครื่องขยายเสียงและแย่งไมโครโฟน โดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า ซึ่งไมโครโฟนเป็นทรัพย์สินของนายภาณุพงศ์ 

หลังพิมพ์ลายนิ้วมือ พนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวอิศเรษฐ์ไว้ และนัดหมายให้มารายงานตัวเพื่อส่งตัวให้พนักงานอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่นพร้อมภาณุพงศ์ ในวันที่ 2 พ.ย. 2564 เวลา 09.00 น. 

ตลอดกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำอิศเรษฐ์ มีนายตำรวจจากตำรวจภูธรภาค 4 ได้แก่ พ.ต.อ.สมชัย นิลจันทร์ และ พ.ต.อ.วิชาญ สุธรรมแปง ผกก.(สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน กองบังคับการสืบสวนสอบสวน เข้าควบคุมดูแลโดยตลอด

ทั้งนี้ ความผิดฐาน ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กําลังประทุษร้าย และร่วมกันใช้กําลังทําร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง (มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) และมาตรา 391 (มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจการพิจารณาคดีของศาลแขวงขอนแก่น 

เหตุการณ์หน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่นในวันดังกล่าว มีคลิปเหตุการณ์ชัดเจนว่า คฝ.ใช้กำลังเข้าควบคุมตัวภาณุพงศ์และอิศเรษฐ์โดยใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ โดยทั้งสองถูกดึงเข้าไปในวงล้อม คฝ.นับสิบนาย จนกระทั่งภาณุพงศ์ล้มลงนอนอยู่กับพื้นไม่สามารถลุกขึ้นได้ชั่วขณะหนึ่ง ก่อนที่อิศเรษฐ์จะถูก คฝ.เข้าล้อมอีกครั้งและลากตัวออกไปควบคุมไว้ ภาณุพงศ์ระบุว่า ระหว่างอยู่ในวงล้อม คฝ. เขาถูกเตะ กระทืบ และกดลงกับพื้น ได้รับบาดเจ็บที่แขนซ้าย ข้อมือ ฝ่ามือ และบริเวณเอว รวมถึงแว่นตาแตก ขณะที่อิศเรษฐ์ ระบุว่า ถูกกดลงกับพื้นและลากตัวไป หลังเหตุการณ์มีอาการฟกช้ำที่แขนซ้ายและที่เอว 2-3 วัน 

บาดแผลที่ฝ่ามือของภาณุพงศ์ในวันเกิดเหตุ 14 ต.ค. 64

ทำให้ในวันที่ 15 ต.ค. 2564 หลังภาณุพงศ์ถูกแจ้ง 4 ข้อหา จากเหตุการณ์ดังกล่าว ก็ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ให้ดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 10 นาย ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ, ทำให้เสียทรัพย์ และทำร้ายร่างกาย โดยมี พ.ต.ต.รัชพล จำปาแก้ว สว. (สอบสวน) สภ.เมืองขอนแก่น รับแจ้งความและลงบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดีไว้ 

วันเดียวกัน พล.ต.ต.ไพศาล ลือสมบูรณ์ รอง ผบช.ภ.4 ให้สัมภาษณ์ว่า หากกลุ่มผู้ชุมนุมจะแจ้งความเอาผิดหรือดำเนินการใดๆ ตามข้อกฎหมาย ในการที่จะเอาผิดกับเจ้าพนักงานที่ปฎิบัติหน้าที่ก็ขอให้แจ้งความเอาผิดกับตนเองเพียงคนเดียว เนื่องจากเป็นผู้สั่งการและควบคุมเหตุการณ์ในทุกจุดที่เกิดขึ้นตลอดทั้งช่วงของการปฎิบัติภารกิจของรองนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และ ส.ส.ทุกคนที่ จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2564

.

X