หนุ่มขายดอกไม้ธูปเทียนเข้ามอบตัว หลังมีหมายจับเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ บายพาสขอนแก่น ที่สร้างไว้สักการะเป็นสิริมงคล ก่อนศาลให้ประกันตัว

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 เวลา 9.40 น. บอส อิศเรษฐ์  เจริญคง นักกิจกรรมและพ่อค้าขายดอกไม้ธูปเทียนวัย 23 ปี พร้อมทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางไปที่ สภ.เมืองขอนแก่น เพื่อเข้าแสดงตัวตามหมายจับจากเหตุวางเพลิงเผาทรัพย์ฯ ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ร.10 เมื่อเดือนมีนาคม 2564 บริเวณถนนบายพาส ตำบลศิลา อำเภอเมืองขอนแก่น

เมื่อเดินทางไปถึงห้องสืบสวน ร.ต.ท. อัษฎาวุธ อัศวพิทักษ์สกุล รองสารวัตรสืบสวน ได้แสดงหมายจับให้อิศเรษฐ์ดู  เป็นหมายจับของศาลจังหวัดขอนแก่น ที่ จ.92/2564  ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ระบุว่า อิศเรษฐ์ต้องหาว่ากระทําความผิดฐาน “ทําให้เสียหาย ทําลาย ทําให้เสื่อมค่า ซึ่งทรัพย์ที่ใช้ มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์, ทําให้เสียทรัพย์วางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น” อิศเรษฐ์รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับบุคคลตามหมายจับดังกล่าว ตำรวจจึงให้ลงลายมือชื่อ และถ่ายภาพประกอบการจับกุม

ก่อนจะควบคุมตัวอิศเรษฐ์ไปที่ห้องสอบสวน พ.ต.ท.อนุชิต ผดุงชาติ พนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์คดีที่กล่าวหาว่า เมื่อคืนวันที่ 10 มีนาคม 2564 ต่อเนื่องวันที่ 11 มีนาคม 2564 เวลา 10.30 น. ผู้ต้องหาได้วางเพลิงเผาทรัพย์ ซุ้มเฉลิมพระเกียรติภาพพระบรมฉายาลักษณ์ฯ ที่ติดตั้งไว้ตามถนนมิตรภาพตัดถนนทางเลี่ยงเมืองศิลา เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดี โดยจัดทําซุ้มไว้เพื่อให้ประชาชนผ่านสัญจร และผู้เดินทางมาเยือนเคารพสักการะเกิดความมีสิริมงคล อันมีไว้เพื่อสาธารณะ  

จนได้รับความเสียหายเป็นรอยถูกไฟไหม้ 2 จุด เส้นผ่าศูนย์กลาง 10 เซนติเมตร กับ 30 เซนติเมตร และพบรอยเขม่าไฟไหม้ที่ฐานซุ้ม และร่องรอยไฟไหม้หญ้าใต้ฐานซุ้ม คิดเป็นมูลค่า 4,500 บาท 

พนักงานสอบสวนแจ้งว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐาน ทําให้เสียหาย ทําลาย ทําให้เสื่อมค่า ซึ่งทรัพย์ที่ใช้ มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 360 และทําให้เสียทรัพย์วางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217

อย่างไรก็ดีอิศเรษฐ์ให้การปฏิเสธ และจะให้การในชั้นศาลเท่านั้น เมื่อพนักงานสอบสวนสอบปากคำต่อ อิศเรษฐ์ ตอบเพียงว่าเขาไม่เคยต้องโทษคดีอาญาใดมาก่อน และย้ำว่าจะให้การในชั้นศาลเพียงอย่างเดียว 

หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนนำอิศเรษฐ์ไปพิมพ์ลายนิ้วมือ ก่อนจะควบคุมตัวไปศาลจังหวัดขอนแก่นเพื่อยื่นคำร้องขอฝากขัง ระบุเหตุผลว่า การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบสวนปากคําพยานอีก 3 ปาก และรอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหา จึงขอฝากขังผู้ต้องหาระหว่างการสอบสวน มีกําหนด 12 วัน  ถึงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2564 พร้อมทั้งคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว 

พัฒนะ ศรีใหญ่ ทนายความเครือข่ายศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระบุว่า ผู้ต้องหาให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยการมาแสดงตนต่อเจ้าหน้าที่แต่โดยดี มิได้ต่อสู้ขัดขวาง จึงไม่มีพฤติการณ์หลบหนีใดๆ มีภูมิลำเนาเป็นหลักแหล่งแน่นอน และผู้ต้องหาไม่ได้เป็นผู้มีอิทธิพลหรือมีความสามารถที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ หากได้รับการปล่อยชั่วคราว ย่อมไม่อาจก่อความเสียหายต่อการดำเนินคดีได้อย่างแน่นอน อีกทั้งผู้ต้องหาไม่เคยมีประวัติต้องโทษคดีอาญาใดๆ มาก่อน จึงไม่อาจไปก่ออันตรายประการอื่นได้  

จึงขอให้ศาลใช้ดุลพินิจพิจารณาคำร้องโดยยึดถือหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 29  และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและไม่กระทบเสรีภาพของผู้ต้องหา 

นอกจากนี้ผู้ต้องหาประกอบอาชีพค้าขายดอกไม้ ธูปเทียน และพวงมาลัย อันเป็นการประกอบอาชีพโดยสุจริต เพื่อหารายได้มาแบ่งเบาภาระครอบครัว การถูกคุมขังไว้จะส่งผลกระทบ ทำให้ผู้ต้องหาและครอบครัวได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง 

ก่อนที่ศาลจังหวัดขอนแก่นจะมีคำสั่งให้ประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์วงเงิน 35,000 บาท หากผิดสัญญาประกันจะถูกปรับ 70,000 บาท และนัดให้รายงานตัวทางโทรศัพท์ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 หลังทนายความใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์วางเป็นหลักประกัน อิศเรษฐ์ได้รับการปล่อยตัวที่ห้องควบคุมของศาลจังหวัดขอนแก่น ในเวลาประมาณ 11.45 น. 

สำหรับอิศเรษฐ์ ปัจจุบันอายุ 23 ปี อาศัยอยู่กับครอบครัวโดยเปิดร้านขายดอกไม้ธูปเทียน ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของตำบลศิลา หลังเรียนจบ ม.6 จาก กศน. ก็ช่วยที่บ้านค้าขายมาตลอด กระทั่งช่วง 2 ปีก่อนหน้านี้รายได้ลดน้อยลง จึงทำให้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อให้รัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจ นอกจากนั้นอิศเรษฐ์ยังไม่เห็นด้วยกับวิธีการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ไม่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองอื่นๆ เข้ามาบริหารประเทศได้ 

เมื่อเว้นว่างจากการทำงานอิศเรษฐ์ จึงเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับกลุ่มขอนแก่นพอกันทีเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดคุกคามประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงยุบสภาเพื่อเปิดทางให้มีการเลือกตั้งใหม่  โดยหลักๆ เขาทำหน้าที่การ์ดรักษาความปลอดภัยให้กับผู้เข้าชุมนุม 

ก่อนหน้านี้อิศเรษฐ์เคยถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมือง 3 คดี ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาชุมนุมอื่นๆ จากเหตุชุมนุมที่สวนเรืองแสงและชุมนุมต่อเนื่องที่หน้า สภ.เมืองขอนแก่น เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 เรียกร้อง “ปล่อยหมู่เฮา” หรือ 4 แกนนำราษฎรที่ไม่ได้รับการประกันตัวในคดีมาตรา 112 

คดีที่สองจากเหตุชุมนุมวันที่ 1 มีนาคม 2564 ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมเดินเท้าไป สภ.ย่อย มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อประณามตำรวจที่ใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุม #ม็อบ28กุมภา หน้ากรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ทั้ง 2 คดี อยู่ระหว่างการพิจารณาสำนวนของอัยการ 

คฝ.ใช้กำลังเข้าควบคุมตัวภาณุพงศ์และอิศเรษฐ์ (ภาพโดย The Isaan Record)

และคดีจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564 สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่ พล.ต.ต.ไพศาล ลือสมบัติ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 (รอง ผบช.ภ.4) เข้าปิดลำโพงและแย่งไมค์จาก “ไนซ์” ภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ ขณะ “ราษฎรขอนแก่น” จัดกิจกรรมหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่นรับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น จนเกิดการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจ ก่อนที่ตำรวจควบคุมฝูงชนนับสิบนายจะเข้าพยายามเข้าควบคุมตัวภาณุพงศ์และอิศเรษฐ์ โดยใช้กำลังทำร้ายจนทั้งสองได้รับบาดเจ็บ และควบคุมตัวไป 

ในวันนั้นหลังจากถูกควบคุมตัวไปที่ สภ.เมืองขอนแก่น อิศเรษฐ์ถูกแจ้งข้อกล่าวหา “ขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต” โดยเขาให้การรับสารภาพ และพนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบปรับทั้ง 2 ข้อหา รวมเป็นเงิน 700 บาท แต่กลับถูกแจ้งข้อหาร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กําลังประทุษร้าย และทำร้ายร่างกายผู้อื่น ในภายหลัง ขณะนี้คดีอยู่ในชั้นอัยการ 

สำหรับในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นปัจจุบันเท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนติดตามยังมีผู้ถูกดำเนินที่เกิดจากการวางเพลิงเผาทรัพย์อันเกี่ยวเนื่องกับซุ้มเฉลิมพระเกียรติและพระบรมฉายาลักษณ์ของ ร.10 อีก 2 คดี ได้แก่ คดีของเจมส์ (นามสมมติ) และบอส (นามสมมติ) 2 นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ถูกจับกุมเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาจากเหตุเผารูป ร.10 บริเวณหน้าโรงพยาบาลศรีนครินทร์    ก่อนพนักงานสอบสวนแยกห้องสอบ โดยให้เจมส์ใช้ทนายความที่ตำรวจจัดเตรียมไว้ให้ในระหว่างสอบสวน  ต่อมาทั้งสองให้การปฏิเสธ พนักงานสอบสวนยื่นขอฝากขัง ก่อนทั้งคู่ได้ประกันตัว โดยไม่ต้องวางหลักประกัน มีรองคณบดีเป็นผู้กำกับดูแล 

และคดีของ ‘เทพ’ นักศึกษาวิทยาเทคนิคขอนแก่น เข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่นเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2564 เพื่อแสดงความบริสุทธิ์และไม่มีเจตนาหลบหนีหมายจับของศาลจังหวัดขอนแก่นในข้อหาวางเพลิงรูป ร. 10 เทพให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา หลังตำรวจขอฝากขัง ศาลให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 35,000 บาท โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ 

ทั้งสองคดียังอยู่ในชั้นสอบสวน ระหว่างนี้เจมส์และบอสต้องไปรายงานตัวกับรองคณบดี และเทพต้องไปรายงานตัวที่ศาลจังหวัดขอนแก่นจนกว่าจะครบฝากขังผัดที่ 4 

X