22 มีนาคม 2564 ที่ สภ.เมืองขอนแก่น นักกิจกรรมภาคอีสาน “ราษฎรโขง ชี มูล” 16 ราย เข้ารับทราบข้อหาจากกรณีชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองรวม 3 คดี คือ (1) คดีชุมนุมที่สวนเรืองแสงและชุมนุมต่อเนื่องที่หน้า สภ.เมืองขอนแก่น เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 (2) คดีชุมนุมที่ สภ.ย่อย มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 และ (3) คดีชักธงปฏิรูปกษัตริย์ที่ตึกอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564
บรรยากาศหน้า สภ.เมืองขอนแก่น มีการติดตั้งลวดหนามบนรั้วด้านหน้าตั้งแต่คืนก่อนหน้า ต่อมาในช่วงเช้า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนพร้อมโล่และกระบองร่วม 300 นาย จากสถานีตำรวจใน จ.ขอนแก่น, กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม วางกำลังอยู่โดยรอบบริเวณ สภ.เมืองขอนแก่น รวมถึงนำแบริเออร์ปิดกั้นเส้นทางเข้า ติดป้าย “พื้นที่ควบคุมสูงสุด” และไม่อนุญาตให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไป สภ. หลังเฟซบุ๊กเพจขอนแก่นพอกันทีประกาศชุมนุม #หมายที่ไหนม็อบที่นั่น เพื่อเชิญชวนประชาชนร่วมสังเกตการณ์และให้กำลังใจกลุ่มผู้ต้องหา รวมถึงจับตาว่าจะมีการฝากขังหรือไม่
ตั้งแต่เวลา 9.30 น. กลุ่ม “ราษฎรโขง ชี มูล” และประชาชนชุมนุมประจัญหน้ากับตำรวจควบคุมฝูงชน ที่เฝ้าทางเข้า สภ.เมืองขอนแก่น “เซฟ” วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในผู้ถูกออกหมายเรียกผู้ต้องหา ได้เผาหมายเรียกของตนทั้ง 3 คดี เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ไม่ยอมรับการใช้กฎหมายปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม วชิรวิทย์ยังให้สัมภาษณ์สื่อกล่าวถึงการนำแบริเออร์และลวดหนามมากั้นด้านหน้า สภ. ว่าเป็นมาตรการที่มากเกินไป ทั้งที่พวกตนเพียงมาตามหมายเรียกของตำรวจเอง
กลุ่มผู้ชุมนุมมีการกล่าวแนะนำตัวผู้ถูกออกหมายเรียกทั้ง 16 คน ซึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยมหาสารคามรวม 7 คน ก่อนที่เวลาประมาณ 11.00 น. นักศึกษาและนักกิจกรรมทั้งสิบหก ทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และเครือข่ายทนายสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน รวมทั้งผู้ไว้วางใจจะเดินเข้าด้านใน สภ. เพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหา โดยทุกคนต้องถูกตรวจค้นร่างกายและกระเป๋าอย่างเข้มงวด
แจ้ง 4 ข้อหา ‘ราษฎรโขงชีมูล’ ชุมนุมเรียกร้อง “ปล่อยหมู่เฮา” 4 แกนนำราษฎร
คดีแรก กรณีชุมนุมเรียกร้อง “ปล่อยหมู่เฮา” หรือ 4 แกนนำราษฎรที่ไม่ได้รับการประกันตัวในคดีมาตรา 112 พนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น บรรยายพฤติการณ์ของผู้ถูกออกหมายเรียกว่า เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 อรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ ได้ร่วมกับวชิรวิทย์ เทศศรีเมือง, ศิวกร นามนวด, ภานุพงษ์ ศรีธนานุวัฒน์, พชร สารธิยากุล, กรชนก แสนประเสริฐ, ธนศักดิ์ โพธิเตมีย์, นิติกร ค้ำชู, เจตน์สฤษฎ์ นามโคตร และอิศเรษฐ์ เจริญคง รวม 10 คน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองในชื่อ “รวมพลราษฎร โขง ชี มูล” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น
การชุมนุมดังกล่าวเพื่อยืนยันข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 3 ข้อคือ 1.รัฐบาลประยุทธ์ลาออก 2.รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 3.ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ รวมถึงเรียกร้องให้มีการถอนแจ้งข้อกล่าวหาและถอนฟ้องพริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการเป็นแกนนำกล่าวปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น ก่อนเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่นเดินไปยังสวนสาธารณะประตูเมือง และหน้า สภ.เมืองขอนแก่น ในลักษณะกีดขวางจราจร ไม่แจ้งหน่วยงานที่ควบคุมโรคติดต่อ ไม่แจ้งขออนุญาตการใช้เครื่องขยายเสียง และศิวกร นามนวด ยังได้พ่นสีลงบนพื้นถนนสาธารณะ
นอกจากนี้ ในการจัดกิจกรรมมีผู้เข้าร่วมในลักษณะมั่วสุม หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสและแพร่เชื้อโรคโควิด 19 และผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ได้มีมาตรการป้องกันโรค เช่น จัดให้มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย จัดให้มีการลงทะเบียนผู้เข้าร่วมชุมนุม มีการสวมหน้ากากอนามัย จัดให้มีการเว้นระยะห่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร หรือจัดให้มีการล้างมือด้วยสบู่ แอลกอฮอล์ เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหานักศึกษาและนักกิจกรรมทั้ง 10 คน รวม 4 ข้อหา ดังนี้
1.ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะติดต่อสัมผัสกันง่าย ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
2.ร่วมกันกระทำการหรือดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เป็นเหตุให้โรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 34 (6) (มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท)
3.ร่วมกันเดินแถว เดินเป็นขบวนแห่ หรือเดินขบวนใดๆในลักษณะกีดขวางจราจร ตาม พ.ร.บ.การจราจร มาตรา 108 (มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 500 บาท)
4.ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.การควบคุมโฆษณา มาตรา 4 (มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 200 บาท)
หลังได้รับการแจ้งข้อกล่าวหา ทั้งสิบคนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยบางคนไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา ทั้งนี้ ผู้ต้องหาทั้งสิบประสงค์จะยื่นคำให้การเป็นหนังสือภายใน 30 วัน หรือภายในวันที่ 21 เมษายน 2564 ขณะที่พนักงานสอบสวนนัดส่งตัวให้อัยการแขวงขอนแก่นในวันที่ 19 เมษายน 2564
แจ้งอีก 4 ข้อหา ชุมนุมประณามการใช้ความรุนแรงของตำรวจใน #ม็อบ28กุมภา
ส่วนในคดีการชุมนุมวันที่ 1 มีนาคม 2564 ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมเดินเท้าไป สภ.ย่อย มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อประณามตำรวจที่ใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุม #ม็อบ28กุมภา หน้ากรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ พนักงานสอบสวนบรรยายพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่า วันเกิดเหตุ วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง, วิศัลยา งามนา, ศิวกร นามนวด, อิศเรษฐ์ เจริญคง, ศรายุทธ นาคมณี, พชร สารธิยากุล, จตุพร แซ่อึง, ธนศักดิ์ โพธิเตมีย์ และวีรภัทร ศิริสุนทร รวม 9 คน ได้ร่วมจัดกิจกรรมชุมนุมทางการเมืองในชื่อ “ผู้พิทักษ์ทรราช ผู้พิฆาตประชาชน” ที่หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาคอมเพล็กซ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน โดยมีการผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัย
จากนั้นได้พากันเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุม จากหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ไปตามถนนในมหาวิทยาลัยขอนแก่น จนถึงสถานีตำรวจภูธรย่อย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในลักษณะกีดขวางจราจร ไม่ได้แจ้งหน่วยงานที่ควบคุมโรคติดต่อ ไม่ได้แจ้งขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง ในการจัดกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะมั่วสุม หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสและแพร่เชื้อไวรัสโควิด 19 และผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ได้มีมาตรการป้องกันโรค
พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหานักกิจกรรมทั้งเก้ารวม 4 ข้อหาเช่นเดียวกับคดีแรก ทั้ง 9 คน ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือภายใน 30 วัน โดยบางคนปฏิเสธไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา และเขียนข้อเรียกร้องแทน เช่น “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนนัดส่งตัวให้อัยการแขวงขอนแก่นในวันที่ 19 เมษายน 2564
เซฟ ‘ขอนแก่นพอกันที’ เจออีก 2 ข้อหา ชักธงปฏิรูปกษัตริย์
นอกจากนี้ วชิรวิทย์ หรือเซฟ ยังถูกแจ้งข้อกล่าวหาในคดีที่ 3 ร่วมกับเพื่อนนักศึกษาอีก 2 คน คือ ชัยธวัช รามมะเริง และเชษฐา กลิ่นดี จากกิจกรรมชักธง “ปฏิรูปกษัตริย์” ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยพนักงานสอบสวนบรรยายพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 วชิรวิทย์ กับพวก ได้นำธงผ้าพื้นสีแดง ขนาดความยาว 1.5 เมตร ความกว้าง 1 เมตร ซึ่งประดิษฐ์เองและเขียนข้อความด้วยสีน้ำสีขาวว่า “ปฏิรูปกษัตริย์” เข้ามาร่วมกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองในชื่อเรียก “ปล่อยเพื่อนเรา ยกเลิก 112” ที่บริเวณลานอเนกประสงค์ ริมบึงสีฐาน ฝั่งทิศตะวันออก ต่อมาเวลา 18.30 น. วชิรวิทย์ได้นำธงผ้าพื้นสีแดงนั้น ไปที่เสาธงซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าตึกอธิการบดี อาคาร 1 (หลังเก่า) ซึ่งอยู่ห่างจากจุดที่มีการจัดกิจกรรมประมาณ 3 กิโลเมตร
จากนั้นวชิรวิทย์กับพวกได้ช่วยกันนำธงแดงออกมากางแล้วนำไปผูกติดกับเชือกอีกด้าน จากนั้นได้ชักธงชาติลงจากยอดเสาจนติดโคนเสา และชักธงผ้าพื้นสีแดงขึ้นสู่ยอดเสา โดยได้มีการไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กชื่อ Save Tessrimuang หัวข้อ “เอาธง ปฏิรูปกษัตริย์ขึ้นเสา” ตั้งค่าเป็นสาธารณะ และวชิรวิทย์ได้พูดคุยผ่านการแพร่ภาพสด มีการแชร์ไปยังสื่อออนไลน์อื่นๆ โดยมีผู้ติดตามดูและแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีการประชุมจอภาพทางไกลกับ เอกภพ เหลือรา หรือ ตั้ง อาชีวะ ผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ซึ่งลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ ภายหลังเมื่อมีการชักธงชาติลงจาดยอดเสาและชักธงแดงขึ้นสู่ยอดเสาเสร็จสิ้น วชิรวิทย์ได้พูดว่า “ธงมันควรจะอยู่อย่างนี้ จนกว่าจะได้มีการปฏิรูปสถาบันอย่างแท้จริง”
พนักงานสอบสวนยังระบุอีกว่า การประดิษฐ์ผืนธงผ้าพื้นสีแดง ขนาดความยาวและความกว้างเท่าๆ กับธงชาติ และเขียนข้อความ “ปฏิรูปกษัตริย์” ลงบนผืนผ้าสีแดง ซึ่งมีนัยสำคัญคือสีแดงเป็นแถบสีหนึ่งของธงไตรรงค์ มีความหมายถึงชาติไทย การเขียนข้อความ “ปฏิรูปกษัตริย์” ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องหนึ่งของผู้ต้องหากับพวกที่ได้ร่วมกันแสดงออกบริเวณลานอเนกประสงค์ ริมบึงสีฐานก่อนเกิดเหตุ ซึ่งสื่อให้เห็นเจตนาว่า ผู้ต้องหาและพวกเชิดชูธงอื่นที่ไม่ใช่ธงชาติไทย และสื่อว่าเป็นการสถาปนาให้ธงผ้าสีแดงเขียนข้อความว่าปฏิรูปกษัตริย์ เป็นธงประจำชาติและใช้แทนธงชาติไทยจนกว่าจะมีการปฏิรูปกษัตริย์ เป็นการกระทำที่ไม่แสดงความเคารพต่อธงชาติไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นไทย และเป็นธงซึ่งสื่อถึงสถาบันหลักของชาติ คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ และการที่ผู้ต้องหากับพวกร่วมกันชักธงผ้าผืนสีแดงขึ้นสู่ยอดเสาแทนและชักธงชาติให้อยู่ต่ำกว่า บ่งชี้ให้เห็นเจตนาที่จะให้ธงอื่นอยู่เหนือธงชาติไทย เป็นการดูถูกและไม่เคารพต่อธงชาติไทย อันเป็นการเหยียดหยามธงชาติไทย
จากนั้นได้แจ้งข้อกล่าวหาวชิรวิทย์, ชัยธวัช และเชษฐา รวม 3 ข้อหา คือ
1. ร่วมกันชักธงที่มีความหมายถึงประเทศไทยโดยไม่เคารพ โดยดูถูกเหยียดหยาม และโดยทำให้เกิดความเสื่อมเสียซึ่งเกียรติภูมิของประเทศไทย ตาม พ.ร.บ.ธง มาตรา 45 (มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
2. ร่วมกันชักธงชาติไทยไว้ ณ ที่หรือโดยวิธีอันไม่สมควร ตาม พ.ร.บ.ธง มาตรา 53(3) (มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
3. ร่วมกันกระทำการใดๆอันมีลักษณะเหยียดหยามต่อธง ตาม พ.ร.บ.ธง มาตรา 54 (มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
ทั้งสามให้การปฏิเสธ และจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือภายใน 30 วัน วชิรวิทย์เขียนข้อความ “ยกเลิก112” แทนการลงชื่อท้ายบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนนัดส่งตัวให้อัยการแขวงขอนแก่นในวันที่ 19 เมษายน 2564 พร้อมกับ 2 คดีแรก
กระบวนการรับทราบข้อกล่าวหาเสร็จสิ้นในช่วง 14.20 น. ท่ามกลางการแสดงความยินดีของกลุ่มผู้มาให้กำลังใจราษฎรอีสานทั้ง 16 คน เนื่องจากวันนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีการยื่นฝากขัง ทำให้ทุกคนได้เดินทางกลับบ้าน และที่ชุมนุมหน้า สภ.เมืองขอนแก่น แยกย้ายกันไปในช่วง 14.45 น.
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตว่า การดำเนินคดีกับกลุ่มราษฎรอีสานครั้งนี้ ทั้งจากเหตุชุมนุมวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 และชุมนุมวันที่ 1 มีนาคม 2564 ล้วนเกิดจากการเรียกร้องให้รัฐทำในสิ่งที่จะเป็นหลักประกันความปลอดภัย และไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน เช่น การเรียกร้องให้ประกันตัวแกนนำ 4 ราษฎร จากคดี 112 การประณามและส่งสัญญาณให้รัฐเลิกใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมหลังการสลายการชุมนุม #ม็อบ28กุมภา ที่หน้ากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ซึ่งข้อเรียกร้องเหล่านี้ก็ไม่เคยได้รับการตอบสนอง
นอกจากนี้ยังพบว่า ในจำนวนนักกิจกรรม 16 ราย ที่ถูกดำเนินคดี มีนักศึกษาถึง 7 ราย ได้แก่ วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง, ศิวกร นามนวด, วิศัลยา งามนา, ศรายุทธ นาคมณี, ชัยธวัช รามมะเริง, วีรภัทร ศิริสุนทร, เจตน์สฤษฎิ์ นามโคตร นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น และเชษฐา กลิ่นดี นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
มีผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีทั้งจาก #ม็อบ20กุมภา และ #ม็อบ1มีนา จำนวน 5 ราย ได้แก่ วชิรวิทย์ เทศศรีเมืองและศิวกร นามนวด นักกิจกรรมกลุ่มขอนแก่นพอกันที, พชร สารธิยากุล นักกิจกรรมกลุ่มอุดรพอกันที, ธนศักดิ์ โพธิเตมีย์ กลุ่มเสรีชนคนกาฬสินธุ์ และอิศเรษฐ์ เจริญคง กลุ่มเสรีชน โดยเฉพาะ เซฟ วชิรวิทย์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถูกดำเนินคดีมากที่สุดถึง 3 คดี
คดีนี้ยังเป็นคดีที่ 2 จากเหตุชักธงสัญลักษณ์ขึ้นสู่ยอดเสาแทนธงชาติ นับจากกรณีกลุ่มนักกิจกรรมเปลี่ยนธงชาติไทยบริเวณด้านหน้า สภ.คลองหลวง และนำผ้าสีแดงที่มีข้อความ “112” สลับขึ้นยอดเสา เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 ขณะไปร่วมให้กำลังใจ “เดฟ” ชยพล ดโนทัย ที่เข้ามอบตัวหลังถูกออกหมายจับข้อหา 112 ทั้งที่ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ
ศรายุทธ นาคมณี ให้ความเห็นต่อการถูกดำเนินคดีครั้งนี้ว่า เป็นสิทธิทางการเมืองที่ไม่ควรถูกรัฐละเมิดไม่ว่าจะอาศัยอำนาจจากกฎหมายใดก็ตาม ดังเช่นที่เห็นนี้รัฐอาศัยกฎหมายควบคุมโรคมาใช้กับผู้เรียกร้องทางการเมืองด้วยนับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง อีกทั้งการที่รัฐใช้กฎหมายในลักษณะดังกล่าวนี้กับประชาชนที่ตั้งคำถามถึงความชอบธรรมในการใช้อำนาจนั้นย่อมชื่อได้ว่าเป็นการใช้กฎหมายปิดปาก (SLAPPs – Strategic Lawsuit against Public Participation) แม้จะเป็นปฏิบัติการทางกฎหมายที่ชอบด้วยกฎหมายก็ตามเเต่เป็นปฏิบัติการทางกฎหมายที่ไม่ชอบธรรมโดยรัฐ
“การไม่เห็นด้วยกับรัฐ และแสดงออกถึงการต่อต้านนั้นด้วยสันติวิธี สิ่งที่ได้รับจากรัฐควรเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ไม่ใช่การกลั่นแกล้งประชาชน” ชัยธวัช รามมะเริง นักศึกษาสาขารัฐประศาสนศาสตร์กล่าว
อ่านต่อความเห็นของนักกิจกรรมผู้ถูกดำเนินคดีที่เพจ ดาวดิน สามัญชน