ตร.ขอนแก่นตุกติกแยกห้องสอบสวน 2 นศ.หลังจับ เหตุเผารูป ไม่ให้ติดต่อใคร ให้ใช้ทนายที่เตรียมไว้ ก่อนศาลให้ประกัน

เช้าตรู่วันที่ 17 กันยายน 2564 ตำรวจสืบสวนภูธรภาค 4, ภูธรจังหวัดขอนแก่น และ สภ.เมืองขอนแก่น นับสิบนาย บุกเข้าจับกุม “เจมส์” (นามสมมติ) และ “บอส” (นามสมมติ) 2 นักศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในบ้านพักย่านหลังมหาวิทยาลัย โดยแสดงหมายจับของศาลจังหวัดขอนแก่นที่ จ.181/2564 และ 182/2564 ในข้อหา ‘ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์’ และเข้าตรวจค้นที่พักของทั้ง 2 นักศึกษา พร้อมยึดรถยนต์ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค โทรศัพท์มือถือ และกุญแจห้องไปจากห้องของเจมส์ จากนั้นขณะควบคุมตัวทั้งสองไปสอบสวนที่ สภ.เมืองขอนแก่น แล้ว ตำรวจได้เข้าค้นที่พักของบอสอีกเป็นครั้งที่ 2 และตรวจยึดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค โทรศัพท์ และเสื้อผ้าของบอส 

ตั้งแต่เช้าที่ สภ.เมืองขอนแก่น มีการนำแผงเหล็กมากั้นรอบ ตำรวจนำผ้ามาคลุมป้ายสถานีตำรวจไว้ พร้อมตำรวจในชุดควบคุมฝูงชนมากกว่า 50 นาย ประจำจุดเข้า – ออก นอกจากนี้ยังไม่อนุญาตให้ผู้ที่ติดตามมาให้กำลังใจทั้งสองเข้าไปยังบริเวณสถานีตำรวจ  

ตำรวจควบคุมตัวบอสไปถึง สภ.เมืองขอนแก่นในเวลาประมาณ 8.00 น. ส่วนเจมส์ไม่ทราบเวลาที่แน่ชัดว่าเขาถูกคุมตัวมาถึงสถานีตำรวจในช่วงเวลาใด ทั้งสองถูกจับแยกคนละห้องเพื่อทำบันทึกการจับกุมและสอบปากคำ โดยในช่วงแรกไม่มีใครทราบว่า เจมส์ถูกจับมาที่ สภ.ในคดีเดียวกันด้วย เมื่อเสฐียรพงศ์ ล้อศิริรัตน์ ทนายความเครือข่ายศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนติดตามไปที่ สภ.เมืองขอนแก่น จึงเข้าร่วมกระบวนการทำบันทึกจับกุมและสอบปากคำบอสเพียงคนเดียว โดยไม่ทราบว่า พ.ต.ท.ปุณณริศว์ ธรานันทเศรษฐ์ สอบปากคำเจมส์อยู่อีกห้อง มี ร.ต.ต.พิบูรณ์ เจริญสุข ทนายความที่ตำรวจเตรียมไว้ให้เข้าร่วม 

พนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์ที่ดำเนินคดีโดยสรุปว่า  เมื่อคืนวันที่ 13 กันยายน 2564 ก่อนเที่ยง เจมส์และบอส ขับรถยนต์ออกจากหลังมหาวิทยาลัย วนไปในตัวเมืองขอนแก่นอยู่ประมาณเกือบ 1 ชั่วโมง ต่อมาเมื่อขับมาถึงหน้าโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ได้จอดรถและลงจากรถ กรอกน้ำมันใส่ขวดพลาสติก และใช้ไฟแช็คจุดเผารูป ร.10 ก่อนจะขับรถหนีไป 

พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา “ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์” โดยบอสให้การปฏิเสธ และจะทำคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือมายื่นภายใน 30 วัน โดยกระบวนการสอบสวนเสร็จสิ้นในราว 30 นาที 

ระหว่างที่บอสยังถูกสอบปากคำ เริ่มมีเพื่อนทราบว่า เจมส์ถูกสอบปากคำอยู่ในอีกห้อง และเมื่อเจมส์พบว่ามีทนายจากศูนย์ทนายฯ จึงพยายามแย้งกระบวนการที่ผ่านมา เนื่องจากทนายความที่ตำรวจจัดหาให้ไม่ได้ให้คำปรึกษา หรือแจ้งสิทธิใดๆ ให้เขาทราบ ด้านทนายความจากศูนย์ทนายฯ เมื่อทราบว่าเจมส์ถูกจับมาอยู่อีกห้อง จึงขอพบเพื่อให้คำปรึกษาทางคดี แต่ พ.ต.อ.ปรีชา เก่งสารีกิจ  ผู้กำกับ สภ.เมืองขอนแก่น กลับบอกว่าพนักงานสอบสวนสอบปากคำเสร็จแล้ว และเจมส์ก็มีทนายความแล้ว ไม่สามารถย้อนหรือเริ่มกระบวนการใหม่ได้ เมื่อพนักงานสอบสวนอ่านบันทึกคำให้การให้เจมส์ฟัง และให้ลงลายมือชื่อ เจมส์จึงตัดสินใจไม่เซ็นชื่อในเอกสารดังกล่าว ทั้งยังให้การปฏิเสธ พร้อมกับแจ้งว่าจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือมายื่นภายใน 30 วัน

เจมส์เล่าให้ฟังภายหลังว่าเมื่อเขาถูกจับกุมมาเพียงลำพังตำรวจยึดโทรศัพท์มือถือเขาไปจึงไม่สามารถติดต่อผู้ใดได้ เมื่อตำรวจถามว่ามีทนายหรือผู้ไว้วางใจหรือไม่ และต้องการทนายหรือไม่ ในสภาวะตื่นตระหนกเขาจึงบอกตำรวจไปว่า ต้องการทนาย แต่เมื่อทนายความดังกล่าวมานั่ง กลับไม่ได้ให้คำปรึกษาใดๆ กับเขาเลย

ต่อมาตำรวจจึงนำตัวบอสมาอยู่ในห้องที่สอบสวนเจมส์ และขออำนาจศาลจังหวัดขอนแก่นฝากขังทั้งสองคนเป็นผัดแรกผ่านวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ โดยให้เหตุผลว่ากระบวนการสอบปากคำยังไม่เสร็จสิ้น มีพยานอีกจำนวนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับคดี ต้องการนำมาสอบปากคำต่อไป เวลาราว 11.00 น. การวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์จากศาลจังหวัดขอนแก่นเริ่มขึ้น ผู้พิพากษาแจ้งกับเจมส์และบอสว่าอนุญาตให้มีการฝากขังในชั้นสอบสวนตามที่พนักงานสอบสวนร้องขอ และให้ทั้งสองคนมาทำเรื่องประกันตัวที่ศาลต่อไป

ในระหว่างนั้นทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวตัวนักศึกษาทั้งสอง โดยมี ผศ.กฤษฎา วงศ์คำจันทร์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ เป็นผู้ขอประกัน

จนเมื่อราว 14.00 น. ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวนักศึกษาทั้งสอง โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกัน และตั้งให้รองคณบดีเป็นผู้กำกับดูแล โดยให้นักศึกษาทั้ง 2 คน ให้คำมั่นว่าจะเข้ารายงานตัวกับรองคณบดีตามวันเวลาที่ศาลกำหนด หากไม่มารายงานตัวจะถูกปรับคนละ 35,000 บาท ให้รายงานตัวนัดแรกวันที่ 29 กันยายน 2564 

สำหรับเจมส์และบอส ขณะนี้เรียนอยู่ชั้นปี 3 สาขาวิชาดนตรีพื้นเมือง โดยเจมส์เรียนเอกพิณควบคู่กับตีกลอง และบอสเรียนเอกเป่าแคนและร้องหมอลำ โดยทั้งคู่นอกจากเรียนและซ้อมดนตรีในคณะ ยังรับจ้างเล่นดนตรีเป็นอาชีพเสริมควบคู่กันไปด้วยตามวาระโอกาส ตลอดทั้งวันมีเพื่อนๆ ในสาขาวิชาดนตรีพื้นเมืองมาคอยเป็นกำลังใจให้ที่หน้า สภ. และที่ศาล 

เจมส์ให้ข้อมูลอีกว่า นอกจากถูกตำรวจยึดรถยนต์ การที่เขาถูกยึดโทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์ส่งผลกระทบอย่างมาก เพราะขณะนี้อยู่ระหว่างการเรียนออนไลน์ ซึ่งต้องเชื่อมต่อการเรียนผ่านคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์ นอกจากนี้ตำรวจที่บุกเข้ามาจับกุมยังยึดกุญแจห้องพักไว้อีกด้วย เมื่อเจมส์สอบถามด้วยความวิตกกังวล พนักงานสอบสวนบอกเพียงว่าขั้นตอนตรวจยึดของตำรวจจะมีผู้เชี่ยวชาญในการพิสูจน์หลักฐานมาเกี่ยวข้องจึงต้องใช้เวลา และไม่สามารถรับปากได้ว่าจะเสร็จสิ้นและได้คืนเมื่อไหร่ อีกทั้งตำรวจไม่ได้มอบสำเนาบันทึกตรวจยึดสิ่งของให้เจมส์ไว้เป็นหลักฐานว่าได้ยึดอะไรไปบ้าง 

ส่วนของบอส ในการเข้าค้นครั้งที่ 2 ซึ่งมีเพื่อนอยู่ดูขณะค้น ตำรวจได้ยึดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค 1 เครื่อง โทรศัพท์มือถือ 2 เครื่อง สมุดบัญชีธนาคาร และเสื้อกางเกงหลายตัว

ในวันเดียวกันไทยรัฐออนไลน์รายงานถึงกรณีนี้ว่า พล.ต.ต.เนติพงศ์ ธาตุทำเล โฆษกตำรวจภูธร 4 แถลงว่าภายหลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ในวันที่ 13 กันยายน 2564  เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการจัดเก็บรวบรวมพยานหลักฐานทุกขั้นตอนโดยละเอียด พร้อมยังเตือนว่าการกระทำในลักษณะดังกล่าวเป็นเรื่องร้ายแรง และทำลายความรู้สึกของคนไทย โดยความผิดฐาน วางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 – 140,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 7/1 ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาซึ่งถูกควบคุมหรือขังมีสิทธิแจ้งหรือขอให้เจ้าพนักงานแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาไว้วางใจทราบถึงการถูกจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุมในโอกาสแรกและให้ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหามีสิทธิดังต่อไปนี้ด้วย

(1) พบและปรึกษาผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว

(2) ให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้ในชั้นสอบสวน

(3) ได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อกับญาติได้ตามสมควร

กรณีของเจมส์เมื่อมีเหตุจับกุม กลับไม่ให้ติดต่อผู้อื่นผ่านช่องทางใดๆ  แม้จัดให้มีทนายความเข้ามานั่งฟังการสอบสวน แต่ก็เป็นไปเพื่อให้ครบองค์ประกอบเท่านั้น การกระทำเข้าลักษณะปล่อยให้พนักงานสอบสวนซักถามผู้ต้องหา โดยที่ทนายไม่ได้ให้ความเห็นทางกฎหมายทั้งที่เป็นคุณหรือโทษต่อผู้ต้องหาใดๆ ถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้ต้องหา และเป็นการกีดกันความสามารถในการต่อสู้คดีของผู้ต้องหา 

โดยเฉพาะคดีที่มีผู้ต้องหามากกว่า 1 คน หากมีการแยกห้องสอบสวนและผู้ต้องหาไม่ได้มีโอกาสปรึกษากับทนายความที่ไว้ใจหรือผู้ไว้วางใจ ย่อมเป็นช่องทางที่ทำให้พนักงานสอบสวนฉกฉวยความได้เปรียบในการสอบปากคำฝ่ายผู้ต้องหา นับเป็นอีกตัวอย่างของความล้มเหลวในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ทำหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรมอย่างแท้จริง

X