วันนี้ (8 มิถุนายน 2564) ที่ศาลอาญา รัชดาฯ เวลา 10.00 น. นายเกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ หรือ “บิ๊ก” นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักกิจกรรมกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เดินทางมาตามนัดฟังคำสั่งของศาล สืบเนื่องจากกรณีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยื่นคำร้องต่อศาลให้สั่งระงับการเผยแพร่ข้อความในทวิตเตอร์ของเกียรติชัย ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การแต่งกายของกษัตริย์รัชกาลที่ 10
คดีนี้สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยื่นคำร้องต่อศาล ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 20 ขอให้สั่งระงับการเผยแพร่ข้อความในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ จำนวน 4 URL ในจำนวนนี้รวมไปถึงทวิตเตอร์ที่มีข้อความวิจารณ์การแต่งกายของรัชกาลที่ 10 ของเกียรชัย 1 ข้อความ โดยเกียรติชัยเปิดเผยว่าได้รับหมายนัดไต่สวนของศาลอาญา ผ่านทางกล่องข้อความ (DM) ในทวิตเตอร์ โดยผู้ใช้บัญชีที่ไม่ระบุตัวตนแน่ชัด
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ศาลนัดไต่สวนคู่ความทั้งสองฝ่าย เกียรติชัยซึ่งเป็นผู้คัดค้าน ได้แถลงยกเหตุผลทั้งหมด 5 ข้อ คัดค้านคำร้องของกระทรวงดิจิทัลฯ โดยยืนยันถึงหลักสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รวมทั้งยืนยันถึงการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความหวังดี ให้สถาบันกษัตริย์ปรับตัวสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน ต่อมาศาลมีคำสั่งนัดฟังคำสั่งในวันนี้
.
ศาลสั่งระงับเนื้อหา 4 URL ชี้เข้าข่ายหมิ่นกษัตริย์และส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ คำสั่งมีผลถึงการนำข้อความดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในอนาคต
เวลา 10.00 น. ภายในห้องพิจารณาหมายเลข 909 เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์เน้นย้ำกับเกียรติชัย และผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์คดี ให้ทำการปิดเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด ห้ามบันทึกเสียง หรือบันทึกภาพ โดยระบุว่าในการนัดไต่สวนครั้งก่อน ผู้คัดค้านได้บันทึกภาพบริเวณศาลและนำไปเผยแพร่ ก่อนจะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาล จำนวนหนึ่งนาย เข้ามาภายในห้องพิจารณาคดีด้วย
ต่อมา ศาลชี้แจงเช่นเดียวกันว่าทุกคนภายในห้องพิจารณาคดีจะต้องทำการปิดเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด ห้ามบันทึกเสียงหรือภาพ และระบุว่า การรักษาความปลอดภัยในกระบวนการพิจารณาคดีจะเข้มข้นหรือไม่ แตกต่างกันไปในแต่ละคดี และขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล
ศาลย้ำว่ากระบวนพิจารณานี้ไม่ได้มีจำเลยหรือผู้ต้องหา และการพิจารณาคดีในครั้งที่ผ่านมาไม่ได้มีความวุ่นวาย การรักษาความปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่ศาลในวันนี้จึงเป็นเพื่อเหตุประการอื่น คือเพื่อรักษาระเบียบในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด
จากนั้นศาลได้อ่านคำวินิจฉัยว่า พิจารณาข้อความที่ถูกเผยแพร่บนทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก จำนวน 4 URL ดังกล่าวแล้ว เห็นว่ามีลักษณะเนื้อหาที่เข้าข่ายดูหมิ่นกษัตริย์ และส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ จึงไม่นับว่าเป็นสิทธิและเสรีภาพในการการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็นตามกฎหมาย
ศาลจึงมีคำสั่งให้ลบ หรือระงับภาพ หรือข้อความที่ถูกเผยแพร่บนทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก จำนวน 4 URL ดังกล่าว ซึ่งหนึ่งในนั้นคือภาพและข้อความบนทวิตเตอร์ของเกียรติชัย โดยศาลระบุว่าคำสั่งให้ลบหรือระงับข้อมูลออกจากระบบคอมพิวเตอร์ฯ นี้ ยังรวมไปถึงการนำเข้าข้อมูลดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ใหม่อีกครั้งในอนาคต ไม่ว่าจะอีกกี่ครั้งก็ตาม
หลังจากนี้กระทรวงดิจิทัลฯ จะนำคำสั่งศาล ส่งไปยังบริษัทที่ดูแลแพลตฟอร์มทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก เพื่อให้ดำเนินการระงับเนื้อหาทั้ง 4 URL ดังกล่าวต่อไป
ขณะเดียวกัน ผู้คัดค้านยังสามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลนี้ เพื่อให้ทบทวนคำวินิจฉัยดังกล่าวได้
หลังฟังคำสั่งศาล เกียรติชัยเปิดเผยว่าคำสั่งศาลที่ออกมาไม่ได้ผิดจากที่ตนเองคาดไว้ พร้อมทั้งชี้ว่าศาลไม่ได้เห็นความสำคัญของสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ขณะเดียวกันเกียรติชัยเผยว่าไม่ได้รับการติดต่อหรือแจ้งให้ทราบว่าจะถูกดำเนินข้อหาตามประมวลกฎหมาย มาตรา 112 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แต่อย่างใด
ทั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าก่อนหน้านี้ การปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ในเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ ในลักษณะดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 20 ศาลมักสั่งปิดกั้นโดยพิจารณาเพียงคำร้องของกระทรวงดิจิทัลฯ ซึ่งเป็นผู้ร้องขอเพียงฝ่ายเดียว ไม่ได้มีการนัดไต่สวนผู้เผยแพร่ข้อมูลที่ถูกร้องขอให้ปิดกั้น หรือเปิดโอกาสให้มีการคัดค้าน แต่ราวตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 เป็นต้นมา เริ่มมีผู้ใช้ทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ได้รับหมายนัดไต่สวนคำร้องของกระทรวงดิจิทัลฯ ส่งมาทางกล่องข้อความส่วนตัวเพิ่มมากขึ้น
>> ผู้ใช้เฟซบุ๊ก-ทวิตเตอร์ไม่ต่ำกว่า 7 ราย ได้หมายศาลนัดไต่สวนคำร้องของกระทรวงดิจิทัลฯ ขอปิดกั้นเนื้อหา
.