ตลอดช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งจากผู้ใช้เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ซึ่งเป็นประชาชนทั่วไปจำนวน 6 ราย ว่าได้รับหมายนัดของศาลอาญา เพื่อไต่สวนคำร้องของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) ซึ่งร้องขอต่อศาลให้สั่งระงับการเผยแพร่ข้อความในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ของผู้ใช้แต่ละราย โดยวิธีการส่งหมายดังกล่าว พบว่ามีการส่งมาทางกล่องข้อความโดยผู้ใช้บัญชีที่ไม่ทราบตัวตน ขณะเดียวกันนายแอนดรูว์ มาร์แชล ก็เปิดเผยว่าตนได้รับหมายนัดในลักษณะดังกล่าว แต่เป็นการร้องขอให้ปิดกั้นบัญชีของตนทั้งหมดด้วย
หมายนัดไต่สวนดังกล่าวระบุว่าออกโดยศาลอาญา ในช่วงตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน 2564 ถึงปัจจุบัน โดยระบุว่ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ยื่นคำร้องต่อศาล อ้างว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ที่ได้รับหมาย มีการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ซึ่งมีเนื้อหาขัดต่อกฎหมาย จึงร้องขอให้ศาลระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลดังกล่าว ศาลจึงกำหนดนัดไต่สวนคำร้อง พร้อมกับได้ส่งสำเนาคำร้องของกระทรวงดิจิทัลฯ ให้ทราบมาด้วย
ตัวอย่างหมายนัดไต่สวนที่มีผู้ใช้ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กได้รับ
สำหรับรูปแบบการส่งหมายดังกล่าว ผู้ใช้เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ที่ได้รับหมายนัดระบุตรงกันว่า ได้มีบัญชีแอคเคาท์ในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ซึ่งไม่ระบุตัวตน และไม่ใช่บัญชีของทางราชการ ได้ส่งรูปภาพหรือไฟล์หมายเรียกดังกล่าวมาทางกล่องข้อความส่วนตัว โดยไม่ได้มีการแจ้งที่มาที่ไปประกอบ และไม่ตอบคำถามใดๆ ทั้งยังไม่ได้มีการแนบเอกสารสำเนาคำร้องของกระทรวงดิจิทัลฯ ตามที่แจ้งไว้ในหมายมาด้วยแต่อย่างใด ทำให้ไม่มีใครทราบรายละเอียดคำร้องในส่วนของตน ไม่ทราบว่าเนื้อหาที่ถูกร้องขอให้ปิดกั้นนั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องใด และหลายคนยังสงสัยว่าหมายนัดดังกล่าวเป็นจริงหรือไม่ด้วย
ในจำนวนผู้ได้รับหมายนัด 6 รายดังกล่าว สามารถแยกเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊ก 2 ราย และผู้ใช้ทวิตเตอร์ 4 ราย โดยพบว่าผู้ที่ส่งหมายนัดในเฟซบุ๊ก ใช้ชื่อบัญชีว่า “Prasert Suppo” ตั้งรูปภาพบัญชีเป็นภาพสุนัข ส่วนในทวิตเตอร์ผู้ที่ส่งหมายนัดใช้บัญชี @legalmdes007 ตั้งรูปภาพบัญชีเป็นชื่อกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แต่ไม่ใช่บัญชีทวิตเตอร์ทางการ และไม่ได้มีผู้ติดตาม
รูปแบบการส่งหมายนัดไต่สวนในทวิตเตอร์
ขณะเดียวกันในวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 นายแอนดรูว์ แม็คเกรเกอร์ มาร์แชล (Andrew MacGregor Marshall) ผู้สื่อข่าวอิสระที่ติดตามเรื่องการเมืองและสถาบันกษัตริย์ไทย ก็ได้เผยแพร่ว่าผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ก “Prasert Suppo” ได้ส่งไฟล์หมายนัดไต่สวนของศาลอาญาในลักษณะเดียวกัน มาให้ทางกล่องข้อความในเฟซบุ๊ก โดยไม่ได้ระบุข้อความใดๆ ประกอบเช่นกัน
หมายนัดไต่สวนของแอนดรูว์ดังกล่าว ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 และกำหนดนัดให้มีการไต่สวนวันที่ 29 พฤษภาคม 2564 เวลา 9.00 น. โดยหมายยังระบุว่ากระทรวงดิจิทัลฯ ได้ร้องขอให้ปิดบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กของแอนดรูว์ด้วย แตกต่างจากหมายเรียกของผู้ใช้เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์รายอื่นๆ เท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งมา ซึ่งยังเป็นคำร้องในลักษณะขอให้ศาลระงับการเผยแพร่ข้อมูลบางส่วนของผู้ใช้
หมายนัดไต่สวนของนายแอนดรูว์ มาร์แชลล์ และรูปแบบที่มีผู้ส่งหมายมา
ทั้งนี้ จากการนำหมายเลขคดีที่ระบุในหมายนัด ไปสืบค้นในฐานข้อมูลคดีของศาลอาญา พบว่ามีข้อมูลคดีเหล่านั้น เป็นเรื่องการร้องขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมอ้างว่าได้ตรวจสอบพบว่ามีข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีเนื้อหา อันเข้าข่ายข้อมูลที่บิดเบือนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ จึงขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หมายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าว และขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) และมาตรา 20
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าก่อนหน้านี้การปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ในเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ ในลักษณะดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 20 ศาลมักสั่งปิดกั้นโดยพิจารณาเพียงคำร้องของกระทรวงดิจิทัลฯ ซึ่งเป็นผู้ร้องขอเพียงฝ่ายเดียว ไม่ได้มีการนัดไต่สวนผู้เผยแพร่ข้อมูลที่ถูกร้องขอให้ปิดกั้น
การออกหมายเรียกเพื่อนัดไต่สวนในลักษณะดังกล่าว จึงอาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากคำวินิจฉัยของศาลอาญาในกรณีที่กระทรวงดิจิทัลฯ ร้องขอให้ระงับการเผยแพร่คลิปไลฟ์สดของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กรณีเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาล โดยกระทรวงดิจิทัลฯ ให้เหตุผลว่ามีเนื้อหาพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์และกระทบต่อความมั่นคง ซึ่งศาลได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 ให้ระงับคลิปตามที่กระทรวงดิจิทัลฯ ร้องขอ แต่ต่อมานายธนาธรได้ยื่นคัดค้าน และขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ศาลจึงนัดไต่สวนคู่ความทั้งสองฝ่าย
ก่อนที่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลอาญาจะมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งให้ปิดกั้นดังกล่าว โดยส่วนหนึ่งมีการวินิจฉัยว่าการออกคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์มีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลโดยชัดแจ้งและถาวร เมื่อสิ้นสุดกระบวนการแล้วไม่มีโอกาสให้ผู้ใดได้โต้แย้งอีกต่อไป การอนุโลมใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ถูกต้องแก่คำร้องเช่นนี้ สมควรที่จะรับพิจารณาเสมือนหนึ่งเป็นคดีอาญาคดีหนึ่ง ซึ่งต้องให้โอกาสคู่ความทุกฝ่ายได้ต่อสู้คดีเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งนี้ การให้โอกาสดังกล่าวยังเป็นหลักการสำคัญสำหรับการทำงานขององค์กรตุลาการตามหลักนิติธรรม ศาลเห็นว่าการไต่สวนพยานผู้ร้องฝ่ายเดียว แล้วมีคำสั่งในทันทีเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบ
จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้เป็นไปได้ว่ามีการร้องขอของกระทรวงดิจิทัลฯ ให้ปิดกั้นเนื้อหาในโลกออนไลน์ และมีการส่งหมายศาลนัดไต่สวนในลักษณะดังกล่าว ให้กับผู้ใช้เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์มากกว่าจำนวน 7 ราย ที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับรายงานนี้ด้วย อีกทั้งยังต้องจับตากรณีลักษณะนี้ ว่านอกจากการร้องขอไต่สวนเพื่อปิดกั้นเนื้อหา เจ้าหน้าที่ของกระทรวงดิจิทัลฯ จะมีการดำเนินคดีผู้ใช้เฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วยหรือไม่