แจ้งข้อหา ม.112-พ.ร.บ.คอมฯ นักศึกษาผู้ใช้ทวิตเตอร์ โพสต์ถึงรัชกาลที่ 9

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) “ใจ” (นามสมมติ) นักศึกษาชั้นปีที่ 2 วัย 19 ปี จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ก่อนพบว่าเธอถูกกล่าวหากรณีทวิตข้อความเกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 ในทวิตเตอร์

ก่อนหน้านี้ “ใจ” ได้รับหมายเรียกจาก บก.ปอท. ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ระบุว่าให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาใน 2 ข้อหาดังกล่าว โดยคดีมี นายอารีย์ จิวรรักษ์ รับมอบอำนาจจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้กล่าวหา และมี พ.ต.อ.ประดิษฐ์ เปการี รองผู้บังคับการบก.ปอท. เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน

เมื่อเธอเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา พร้อมกับทนายความ พ.ต.ท.ภีมพศ เกตุเทศ รองผู้กำกับ (สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. และ ร.ต.อ.หญิงศศิพันธ์ คงเอียด รองสารวัตร (สอบสวน) ปรท.กก.3 บก.ปอท. ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการทวิตข้อความในทวิตเตอร์ 1 ข้อความ

พฤติการณ์ที่กล่าวหาระบุว่า เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ผู้กล่าวหาได้ตรวจสอบพบบัญชีทวิตเตอร์บัญชีหนึ่ง (ซึ่งไม่ได้ใช้ชื่อสกุลของ “ใจ”) ได้โพสต์ข้อความแบบสาธารณะ มีภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 และข้อความประกอบ พร้อมติดแฮซแท็กเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อความที่มีการกล่าวหาใส่ความพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีเจตนามุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนที่เข้ามาอ่าน เกิดความรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชังพระมหากษัตริย์ และสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยผู้กล่าวหาตรวจพบการกระทำดังกล่าวจากสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ใจได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อไป พนักงานสอบสวนจึงได้ให้พิมพ์ลายนิ้วมือและลงบันทึกประจำวันไว้ พร้อมกับให้ปล่อยตัวไป โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้ระหว่างสอบสวน และจะนัดหมายรายงานตัวเพื่อฟังคำสั่งทางคดีอีกครั้ง

ทั้งนี้ คดีนี้น่าจับตาในข้อกล่าวหาที่กล่าวหาไปถึงการเผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ในอดีต หากพิจารณาองค์ประกอบความผิดของมาตรา 112 นั้น ครอบคลุมถึง 4 บุคคล ได้แก่ “พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” หากตีความกฎหมายโดยเคร่งครัด กฎหมายควรจะครอบคลุมเพียง “พระมหากษัตริย์” องค์ปัจจุบันเท่านั้น จึงต้องจับตาแนวทางการตีความในประเด็นนี้ต่อไป

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีนี้ยังเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 2 ที่มีการกล่าวหาจากการแสดงความคิดเห็นในทวิตเตอร์ ภายหลังจากเริ่มนำข้อหานี้กลับมาใช้ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 ก่อนหน้านี้มีคดีของ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ซี่งถูกกล่าวหาจากกรณีการโพสต์และทวิตข้อความเกี่ยวกับการแบนธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) โดยเป็นคดีที่ บก.ปอท. เช่นเดียวกัน

ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงปัจจุบัน (15 กุมภาพันธ์ 2564) รวมมีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 59 ราย ใน 44 คดี และคดีของใจ เป็นคดีที่สามเป็นอย่างน้อย ที่มีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้กล่าวหา

>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

X