‘112’ อีก 2 คดี โพสต์ทุบหม้อข้าว SCB – land of compromise ด้วยรถฉีดน้ำ

22 ม.ค. 2564 พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ “รุ้ง” 2 นักกิจกรรมกลุ่ม “ราษฎร” และนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” เดินทางไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) รวม 2 คดี ทำให้เพนกวินมีคดี 112 ถึง 15 คดี ส่วนรุ้ง 8 คดี แล้ว

คดีแรก จากกรณีการโพสต์แนวทางการต่อสู้กับเผด็จการ 8 ข้อ มีพริษฐ์ถูกออกหมายเรียกเพียงคนเดียว พ.ต.ท.นิติธร เดชระพีร์ รอง ผกก.(สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. และ ร.ต.อ.ปิยวัฒน์ ปรัญญา รอง สว.(สอบสวน) ปรก.กก.3 บก.ปอท. แจ้งพฤติการณ์ที่พริษฐ์ถูกดำเนินคดีว่า เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2563 ศรัลก์ โคตะสินธ์ ผู้รับมอบอำนาจจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีกับ ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ เพนกวิน – พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak และผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อ เพนกวิน – Parit Chiwarak จากกรณี ดังนี้

1) เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2563  เฟซบุ๊กดังกล่าว โพสต์ข้อความ ประกาศแนวทางการต่อสู้กับเผด็จการ 8 ข้อ ที่ทุกคนทำได้จากที่บ้าน ได้แก่

  1. ยืนตรงชูสามนิ้วเคารพธงชาติ ไม่ว่าจะที่บ้าน โรงเรียน ห้าง สถานีขนส่ง หรือตลาดนัด
  1. ได้ยินเพลงสรรเสริญในโรงหนัง ไม่ต้องยืนขึ้นแต่ให้ชูสามนิ้วแทน
  1. ผูกโบขาวไว้ที่รั้วบ้าน กระเป๋า และที่ขากระจกรถ
  1. เห็นขบวนคนใหญ่คนโต ไม่ว่าจะเป็นใครขอให้บีบแตร
  1. ติดป้ายผ้าต่อต้านเผด็จการไว้ตามสะพานลอย หรือที่ชุมชนต่างๆ ฯลฯ
  1. ประยุทธ์ไปจังหวัดไหน ขอให้ขึ้นป้ายคนจังหวัดนั้นไม่ต้อนรับเผด็จการ
  1. นัดหยุดงานประท้วงรัฐบาล เริ่มต้นจากลาพักร้อนวันที่ 14 ตุลา พร้อมกันทั่วประเทศ
  1. ทุบหม้อข้าวเผด็จการ แบนธนาคาร SCB … (เชื่อมโยงถึงรัชกาลที่ 10) ผู้กล่าวหาระบุว่า ข้อความนี้ เป็นการหมิ่นประมาท และดูหมิ่นกษัตริย์

2) วันเดียวกันบัญชีทวิตเตอร์ดังกล่าวก็โพสต์ข้อความว่า “ต่อแต่นี้เป็นต้นไป ขอชวนทุกคนช่วยกันทุบหม้อข้าวเผด็จการถอนทุกบาททุกสตางค์ออกจากบัญชี SCB ให้หมด …. #แบนSCB” โดยข้อความ…เชื่อมโยงธนาคารไทยพาณิชย์กับรัชกาลที่ 10 และข้อความทั้งหมดถูกระบุว่า เป็นการหมิ่นประมาท และดูหมิ่นกษัตริย์

พนักงานสอบสวนยังระบุว่า การโพสต์ 2 ข้อความทั้งในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ เป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อความที่มีลักษณะหมิ่นประมาท และดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 โดยเจตนาทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ โดยจากการสืบสวนสอบสวนน่าเชื่อว่าบัญชีเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ดังกล่าวเป็นของพริษฐ์

พนักงานสอบสวนจึงแจ้งกล่าวหาพริษฐ์ว่า “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ “นำเข้าซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

อย่างไรก็ดี พริษฐ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยไม่ลงชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา และให้การว่า ประสงค์ให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มาสอบถามว่า เรื่องการหุ้นของรัชกาลที่ 10 และเงินปันผล รวมทั้งให้ธนาคารฯ ส่งพยานหลักฐานมาประกอบสำนวน รวมถึงออกหมายเรียกเลขาธิการพระราชวังมาสอบถามเกี่ยวกับการเสด็จไปประทับที่ประเทศเยอรมนี หลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 นอกจากนี้ พริษฐ์จะยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือ ภายในวันที่ 22 ก.พ. 2564

ในคืนช่วงวันที่ 19 ก.ย. 2563 และเช้าวันที่ 20 ก.ย. 2563 เพนกวินได้ปราศรัยบนเวทีการชุมนุม #19กันยาทวงคืนอำนาจราษฎร ที่สนามราษฎร (สนามหลวง) เรียกร้องให้ผู้ชุมนุมถอนเงินจากธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เพราะความเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และในวันที่ 20 ก.ย. 2563 ผู้ใช้ทวิตเตอร์หลายรายโพสต์ข้อความสนับสนุนข้อเรียกร้องของแกนนำนักศึกษา และติดแฮชแท็ก #แบนscb มีผู้ใช้มากกว่า 3 แสนครั้ง สูงสุดติดอันดับที่ 4 ของวัน ทั้งนี้ การปราศรัยในการชุมนุมดังกล่าวพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงครามได้แจ้งข้อกล่าวหาพริษฐ์และผู้ปราศรัยคนอื่นๆ รวม 7 ราย ตามมาตรา 112 ไปแล้ว 

ในประเด็นการถือหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ BBC Thai รายงานถึงข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งระบุว่าปัจจุบันธนาคารไทยพาณิชย์มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 5 อันดับแรก ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว, กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน), กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน), บริษัทไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด และสำนักงานประกันสังคม ขณะที่ พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล เลขาธิการพระราชวัง เป็นกรรมการคนหนึ่งของธนาคาร 

 

อีกคดี ‘เพนกวิน’  โพสต์ – ‘รุ้ง’ แชร์ the land of Compromise ด้วยรถฉีดน้ำ 

วันเดียวกันนี้ พนักงานสอบสวน บก.ปอท. ยังแจ้งข้อกล่าวหา พริษฐ์ และปนัสยา  ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) อีกคดี จากการโพสต์เรื่อง the land of Compromise ด้วยรถฉีดน้ำ เชื่อมโยงรัชกาลที่ 10 ทั้งสองให้การปฏิเสธเช่นกัน

ภาพโดย ประชาไท

พ.ต.ท.นิติธร เดชระพีร์ และ ว่าที่ ร.ต.อ.พิเชษฐศักดิ์ ปิยรัตนสถิตย์ รอง สว.(สอบสวน) ปรก.กก.3 บก.ปอท. พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาโดยระบุว่า เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2563 ชุติมา เลี่ยมทอง ได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งความให้ดำเนินคดีกับผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “เพนกวิน – พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak” กรณีเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 เวลา 20.25 น. บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวโพสต์ข้อความว่า “เพราะประเทศเราเป็น the land of compromise เราจึงประนีประนอมด้วยรถฉีดน้ำ และ….” เชื่อมโยงกษัตริย์กับการแสดงความรักด้วยการใช้กำลัง

ต่อมาผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ก “Panusaya Sithijirawattanakul” แชร์โพสต์ข้อความดังกล่าว ซึ่งผู้กล่าวหาเห็นว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และการกระทำดังกล่าว เป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อความที่มีลักษณะหมิ่นประมาท และดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 โดยเจตนาทำให้ประชาชนที่อ่านเกิดความรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชังพระมหากษัตริย์และสถาบันกษัตริย์

พนักงานสอบสวนระบุอีกว่า จากการสืบสวนสอบสวน น่าเชื่อว่าเฟซบุ๊ก  “เพนกวิน – พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak” เป็นของพริษฐ์ และเฟซบุ๊ก “Panusaya sithijirawattankul” เป็นของปนัสยา  

พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหาพริษฐ์และปนัสยาว่า “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ “นำเข้าซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง” ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

ทั้งสองคนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยไม่ลงชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือภายในวันที่ 22 ก.พ. 2564 พริษฐ์ยังให้การด้วยว่า ประสงค์ให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกเลขาธิการพระราชวังมาสอบถามว่า ได้มอบอำนาจให้บุคคลที่กล่าวโทษในคดีนี้มาแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนหรือไม่ และโพสต์ที่ถูกกล่าวหาเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์อย่างไร

หลังการแจ้งข้อกล่าวหาในทั้งสองคดี พนักงานสอบสวน บก.ปอท.ไม่ได้ควบคุมตัวทั้งสองคนไว้ เนื่องจากมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก

ภาพเจ้าหน้าที่ฉีดน้ำในการชุมนุม 8 พ.ย. 63 (ภาพโดย ประชาไท)

ทั้งนี้ ตามวันเวลาที่มีการโพสต์ข้อความที่นำมากล่าวหาดังกล่าว เป็นเหตุการณ์การชุมนุม ซึ่งกลุ่ม “ราษฎร” รวมตัวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเวลา 16.00 น. เพื่อร่วมกันเขียนจดหมายถึงกษัตริย์ จากนั้นแกนนำประกาศเคลื่อนขบวนไปยื่นจดหมายหรือ “ราษฎรสาส์น” ที่สำนักพระราชวัง ประมาณ 18.30 น. เจ้าหน้าที่ฉีดน้ำใส่กลุ่มผู้ชุมนุมขณะที่เคลื่อนขบวนมาถึงหน้าศาลฎีกา เพื่อสกัดไม่ให้เข้าเขต 150 เมตรจากพระบรมมหาราชวัง ทำให้เกิดเหตุชุลมุน และสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ชุมนุม ซึ่งหลังจากนั้นจากการกดดันของผู้ชุมนุม ผบช.น.ได้ออกมาประกาศขอโทษ

สำหรับ ชุติมา เลี่ยมทอง ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษในคดี  จากการสืบค้นรายงานข่าวในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 ระบุว่าเป็นสมาชิกของกลุ่ม “พลังประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ (พปปส.)” ก่อนหน้านี้เคยแจ้งความดำเนินคดี 112 กับผู้ปราศรัย #ม็อบ2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว มาแล้ว

หลังจากเข้ารับทราบข้อกล่าวหาใน 2 คดีนี้แล้ว ทำให้ “เพนกวิน” ถูกออกหมายเรียกและดำเนินคดีตามมาตรา 112 รวม 15 คดี ส่วน “รุ้ง” รวม 8 คดี

      >> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

 

X