ตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) รวม 4 นาย ได้เดินทางเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาในคดีตามมาตรา 112 ต่อพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยนับเป็นคดีข้อหานี้คดีที่ 21 ที่เขาถูกกล่าวหาแล้ว
คณะพนักงานสอบสวน นำโดย ร.ต.ท.หญิงกนกวรรณ สีสะอาด รองสารวัตรสอบสวน กก.1 บก.ปอท. ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาต่อพริษฐ์ในคดีใหม่นี้ โดยมีทนายความเดินทางไปร่วมรับฟังด้วย
พฤติการณ์ข้อกล่าวหาระบุว่าเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 เวลา 19.00 น. ผู้กล่าวหาซี่งตำรวจยังไม่ได้ระบุแน่ชัดว่าเป็นใคร ได้พบเห็นภาพและข้อความในเฟซบุ๊กชื่อ “พริษฐ์ ชิวารักษ์” ที่โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 เวลา 23.29 น. โดยมีข้อความว่า “ด้วยรักและฟัคยู #28กรกฎาร่วมใจใส่ชุดดำ” พร้อมกับมีภาพนายพริษฐ์ถือภาพถ่ายที่ปรากฏพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 กลับศีรษะ และกำมือชูนิ้วกลางทาบลงบนพระบรมฉายาลักษณ์ ผู้กล่าวหาเห็นว่าข้อความและภาพดังกล่าว ผู้โพสต์แสดงความไม่เคารพและแสดงความอาฆาตมาดร้าย เจตนาดูหมิ่นต่อองค์พระมหากษัตริย์ จึงมาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าว
พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาต่อพริษฐ์ 2 ข้อหา ได้แก่ “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชาอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)
พริษฐ์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อไป
คดีนี้นับเป็นคดีที่พริษฐ์ถูกกล่าวหาในข้อหาตามมาตรา 112 เป็นคดีที่ 21 แล้ว นับได้ว่าเป็นผู้ถูกกล่าวหาในข้อหานี้เป็นจำนวนคดีมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทราบข้อมูลอีกด้วย
ทั้งนี้ โพสต์ข้อความดังกล่าว ยังเป็นโพสต์ที่ถูกพนักงานอัยการ นำไปยื่นคำร้องขอเพิกถอนประกันตัวพริษฐ์ในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ด้วย ก่อนที่เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 64 ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้มีคำสั่งเพิกถอนการประกันพริษฐ์ โดยไม่ได้มีการไต่สวนคำร้อง โดยระบุว่าเนื่องจากข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานนั้นรับฟังได้อย่างชัดแจ้งแล้ว ทำให้เขาถูกคุมขังในเรือนจำมาจนถึงปัจจุบัน รวม 71 วันแล้ว
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังการกลับมาบังคับใช้มาตรา 112 อีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 151 ราย ใน 154 คดี โดยมีจำนวน 75 คดีที่มี “ประชาชน” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษในข้อหานี้
>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64
.