ไม่ให้ประกัน! 9 นักกิจกรรม เหตุชุมนุม #ม็อบ2สิงหา หน้า ตชด. เรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มทะลุฟ้า ศาลธัญบุรีระบุไม่เกรงกลัวกม.บ้านเมือง

วันนี้ (9 ส.ค. 64) ที่ศาลจังหวัดธัญบุรี ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกัน 9 นักกิจกรรม จากกรณีชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มทะลุฟ้าที่หน้า บก.ตชด.ภาค 1 หลังสมาชิกกลุ่มประชาชนรวม 32 รายถูกจับกุมจากการรวมตัวกันทำกิจกรรม “ปล่อยเพื่อนเรามา คืนประชาธิปไตย” ที่หน้าสโมสรตำรวจ เพื่อเรียกร้องให้ตำรวจปล่อยตัวคนขับรถปราศรัยในคาร์ม็อบของกลุ่ม “ราษฎร” พร้อมทีมงาน ทั้งหมด 3 ราย และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะคืนเครื่องเสียงทั้งหมดที่ยึดไป เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 64

จากกรณีนี้ มีผู้ถูกดำเนินคดีที่ สภ.คลองห้า ทั้งหมดอย่างน้อย 9 ราย ทั้งหมดถูกศาลจังหวัดธัญบุรีออกหมายจับ ลงวันที่ 3 ส.ค. 64 โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มตามวันและเวลาที่ถูกจับกุมและเข้ามอบตัว ได้แก่ 

(1) แซม ซาแมทถูกจับกุมระหว่างการชุมนุม #ม็อบ7สิงหา ที่สามเหลี่ยมดินแดน เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 64, 

(2) “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “นิว” สิริชัย นาถึง, “ฟ้า” พรหมศร วีระธรรมจารี เข้ามอบตัวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และณัฐชนน ไพโรจน์ ที่ถูกจับกุมหน้า สตช. ขณะเดินทางมามอบตัววานนี้ (8 ส.ค. 64)

และ (3) “ปูน” ธนพัฒน์ (สงวนนามสกุล), “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, ชาติชาย หรือ ธัชพงษ์ แกดำ และปนัดดา ศิริมาศกูล หรือ “ต๋ง ทะลุฟ้า” ที่เดินทางมามอบตัวเช้านี้ที่ สภ.คลองห้า (9 ส.ค. 64)

ในคืนวันที่ 7 ส.ค. 64 พริษฐ์ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า พริษฐ์จะเดินทางเข้าไปมอบตัวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติในวันที่ 8 ส.ค. 64 หลังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยติดตามพริษฐ์ และพบว่านักกิจกรรมหลายรายถูกติดตาม เช่น พรหมศรได้รับหมายจับดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 ส.ค. 64 แต่ยังไม่ถูกจับกุม และสิริชัยถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไปหาที่หอพักในมหาวิทยาลัย และมีรถยนต์ที่มีเลขทะเบียนตรงกันกับรถที่เจ้าหน้าที่เคยใช้ในวันที่สิริชัยถูกจับกุมในคดีมาตรา 112 เมื่อช่วงต้นปี 64 มาจอดอยู่

ต่อมา ในวันดังกล่าว (8 ส.ค. 64) ก่อนเวลาที่พริษฐ์นัดหมายเพื่อเข้ามอบตัวที่ สตช.​ เวลา 12.58 น. ณัฐชนนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุม โดยแสดงหมายจับจากศาลจังหวัดธัญบุรี 469/2564 บริเวณด้านหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขณะกำลังเดินทางไปเข้ามอบตัว ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะควบคุมไปที่ สภ.คลองห้า 

เวลา 13.10 น. พริษฐ์และสิริชัย เดินทางเข้ามอบตัว ก่อนที่พริษฐ์ได้ปราศรัยกับมวลชนที่มายืนคอยให้กำลังใจ โดยยืนยันว่าตนไม่ได้ทำอะไรผิด และเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตย เรียกร้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน อีกทั้งยังได้ประกาศนัดหมายว่าในวันที่ 10 ส.ค. 64 กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจะจัดกิจกรรม #คาร์ม็อบ ที่บริเวณแยกราชประสงค์

ก่อนพริษฐ์จะกล่าวปิดท้ายและเข้ามอบตัว “หากโชคดีวันที่ 10 ก็จะเจอกับผม หากโชคไม่ดีก็รอเจอกันที่ปลายทาง” 

เมื่อทั้งสองปรากฏตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวนจึงแสดงหมายจับ โดยพริษฐ์ถูกแสดงหมายจับศาลที่ 468/2564 และสิริชัยถูกแสดงหมายจับศาลที่ 475/2564 

นอกจากพริษฐ์และสิริชัย พรหมศรได้เดินทางเข้ามอบตัวเช่นกัน ก่อนที่เจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวนได้แสดงหมายจับศาลจังหวัดธัญบุรีที่ 473/2564 หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวผู้ถูกจับกุมเข้าไปยังภายในรั้วสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจกันไม่ให้มวลชนที่มาหากำลังใจเข้ามาภายในรั้ว สตช. จากนั้น ในเวลา 14.40 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวทั้งสาม ไปที่ สภ.คลองห้า โดยมีทนายความร่วมเดินทางด้วย

วันนี้ (9 ส.ค. 64) เวลา 11.30 น. นักกิจกรรมอีก 4 ราย ได้แก่ “ปูน” ธนพัฒน์, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, ชาติชาย แกดำ และ “ต๋ง” ปนัดดา เดินทางมามอบตัวที่สภ.คลองห้า โดยมีการตั้งลวดหนามหีบเพลงบริเวณหน้าสภ. และมีเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนตรึงกำลังอยู่โดยรอบ

.

ภาพจากทวิตเตอร์ภาณุพงศ์ หน้าสภ.คลองห้า วันนี้

.

พฤติการณ์แห่งคดีและข้อกล่าวหา อ้างร่วมกันใช้กำลังขู่เข็ญเจ้าหน้าที่ 

สำหรับบันทึกการจับกุมกลุ่มผู้เข้ามอบตัววันที่ 8 ส.ค. 64 ระบุพฤติการณ์ในการจับกุมว่า การจับกุมเกิดขึ้นภายใต้การอำนวยการและการสั่งการของ พล.ต.ท.อำพล บัวรับพร  ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 

พฤติการณ์ตามที่ถูกกล่าวหาโดยสรุปว่า สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 2 ส.ค. 64 เจ้าหน้าที่ตํารวจกองบัญชาการตํารวจนครบาล ได้จับกุม “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา กับพวก มาควบคุมที่กองบังคับการตํารวจตระเวนชายแดนภาค 1 ซึ่งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของ สภ.คลองห้า ต่อมาวันเดียวกัน (2 ส.ค. 64) พริษฐ์, ณัฐชนน, ปนัดดา, ภาณุพงศ์, ธนพัฒน์, พรหมศร, ชาติชาย และสิริชัย เป็นแกนนําหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการให้มีการ มั่วสุมกันมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจํานวนมาก ตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้ายให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง 

พริษฐ์กับพวก มีการสลับกันขึ้นพูดปราศรัยบนรถที่มีเครื่องขยายเสียงโดยไม่มีการขออนุญาต มีการพูดปลุกเร้า กดดันให้เจ้าหน้าที่ตํารวจปล่อยตัวจตุภัทร์กับพวกที่ถูกจับกุมและควบคุมตัวอยู่ภายใน บก.ตชด. ภาค 1  และมีการก่อความวุ่นวายโดยใช้รถยนต์ปิดกั้นถนนลักษณะเป็นการขัดขวางการจราจร ทําให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายในบ้านเมือง ทั้งยังได้ปราศรัยโจมตีการทํางานของเจ้าหน้าที่และรัฐบาล

เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาผู้ถูกจับกุมว่าได้กระทำความผิดรวม 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่

  1. มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยผู้กระทำผิดเป็นหัวหน้า หรือ เป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้น
  2. ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ที่มีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 5 คน และฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดปทุมธานีเรื่องมาตรการป้องกันและการควบคุมการแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019
  3. ข้อหาตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6) ร่วมกันกระทำการหรือดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุ ให้โรคติดต่ออันตรายหรือแพร่ระบาดออกไป

แต่ละคนยังถูกแจ้งข้อหาอื่นๆ เพิ่มเติมอีกดังนี้

พรหมศรและพริษฐ์ ถูกเพิ่ม 1 ข้อหา ได้แก่ ร่วมกันทําการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมถูกแจ้งข้อหาทั้งหมด 4 ข้อหา 

ด้านสิริชัย ถูกแจ้งเพิ่ม 2 ข้อหา ได้แก่ ร่วมกันทําร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ และร่วมกันทําให้เสียทรัพย์ ทำให้สิริชัยถูกแจ้งข้อหารวม 5 ข้อหา

ส่วนณัฐชนน ถูกแจ้งข้ออีก 3 ข้อหา ได้แก่ ร่วมกันทําการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันทําร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่ จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ และร่วมกันทําให้เสียทรัพย์ ทำให้ณัฐชนนถูกดำเนินคดีรวม 6 ข้อหา 

สำหรับบันทึกการจับกุมระบุพฤติการณ์ในการจับกุมว่าพริษฐ์ สิริชัย และพรหมศร ได้มาที่บริเวณที่จับกุม จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมจึงทำการตรวจสอบ ปรากฏว่าทั้งสามเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับข้างต้นจริงและไม่เคยถูกจับดำเนินคดีตามหมายจับมาก่อน เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงทำการแจ้งสิทธิและจับกุมตัวนำส่งพนักงานสอบสวน สภ.คลองห้า เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป 

มีเพียง ณัฐชนน ที่ถูกระบุพฤติการณ์ในการจับกุมว่า มีพฤติการณ์ หลบหนี มาที่บริเวณที่จับกุม หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่แสดงตัวพร้อมแสดงหมายจับ ก่อนนำตัวส่งไปที่ สภ.คลองห้า เพื่อนำตัวไปทำบันทึกจับกุมและสอบปากคำต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในชั้นสอบสวนผู้ถูกจับกุมทั้งสี่ราย ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดย ณัฐชนน ปฎิเสธลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม ส่วน พริษฐ์, สิริชัย และพรหมศร ได้ลงลายมือ พร้อมเขียนระบุว่า “ข้าพเจ้ามิได้หลบหนี ได้ประกาศสาธารณะว่าจะมามอบตัว และได้มาตามที่ประกาศไว้”

กระทั่งเวลา 16.45 น. วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งหมดขึ้นรถตู้ตำรวจออกยัง สภ.คลองห้า ไปยังกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 (บก.ตชด. ภาค1) ที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 1 กิโลเมตร เพื่อสอบปากคำ

ทว่า ที่บก.ตชด.1 พนักงานสอบสวนไม่อนุญาตให้ผู้ไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบสวน ตามสิทธิของผู้ต้องหา แม้พริษฐ์, สิริชัย และพรหมศรได้ร้องขอให้ตำรวจอนุญาต และยืนยันสิทธิของตน แต่พนักงานสอบสวนยังไม่ยอมให้ผู้ไว้วางใจเข้ามา ทั้งสามจึงยืนยันไม่ร่วมกระบวนการสอบสวน จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ให้ผู้ไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบสวนในที่สุด

ต่อมา ทั้ง 4 คนได้ถูกควบคุมตัวที่ บก.ตชด. ภาค 1 เป็นเวลา 1 คืน 

ก่อนที่ในเช้าวันนี้ นักกิจกรรมอีก 4 ราย จะเข้ามอบตัวเพิ่มเติม โดยที่ชาติชายและธนพัฒน์ถูกแจ้งข้อกล่าวหา 4 ข้อหา เช่นเดียวกับพริษฐ์และพรหมศร ส่วนปนัดดาและภาณุพงศ์ถูกแจ้งข้อกล่าวหา 6 ข้อหา เช่นเดียวกับณัฐชนน

.

ไม่ให้ประกันนักกิจกรรม 9 ราย ระบุ ผู้ต้องหากระทำการโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย

ในช่วงบ่ายวันนี้ พนักงานสอบสวนสภ.คลองห้า ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังนักกิจกรรมทั้งหมด 9 ราย ต่อศาลจังหวัดธัญบุรี ด้านทนายความได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง และขอให้ไต่สวนพนักงานสอบสวน

ขณะเดียวกันทนายความก็ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวเตรียมไว้ โดยขอใช้ตำแหน่งนักวิชาการ 4 ราย และสมาชิกผู้แทนราษฎรอีก 3 ราย ในวงเงิน 50,000 บาท ในการประกันตัวนักกิจกรรม 8 ราย ส่วนแซมวางหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 50,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ 

เวลา 18.15 น. ศาลไต่สวนคำร้องค้ดค้านฝากขังเสร็จสิ้น

จนกระทั่งเวลา เวลา 19.20 น. ทนายความและพริษฐ์ได้รับแจ้งว่านายชนาธิป เหมือนพะวงศ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้ส่งหนังสือแจ้งคำสั่งเพิกถอนประกันของพริษฐ์ ชิวารักษ์ ในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร มายังผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี ให้ศาลจังหวัดธัญบุรีแจ้งคำสั่งดังกล่าวแก่นางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ ผู้ประกัน และให้ส่งตัวจำเลยต่อศาลอาญาภายใน 3 วัน หลังทราบคำสั่งนี้

คำสั่งดังกล่าวระบุว่า พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 ได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนประกันพริษฐ์ลงวันที่ 6 ก.ค. 64 และคำร้องเพิ่มเติมลงวันที่ 9 ส.ค. 64 โดยนายชนาธิปได้พิจารณาคำร้องขอเพิกถอนประกันตามคำร้อง และพิเคราะห์ว่ากรณีมีภาพของพริษฐ์ถือพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 10 ในลักษณะกลับหัว พร้อมข้อความ “ด้วยรักและฟักยู  28 กรกฎา ร่วมใจใส่ชุดดำ” กับข้อเท็จจริงตามแนบคำร้องของพนักงานอัยการ 

การกระทำของพริษฐ์มีเจตนาด้อยค่า ลดคุณค่าขององค์พระมหากษัตริย์ และจะมีผลเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขศาล จึงให้เพิกถอนประกันพริษฐ์ โดยไม่จำเป็นต้องทำการไต่สวนเพื่อหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอีก เนื่องจากข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานนั้นรับฟังได้อย่างชัดแจ้ง

ต่อมาเวลา 21.00 น. ศาลจังหวัดธัญบุรีได้มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา โดยเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งหมดตามหมายจับ คดีมีหลักฐานตามสมควรว่าผู้ต้องหาน่าจะได้กระทำความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี และเมื่อมีเหตุจำเป็นที่จะสอบสวน พนักงานสอบสวนชอบที่จะยื่นคำร้องขอฝากขังได้ 

จากนั้นเวลา 21.40 น. ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาในคดีนี้ทั้ง 9 ราย ศาลพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า ตามข้อกล่าวหาผู้ต้องหาได้กระทําการโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ทั้งไม่คํานึงถึงความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวมในภาวะที่เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ในวงกว้าง 

ศาลยังระบุว่าผู้ต้องหาอยู่ระหว่างถูกดําเนินคดีอื่นอันเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าผู้ต้องหาไม่ยําเกรงต่อกฎหมาย หากปล่อยชั่วคราวไปเชื่อว่าผู้ต้องหาจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1(3) ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว จึงไม่มีเหตุที่จะปล่อยชั่วคราวระหว่างสอบสวน ให้ยกคําร้อง 

คำสั่งไม่ให้ประกันนี้ทำให้ในคืนนี้ผู้ต้องหาทั้งหมดจะถูกควบคุมตัวไปยังเรือนจำอำเภอธัญบุรีทันที

เวลา 22.10 น. ผู้ต้องหาทั้ง 9 ราย ไม่ยินยอมขึ้นรถควบคุมตัวไปเรือนจำเพื่ออารยะขัดขืนต่อคำสั่งไม่ให้ประกันในวันนี้ ด้านเจ้าหน้าที่ราชฑัณฑ์จึงให้ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้าควบคุมตัวผู้ต้องหาที่ห้องเวรชี้ไปขึ้นรถ ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ยังได้ถ่ายภาพญาติของผู้ต้องหาขณะยืนรออยู่ด้านหน้าห้องขังอีกด้วย

.

อนึ่ง คดี #ม็อบ2สิงหา มูลเหตุสืบเนื่องมาตั้งแต่ วันที่ 1 ส.ค. 64 หลังเจ้าหน้าที่ได้จับกุมตัวนักกิจกรรมและประชาชนจำนวน 9 ราย จากกลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี ระหว่างเดินทางไปร่วมชุมนุม #ม็อบ1สิงหา หรือ #CarMob โดยได้ดำเนินคดีกับกลุ่มคนรุ่นใหม่นนทบุรีจำนวน 7 ราย ด้วยข้อหาหลัก ร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และนำตัวผู้ต้องหาทั้ง 7 รายไปควบคุมยังกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน (บก.ตชด.) ภาค 1 

ต่อมา กลุ่ม “ราษฎร” พร้อมรถเครื่องเสียง เดินทางมายัง บก.ตชด. พร้อมปราศรัยกดดันให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมจากเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี 7 ราย จนกระทั่งช่วงค่ำของวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจดักจับกุมเจ้าของและคนขับรถปราศรัยในคาร์ม็อบของกลุ่ม “ราษฎร” คันดังกล่าวพร้อมทีมงานทั้งหมด 3 ราย ก่อนนำตัวไปที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ภายในสโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดีรังสิต

ต่อมาวันที่ 2 ส.ค. 64 กลุ่มทะลุฟ้ารวมตัวกันทำกิจกรรม “ปล่อยเพื่อนเรามา คืนประชาธิปไตย” ที่หน้าสโมสรตำรวจ เพื่อเรียกร้องให้ตำรวจปล่อยตัวคนขับรถปราศรัยในคาร์ม็อบของกลุ่ม “ราษฎร” คันดังกล่าว พร้อมคืนเครื่องเสียงทั้งหมดที่ยึดไป

ก่อนที่ผู้ชุมนุมทั้ง 32 ราย จะถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมขึ้นรถควบคุมตัวผู้ต้องหา โดยที่ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาและไม่ได้แจ้งว่าผู้ที่ถูกจับกุมจะถูกนำตัวไปยังที่ใด ก่อนที่ทั้งหมดจะถูกควบคุมตัวมาที่ บก.ตชด. ภาค 1 ในวันเดียวกันนั้น  “เพนกวิน” พริษฐ์ และนักกิจกรรมรายอื่นๆ พร้อมมวลชน จึงได้ติดตามไป เพื่อเรียกร้องเจ้าหน้าที่ให้ปล่อยกลุ่มทะลุฟ้าที่ถูกจับกุม

ย้อนอ่านลำดับเหตุการณ์ #ม็อบ2สิงหา: ปล่อยเพื่อนเรา ที่ Mobdata Thailand

.

X