ประมวลเหตุการณ์จับกุม 31 ผู้ชุมนุมกลุ่ม ทะลุฟ้า + 1 เยาวชน / ชุมนุมหน้า บก. ตชด. ภาค 1 ตร. รวบ นศ. มธ. เหตุผลักดันกับ คฝ. ก่อนทั้งหมดได้ประกัน วางเงินประกันรวม 3,100,000 บาท

3 สิงหาคม 2564 หลังการจับกุมผู้ชุมนุมกลุ่ม “ทะลุฟ้า” รวม 32 ราย ที่หน้าสโมสรตำรวจวานนี้ (2 สิงหาคม 2564) ในจำนวนนี้เป็นเยาวชน 1 ราย และนำไปควบคุมตัวที่กองบัญชาตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 (บก. ตชด. ภาค 1) จ.ปทุมธานี 30 ราย อีก 2 ราย นำตัวไปที่ สน.สุทธิสาร หลังเป็นลมขณะถูกจับกุมและถูกส่งตัวไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ ในวันนี้พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง ได้ขอฝากขออำนาจศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางฝากขังผู้ต้องหา รวม 31 ราย ผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ก่อนศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง 

ต่อมา ทนายความผู้ต้องหาทั้ง 31 ราย ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้ตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเป็นหลักประกัน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ศาลได้แจ้งว่า ผู้ที่สามารถเป็นนายประกันได้จะต้องเป็นผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา หรือมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องทางสายเลือดกับผู้ต้องหา ในกรณีที่เป็น ส.ส. จะต้องเป็น ส.ส. ในเขตพื้นที่อยู่อาศัยของผู้ต้องหา ทนายความจึงได้เสนอหลักทรัพย์ประกันเป็นเงินสด  

ราว 16.00 น. ภคเชษ มีพันลม ผู้พิพากษาทยอยมีคำสั่งปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาจนครบทุกราย กำหนดวงเงินประกันรายละ 100,000 บาท พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไข ห้ามผู้ต้องหาก่อความวุ่นวายหรือกระทำกิจกรรมในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหา และห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากศาล โดยผู้ต้องหาทุกคนจะต้องมาเซ็นสัญญาประกันตัวเองในวันพรุ่งนี้ (4 สิงหาคม 2564) ศาลกำหนดนัดให้มารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 16 สิงหาคม 2564

ทั้งนี้ ทนายความได้ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์วางเป็นหลักประกัน รวมเป็นเงินประกันทั้งสิ้น 3,100,000 บาท จากนั้นทั้งหมดถูกนำตัวไปยัง สน. ทุ่งสองห้อง และได้รับการปล่อยตัวในเวลาราว 16.30 น.

เหตุที่พนักงานสอบสวนขออำนาจฝากขังจากศาลอาญาคดีทุจริตฯ เนื่องจากคดีนี้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาผู้ถูกจับกุมทั้ง 31 คนว่า “ร่วมกันข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 139 ซึ่งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 3 (3) กำหนดให้คดีอาญาที่ฟ้องให้ลงโทษบุคคลในความผิดเกี่ยวกับการใช้กําลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย หรือใช้อิทธิพลเพื่อจูงใจหรือข่มขืนใจให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทําการ ไม่กระทําการ หรือประวิงการกระทําใด ตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่น เป็นคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอาญาคดีทุจริตฯ (เพิ่มเติมเนื้อหาเวลา 10.45 น. วันที่ 4 สิงหาคม 2564)

.

ในส่วนของ กัน (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 17 ปี 1 ราย ซึ่งได้รับการปล่อยตัวจาก บก.ตชด.ภาค 1 เมื่อคืนนี้ เช้าวันนี้เวลาประมาณ 10.00 น. กันพร้อมที่ปรึกษากฎหมายได้เดินทางไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อให้ศาลตรวจสอบการจับกุม ขณะที่พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ในระหว่างสอบสวน 

ต่อมา ศาลได้ดำเนินกระบวนพิจารณาตรวจสอบการจับโดยวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยสอบถามผู้ต้องหาว่า ขณะจับกุม เจ้าหน้าที่ดำเนินการอย่างไร กันแถลงด้วยตนเองว่าเจ้าหน้าที่จับโดยใช้กำลังทำให้ตนได้รับบาดเจ็บ พร้อมทั้งแถลงว่า ปัจจุบันพักอาศัยอยู่กับยายและป้า แต่เนื่องจากยายและป้าติดธุระ ไม่สามารถมาประกันตัวได้ ผู้ต้องหาจึงให้พี่ที่เป็นคนรู้จักกับตนและครอบครัวมาเป็นผู้ประกัน 

หลังการสอบถาม ศาลมีคำสั่งว่า เจ้าหน้าที่จับโดยชอบด้วยกฎหมาย และให้ควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ตามที่พนักงานสอบสวนร้องขอ ผู้ปกครองจึงยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่ต้องวางหลักประกัน หากผิดสัญญาให้ปรับผู้ประกัน 5,000 บาท และนัดให้กันไปพบพนักงานคุมประพฤติ สถานพินิจฯ บางนา ในวันที่ 11 สิงหาคม 2564 เวลา 9.30 น. 

นอกจากการจับกุมผู้ชุมนุมหน้าสโมสรตำรวจรวม 32 ราย ดังกล่าวแล้ว ในการชุมนุมหน้า บก.ตชด.ภาค 1 เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมที่ถูกนำมาควบคุมตัวที่ บก.ตชด.ภาค 1 ในช่วงบ่ายวานนี้ ยังมีการจับกุม ปัณณพัทธ์ จันทนางกูล นักศึกษาธรรมศาสตร์อีก 1 ราย และควบคุมตัวอยู่ใน บก.ตชด.ภาค 1 ทั้งคืน โดยในวันนี้ ราว 9 โมงเช้า ทนายความได้เดินทางไปยังศาลจังหวัดธัญบุรีเพื่อยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาโดยไม่ต้องวางหลักประกัน 

อย่างไรก็ตาม ศาลระบุให้ใช้ตำแหน่งของ ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นหลักประกัน จากนั้น ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในเวลาราว 14.00 น. กำหนดนัดรายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 21 กันยายน 2564 เวลา 9.00 น.

.

ชุมนุมเรียกร้องปล่อยตัวทีมรถเครื่องเสียงหน้าสโมสรตำรวจ ก่อน 32 ผู้ชุมนุม ถูก คฝ.ใช้กำลังเข้าจับกุม ได้รับบาดเจ็บหลายราย

2 สิงหาคม 2564 – ภายหลังจากเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจดักจับกุมเจ้าของและคนขับรถปราศรัยในคาร์ม็อบของกลุ่ม “ราษฎร” พร้อมทีมงาน ทั้งหมด 3 ราย เมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 1 สิงหาคม 2564 โดยมีการนำตัวมาสอบสวนที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช. ปส.) ภายในสโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดี-รังสิต พร้อมยึดเครื่องเสียงไว้ 

ในช่วงราวตี 2 ของวันที่ 2 สิงหาคม เพจ “ทะลุฟ้า” จึงได้ประกาศนัดรวมตัวกันทำกิจกรรม “ปล่อยเพื่อนเรามา คืนประชาธิปไตย” ที่หน้าสโมสรตำรวจ ในเวลา 10.00 น. เพื่อเรียกร้องให้ตำรวจปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมทั้งสาม เมื่อถึงเวลานัดหมาย ทางกลุ่มผู้ชุมนุมได้มารวมตัวกัน พร้อมนำป้ายผ้าเขียนข้อความสะท้อนความล้มเหลวของรัฐบาล ขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ติดบริเวณทางเข้า บช. ปส. อีกทั้งยังนำสติ๊กเกอร์รูปล้อเลียน พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ติดบนป้าย บช. ปส. ด้วย โดย “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา แกนนำกลุ่ม “ทะลุฟ้า” ระบุว่า จะยุติกิจกรรมต่อเมื่อบุคคลที่ถูกควบคุมตัวจะได้รับการปล่อยตัว และจนกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะคืนเครื่องเสียงทั้งหมดที่ยึดไป 

ขณะที่ภายในสโมรสรตำรวจ มีการตั้งแผงเหล็กบริเวณทางเข้า พร้อมจัดกำลังเจ้าหน้าที่คุมฝูงชน (คฝ.) ส่วนหนึ่งดูแลความเรียบร้อย โดยตั้งแถวอยู่หลังแผงเหล็ก ไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับผู้ชุมนุมแต่อย่างใด ต่อมาในเวลาราว 11.00 น. ศาลแขวงดุสิตได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวทีมงานรถเครื่องเสียงทั้งสาม ทางกลุ่มทะลุฟ้าจึงได้ประกาศยุติกิจกรรม อย่างไรก็ตาม ราว 12.18 น. ตำรวจ คฝ. กลับเริ่มกระชับพื้นที่เข้าล้อมผู้ชุมนุม พร้อมประกาศให้สื่อมวลชนออกจากแนวตำรวจ ผู้ชุมนุมบางส่วนนั่งลงบนพื้นเพื่อแสดงถึงการอารยะขัดขืน ในขณะเดียวกันที่หน้าสโมสรตำรวจ มีการค้นตัวผู้ชุมนุม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่พกอุปกรณ์สำหรับการเรียนออนไลน์มาร่วมในการชุมนุมด้วย

สุดท้าย ทางกลุ่มทะลุฟ้าทั้งหมด รวมไปถึงผู้ชุมนุมคนอื่นในพื้นที่ ก็ได้ถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมขึ้นรถควบคุมตัวผู้ต้องหา โดยที่ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาและไม่ได้แจ้งว่าผู้ที่ถูกจับกุมจะถูกนำตัวไปยังที่ใด ทราบภายหลังว่ามีผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมด 32 คน เป็นเยาวชน 1 คน คาดว่าทั้งหมดจะถูกนำตัวไปที่ บก. ตชด. ภาค 1 จังหวัดปทุมธานี จาก Live ของเพจ ทะลุฟ้า รายงานสถานการณ์บนรถควบคุมตัวผู้ต้องหา หนึ่งในผู้ที่ถูกจับกุมระบุว่า เจ้าหน้าที่ได้ใช้สายเคเบิลไทร์รัดข้อมือผู้ถูกจับกุม มีผู้ชุมนุมหญิงรายหนึ่งได้รับความกระทบกระเทือนจากการที่เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงเข้าจับกุม มีอาการวิงเวียน หายใจไม่ออก ทำให้ผู้ชุมนุมคนอื่นต้องเข้ามาช่วยพัดเพื่อปฐมพยาบาลให้อาการดีขึ้น 

เพจทะลุฟ้ายังรายงานอีกว่า หนึ่งในผู้ถูกจับกุมที่เป็นลมนั้น ตำรวจได้นำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โดยมีเพื่อนร่วมเดินทางไปด้วยอีก 1 ราย เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลกล่าวว่า ต้องถาม ผอ.โรงพยาบาลว่าจะรับผู้ชุมนุมมารักษาได้หรือไม่ ต่อมา พยาบาลแจ้งว่า มีคนรอตรวจโควิดกว่า 300 คน จึงขอให้พาไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงประสานให้ไปที่โรงพยาบาลภูมิพล ก่อนที่จะเปลี่ยนเส้นทางไปโรงพยาบาลตำรวจแทน 

ภายหลังผู้ถูกจับกุม 30 ราย ถูกนำตัวไปถึง บก.ตชด.ภาค 1 และทนายความติดตามไปถึง พบว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บระหว่างการใช้กำลังเข้าจับกุมของเจ้าหน้าที่อย่างน้อย 4 ราย และในส่วนของเยาวชน พบว่า หลังถูกจับกุมก็ถูกมัดด้วยสายเคเบิลไทร์เช่นเดียวกับคนอื่นๆ

.

ชุมนุมหน้า บก.ตชด. ภาค 1 เรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มทะลุฟ้า – เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมหนึ่งในสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมุนม

ต่อมา ได้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านเพจทะลุฟ้าภายหลังการจับกุม ให้ระดมมวลชนมายังบริเวณด้านหน้าสโมสรตำรวจ โดยมีมวลชนจำนวนหนึ่งมาทำกิจกรรมเชิงสัญสักษณ์ มีการสาดสีแดงใส่ป้ายสโมสรตำรวจ ราว 15.00 น. ทางเพจทะลุฟ้าระบุเพิ่มเติมว่า ผู้ชุมนุมที่ถูกจับในวันนี้ได้ถูกพาตัวไปยัง บก. ตชด. ภาค 1 จังหวัดปทุมธานีแล้ว ทำให้ผู้ชุมนุมที่อยู่หน้าสโมสรตำรวจเดินทางไป บก. ตชด. ภาค 1 เพื่อไปสมทบกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่มาปักหลักเรียกร้องก่อนหน้าให้มีการปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมทั้งหมดภายในวันนี้ 

ราว 14.10 น. ที่ บก. ตชด. หลังจากที่ผู้ชุมนุมทั้ง 30 ราย เดินทางมาถึง เพจทะลุฟ้ารายงานว่า ทางเจ้าหน้าที่ได้พยายามเข้ายึดโทรศัพท์มือถือของผู้ที่ถูกจับกุมมา ราว 30 นาที ต่อมา ตำรวจ คฝ. ประะมาณ 20 นาย เริ่มตั้งแถวตรงสะพานข้ามคลองหน้า บก. ตชด. โดยใช้โล่ดันมวลชนที่มาเฝ้ารอติดตามการจับกุมเพื่อเคลียร์ทาง พร้อมกันนั้น ทราบว่าทางเจ้าหน้าที่ยังได้เข้าจับกุมนักศึกษา สมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ก่อนจะถูกนำตัวเข้าไปใน บก. ตชด. เช่นเดียวกัน

15.00 น. “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ได้ขึ้นปราศรัย ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประกาศว่า การชุมนุมดังกล่าวที่ด้านหน้า บก. ตชด. นั้นเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ, ประกาศของจังหวัดปทุมธานี, และ พ.ร.บ. ควบคุมโรคติดต่อฯ โดยเจ้าหน้าที่ได้อ่านประกาศทั้งหมด 4 ครั้ง ตลอดการชุมนุม ผู้ชุมนุมยังคงเดินทางมาเรื่อยๆ มีการสาดสีใส่โล่ของตำรวจ คฝ. ที่ยืนตรึงกำลังอยู่พร้อมทั้งราดน้ำปลาใส่ การชุมนุมดำเนินไปจนถึงเวลา 17.20 น. ท่ามกลางวงล้อมของเจ้าหน้าที่ คฝ. ก่อนที่เพนกวินจะประกาศยุติการชุมนุม พร้อมนัดแนะกับผู้ชุมนุมให้เดินทางมาร่วมในการชุมนุมของวันต่อไป ซึ่งจะจัดที่สี่แยกปทุมวัน

ขณะเดียวกันผู้ถูกจับกุมทั้ง 30 ราย ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการสอบสวนที่ บก.ตชด.ภาค 1 ต่อพนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่ผู้จับกุม ระบุ ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวผู้ถูกจับกุมทั้งหมดไปดำเนินการสอบสวนที่ สน. ทุ่งสองห้อง ซึ่งเป็น สน. ที่รับผิดชอบในพื้นที่เกิดเหตุ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 และ 84 ผู้ต้องหาทั้งหมดยังระบุว่าอีกว่า พวกตนไม่ยินยอมให้ทำการสอบสวนที่ บก. ตชด. ภาค 1 หากยังคงเดำเนินการสอบสวนต่อไปที่ บก. ตชด. ย่อมทำให้ผู้ต้องหาได้รับความเสียหาย ถือเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ถูกจับกุม อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

.

เปิดบันทึกจับกุม เหตุชุมนุมหน้า บช.ปส. – จับ นศ. ธรรมศาสตร์ หน้า บก. ตชด. ภาค 1

สำหรับบันทึกการจับกุมในคดีของกลุ่มทะลุฟ้า ระบุว่า ชุดจับกุมประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน. ทุ่งสองห้อง 4 นาย นำโดย พ.ต.อ. ภูวไนย เสนาวุธ ผกก. (สอบสวน) บก.น. 5 รรท.ผกก.สน. ทุ่งสองห้อง และ พ.ต.ท. ณัฐพงษ์ พินิจ รอง ผกก.สส.สน.ทุ่งสองห้อง และเจ้าหน้าที่ชุดคุมฝูงชนอีก 15 ราย

ในส่วนของเนื้อหาการจับกุม ระบุว่าคดีนี้มีผู้ต้องหาทั้งหมด 29 ราย ทั้งหมดถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 139 “ร่วมกันข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย” และฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ  

ส่วนพฤติการณ์การจับกุม ระบุว่า ก่อนทําการจับกุมผู้ต้องหา เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตํารวจได้ทําการจับกุมตัวผู้ต้องหาที่เข้าร่วมชุมนุมคาร์ม็อบซึ่งมาร่วมชุมนุมเพื่อขับไล่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และได้นํามาควบคุมไว้ที่ บช.ปส. ต่อมาวันนี้ (2 สิงหาคม 2564) ได้มีกลุ่มของผู้ต้องหา (กลุ่มทะลุฟ้า) นัดรวมตัวกันที่หน้า บช.ปส.เพื่อมาชุมนุม และข่มขู่กดดันพนักงานสอบสวน สน.สําราญราษฎร์ ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวอยู่

ต่อมา ผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ บช.ปส.นั้นพนักงานสอบสวนได้นําตัวไปยื่นคําร้องขอผัดฟ้องฝากขังต่อศาล จากนั้นศาลได้มีคําสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกันไปแล้ว แต่กลุ่มผู้ชุมนุมก็ยังคงชุมนุมกดดันพนักงานสอบสวน สน.สําราญราษฎร์ ให้คืนรถบรรทุก 6 ล้อและเครื่องขยายเสียงซึ่งเป็นของกลางในคดี จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมได้พยายามที่จะเข้าไปใน บช.ปส. เพื่อเอาของกลาง เจ้าหน้าที่ตํารวจจึงได้ประกาศและสั่งให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยุติการชุมนุม 

จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมได้นําสีที่ได้เตรียมมาสาดใส่รั้วประตูของ บช.ปส. เจ้าหน้าที่ตํารวจจึงได้ทําการจับกุมตัว เพื่อส่ง สน.ทุ่งสองห้อง ดําเนินคดีตามกฎหมาย แต่เนื่องจากได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง ว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนเดินทางเข้าไปยังที่ สน.ทุ่งสองห้อง เกรงว่าจะมีการปิดล้อม และกดดันให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา และอาจมีการก่อเหตุร้ายขึ้น จึงขอให้นําตัวผู้ต้องหาทั้งหมดไปส่งที่ บก.ตชด.ภาค 1 จังหวัดปทุมธานี ซึ่งได้ขอไว้เป็นที่ทําการของพนักงานสอบสวน

หลังจากรับทราบข้อกล่าวและบันทึกการจับกุม ผู้ต้องหาทั้ง 29 ราย ให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ลงชื่อในบันทึกจับกุม 

กรณีเยาวชน ตำรวจได้แยกบันทึกจับกุม โดยระบุข้อกล่าวหาและพฤติการณ์ในการจับกุมเช่นเดียวกัน โดยภายหลังทำบันทึกจับกุม ตำรวจได้ปล่อยตัว และนัดหมายให้เดินทางไปที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเพื่อตรวจสอบการจับกุมในวันต่อมา 

ในส่วนของผู้ถูกจับกุม 2 ราย ที่ถูกนำตัวส่ง รพ. ตำรวจ หลังจากรักษาตัว ทางเจ้าหน้าที่ได้นำตัวต่อไปยัง สน. สุทธิสาร เพื่อทำบันทึกจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาในช่วง 19.00 น. โดยพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้องได้อ่านบันทึกจับกุม และแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 139 “ร่วมกันพยายามข่มขืนใจเจ้าพนักงานฯ” และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เช่นเดียวกัน

ทั้งสองให้การปฏิเสธ และไม่ลงชื่อในบันทึกการจับกุมเช่นเดียวกันกับคนอื่นๆ จากนั้น ทั้งสองถูกควบคุมตัวไว้ที่ สน.สุทธิสาร เป็นเวลา 1 คืน ระหว่างรอพนักงานสอบสวนขออำนาจศาลฝากขังในเช้าวันรุ่งขึ้น

+++++++++++++++++++++

สำหรับบันทึกการจับกุมของนักศึกษา ปัณณพัทธ์ จันทนางกูล จากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งถูกจับกุมเพราะเข้าไปผลักดันกับทางเจ้าหน้าที่ที่ด้านหน้าของ บก. ตชด. ภาค 1 มีเนื้อหาระบุว่า เป็นการจับกุมภายใต้การสั่งการของ พล.ต.ต. ชยุต มารยาทตร์ ผบก.ภ.จว. ปทุมธานี, พ.ต.อ. ฤทธินันท์ ปุ้ยพันธวงศ์ รอง ผบก.ภ.จว. ปทุมธานี และ พ.ต.อ. อำนวยพันธ์ นิลน้อย ผกก.สภ.คลองห้า โดยมีผู้ปฏิบัติการคือเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ. คลองห้าจำนวน 9 นาย  

ปัณณพัทธ์ถูกกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศเรื่องการชุมนุมออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และฝ่าฝืน พ.ร.บ. โรคติดต่อฯ มาตรา 34(6) 

ในส่วนของพฤติการณ์การจับกุม ระบุว่า ด้วยเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 เจ้าพนักงานตํารวจ กองบัญชาการตํารวจนครบาล ได้จับกุมผู้ต้องหา จํานวน 30 คน มาควบคุมตัวที่ บก.ตชด. ภาค 1 ซึ่งอยู่พื้นที่รับผิดชอบ ของ สภ. คลองห้า ต่อมา ได้มีกลุ่มบุคคลมารวมกลุ่มกันเรียกร้องให้ทําการปล่อยตัวผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม และได้รวมกลุ่มกันชุมนุมทํากิจกรรมมั่วสุมกันเป็นจํานวนมากที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดเชื้อโรค และได้มีการเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมใน บก.ตชด. ภาค 1

ต่อมา เจ้าพนักงานตํารวจได้แสดงตัว พร้อมได้แจ้งให้ผู้ชุมนุมทราบว่า การกระทําดังกล่าวเป็นความผิด แต่กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องยังมีพฤติการณ์ในการกระทําผิด เจ้าพนักงานตํารวจจึงได้ร่วมกันทําการจับกุม ได้ตัวผู้ถูกจับ ทราบชื่อภายหลังคือ นายปัณณพัทธ์ จันทนางกูล อายุ 20 ปี ส่วนผู้ร่วมกระทําความผิดอื่นได้วิ่งหลบหนี จึงได้ควบคุมตัวแจ้งข้อกล่าวหา

ปัณณพัทธ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาทั้งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน พร้อมทั้งไม่ลงชื่อในบันทึกจับกุม

.

คำร้องขอประกัน 31 ผู้ต้องหา คดีชุมนุมหน้า บช.ปส. ยืนยันเป็นการเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ ไม่ใช่อาชญากรรมร้ายแรง

สำหรับเนื้อหาในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ชุมนุมหน้า บช.ปส. 31 ราย มีเนื้อความระบุว่า พฤติการณ์แห่งคดีเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 44 ไม่ปรากฏความวุ่นวายหรือเสียหายต่อทรัพย์สิน เป็นเรื่องการใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคล ไม่ได้เป็นอาชญากรรมร้ายแรง ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง อีกทั้งสถานที่ในการชุมนุมมีลักษณะโปร่งโล่ง ไม่แออัด มีมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ไม่สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค

นอกจากนี้ ผู้ร้องยังมีที่อยู่เป็นถิ่นฐานชัดเจน ไม่ปรากฏในพฤติการณ์คดีว่า ผู้ต้องหาไม่ให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวน หรือไม่มาตามหมายนัดของพนักงานสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66 ย่อมต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ผู้ร้องยังเป็นบุคคลธรรมดา ยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานไม่ได้ ซึ่งทั้งหมดพนักงานสอบสวนได้รวบรวมไว้หมดแล้ว หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัว ย่อมไม่ก่ออุปสรรคต่อการดำเนินคดี

ผู้ต้องหาขอยืนยันว่า ตนเป็นเพียงผู้ที่ถูกกล่าวหา ยังไม่ได้ผ่านการพิพากษาโดยศาล การถูกกล่าวหาในคดีอาญาไม่ใช่เหตุผลเบ็ดเสร็จว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์จะหลบหนี ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคี การสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาเป็นหลักการที่ถูกรับรองไว้ในข้อที่ 14(1) สอดคล้องกับปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อที่ 11(1) ในบัญญัติข้อที่ 50 ของ ICCPR ยังระบุว่า กติกานี้จะมีผลครอบคลุมทุกภาคส่วนของรัฐ ไม่มีข้อยกเว้น

หากผู้ต้องหาไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จะทำให้ผู้ต้องหาได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากเวลานี้กำลังเกิดสถานการณ์โรคระบาด ทำให้ร้านค้าต่างๆ ต้องปิดตัวลง ผู้ต้องหาบางส่วนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ บางส่วนยังเป็นนักศึกษา การหาหลักทรัพย์มาประกันจึงเป็นภาระ ทั้งพฤติการณ์แห่งคดีนี้ไม่ได้ร้ายแรง ผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์ใดๆ ที่จะก่ออุปสรรคต่อการดำเนินคดี สมควรให้ปล่อยชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108, ข้อบังคับของประธานศาลฏีกาเกี่ยวกับการเรียกประกันและหลักประกันการปล่อยชั่วคราว และระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม

เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด 19 ได้มีแนวปฏิบัติของประธานศาลฏีกา เพื่อไม่ให้เกิดความแออัดในที่คุมขัง ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ไม่เคยถูกคุมขังมาก่อน ศาลอาจพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่หรือเงื่อนไขอื่นใด เช่น การใช้กำไล EM, จำกัดการเดินทางของผู้ต้องหาหรือจำเลย, หรือกำกับแต่งตั้งผู้ดูแล ทั้งยังปรากฏว่า ขณะนี้ มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า มียอดผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก โดยในวันที่ 2 สิงหาคม ล่าสุด ปรากฏว่ามีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเกือบ 18,000 ราย แสดงว่าสถานการณ์ยกระดับรุนแรงขึ้น อีกทั้งยังมีผู้ติดเชื้อในเรือนจำจำนวนมาก หากไม่ได้รับการปล่อยตัวอาจทำให้ผู้ต้องหาสุ่มเสี่ยงกับการติดเชื้อโควิดในเรือนจำ

.

คำร้องขอประกันเยาวชน 17 ปี ระบุ ผู้ต้องหาเป็นเพียงเยาวชน ไม่ได้มีพฤติการณ์สุ่มเสี่ยงตาม ป.วิ.อาญาฯ มาตรา 180/1 

คำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว กัน เยาวชนอายุ 17 ปี ระบุว่า พฤติการณ์การกล่าวหาของพนักงานสอบสวนเป็นการกล่าวหาฝ่ายเดียว ยังไม่ผ่านการพิจารณาโดยศาล ไม่มีลักษณะเป็นอาชญากรรมร้ายแรง กลับกัน ในการควบคุมตัวร่วมกับผู้ต้องหาผู้ใหญ่ มีการใส่เครื่องพันธนาการเป็นสายเคเบิลไทร์ และไม่แจ้งสิทธิผู้ถูกจับซึ่งเป็นเยาวชน จนผู้ต้องหาได้รับอาการบาดเจ็บทางร่างกายและจิตใจ

นอกจากนั้น ผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี เป็นเพียงนักเรียน ไม่ได้มีพฤติการณ์ที่อาจเป็นภัยต่อบุคคลอื่น ไม่ได้มีอิทธิพลยุ่งเกี่ยวกับหลักฐาน ทั้งผู้ต้องหายังไม่เคยมีประวัติอาชญากรรมมาก่อน หากไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ต้องเข้าที่คุมขัง ก็อาจสุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิดซึ่งกำลังระบาดอยู่ในที่คุมขัง อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตผู้ต้องหา

อีกทั้งตามบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา ไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์ใดที่จะเข้าเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 180/1 ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยตัว ขอให้ศาลใช้ดุลยพินิจพิจารณาคำร้องโดยยึดถือหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุด ตามความในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 29 วรรค 2

.

คำร้องขอประกัน นศ. มธ. ชี้หากถูกขัง อาจเสียสิทธิในการเข้าถึงการศึกษา – เสี่ยงต่อการติดโรค

สำหรับเนื้อหาในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวปัณณพัทธ์ ระบุโดยเท้าความว่า คดีนี้ ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่าร่วมกับพวกที่ยังหลบหนี กระทำความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุม ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ. โรคติดต่อฯ มาตรา 34(6) ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เนื่องจากผู้ต้องหาไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา ประสงค์จะสู้คดี และจะนำพยานบุคคลและพยานเอกสารเพื่อนำเสนอต่อศาลในการสู้คดีอีกด้วย

ผู้ต้องหาเรียนว่า พฤติการณ์ตามที่พนักงานสอบสวนกล่าวหา เป็นคดีความที่เกิดจากการใช้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 รวมถึงสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นสาธารณะ บริเวณที่เกิดเหตุเป็นสะพานข้ามคลองหน้า บก. ตชด. ภาค 1 ไม่ใช่พื้นที่แออัด มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโดยการใส่หน้ากาก

ในคดีนี้ หากผู้ต้องหาไม่ได้รับการปล่อยตัวจะทำให้ผู้ต้องหาได้รับความเสียหายร้ายแรง กล่าวคือ ผู้ต้องหายังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำลังอยู่ในระหว่างเล่าเรียน มีภาระหน้าที่ที่ต้องเข้าเรียน สอบ และทำรายงาน หากถูกฝากขังจะไม่สามารถเข้าเรียนได้ตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด เป็นการกระทบต่อสิทธิในการศึกษา

พยานหลักฐานในคดีนี้ล้วนอยู่ในความครอบครองของพนักงานสอบสวน ผู้ต้องหาไม่สามารถเข้าไปยุ่งเหยิงกับหลักฐานได้ นอกจากนั้น ผู้ต้องหายังเพียงแค่ถูกกล่าวหาเท่านั้น ยังไม่ผ่านการพิพากษาว่ากระทำผิด ไม่ได้เป็นเหตุผลเบ็ดเสร็จว่าจะหลบหนีหรือก่ออุปสรรคในการสืบสวน

เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด 19 ได้มีแนวปฏิบัติของประธานศาลฏีกา เพื่อไม่ให้เกิดความแออัดในที่คุมขัง ศาลอาจพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ทั้งยังปรากฏว่า ขณะนี้ มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า มียอดผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก และมีผู้ติดเชื้อในเรือนจำ หากไม่ได้รับการปล่อยตัวอาจทำให้ผู้ต้องหาสุ่มเสี่ยงกับการติดเชื้อโควิดในเรือนจำ

.

X