ตั้งแต่วันที่ 13 – 25 ตุลาคม 2564 เฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า มีคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองที่พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องทั้งหมด 7 คดี เป็นคดีสืบเนื่องกับการชุมนุมของกลุ่ม #ทะลุแก๊ส ได้แก่ คดีความผิดฐานมีวิทยุสื่อสาร (วอ) ไว้ในครอบครอง 2 คดี รวมจำเลย 2 ราย เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม #ม็อบ29สิงหา ปี 2564, คดีฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2 คดี จำเลยรวม 4 ราย เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม #ม็อบ19กันยา ปี 2564
เป็นคดีสืบเนื่องจากการครอบครองวิทยุสื่อสารอีก 1 คดี เป็นคดีของ “ชาญชัย” อดีตการ์ดเสื้อแดง ถูกจับก่อนเข้าร่วมในการชุมนุม #ม็อบ24มีนา และคดีของจำเลย 5 คน สืบเนื่องจากการชุมนุม #ม็อบ25ตุลา ปี 2563 ที่ราชประสงค์ หนึ่งในนั้นคือ “ไผ่” จตุภัทร์ ที่ถูกฟ้องโดยยังถูกคุมขังในเรือนจำ
อย่างไรก็ตาม ยังมี 1 คดี ที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย คือคดีที่สืบเนื่องจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ที่ด้านหน้าของ สน.ทุ่งสองห้อง คดีนี้มีจำเลยทั้งหมด 18 ราย (รวมไผ่ จตุภัทร์) โดยมีจำเลย 1 ราย คือ ทรงพล สนธิรักษ์ หรือ “ยาใจ ทะลุฟ้า” ที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เนื่องจากศาลเห็นว่า “จำเลยก่อเหตุซ้ำในหลายคดี”
15 ตุลาคม 2564 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3) ได้มีคำสั่งฟ้อง ภัทรพล และ รัชพล (สงวนนามสกุล) ต่อศาลอาญา (แยกเป็นคนละคดี) ต่อศาลอาญา ในคดีความสืบเนื่องจากการมีเครื่องวิทยุคมนาคม (วอดำ) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคมฯ โดยภัทรพลเป็นเจ้าของร้านพระเครื่องในบริเวณดินแดงที่ถูกเจ้าหน้าที่บุกค้นร้านตามหมายค้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่อ้างว่ามีความเกี่ยวข้องกับการชุมนุมของกลุ่ม #ทะลุแก๊ส ในขณะที่รัชพลเป็นคนขับรถของภัทรพล ต่อมา ทั้งคู่ถูกนำตัวไปดำเนินคดีต่อที่ สน.ห้วยขวาง
สำหรับเนื้อหาในคำฟ้อง ระบุว่า เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2564 จำเลยทั้ง 2 ได้มีและใช้เครื่องวิทยุคมนาคมมือถือ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ในการรับและส่งสัญญาณเสียงที่สามารถให้เข้าใจความหมายได้ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ไม่ปรากฏหมายเลขทะเบียนวิทยุคมนาคม เฉพาะภัทรพล ส่วนกรณีของรัชพล เป็นวิทยุคมนาคมที่มีหมายเลขทะเบียน โดยทั้ง 2 คน ไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้จากเจ้าพนักงาน
ตามวันและเวลาดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมตัวจำเลยทั้งคู่พร้อมยึดอุปกรณ์วิทยุคมนาคม จากนั้นได้นำตัวส่งพนักงานสอบสวน ทำการสอบสวนแล้ว จำเลยให้การปฏิเสธ และเจ้าหน้าที่ได้ยึดเอาอุปกรณ์สื่อสารเป็นของกลาง โดยในคดีนี้ พนักงานสอบสวนเคยยื่นคำร้องต่อศาล ขอฝากขังทั้ง 2 ในชั้นสอบสวนและศาลก็ได้อนุญาตตามนั้น ก่อนที่ต่อมาจะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว คิดหลักประกัน 25,000 บาท ในกรณีของภัทรพล และ 50,000 บาท ในกรณีของรัชพล เนื่องจากเจ้าหน้าที่อ้างว่า มีการตรวจพบเจอระเบิดปิงปองเป็นหลักฐานอีกอย่างในรถ
ท้ายสุด ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวทั้ง 2 ในชั้นพิจารณา ใช้หลักทรัพย์ประกันเดิมที่เคยวางไว้ในชั้นสอบสวน กำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานอีกครั้งวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564
+++ สั่งฟ้อง 1 ประชาชน ฐานฝ่าฝืนเคอร์ฟิว #ม็อบ19กันยา 64 แม้เจ้าตัวยืนยัน ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม +++
15 ตุลาคม 2564 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวงดุสิต ได้มีคำสั่งฟ้อง จิรายุ (สงวนนามสกุล) ต่อศาลแขวงดุสิต ในคดีความสืบเนื่องจากการฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ตามข้อกำหนดออกตามความใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยเขาถูกจับกุมในพื้นที่ชุมนุม #ม็อบ19กันยา ปี 2564 บริเวณแยกดินแดง โดยเจ้าตัวให้ข้อมูลว่า ตนไม่ได้เข้าร่วมในการชุมนุมอย่างใด แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนไล่จับกุม จนรถล้ม ปากแตก นิ้วกลางซ้ายเป็นแผล และยังถูกกระบองตีที่มือจนบวมช้ำ
สำหรับพฤติการณ์ตามคำฟ้อง ระบุว่า เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564 เวลาราว 23.40 น. ซึ่งอยู่ในระหว่างเคอร์ฟิว จําเลยได้ออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 21.00 น. ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น โดยรวมกลุ่มกันอยู่ที่บริเวณหน้าโรงแรมอินทรา ถนนราชปรารถ โดยไม่มีความจําเป็นและไม่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกําหนดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
หลังรับทราบคำฟ้อง ต่อมา ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวในชั้นพิจารณาคดี กำหนดหลักทรัพย์ประกัน เป็นเงินจำนวน 20,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลกำหนดนัดพร้อมตรวจพยานหลักฐานอีกครั้งวันที่ 24 มกราคม 2565
+++ สั่งฟ้อง “ชาญชัย” อดีตการ์ดเสื้อแดง เหตุครอบครองวอไว้โดยไม่ได้รับอนุญาต +++
20 ตุลาคม 2564 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6) ได้มีคำสั่งฟ้องคดี ชาญชัย ปุสรังสี อดีตการ์ดของกลุ่ม นปช. ต่อศาลอาญา ในคดีสืบเนื่องจากการครอบครองวิทยุโทรคมนาคม โดยเขาถูกจับกุมก่อนเข้าร่วมในการชุมนุม #ม็อบ24มีนา ก่อนถูกกล่าวหา ตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคมฯ
สำหรับพฤติการณ์ตามคำฟ้อง ระบุว่า เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 จำเลยได้มีเครื่องวิทยุคมนาคม (วอ) ที่สามารถใช้งานรับส่งสัญญาณเสียง หรือทางอื่นใด โดยทำให้เข้าใจความหมายด้วยแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีย่านความถี่ภาครับและภาคส่ง อันเป็นคลื่นแฮรตเซียน ชนิดมือถือ ไม่ปรากฏหมายเลขทะเบียนวิทยุคมนาคม จํานวน 1 เครื่อง อันเป็นเครื่องวิทยุคมนาคมตามกฎหมาย ไว้ในความครอบครองของจําเลยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตและไม่ได้รับการยกเว้นใดๆ ตามกฎหมาย
ตามวันและเวลาดังกล่าว เจ้าพนักงานได้จับกุมจำเลย พร้อมกับยึดเครื่องวิทยุฯ เป็นของกลาง นำส่งพนักงานสอบสวนแล้ว จำเลยให้การปฏิเสธ ระหว่างสอบสวน จำเลยไม่ได้ถูกควบคุมตัว โดยได้รับการปล่อยชั่วคราว มีประกันตัวตลอดมา
หลังรับทราบคำสั่งฟ้อง ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวชาญชัย กำหนดหลักทรัพย์เป็นเงิน 25,000 บาท กำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564
รู้จักชาญชัยเพิ่มเติม ตร.แจ้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 12 คดีรวด “ชาญชัย” อดีตการ์ดเสื้อแดง
+++ สั่งฟ้อง 3 ประชาชน ฐานฝ่าฝืนเคอร์ฟิว แม้ไม่ได้ร่วมชุมนุม #ม็อบ19กันยา ปี 64 จำเลยยืนยัน พวกตนเป็นช่างซ่อมแอร์ แต่ถูกจับขณะกำลังกลับบ้าน +++
20 ตุลาคม 2564 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 ได้มีคำสั่งฟ้องประชาชน 3 ราย คือ นุติ, เริงชัย, และต่ายพิจิต (สงวนนามสกุล) ต่อศาลแขวงดุสิต ในคดีความที่สืบเนื่องกับการชุมนุม #ม็อบ19กันยา ปี 2564 ถูกกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวฯ แม้ทั้งสามยืนยันว่าไม่ได้เข้าร่วมในการชุมนุมแต่อย่างใด
ทั้ง 3 ให้ข้อมูลกับศูนย์ทนายฯ ภายหลังว่า ทั้งหมดทำงานเป็นช่างไฟฟ้า ในวันเกิดเหตุได้เดินทางไปยังโบ๊เบ๊เซ็นเตอร์เพื่อซ่อมแอร์ แต่พบว่ามีการพ่นยาในบริเวณห้าง จึงได้แจ้งเหตุที่ไม่สามารถเข้าทำงานแก่นายจ้าง นายจ้างจึงแจ้งให้ทั้ง 3 เข้ามาใหม่ในช่วง 22.00 น. เมื่อทำงานเสร็จ ขณะขับรถจักรยานยนต์กลับที่พัก ก็กลับถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่
สำหรับพฤติการณ์ในคำฟ้อง ระบุว่า เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564 เวลา 23.00 น. จําเลยทั้งสามได้ร่วมกันออกนอกเคหสถานในช่วงเวลาเคอร์ฟิว โดยร่วมกันขับขี่รถจักรยานยนต์ไปที่บริเวณแยกอุรุพงษ์ เขตราชเทวี ซึ่งอยู่ภายในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยไม่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมายอันเป็นการฝ่าฝืนข้อกําหนด ที่ออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
หลังจากฟังคำสั่งฟ้อง ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย กำหนดหลักทรัพย์ประกัน รายละ 20,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลกำหนดนัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐานต่อไป วันที่ 24 มกราคม 2565
+++ สั่งฟ้อง 5 นักกิจกรรม รวม “ไผ่” จตุภัทร์ เหตุร่วม #ม็อบ25ตุลา ปี 63 ก่อนให้ประกัน เรียกหลักทรัพย์รายละ 20,000 บาท ยกเว้นไผ่ที่ยังถูกคุมขังต่อ +++
วันที่ 20 และ 25 ตุลาคม 2564 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษศาลแขวง 6) ได้มีคำสั่งฟ้องนักกิจกรรมทั้งหมด 5 ราย ได้แก่ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์,“แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา และต่อมาสั่งฟ้องธานี สะสม และ ณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์ ต่อศาลแขวงปทุมวัน ในคดีความสืบเนื่องจากการเข้าร่วมในการชุมนุม #ม็อบ25ตุลา ปี 2563 ที่บริเวณแยกราชประสงค์ ทั้งหมดถูกกล่าวหาเรื่องการกีดขวางทางสาธารณะ, พ.ร.บ. จราจรฯ “ตั้งสิ่งของขวางการจราจร”, และฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ
>>> “ครูใหญ่” – “ไผ่” ถูกแจ้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ – พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เหตุร่วม #ม็อบ25ตุลา สี่แยกราชประสงค์
>>> ตร.ลุมพินีเข้าแจ้งข้อหา “ไผ่” ในเรือนจำ 2 คดี กรณีหล่อเทียนไล่ประยุทธ์-ชูสามนิ้วในเซเว่น
>>> ไม่สนโควิด! ตร.รุดแจ้งข้อหานักกิจกรรมคดี #ม็อบ25ตุลา ปี 63 ถึงในรพ. แม้เจ้าตัวรักษาโรคอยู่
สำหรับพฤติการณ์ตามคำฟ้อง ระบุว่า จำเลยทั้งหมด กับพวกอีกจำนวน 1 คน ซึ่งเป็นเยาวชน และดำเนินคดีแยกต่างหากแล้ว ได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2563 ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มชุมนุมทางการเมืองเกี่ยวกับการบริหารของรัฐบาลในขณะนั้น ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าร่วมได้ และมีประชาชนจำนวนมาก รวมทั้งจำเลยเข้าร่วม จนเต็มพื้นผิวจราจรบริเวณแยกราชประสงค์ ไม่มีการแจ้งการชุมนุมก่อนล่วงหน้า และไม่มีมาตรการป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19
ต่อมา พนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี ได้แจ้งข้อหาต่อจำเลยแล้ว จำเลยให้การปฏิเสธ จำเลยทั้งหมดไม่ได้ถูกควบคุมตัว พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอผัดฟ้อง แต่ไม่ได้ฟ้องคดีในผัดฯ และรองอัยการสูงสุด ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมาย ได้อนุญาตให้ฟ้องจำเลยทั้งหมดแล้ว
ต่อมา ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย 4 ราย กำหนดหลักทรัพย์ในการประกันตัวเป็นเงินรายละ 20,000 บาท ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ ในขณะที่ไผ่ จตุภัทร์ ยังถูกคุมขังอยู่ในอีกคดีหนึ่ง สืบเนื่องจากกรณีการถูกถอนประกันตัวโดยไม่มีการไต่สวน ในคดีชุมนุม #19กันยาทวงคืนอำนาจราษฎร ศาลแขวงปทุมวันกำหนดนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การอีกครั้งวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง ผู้ต้องขังทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค. 2564